คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ถ้าเราจะเกรี้ยวโกรธให้ถูกคน

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ถ้าเราจะเกรี้ยวโกรธให้ถูกคน

ข่าวที่ศาลจังหวัดกิฟุในประเทศญี่ปุ่นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 มกราคม ลงโทษชายอายุ 21 ปี ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเต็มระวางโดยลงโทษประหารชีวิตแม้ว่าในขณะก่อเหตุเขาจะเป็นเยาวชน อายุ 19 ปีนั้นกลายเป็นเรื่องบังเอิญที่ลงตัวมาเชื่อมต่อกับข่าวอุกฉกรรจ์เกี่ยวกับเยาวชนที่ประเทศไทยพอดี

เมื่อไปติดตามอ่านข่าวข้างต้น เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปแล้ว ก็ออกจะคลาดเคลื่อนจากความเข้าใจที่หลายสื่อพยายามชี้นำให้เห็นว่า ศาลญี่ปุ่นลงโทษอย่างเด็ดขาดโดยไม่สนใจว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นเยาวชน หรือแม้แต่ที่สรุปว่า กฎหมายญี่ปุ่นลดเพดานอายุที่จะได้รับการปฏิบัติตามวิธีการดำเนินคดีสำหรับเยาวชนลงมาเพื่อเอาผิดและลงโทษจำเลยและเหล่าเยาวชนเหลือขออยู่พอสมควร

กรณีของคดีที่ศาลจังหวัดกิฟุนั้น เกิดจากการที่ประมวลกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นนั้น ลดอายุของผู้บรรลุนิติภาวะลงมาจาก 20 ปี เป็น 18 ปี และมีการแก้ไขกฎหมายเยาวชนตามเพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งในปี 2022 ทำให้ในขณะที่ก่อเหตุนั้น จำเลยซึ่งมีอายุ 19 ปี จึงไม่ถือเป็นเยาวชนที่จะได้รับประโยชน์ในการได้รับวิธีพิจารณาแบบเยาวชนและอัตราโทษแบบเยาวชนจากกฎหมายอีกต่อไป และเรื่องนี้เมื่อเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ จึงไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายส่วนสารบัญญัติย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามทั้งในระดับประมวลกฎหมายอาญา รัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศ

เพราะกฎหมายเกี่ยวกับเยาวชนของอารยประเทศในโลกนี้จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็กและกระบวนยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งมีหลักการว่า เด็กและเยาวชนจะต้องไม่ถูกพิจารณาพิพากษาคดีโดยวิธีการและอัตราโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่กระทำความผิด ส่วนรายละเอียดนั้นจะเป็นเรื่องที่กฎหมายภายในของแต่ละประเทศจะไปกำหนดภายใต้กรอบดังกล่าวนั้น เช่น อายุของเยาวชนที่จะได้รับความคุ้มครอง รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ในการใช้บังคับกฎหมาย

Advertisement

ด้วยความที่ต้องมีมาตรฐานสากลในเรื่องนี้เอง ทำให้เกิดกรณีที่กฎหมายเยาวชนนั้นไม่สอดคล้องกับความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของสังคมและวัฒนธรรมของบางประเทศได้ โดยเฉพาะในสังคมเอเชีย ที่สังคมจะตั้งคำถามกับหลักการที่ว่าเยาวชนไม่สมควรถูกลงโทษในลักษณะเดียวกันกับผู้ใหญ่เสมอ สะท้อนออกมาผ่านสื่อเช่น ซีรีส์ “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” (Juvenile Justice) ของเกาหลีใต้ และการ์ตูน หรือนวนิยายหลายเรื่องของญี่ปุ่น ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อเท็จจริงในยุคปัจจุบัน การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนก็มีรูปแบบและความร้ายแรงไม่ได้แตกต่างจากอาชญากรรมโดยผู้ใหญ่เลย

แล้วเช่นนี้ การที่กฎหมาย “ปรานี” ต่อเด็กและเยาวชนยังเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอยู่หรือไม่ ก็ต้องย้อนไปที่หลักการในการลงโทษของกฎหมายอาญา

ตามหลักการแล้ว กฎหมายอาญานั้น มีเจตนาที่มุ่งลงโทษต่อ “เจตนา” ในการกระทำความผิดมากกว่า “ผลและความร้ายแรงของการกระทำความผิด” ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือความผิดอาญาต่อการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต โทษอาญาสถานเบาที่สุดที่ลงแก่ความผิดที่ทำให้มีคนตาย คือ ความผิดฐานไม่ช่วยคนที่ตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต (ซึ่งผู้นั้นอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น) ก็มีโทษจําคุก ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 374

Advertisement

ในกรณีต่อมาที่ผู้กระทำไม่มีเจตนาทั้งทำร้ายหรือจะฆ่า แต่ไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอจนทำให้มีคนตาย หรือที่เรียกว่าทำให้คนตายโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ก็มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือกรณีที่มีเจตนาตั้งต้นเป็นการทำร้ายร่างกาย แต่ผลนั้นทำให้ผู้ที่ถูกทำร้ายนั้นถึงแก่ความตาย ก็จะเป็นไปตามมาตรา 290 ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี

ถ้าเป็นการตั้งใจจะฆ่าคนให้ตายแล้วบังเกิดผลจริงจึงจะเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี จำคุกตลอดชีวิต ไปจนถึงโทษประหารชีวิต ส่วนกรณีที่มีเจตนาร้ายถึงที่สุด คือ มีเจตนาฆ่าโดยตั้งใจวางแผนตระเตรียมการ ไปจนถึงปฏิบัติการได้ตลอดรอดฝั่ง ก็จะถือเป็น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289 (4) ซึ่งระวางโทษประหารชีวิต

จะเห็นได้ว่า “ผล” อย่างเดียวกัน คือ การที่ใครสักคนมีส่วนในการกระทำให้คนอื่นถึงแก่ความตายและเป็นความผิดอาญานั้น อาจถูกลงโทษได้ตั้งแต่จำคุก 1 เดือน ไปจนประหารชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า กฎหมายอาญานั้นมุ่งลงโทษหนักขึ้นตาม “เจตนา” ตั้งแต่การละเลยไปจนถึงเจตนาฆ่าคนขั้นสุด หลังจากนั้น “พฤติการณ์และความร้ายแรง” เช่น เป็นการฆ่าบุพการี ฆ่าโดยทารุณโหดร้ายหรือไม่ จึงจะตามมาในลักษณะของเหตุเพิ่มโทษ

เพราะกฎหมายอาญานั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการป้องปรามการกระทำความผิดในสังคม โดยวางเงื่อนไขไว้ว่าหากผู้ใดกระทำการอันกฎหมายห้ามแล้วจะต้องได้รับโทษจากรัฐในอัตราเท่านั้นเท่านี้ ดังนั้นกฎหมายจึงจะลงโทษเอาแก่คนที่รู้ชัดเจนว่า การกระทำของตัวเองนั้นจะส่งผลให้ถูกลงโทษอย่างไรก็ยังฝ่าฝืนกระทำ กฎหมายอาญาจึงต้องลงโทษให้สาสมเพื่อเป็นราคาแห่งการฝ่าฝืนนั้น

ส่วนผู้ที่ไม่ได้มีเจตนาร้ายขนาดนั้น แต่ผลนั้นไปไกลเกินกว่าเจตนาของตัวเอง หรือไม่ได้มีเจตนาเลย เช่น เพียงประมาทหรือละเลยดูดาย กฎหมายอาญาก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะลงโทษบุคคลเหล่านั้นหนักเท่าผู้ที่มีเจตนาเต็มที่ที่จะฝ่าฝืนกฎหมายโดยเล็งเห็นผล หรือประสงค์ต่อผล

สำหรับเยาวชนนั้นกฎหมายนั้นได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงและเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ ว่าเจตนาของเด็กนั้นต่างระดับจากเจตนาของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยประสบการณ์และโดยแรงขับจากฮอร์โมน ตลอดจนการเจริญเติบโตของสมอง ทำให้กฎหมายได้จัดระดับ “เจตนา” การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนไว้อีกระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กฎหมายอาญานั้นยังมีนัยแห่งการ “แก้แค้นทดแทน” อยู่ด้วย โดยกฎหมายอาญานั้นเป็นเหมือน “ข้อตกลง” ต่อผู้เสียหายและสังคมว่า หากมีใครที่บังอาจละเมิดต่อกฎหมาย กระทำความผิดและก่อความเสียหายไม่ว่าจะต่อใครคนหนึ่งเป็นการเจาะจง หรือต่อความรู้สึกของสังคมก็ดี อำนาจรัฐและกฎหมายจะ “รับจบ” ให้ด้วยการแก้แค้นแทนผู้เสียหายและสังคมผ่านการโทษทางอาญาที่สาสมแก่ความผิดนั้นให้โดยไม่จำเป็นต้องไปหาทางแก้แค้นกันเอง

แต่เมื่อเป็นการแก้แค้นแล้ว “ความแค้น” อันเป็นตัวตั้งต้นนั้นจะมากน้อยขึ้นกับ “พฤติการณ์” และ “ความร้ายแรง” ของผลที่เกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมาย โดยอาจจะไม่สนใจเจตนาก็ได้

คนที่ขับรถแล้วเกิดเป็นลมกระทันหันทำให้รถพุ่งเข้าชนกลุ่มเด็กนักเรียนอนุบาลที่กำลังข้ามถนนจนเสียชีวิตไปกว่า 10 คนนั้น ก่อให้เกิดความโกรธแค้นให้สังคมมากยิ่งกว่านักเลงอันธพาลจ้างวานฆ่าอันธพาลคู่อริสักคนหนึ่งมากมายนัก ทั้งๆ ที่กรณีหลังนี้ในทางกฎหมายอาญา ถือว่ากระทำความผิดร้ายแรงและมีโทษมากกว่า

ในสังคมเอเชียที่ยังคงคาดหวังให้กฎหมายดำเนินการแก้แค้นแทนสังคม ปัญหาการกระทำความผิดของเยาวชน ในหลายกรณีนั้นก่อให้เกิด “ความแค้นที่ต้องการล้าง” ต่อสังคมมากกว่า แต่เมื่อกฎหมายกลับมองว่าการกระทำของเด็กและเยาวชนนั้นถือว่ามีเจตนาน้อยกว่าการกระทำความผิดของผู้ใหญ่ หรือผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงมีวิธีพิจารณาคดีรวมถึงการควบคุมตัวไว้ เพื่อดำเนินคดีอย่างประนีประนอมกว่า และหากเป็นความผิดก็ระวางโทษไว้ต่ำกว่า ก็เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างหลักการของกฎหมายกับความรู้สึกของสังคมได้ในที่สุด

คือ คำตอบว่าทำไมจึงมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายที่ “ปรานี” ต่อกรณีเหล่านี้แทบทุกครั้งที่เกิดข่าวอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน

อย่างไรก็ตาม ที่กฎหมายนั้นมองว่าเจตนาของเด็กนั้นเป็นคนละอย่างกับเจตนาของผู้ใหญ่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีเหตุผล เราอาจจะรู้สึกในตอนนี้ว่า เด็กก็ไม่ได้แตกต่างไปจากผู้ใหญ่หรอก เด็กรู้ดีรู้ชั่วเท่าผู้ใหญ่นั่นแหละ แต่เราคิดเช่นนี้ในฐานะที่ตัวเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ถ้าเราย้อนรำลึกไปถึงตอนที่เรามีอายุอยู่ในระดับที่เป็นเด็กและเยาวชน เราอาจจะจำความรู้สึกในตอนนั้นไม่ได้ชัดเจนเท่าไร ด้วยเวลา ประสบการณ์ และความเจริญเติบโตเต็มที่ของสมอง แลฮอร์โมนต่างๆ ที่อยู่ตัวแล้ว หากเราอาจจะยังพอจะจำพฤติการณ์ หรือพฤติกรรมบางเรื่องของเราได้ ว่าถ้าเป็นเราในตอนนี้คงจะไม่ตัดสินใจทำอะไรอย่างนั้น เช่น เราคงจะไม่เดินทางไปครึ่งวันค่อนวันเพียงเพื่อไปรอดูหน้าคนที่เราแอบชอบเพียงไม่ถึงห้านาที เราคงไม่เดินร้องไห้กลางสายฝนแบบนั้น หรือเราคงจะไม่หาผ้าก๊อซมาปิดตาสักข้างหนึ่งที่เราเชื่อว่าเป็นเนตรทรราช หากเปิดออกมาแล้วโลกจะถึงกาลอวสาน

การกระทำบ้าบอคอแตก ไปจนถึงการก่ออาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น การลักขโมย หรือการบูลลี่รังแกเพื่อนอันเป็นเรื่องที่เรานึกขึ้นมาได้เมื่อไก็รู้สึกอับอาย หรือรู้สึกผิดนี้เอง ที่เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่พอจะชี้ได้ว่า “เจตนา” และการตัดสินใจของเด็กนั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่ อย่างที่เอาความคิดในตอนนี้ไปตัดสินตัวเราในวัยนั้นก็ยังไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

กระนั้นความแค้นใจขัดเคืองของสังคมที่มีต่อเยาวชนที่กระทำความผิดร้ายแรงนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้จริงๆ เพราะพฤติการณ์ของวัยรุ่นในข่าวที่สระแก้วนั้น ก็อยู่ในระดับที่เป็นภัยสังคมอย่างสูงเช่นกัน

หากเรื่องนี้ ถ้ามีใครควรที่จะได้รับความกราดเกรี้ยวทั้งหมดทั้งมวลนี้ไป ก็น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เราเรียกว่า “ตำรวจ”

ตำรวจที่ปล่อยปละละเลยจนเด็กเกเรกลุ่มหนึ่งได้พัฒนาตัวเองไปอย่างก้าวกระโดดจนเป็นอาชญากรที่กระทำความผิดจนถึงกับฆ่าคนตายแล้วอำพรางศพ ด้วยเพราะส่วนหนึ่ง คือ เยาวชนหนึ่งในนั้นเป็นลูกของตำรวจในพื้นที่ด้วยกันเอง

ตำรวจที่แม้จะพอรู้ว่าเด็กเกเรกลุ่มนั้นกระทำความผิดอย่างร้ายแรง ก็กลับไปดำเนินคดีเอากับสามีของผู้ตาย ซึ่งจริงๆ ควรถือเป็นผู้เสียหาย หนำซ้ำยังใช้วิธีการซ้อมทรมานทั้งๆ ที่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติขึ้นมาห้าม กำหนดเป็นความผิดและมีระวางโทษอยู่แล้ว จนกระทั่งผู้นั้นต้องรับสารภาพและตกเป็นผู้ต้องหา ทั้งๆ ที่ตำรวจผู้กระทำนั้นรู้อยู่แก่ใจว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด

ตำรวจที่พอรู้ว่ามีการกระทำการหาแพะด้วยวิธีการที่ว่าแล้วก็ยังพยายามที่จะปกปิดการกระทำอันเลวร้ายและละเมิดกฎหมายนั้นจนถึงที่สุด กว่าจะยอมจำนนรายวันด้วยหลักฐานที่ปรากฏออกมาแบบปฏิเสธไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่พอ ก็ยังพยายามหาหลักฐานที่ดูไม่น่าเชื่อถือใดๆ มาเพื่อแก้เกี้ยวไปอยู่ได้อีก

ถ้าความกราดเกรี้ยวที่มีต่อเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดนั้นแบ่งส่วนไปให้ตำรวจ ทั้งในแง่ของตัวบุคคลและองค์กรบ้าง อย่างสื่อบางสำนักใช้คำอย่างคึกคะนองว่า เด็กกลุ่มนี้ทะลุถุงยางอนามัยมาเกิด แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการเลวร้ายไปโดยเจตนาเต็มที่ทั้งที่เป็นผู้ใหญ่ รู้กฎหมายอย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้งมีหน้าที่ป้องกันปราบปรามเหตุดังกล่าวนั้น ทะลุอะไรมาเกิดกันหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image