รัฐคะเรนนีกับจุดเริ่มต้นสหพันธรัฐเมียนมา โดย ลลิตา หาญวงษ์

รัฐคะเรนนี (Karenni State) หรือรัฐคะยาห์ (Kayah) คือรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาว “กะเหรี่ยงแดง” มีพรมแดนทางเหนือติดรัฐฉานใต้ ทางตะวันออกและทางใต้ติดกับไทย และทางตะวันตกติดกับพม่า ลักษณะสำคัญของรัฐคะเรนนี (ผู้คนในรัฐนี้ชอบให้เรียกรัฐของพวกเขาว่าคะเรนนีมากกว่าคะยาห์ ซึ่งเป็นชื่อที่รัฐบาลพม่าใช้) คือมีแม่น้ำสาละวินผ่าตรงกึ่งกลาง เมืองใหญ่ที่สุดของรัฐคะเรนนีคือลอยก่อ (Loikaw)

ตั้งแต่อดีต พื้นที่ของรัฐคะเรนนีและฉานมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น เพราะหลายเมืองในรัฐคะเรนนีเคยอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าฟ้าฉานมาก่อน แต่ต่อมาก็ค่อยๆ ตั้งตนเป็นอิสระ และมีเจ้าฟ้าของตนเองปกครอง ตลอดยุคอาณานิคม อังกฤษไม่เคยปกครองพื้นที่ตรงนี้แบบสมบูรณ์เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ที่เขตพม่า (Burma Proper) เจ้าฟ้าแต่ละเมืองมีอำนาจพอประมาณ และยังอยู่ภายใต้การปกครองของบริติชเบอร์ม่า ที่มีศูนย์กลางการบริหารที่ย่างกุ้ง อังกฤษส่งผู้ปกครองของตนเข้าไปดูแลความเรียบร้อย แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นข้าหลวงประจำรัฐ (Commissioner) เหมือนในรัฐอื่นๆ เช่น รัฐฉาน เพื่อความสะดวกด้านการบริหาร อังกฤษผนวกรัฐคะเรนนีเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์แห่งรัฐฉาน (Federated Shan States) ผ่านเชียงตุงในรัฐฉานใต้

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่ในรัฐคะเรนนีมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ด้านการทหารของไทยด้วย เพราะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งกองทัพเข้าไปยึดพื้นที่ในรัฐฉานแถบเชียงตุงติดชายแดนจีน มาจนถึงพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำสาละวินในเขตคะเรนนี โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดพม่าไปได้ก่อนหน้านั้น เรียกพื้นที่นี้ว่า “สหรัฐไทยเดิม” หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยที่เลือกเข้าข้างญี่ปุ่นก็ต้องคืนดินแดนที่ได้มากลับไปให้อังกฤษ

ด้วยที่มาที่ “พิเศษ” ของรัฐคะเรนนี ที่ถูกผลักให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉานมาเนิ่นนาน ทำให้ชาวคะเรนนีมีแรงปรารถนาที่จะปกครองตนเองสูงมาก คะเรนนีมีกองกำลังหลัก 2 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพคะเรนนี (Karenni Army) และ KNDF (Karenni Nationalities Defence Force) ทั้งสองกลุ่มนี้รวมตัวกันเป็นพันธมิตรร่วมรบ และยังนำกองกำลัง PDF อันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล NUG และฝ่ายต่อต้านรัฐประหารเข้ามาร่วมด้วย นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2023 กองกำลังสามพี่น้องแห่งภาคตะวันออกทยอยโจมตีกองทัพพม่า จนสามารถยึดเมืองลอยก่อและเมืองรอบๆ ได้สำเร็จ และยังร่วมกับกองกำลัง PNLA (Pa-O National Liberation Army) ของปะโอ ที่ก่อนหน้านี้รักษาเนื้อรักษาตัวไม่ยอมปะทะกับกองทัพพม่า เข้ายึดบางเมืองในรัฐฉานใต้ อันเป็นรอยต่อระหว่างเขตของปะโอกับรัฐฉานใต้ได้สำเร็จ

Advertisement

นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชาวคะเรนนีก็ได้ตั้ง IEC หรือ “รักษาการสภาแห่งรัฐคะเรนนี” ขึ้นมาเพื่อปกครองและดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ และเป็นเสมือนรัฐบาลกลาง มีหน้าที่ตามแถลงการณ์หลัก 3 ข้อ ได้แก่ ผู้นำร่วมกันบริหารรัฐคะเรนนี ใช้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (check and balance) ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ และหน้าที่สุดท้ายคือประสานงานกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหารอื่นๆ ที่มีปฏิบัติการภายในรัฐคะเรนนี IEC มีระบบการบริหารงานใกล้เคียงกับรัฐบาลแห่งรัฐ (state government) ภายใต้ 12 กระทรวง

ผู้เขียนมองว่าโมเดลของรัฐคะเรนนีนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความ practical สูง IEC กล่าวชัดเจนว่าต้องการทำงานกับรัฐบาล NUG และยังเน้นการทำงานร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เพื่อเป้าหมายการสร้างระบบสหพันธรัฐให้สำเร็จ หากวันใดพม่ากลับสู่สถานการณ์ปกติ และสงครามระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพพม่าในครานี้สิ้นสุดลงแล้ว IEC ก็จะยุบตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลรัฐคะเรนนีภายใต้สหพันธรัฐพม่า

จุดมุ่งหมายของผู้นำ KNDF ผู้ร่วมก่อตั้ง IEC มีความสำคัญมาก เพราะเขาอยากอุดช่องว่างด้านการสาธารณสุข การจัดหาโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชน และด้านการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในภาวะสงครามกลางเมือง และเมื่อรัฐบาลกลางและกองทัพพม่าถูกขับออกจากพื้นที่นี้แล้ว ผู้นำคะเรนนีและกองกำลังในพื้นที่ก็มีหน้าที่สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนของตนเอง เพื่อรองรับสังคมแห่งความเท่าเทียมและระบบการกระจายอำนาจที่พวกเขาใฝ่ฝันจะเห็น

Advertisement

อีกหนึ่งเหตุผลที่ชาวคะเรนนี “แอ๊กทีฟ” และดูจะตื่นเต้นกับการสร้างรัฐในยุคหลังสงครามกลางเมืองมากเป็นพิเศษ เพราะในการเจรจาสันติภาพในพม่า ที่เริ่มตั้งแต่ข้อตกลงปางหลวงในปี 1947 มาจนถึงข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่ต่อมารีแบรนด์เป็นการประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 ในยุครัฐบาล NLD คะเรนนีไม่ได้มีบทบาทมากนัก ดังที่กล่าวไปข้างต้น ชาวคะเรนนีรวมทั้งชาวกะเหรี่ยงไม่ได้เป็นคู่เจรจาหลักในที่ประชุมปางหลวง เพราะผู้นำพม่ามองว่าพื้นที่ของทั้งสองกลุ่มนี้ ที่เรียกรวมๆ ว่ารัฐข้ามลำน้ำสาละวิน (Trans-Salween States) อยู่ในพื้นที่ราบติดกับเขตพม่า ไม่ได้เข้าถึงได้ยากเหมือนกับรัฐฉานหรือเขตภูเขาทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของพม่า การต่อสู้ระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพพม่ากลับมีความรุนแรงมากที่สุดในพื้นที่นี้ หรือเขตรอยต่อไทยกับพม่า

แนวทางของคะเรนนี หากประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับกองกำลังในรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าคะเรนนีเป็นพื้นที่เล็ก ต่างกับรัฐอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่และมีความขัดแย้งกันภายในรัฐของตนเอง โดยเฉพาะรัฐฉาน ที่เราเห็นจุดยืนที่ต่างกันในกลุ่มผู้นำรัฐฉานเหนือ รัฐฉานใต้ และกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ว้า โกก้าง และตะอาง ดังนั้น ไม่ใช่ว่าโมเดลการจัดตั้งรัฐบาลแห่งรัฐแบบคะเรนนีจะประสบความสำเร็จในทุกพื้นที่ หากวันใดวันหนึ่งเกิดระบบสหพันธรัฐในพม่าขึ้นจริง ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์คงต้องมานั่งพูดคุยถึงรายละเอียดเรื่องรูปแบบและอำนาจของรัฐบาลระดับรัฐและรัฐบาลกลางอีกมากมาย

มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่าเราอาจจะได้เห็น “คะเรนนีโมเดล” นี้ที่รัฐอาระกันต่อไป เพราะกองทัพอาระกัน หรือ AA นั้น มีการบริหารจัดการที่แตกต่างออกไป และยังมีผู้นำเป็นนายทหารรุ่นใหม่ อย่างทุน มรัต นาย (Tun Mrat Naing) และทุน อ่อง (Tun Aung) หากโมเดลนี้สำเร็จ พื้นที่ชายแดนพม่า ทั้งที่ติดกับไทย จีน บังกลาเทศ และอินเดียทั้งหมดก็จะเป็นรัฐกึ่งอิสระเกือบทั้งหมด ผู้เขียนไม่ได้อยากให้ความหวังว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นแน่ๆ แต่มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนก็เริ่มเชื่อแล้วว่าเค้าลางแห่งความเปลี่ยนแปลงอาจจะมาเร็วกว่าที่เราคิดไว้ก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image