ป.ป.ช.เหาะเหินเกินลงกา…เศรษฐาหาเพดานลง

ป.ป.ช.เหาะเหินเกินลงกา...เศรษฐาหาเพดานลง

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งข้อเสนอไปยังรัฐบาล กรณีการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินให้ผู้มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไปคนละหมื่น รวม 8 ข้อ
ข้อ 6 เสนอว่าคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการโดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ
ข้ออื่นๆ ที่เหลือเสนออย่างไร ท่านที่ติดตามโครงการนี้คงแสวงหาข้อมูลได้ไม่ยาก

ต่อมาเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านเนื้อหาของข้อเสนอ บทบาท หน้าที่และเจตนาของ ป.ป.ช.
นอกจากทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ยิ่งชอบใจ ฝ่ายเป็นกลางๆ เกิดความไม่มั่นใจ ที่แน่ๆ เกิดผลกระทบถึงความเชื่อถือและเชื่อมั่นต่อรัฐบาลโดยตรง
ด้วยเหตุนี้่ทำให้ท่าทีของฝ่ายรัฐบาล จากคำสัมภาษณ์ของ คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชัดเจน ตรงไปตรงมาที่สุด
“ต้องถือว่า ป.ป.ช.ทำเกินอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วว่าเป็นปัญหาอะไร แต่โครงการนี้ยังไม่ทันเกิดขึ้นเลยไปสรุปว่าจะมีการทุจริต มีข้อควรระวังเยอะแยะไปหมด”
แต่ก็ทิ้งท้ายว่า “พร้อมจะนำมาไตร่ตรองดู ถือเป็นข้อพึงสังวรไม่ใช่ข้อที่ต้องพึงปฏิบัติ”

ครับ ติดตามกรณีนี้แล้วนึกถึงคำคม เหาะเหินเกินลงกา และจัดการงานนอกสั่ง ขึ้นมาทันที
ในความเป็นจริงปฏิเสธไม่ได้ว่า ป.ป.ช.ไม่ใช่เป็นแค่องค์กรอิสระและองค์กรตรวจสอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ ป.ป.ช.เป็นองค์กรทางการเมือง
การเคลื่อนไหวของ ป.ป.ช.ต่อกรณีนี้จึงถูกตั้งคำถามว่า เจตนาของการศึกษา ให้ข้อเสนอแนะและถูกปล่อยหลุดออกมา นอกจากเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายต่อฐานะทางเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว มีเจตนาอะไรอื่นแอบแฝงด้วยหรือไม่
เพราะย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่าเมื่อข้อมูลถูกเผยแพร่ออกมา จะส่งผลกระทบถึงสถานภาพรัฐบาลและอุปสรรคการดำเนินโครงการ

ระหว่างความหวั่นวิตกว่าจะเกิดความเสียหายต่อส่วนรวมกับผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
ป.ป.ช.ควรมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือไม่
การปกป้องประโยชน์สาธารณะกับดิสเครดิตรัฐบาล จะมีเส้นแบ่งแห่งความเหมาะสมพอดี ตรงไหน
ป.ป.ช.ต้องให้คำตอบต่อสังคมทั้งในทางกฎหมายและทางการเมือง
ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะเข้าทำนอง ตีหัวเข้าบ้าน นั่นเอง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในฝ่ายรัฐบาล หากมองมุมบวกต่อทุกข้อเสนอไม่ว่าของฝ่ายใดก็ตาม และนำข้อมูลความเห็นที่ได้รับมาพิจารณากลั่นกรองก็จะเกิดผลดี
แทนที่จะไปโมโหโกรธา ตีอกชกหัว เพราะคนกลางย่อมตัดสินได้ว่าระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช.ควรเชื่อเหตุผลของฝ่ายใดมากกว่า
รัฐบาลนอกจากจะได้ข้อพึงสังวรมาขบคิดพิจารณาแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะได้ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริง เจตนารมณ์ เหตุผล และความเห็นของฝ่ายตนให้สังคมได้รับรู้และตัดสินใจ
และเป็นจังหวะที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในรายละเอียดวิธีดำเนินการ เช่น แจกเป็นวงจำกัดให้ผู้ที่เดือดร้อนขัดสนจริงๆ แทนที่จะเหวี่ยงแหทั่วไปใช้งบประมาณมหาศาล
โดยอ้างข้อเสนอแนะของฝ่ายต่างๆ นั่นแหละมาสนับสนุนความชอบธรรมของการเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งหาเพดานบินลง ทบทวนใหม่หมด

แน่นอนรัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างรับฟังข้อเสนอนำมาปรับปรุงแก้ไข กับความวิตกหวั่นไหวว่าจะเสียหน้า เสียแต้ม กระทบต่อคะแนนนิยม
ผมเชื่อว่าแนวทางแรกเกิดผลดีมากกว่า เรื่องเสียแต้มเสียคะแนนเป็นต้นทุนทางการเมืองที่ต้องจ่าย เป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายได้
ไม่เฉพาะแต่นโยบายเรื่องนี้ แต่รวมทุกนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลนำมาหลอมรวมกัน จนทำให้นโยบายหลักของแต่ละพรรคต้องเปลี่ยนแปลงไป
ก่อนตัดสินใจครั้งสุดท้าย พรรคเพื่อไทยน่าจะสรุปบทเรียนจากกรณีนโยบายรับจำนำข้าว

ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษารัฐบาลเวลานั้นให้ข้อเสนอ ท้วงติง บนพื้นฐานเหตุผลทางวิชาการและความเป็นจริงของตลาดในประเทศและต่างประเทศด้วยความเป็นห่วง พร้อมเสนอทางออกด้วยความหวังดีและบริสุทธิ์ใจ
แต่ผู้มีอำนาจฟังแล้วไม่ได้ยิน มีท่าทีทำนองเดียวกัน ยืนยันสั่งใส่เกียร์เดินหน้าต่อ จนกลายเป็นชนวนทำให้รัฐบาลถูกล้มในที่สุด
แม้มีเหตุผลในทางการเมืองอื่นๆ เข้ามาประสมปนเปอยู่ด้วยก็ตาม
กรณีจำนำข้าวจึงเป็นบาดแผลทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ตกสะเก็ดมาจนถึงวันนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image