“อดทน ยอมรับ และมีความหวัง” โดย ณัชชาภัทร อมรกุล

ในการแถลงข่าวครั้งสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่งประธานาธิบดี ของโอบามา ในวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมามีเนื้อหาหลายประการที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นก็คือถ้อยความที่เขาบอกกับชาวอเมริกันว่า เขาสอนลูกสาวทั้งสองคนของเขาอย่างไร จากความผิดหวังต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ถ้อยความที่เขาสอนลูกสาว และเมื่อเขามาแถลงข่าว ก็เหมือนกับเป็นการปลอบใจคนอเมริกันที่ผิดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ และย้ำเตือนไม่ให้พวกเขาละทิ้งคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย

โอบามาสอนลูกสาวให้ “เข้าใจความป็นจริงที่ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่และมีความซับซ้อน ประชาธิปไตยก็เป็นอย่างนี้ มันอาจไม่ได้ผลอย่างที่เราต้องการตลอดเวลา บางครั้งก็คาดเดาไม่ได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร”

เมื่อฟังโอบามาพูดแล้วก็คิดถึงระบอบประชาธิปไตยของบ้านเรา และในอีกหลายๆ ที่ของโลก

Advertisement

ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ยาวิเศษ มันไม่ได้นำมาซึ่งความสมหวังเสมอไป บางครั้งผลการเลือกตั้งบอกว่าเราไม่ได้เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ในบางครั้งผลของการเลือกตั้งทำลายความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นคุณค่าของเรา เพราะคนส่วนใหญ่ปฏิเสธสิ่งที่เราเห็นว่ามีคุณค่า และแม้ผู้ที่เราเลือกไปจะได้เป็นรัฐบาลเป็นผู้บริหารประเทศ แต่บางครั้งนโยบายอะไรที่ออกมาจากผู้บริหารที่เราเลือกไปก็ไม่ตรงกับใจ แต่ถ้าเราจะเล่นในเกมนี้ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ อดทน ยอมรับ และ มีความหวัง

อริสโตเติล นักปรัชญากรีกโบราณบอกเราว่า ระบอบการปกครองทุกประเภทล้วน “เลว” ทั้งนั้น แต่การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ “เลว” น้อยที่สุด

มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่ฆ่ากันเองได้มากที่สุด เมื่อมีความขัดแย้ง เราทำสงครามในระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาแล้วหลายต่อหลายหนเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่ในที่สุดเราไม่เคยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ แต่ประชาธิปไตยเป็นเกมเดียวในโลกปัจจุบัน ที่ทำให้คนฆ่ากันน้อยที่สุดเมื่อมีความขัดแย้ง เพราะประชาธิปไตยไม่ได้สอนให้ขจัดความขัดแย้ง แต่เราสามารถบริหารความขัดแย้งได้โดยสันติวิธี ใช้ความขัดแย้งเป็นสื่อให้เกิดความสร้างสรรค์

ระบอบการปกครองไหน ๆ ก็อาจมีผู้ปกครองที่เราไม่ชอบ ไม่เชื่อใจ ไม่สมใจ เราอาจได้ผู้ปกครองที่อ่อนแอเกินไป หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวเกินไป บางคนเป็นผู้นำที่ทุจริตคอร์รับชั่น บางคนลุ่มหลงในอำนาจ บางคนไม่มีประสิทธิภาพ บางคนสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ แต่มีระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่เราจะต่อต้านผู้ปกครองได้อย่างชอบธรรม ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการเชิงสถาบันและการเคลื่อนไหวทางสังคม

ซึ่งถ้าจะต่อต้านก็ขอให้ต่อต้านที่ผู้ปกครอง ต่อต้านที่นโยบาย ต่อต้านที่วิธีการในการบริหารประเทศ ต่อต้านวิธีการที่นำมาตรวจสอบถ่วงดุล แต่ไม่ต่อต้านที่ระบอบประชาธิปไตย

บางคนที่ไม่ชอบประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ และ ทรัมป์ หรือไม่ชอบที่อังกฤษออกจากประชาคมยุโรป นั่นเป็นเรื่องที่ไม่ชอบได้ ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะต้องเห็นเหมือนกัน หรือชอบอะไรเหมือนกัน เราไม่ชอบคนหรือนโยบายได้ แต่ไม่ใช่ไม่ชอบที่ระบอบประชาธิปไตย ที่ทำให้มีประธานาธิบดีอย่างนี้ หรือต่อผลการลงประชามติอย่างนั้น

ถึงแม้ว่าทรัมป์จะมีคะแนนนิยมเพียง 40% ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว และถึงแม้จะมีคนออกมาต่อต้านการเข้าพิธีสาบานเป็นจำนวนมาก กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองหลายกลุ่มออกมาต่อต้านประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ประธานาธิบดีโอบามาเรียกร้องให้คนอเมริกันไม่ละทิ้งความหวังต่อค่านิยมหรือคุณค่าของประชาธิปไตย

ฟังคำกล่าวสุดท้ายของประธานาธิบดีโอบามาแล้ว ทำให้ไม่คิดจะต้องมาเถียงกับใครอีกแล้วว่า ฮิตเลอร์มาจากการระบอบประชาธิปไตยหรือจากระบอบใด มันไม่เกี่ยวกัน การที่เราบางคนไม่ชอบฮิตเลอร์ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไม่ชอบระบอบประชาธิปไตยไปด้วย เหมือนกับหลายครั้งที่เราแพ้ในเกมแต่เราไม่จำเป็นต้องเกลียดเกม เราอาจแพ้ฟุตบอล แต่เมื่อแพ้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกเล่นฟุตบอล เราตั้งคำถามต่อกรรมการได้ แต่เราต้องศรัทธาในกฎของฟุตบอลที่ดำเนินอยู่ ณ. จุดที่กรรมการมีนกหวีดอยู่ในมือ นักฟุตบอลไม่พอใจกรรมการอย่างไรก็ต้องเล่นไปตามเกม ไม่เช่นนั้นเกมจะดำเนินไปไม่ได้ และแม้เราจะแพ้ในครั้งนี้ด้วยความรู้สึกที่ว่า “กรรมการไม่แฟร์” แต่เราสามารถเล่นใหม่ได้ เราไม่ชอบผลของฟุตบอลได้โดยไม่ต้องล้มเลิกการเล่นฟุตบอล

ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเดียวที่ทำให้เรา อดทน ยอมรับ กับสิ่งที่เราไม่ชอบ และมีความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะได้อะไรทุกอย่างที่เราชอบ เราต้องไม่เป็นชนชั้นเอาแต่ใจที่มีปัญหา ใจร้อนและต้องการเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด และให้ผลทุกอย่างให้เข้ากับสิ่งที่เราต้องการ เราต้องไม่ลืมว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ระบอบประชาธิปไตยมีที่สิ่งที่เรียกว่า “วาระ” ของการดำรงตำแหน่งของผู้นำ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาประเมินผลผู้นำของเขาโดยตัดสินใจว่าจะเลือก หรือ ไม่เลือก ผู้นำและแนวนโยบายที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ โดยอาวุธของเราคือ “การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้ง”

แม้ว่าในบางครั้งระบอบตรวจสอบถ่วงดุลอาจดำเนินไปไม่ทันใจนัก บางครั้งอาจมีช่องโหว่ของกฎหมาย บางครั้งเราได้พยายามแล้วพยายามเล่าแต่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของนโยบายได้ แต่อย่าละทิ้งความศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย มันคือวิธีการเดียวที่เราจะได้ใช้อำนาจที่เรามี เราต้องอดทน ยอมรับ และมีความหวัง อดทนให้กับสิ่งที่ไม่พึงพอใจ ยอมรับในเกมส์ และมีความหวังว่า ในที่สุดจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

อย่ายอมแพ้ให้กับความใจร้อน อดทนให้กับความเห็นที่แตกต่าง อย่าให้ความไม่พอใจในตัวผู้ปกครองมาทำลายความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย อย่าเปลี่ยนใจไปจากระบอบประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image