สามัคคีปรองดอง กับ ‘ความเป็นมนุษย์ในคน’ : โดย ไพรัช วรปาณิ

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่าน สนช. “ศักดิ์ชัย ธนบุญชัย” ที่ได้ไลน์สำเนาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมาให้ผู้เขียน 2 ฉบับ…ฉบับแรกเป็นฉบับที่ 2/2560 ที่เกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พร้อมด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อีกฉบับคือ ที่ 3/2560 ซึ่งมีเนื้อหาสาระเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สดๆ ร้อนๆ ในวันที่ 17 ม.ค.60 นี้เอง… คงทำให้ผู้อ่านและผู้เขียนเกิดความสุข (ที่ท่านผู้นำคืนมาให้) ได้ในระดับหนึ่ง…ยังผลให้เกิด “SLIM OF HOPE” แฮปปี้ตามๆ กัน ว่างั้น!

ทั้งนี้ นับว่าเป็นคำสั่งที่มีนัยสำคัญในการเสริมสร้างความสันติสุข ความสามัคคีปรองดองของผู้คนภายในประเทศ ในระยะแรก เพื่อเตรียมการไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวอันจะทำให้ประชาชนทราบถึงเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาและการแก้ปัญหาประเทศอย่างชัดเจน โดยให้มีคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เรียกโดยย่อว่า “ป.ย.ป.” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการ ทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ เสนอแนะ และติดตามการดำเนินการด้านการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะการสร้างความสามัคคีปรองดองของประชาชนภายในชาติ

จะเห็นได้ว่าการริเริ่มแนวทางเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองและสันติสุขภายในชาติของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ จึงเป็นข่าวฮือฮาทั้งในสื่อหนังสือพิมพ์และโซเชียลมีเดีย ทำให้ประชาชนทุกคนในชาติรวมทั้งผู้เขียนพากันชื่นชมและให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะต่างเกิดความยินดีที่ผู้นำประเทศได้มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้…

แม้จะมีนักการเมืองด้าน “Pessimistic Views” มองความพยามยามในการสร้างความปรองดองในประเทศสำหรับรัฐบาลทหารนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก

Advertisement

แต่…สำหรับมุมมองของผู้เขียนซึ่งเป็น “Optimists” กลับรู้สึกมีความหวังและมีแสงสว่างเกิดขึ้นที่ปลายอุโมงค์แล้ว อีกทั้งด้วยความมุ่งมั่นในรัฐบาลชุดนี้ คงจะต้องพยายามดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ในที่สุด

เพราะ…การสร้างความสามัคคีปรองดองนั้น เป็นไปตามหลักการปกครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่เคยได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ว่า..

“ชาติของเรารักษาเอกราชอธิปไตยมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยความสามัคคี ผู้ใดเดือดร้อนก็ได้รับการบรรเทา ความเดือดร้อนนี้เป็นหลักสำคัญของการปกครองประเทศไทยมาแต่โบราณกาล…”

“…ประเทศไหนถ้าประชาชนพลเมืองมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีระเบียบวินัยประเทศนั้นก็เจริญและอยู่ในฐานะดี จึงเห็นได้ว่าความสามัคคี กลมเกลียวกันระหว่างคนในชาติ และความเข้าใจรักษาระเบียบวินัยเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยนำประเทศชาติสู่ความวัฒนาถาวร…”

“…สามัคคี คือ…การเห็นแก่บ้านเมืองและช่วยกันทุกวิถีทางเพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะ…ประโยชน์ส่วนรวมนั้น คือความมั่นคงของบ้านเมือง…”

“…คราวใดที่ชาวไทยมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อประเทศชาติแล้ว ชาติก็ได้รอดพ้นจากภัยพิบัติสู่ความสุขเจริญ แต่คราวใดที่ขาดความสามัคคี กลมเกลียวกัน ก็ต้องประสบเคราะห์กรรมกันทั้งชาติ….จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่จะต้องร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด…”

ดังนั้น ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ จึงเปรียบเสมือนเป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง ที่ต้องช่วยกันทะนุถนอมรักษาไว้ให้ได้ด้วยจิตสำนึก ด้วยการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้จงได้นั่นเอง!

เพื่อเป็นอุทาหรณ์ ให้เกิดภาพอันชัดเจนในทางรูปธรรม ผู้เขียนจึงใคร่นำเอาตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกา ซึ่งด้อยพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและการศึกษา แต่ประชากรพวกเขากลับรู้จักกับคำว่า… “อูบันตู” (UBUNTU) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในดินแดนล้าหลังแต่ก้าวหน้าทางคุณธรรม…ที่ ดร.ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.คนดัง ได้กรุณาส่งมาให้ผู้เขียน…ด้วยความขอบคุณในไมตรีดียิ่ง

เพื่อให้เกิดภาพทางรูปธรรมจึงนำเรื่องนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ “ตะลึง” พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า…เด็กๆ ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์ในดินแดนแร้นแค้นไร้การศึกษาอย่างแอฟริกายังมีคุณธรรมขนาดนี้ เหนือกว่าดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นอารยประเทศเสียอีก…(ฮา)

“อูบันตู” (UBUNTU) : หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ความเป็นมนุษย์ในคน” คืออย่างไร? โปรดติดตามต่อไป…

…เหตุเกิดจาก…มีนักมนุษยวิทยาคนหนึ่งที่ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกา…โดยนักมนุษยวิทยาเริ่มจับตาให้ความสนใจกับพฤติกรรมของเด็กกลุ่มหนึ่งที่อยู่ห่างไกลความเจริญในชนบท กำลังพากันเล่นเกมที่กำหนดขึ้นร่วมกัน ด้วยวิธีนำเอาตะกร้าซึ่งเต็มไปด้วยผลไม้หวานสดบรรจุไว้เต็มตะกร้า อันเป็นรางวัลเป้าหมาย แล้วนำไปวางอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ห่างจากกลุ่มเด็กๆ ประมาณ 50 เมตร โดยกำหนดกติกาไว้กับเด็กเหล่านั้นว่าใครที่วิ่งเร็วที่สุดถึงตะกร้าก่อนเป็นคนแรกก็จะเป็นผู้ชนะ มีสิทธิจะได้ตะกร้าผลไม้นั้นเป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะแต่ผู้เดียว

ทั้งนี้ ก่อนการให้สัญญาณการแข่งขัน ผู้กำหนดกติกานิ่งเงียบไม่พูดอะไร คงปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของเด็กเองว่าจะเอาชัยชนะได้อย่างไร

ครั้นเริ่มเสียงสัญญาณวิ่งเท่านั้น ปรากฏว่ากลุ่มเด็กที่เข้าแข่งขันทั้งหมดต่างพากันคล้องแขนกันและกันทั้งสองข้างเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่ง วิ่งเข้าเส้นชัยไปพร้อมๆ กัน ทำให้ทุกคนถึงเส้นชัยพร้อมกันหมดทุกคน

จากนั้นทุกคนก็นำเอาตะกร้าผลไม้มาแบ่งปันกันทั่วหน้าเท่าๆ กันเพราะถือว่าชนะร่วมกันทุกคน แล้วพากันแกะผลไม้กินกันอย่างอิ่มหนำสำราญใจ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ได้ทำให้นักมนุษยวิทยาตั้งคำถามพวกเขาด้วยความกังขาว่า …ทำไม? พวกหนูจึงใช้วิธีวิ่งไปถึงเป้าหมายพร้อมๆ กัน แทนที่จะคว้าเอาชัยชนะมาเป็นของตนเอง เพื่อเอาผลไม้ไว้กินคนเดียวไม่ต้องแบ่งให้ใคร?

ปรากฏการณ์น่าประหลาดว่าเด็กๆ ส่งเสียงตอบพร้อมๆ กันว่า “อูบันตู! (UBUNTU) อูบันตู!”…ซึ่งมีความหมายแปลว่า…

“ฉันจะสุขได้อย่างไร? ถ้าคนอื่นเศร้า!” หรือหมายความได้ว่า… “ฉันเป็นอะไร เพราะเราเป็นอะไร” (I AM BECAUSE WE ARE)

เชื่อไหม? เหตุการณ์ในโลกใบนี้ จะมีเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเสมอๆ และใช่หรือไม่? บางครั้งเราจะเกิดภาพในใจในทำนองว่า…เด็กชนเผ่าที่ยากไร้ในแอฟริกานั้น เป็นเด็กไร้การศึกษา อดอยาก ยากจน แร้นแค้น จนแม้แต่เสื้อผ้าไม่มีจะสวมใส่เหล่านั้น คงจะสยบต่อสิ่งยั่วยวนใจ (ผลไม้ในตะกร้า) และทุกคนคงวิ่งสุดแรงเกิด เพื่อช่วงชิงเอาผลไม้อันโอชะมาเป็นของตนเองแต่ผู้เดียว

แต่การณ์กลับตรงกันข้าม…ทำให้นักมนุษยวิทยางุนงงและตะลึงเป็นที่สุด

ดังนั้น ความอดอยากยากแค้น จึงไม่ใช่บทสรุปว่าจะเป็นเหตุให้พวกเขาเห็นแก่ตัว…เห็นแก่ได้…เพราะความแร้นแค้นก็ใช่ว่าจะทำให้คนแล้งน้ำใจอันพึงมีต่อกัน!

ฉะนั้น ผู้เสียเปรียบทางสังคมที่ขาดด้อยการศึกษา ก็มิได้หมายความว่าจะทำความดีไม่ได้ …มิใช่หรือ?!

ในที่สุด เหล่านักมนุษยวิทยาจึงพากันถึงบางอ้อว่า ที่แท้ “อูบันตู” (UBUNTU) เป็นภาษาโบราณในแอฟริกา ที่แปลตรงตัวว่า…“ความเป็นมนุษย์ในคน” นั่นก็คือ… “ความเมตตาในตัวคนนั่นเอง”

เมื่อกล่าวถึงในความหมายที่กว้างคือ “เราเป็นมนุษย์ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะเราทุกคนมีความเมตตาเอื้ออาทรต่อกัน”

ท้ายนี้ จึงอยากจะถามผู้รู้สักนิดว่า…ใช่หรือไม่? “เมตตาธรรมในตัวคน” คือแก่นแกนและความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ???…

ผู้เขียนขอสรุปว่า “เมตตาธรรม” และ “ความจริงใจ” มีผลต่อการรังสรรค์ความสามัคคีปรองดองอย่างมีนัยสำคัญ จึงฝากเรียนถึงท่านผู้นำรัฐบาลที่มีความตั้งใจในเรื่องเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองดังกล่าวข้างต้น

จงอย่าได้มองข้ามหลัก “เมตตาธรรม” และ “ความจริงใจ” ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายอันศักดิ์สิทธิ์ จงประสบความสำเร็จลุล่วงในที่สุด!

ไพรัช วรปาณิ
กรรมการอัยการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image