มุมมองของความสำเร็จในการประดิษฐ์กรวยของส่วนหัวปากกาลูกลื่นของจีน

ปากกาลูกลื่นอวกาศ Fisher Space Pen

ประมาณ พ.ศ.2504 ผู้เขียนเริ่มได้ใช้ปากกาลูกลื่นเป็นครั้งแรกแต่โดนคุณครูบอกให้เลิกใช้เพราะว่าใช้ปากกาลูกลื่นจะทำให้ให้ลายมือไม่สวยเนื่องจากเวลาเขียนต้องกดมาก ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อฟังดีกลับมาใช้ปากกาหมึกซึมตามเดิมอีก 2-3 ปี แต่ลายมือก็ไม่ได้สวยขึ้นแต่อย่างใด ประกอบกับปากกาหมึกซึมเริ่มหายากขึ้นจึงหันมาใช้ปากกาลูกลื่นอย่างถาวรตั้งแต่นั้นมา

ความจริงปากกาลูกลื่นนี่นะครับไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย โดยมีคนอเมริกันชื่อนายจอห์น เจ. เลาด์ ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2431 โน่น โดยทำเป็นปากกาที่มีส่วนปลายคือลูกลื่นที่ทำจากโลหะผสมลูกเล็กๆ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มม. ลูกลื่นหมุนได้รอบทิศ ลูกบอล กลิ้งอยู่ภายในเบ้า (Socket) และมีขอบเบ้าที่กันไม่ให้ลูกลื่นหลุดออกมา น้ำหมึกจะไหลผ่านท่อแคบๆ นี้ ซึ่งมีช่องว่างพอสำหรับลูกบอลแต่ไม่หลุดออกจากเบ้า ขณะที่ลูกบอลกลิ้งมันจะทำให้หมึกไหลออกมาโดยแรงโน้มถ่วงส่งหมึกไปที่กระดาษ ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้อากาศเข้ามาได้ ช่วยให้หมึกไม่แห้ง เบ้าโลหะจะจ่ายน้ำหมึกไปหล่อเลี้ยงลูกลื่น จนเป็นเส้นหมึกขึ้นมาจึงได้ชื่อว่าปากกาลูกลื่นได้ออกมา แต่ไม่ได้รับความนิยมเพราะใช้เขียนไม่คงเส้นคงวาเลย มักจะเขียนเป็นเส้นล่องหนอยู่เสมอ

 

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2473 ชาวฮังการีชื่อนายลาสโล บีโร ร่วมกับน้องชายของเขาได้ร่วมกันคิดค้นประดิษฐ์ปากกาลูกลื่นขึ้นมาอีก โดยเปลี่ยนน้ำหมึกมาเป็นหมึกพิมพ์หนังสือพิมพ์ซึ่งมีความหนืดกว่าน้ำหมึกที่ใช้เขียนในปากกาหมึกซึมและได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้ที่อังกฤษเมื่อ พ.ศ.2481 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น บีโรลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศอาร์เจนตินาในทวีปอเมริกาใต้ และเขาได้ก่อตั้งบริษัทผลิตปากกาลูกลื่นที่เขากับน้องชายร่วมกันคิดขึ้น และออกวางตลาดในปี พ.ศ.2487 ซึ่งก็ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากสะดวกในการพกพาและเมื่อถูกน้ำแล้วน้ำหมึกก็ไม่เลือนหาย แม้ว่าจะเขียนไปสักพักหนึ่งแล้วหมึกก็จะเลอะกระดาษเพราะการไหลของหมึกไม่ค่อยสม่ำเสมอนัก นอกจากนี้เส้นหมึกก็มีขนาดไม่สม่ำเสมอเช่นกัน

Advertisement

เมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มบุกเบิกการส่งมนุษย์ออกนอกโลกเข้าสู่อวกาศในช่วงต้นของพุทธศตวรรษที่ 25 ก็มีการพัฒนาปากกาลูกลื่นที่ใช้เขียนในอวกาศและใต้มหาสมุทรได้เรียกว่า “Fisher Space Pen” ความนิยมใช้ปากกาลูกลื่นก็แพร่ออกไปทั่วโลกเนื่องจากบริษัทของฝรั่งเศสได้ซื้อลิขสิทธิ์จากพี่น้องบีโรไปได้ปรับปรุงปากกาลูกลื่นให้มีราคาถูกในนามของปากกาบิกที่รู้จักกันทั่วไปจึงทำให้ปากกาหมึกซึมค่อยๆ หายไปจากตลาดเพราะใครๆ ก็หันมาใช้ปากกาลูกลื่นกันหมด

จนกระทั่งผู้เขียนเพิ่งได้อ่านข่าวใหญ่โตว่า นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน บ่นออกโทรทัศน์เลยครับว่าประเทศจีนได้รับฉายาว่าเป็น “โรงงานของโลก” ผลิตสินค้าออกมามากมายระดับเครื่องบินล่องหน, สมาร์ทโฟน และเป็นหนึ่งในชาติผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดของโลกรวมทั้งผลิตปากกาลูกลื่นออกมามากที่สุดในโลก (จีนมีโรงงานผลิตปากกาลูกลื่นประมาณ 3,000 โรงงาน สามารถผลิตปากกาลูกลื่นได้ปีละ 38,000 ล้านด้าม) แต่ทำไมจีนจึงต้องนำเข้าเหล็กกล้าใช้ทำหัวปากกาลูกลื่นจากต่างประเทศและปากกาลูกลื่นที่จีนผลิตนั้นก็เขียนได้ไม่ลื่น ไม่ดีเลย

อีทีนี้ทางเมืองจีนก็เหมือนกับประเทศเผด็จการทั่วไปแหละครับเมื่อผู้นำบ่นเชิงปรารภขึ้นมาก็ต้องรีบทำงานเอาหน้ากันใหญ่โต โดยบริษัท โส่วกัง กรุ๊ป (Shougang Group) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง ประกาศว่าบริษัทก็กำลังพยายามผลิตเหล็กกล้าพิเศษสำหรับทำหัวปากกาลูกลื่นนี้อยู่ แต่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนซึ่งทราบเรื่องนี้มาก่อนการบ่นอย่างเป็นทางการของนายหลี่ เค่อเฉียง ได้ตั้งโครงการวิจัยและพัฒนาในการผลิตวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมปากกาลูกลื่นขึ้นโดยตั้งกองทุนประมาณ 9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมอบให้บริษัทผลิตเหล็กกล้าชื่อไท่หยวนเหล็กและเหล็กกล้า ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในมณฑลซานซีไปค้นคว้าวิจัยซึ่งก็ใช้เวลาค้นคว้าวิจัยถึง 5 ปี จึงได้ประกาศเป็นงานใหญ่โตไปทั่วโลกเลยว่าทางบริษัทสามารถผลิตส่วนประกอบซึ่งสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งของปากกาลูกลื่นคือส่วนของหัวปากกาซึ่งเป็นกรวยโลหะขนาดจิ๋วทำหน้าที่หุ้มลูกลื่นกลมเอาไว้ข้างในที่มีคุณภาพสูง เขียนได้ลื่น มีคุณภาพทัดเทียมกับปากกาลูกลื่นของประเทศที่ผลิตปากกาลูกลื่นชั้นนำของโลกได้แล้วต่อไปก็จะไม่จำเป็นต้องนำเข้าเหล็กกล้าทำกรวยโลหะของหัวปากกาปีละกว่า 1,000 ตัน (ประมาณ 90% ของการผลิตปากกาลูกลื่นของจีน) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่สั่งเข้าจากญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์

Advertisement
ภาพขยายแสดงให้เห็น “ลูกลื่น” ของปากกาลูกลื่น
ภาพขยายแสดงให้เห็น “ลูกลื่น” ของปากกาลูกลื่น
  ปากกาลูกลื่นบิก
ปากกาลูกลื่นบิก

ในมุมมองของจีนหลังจากประสบความสำเร็จในการผลิตกรวยโลหะของหัวปากกาลูกลื่นที่มีคุณภาพสูงได้สำเร็จก็คือบรรดาโรงงานผลิตปากกาลูกลื่นของจีนก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้ากรวยโลหะของหัวปากกากันอีกแล้วภายในเวลา 1 ถึง 2 ปี ซึ่งก็จะนำพาให้จีนได้ก้าวเข้าใกล้ในการขึ้นชั้นเป็นประเทศชั้นแนวหน้าในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสูงแทนภาพลักษณ์ที่จีนถูกมองว่าเป็นประเทศที่ผลิตได้แต่สินค้าคุณภาพต่ำราคาถูก

แต่สำหรับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์แล้วชี้ชัดว่าการประกาศเรื่องการผลิตกรวยโลหะของหัวปากกาลูกลื่นที่มีคุณภาพสูงของที่บริษัทรัฐวิสาหกิจไท่หยวนเหล็กและเหล็กกล้า เป็นเรื่องใหญ่โตนั้นเป็นการประจานความล้มเหลวของรัฐบาลจีนที่ไม่ยอมเลิกอุ้มรัฐวิสาหกิจที่ด้อยประสิทธิภาพเนื่องจากรัฐวิสาหกิจของจีนประมาณ 150,000 แห่งทั่วประเทศจีนนั้น กว่าครึ่งหนึ่งประสบความขาดทุนอย่างหนักและมีโรงงานผลิตปากกาลูกลื่นกว่า 3,000 แห่งของจีนนั้น ไม่มีบริษัทใดเลยที่คิดที่จะวิจัยและพัฒนาในการปรับปรุงการผลิตกรวยโลหะของหัวปากกาลูกลื่นที่มีคุณภาพสูงขึ้นมาเลย หากแต่กลายเป็นบริษัทวิสาหกิจไท่หยวนเหล็กและเหล็กกล้าที่ผลิตเหล็กกล้าได้ปีละ 10 ล้านตัน แต่กลับมาทุ่มทุนเพื่อวิจัยค้นคว้าวิธีทำกรวยโลหะของหัวปากกาลูกลื่นที่มีคุณภาพสูงขึ้นซึ่งปีหนึ่งมีความต้องการใช้เหล็กกล้าเพียง 1,000 ตัน ซึ่งแม้แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทไท่หยวนเองก็ยอมรับว่าการวิจัยนี้ใช้เงินมากและไม่คุ้มเลยสำหรับบริษัทไท่หยวนซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผลิตเหล็กกล้าแต่ไม่ได้ผลิตปากกาลูกลื่น

แต่ก็เป็นการสนองความพอใจของท่านผู้นำทางการเมือง ถึงไม่คุ้มค่าและไม่ใช่หน้าที่ก็ต้องทำเพื่อเป็นการประจบเอาใจผู้นำเผด็จการ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความด้อยประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจของจีนเสียมากกว่าต่างหาก

 

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image