ดุลยภาพดุลยพินิจ : รากฐานการศึกษาของสิงคโปร์ (2) การศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดุลยภาพดุลยพินิจ : รากฐานการศึกษาของสิงคโปร์ (2) การศึกษาขั้นพื้นฐาน

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงรากฐานการศึกษาที่สำคัญประการหนึ่งของสิงคโปร์ คือ Political will ว่าผู้นำต้องเข้าใจและให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และค้างไว้เรื่องนโยบาย Smart Nation ของนาย ลี เซียนลุง ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดของโลกมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และให้สิงคโปร์มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีกำลังคนที่มีคุณภาพ สร้างโอกาสให้แก่ประชาชน และให้สังคมมีความมั่นคงและยั่งยืน โดยนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่โดดเด่นคือโครงการ SkillsFuture Initiative รวมทั้ง SkillsFuture Credit ที่รัฐแจกเครดิต ให้คนสิงคโปร์ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป เป็นเครดิตตลอดชีวิตสำหรับใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ กับโครงการ SkillsFuture

ที่สำคัญ คือ SkillsFuture Credit มีเป้าหมายเน้นให้ประชาชนมีทักษะการเรียนรู้มากกว่าค่านิยมในปริญญา (ซึ่งต่างกับที่ประเทศไทยเป็นอยู่ในขณะนี้ ที่คนจบปริญญามากมายแต่หางานไม่ได้) และที่สำคัญอีกอย่างคือ เป้าหมายของการศึกษาตามนโยบาย SkillsFuture Credit คือ การเป็นเครื่องมือในการผลักดันสิงคโปร์ไปสู่ประเทศชั้นแนวหน้าและเป็นสังคมเสมอภาค

นโยบายอีกประการหนึ่งใน Smart Nation คือ นโยบาย “สอนน้อย เรียนมาก” Teach Less, Learn More (TLLM) ที่เน้นการสอนให้น้อยลงแต่ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้มากขึ้นที่มาจากสุนทรพจน์ของ ลี เซียน ลุง เมื่อวันชาติ 24 สิงหาคม 2547 ที่ ลี เซียน ลุง ได้กระตุ้นครูให้ “สอนให้น้อย เพื่อให้นักเรียนได้เรียนมากขึ้น” กล่าวคือให้ปรับหลักสูตรให้เหมาะสม ลดการเรียนแบบท่องจำและใช้วิธีสอนที่เข้ากับนักเรียนมากขึ้นและเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งต่อมากระทรวงศึกษาสิงคโปร์ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปสานต่อเพื่อพัฒนาคุณภาพการสอนและการเรียนในสิงคโปร์โดยปรับเข้ากับวิสัยทัศน์ “โรงเรียนคิด ประเทศเรียนรู้” (“Thinking School, Learning Nation: TSLN”) ดังได้กล่าวไปแล้ว เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ส่งเสริมความคิดริเริ่ม ความคิดเชิงวิพากษ์ และ ความปรารถนาจะเรียนรู้ตลอดชีวิต ลักษณะย่อๆ คือ เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มของครูในขณะที่ให้นักเรียนมีความยืดหยุ่นและมีทางเลือก โดย (1) การเปลี่ยนบทบาทของครู จากการเป็นผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือตัวช่วยในการเรียนการสอน คอยให้คำชี้แนะให้นักเรียนเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (2) การเปลี่ยนวิธีการสอนมาเน้นให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงผ่านโครงการ (Project-based learning) ที่เรียนรู้จากการแก้ปัญหา (Problem-based learning) หรือวิธีการที่มีความสร้างสรรค์ และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ มากกว่าการเช็กถูกผิดในข้อสอบปรนัยแบบเดิมๆ ซึ่งนโยบายนี้ทำให้ครูมีอิสระในการพัฒนาวิธีการสอนที่เหมาะกับความแตกต่างเฉพาะบุคคลของนักเรียนได้อีกด้วย โดยระบบการศึกษาของสิงคโปร์มีการรองรับความถนัด หรือความสามารถที่แตกต่างของนักเรียนด้วยการแยกสายการเรียน (ระดับมัธยมเป็น 3 สาย คือ สายด่วน (Express) สายปกติวิชาการ (Normal-Academic) และสายปกติ-เทคนิค (Normal-Technical) ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

Advertisement

การศึกษาขั้นพื้นฐาน

ขอตัดภาพมาที่ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วย (ก) การศึกษาพื้นฐาน ได้แก่ 1) การศึกษาก่อนเข้าโรงเรียน 2) ประถมศึกษา 3) มัธยมศึกษาตอนต้น 4) มัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษาและเทคนิค (ข) อุดมศึกษา และ (ค) การศึกษาพิเศษ

ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งต่อรากฐานการศึกษาของสิงคโปร์

Advertisement

การศึกษาก่อนเข้าโรงเรียน

การศึกษาก่อนเข้าโรงเรียนประกอบด้วยศูนย์ดูแลเด็กและโรงเรียนอนุบาลสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบเพื่อเตรียมเด็กเข้าสู่ประถมศึกษา การศึกษานี้ไม่บังคับแต่ผู้ปกครองร้อยละ 99 เต็มใจใช้บริการเองเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนประถมศึกษาและ/หรือเพื่อลดภาระการดูแลเด็กของครอบครัวที่ต้องทำงาน รวมทั้งการส่งเสริมจากภาครัฐ การศึกษาส่วนนี้ส่วนใหญ่เอกชนเป็นผู้จัดภายใต้การควบคุมดูแลขององค์การการพัฒนาวัยเด็กระยะแรก (Early Childhood Development Agency: ECDA) (ตั้งแต่ปี 2556 ECDA เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว (Ministry of Social and Family Development: MSF) ดูแลศูนย์เด็กปฐมวัย และกระทรวงศึกษาธิการดูแลโรงเรียนอนุบาล ปัจจุบันรัฐบาลพยายามเพิ่มจำนวนโรงเรียนอนุบาลและศูนย์ดูแลเด็กเล็กของภาครัฐ

สถานดูแลเด็กก่อนเข้าโรงเรียนในสิงคโปร์มี 4 แบบ คือ (1) ศูนย์เด็กอ่อน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก (Infant care centers) รับเด็กอายุ 2-18 เดือน มีจำนวน 805 แห่ง (2566) (2) ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก (Child care centers) รับเด็ก อายุ 18 เดือน ถึง 6 ขวบ มีจำนวน 1,665 แห่ง (3) โรงเรียนอนุบาล รับเด็กอายุ 4-6 ขวบ จำนวน 344 (4) กลุ่มเพื่อนเล่น (Playgroups) รับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 6 ขวบ เน้นการเล่นมากกว่าการเรียนอย่างชั้นอนุบาล การดูแลคล้ายๆ กับศูนย์ดูแลเด็กเล็ก (จำนวน Playgroups ไม่มีสถิติ)

ประถมศึกษา

การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับตาม พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ ค.ศ.2000 ว่าหมายถึงการศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐ (ไม่รวมมัธยมศึกษา) สำหรับพลเมืองสิงคโปร์ที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์เมื่ออายุเข้าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับคือ เกิน 6 ขวบและน้อยกว่า 15 ปี ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือจำคุกไม่เกิน 12 เดือน หรือทั้งปรับและจำ การศึกษาภาคบังคับไม่ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียน แต่มีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดเดือนละ 7-13 เหรียญสิงคโปร์ (เหรียญละ 27 บาท) (เฉพาะพลเมืองสิงคโปร์ ต่างชาติ แต่คนอาเซียนเสีย 500 เหรียญ/เดือน ชาติอื่น 800 เหรียญ/เดือน)
การศึกษาระดับประถมศึกษาใช้เวลา 6 ปี แบ่งเป็นประถมศึกษาตอนต้น 4 ปีตั้งแต่ ป.1-4 เป็นขั้นพื้นฐาน (Foundation stage) และประถมศึกษาตอนปลายอีก 2 ปีคือ ป.5-6 เป็นขั้นปฐมนิเทศ (Orientation stage)

การเรียนประถมศึกษาเน้นที่ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้และการคํานวณ นักเรียนจะเรียนวิชาทั่วๆ ไปเหมือนกัน การเรียนการสอนเป็นระบบ 2 ภาษาโดยภาษาอังกฤษเป็นหลัก และมีภาษาแม่ (จีน มาเลย์ และทมิฬ) เป็นภาษาที่สอง หลักสูตรประถมศึกษามี 10 วิชา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาแม่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี พลศึกษา สังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Coding) ซึ่งเพิ่มเข้ามาในปี 2562 และปรับวิชาหน้าที่พลเมืองให้รวมเรื่อง สุขภาพจิต และสุขภาวะดิจิทัล (Cyber-wellness) รวมทั้งยังจัดวิชาสำหรับเด็กที่มีพรสวรรค์

หลังจบ ป.4 นักเรียนจะเรียนต่อชั้น ป.5 ในขั้นปฐมนิเทศ โดยจะถูกแยกออกเป็น 3 สายเพื่อแก้ปัญหานักเรียนออกกลางคัน ซึ่งเรื่องนี้ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2521 ที่รายงานของนายกรัฐมนตรี (Goh Report 1978) รายงานปัญหาระบบการศึกษาของสิงคโปร์สมัยนั้นที่ค่อนข้างล้มเหลวมีการสูญเสียทางการศึกษา เด็กเรียนไม่ดี ไม่สามารถเรียนต่อระดับสูงๆ ได้ เพราะปัญหาสำคัญคือเรื่องภาษา เนื่องจากสิงคโปร์มีคน 3 ชาติ คือ จีน (76%) มาเลย์ (15%) และอินเดีย (7%) ขณะที่การเรียนการสอนในสิงคโปร์ใช้ภาษาอังกฤษและแมนดาริน (ตามนโยบาย 2 ภาษา) แต่เมื่อเด็กกลับไปบ้านร้อยละ 85 ก็พูดแต่ภาษาของตน

นโยบายแก้ไขในตอนนั้นเรียกว่า Streaming คือการแยกกลุ่มให้นักเรียนได้ใช้ภาษาของตนในการเรียนควบคู่กับภาษาอังกฤษโดยแยกตามความสามารถทางภาษาตั้งแต่ตอนจบ ป.3 เพื่อจัดกลุ่มให้เด็กที่เรียนอ่อน (ภาษา) ได้เรียนกับนักเรียนที่อ่อนระดับเดียวกันเพื่อเคี่ยวพัฒนาด้านภาษาก่อนเพื่อให้สามารถเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้น (ตอนนั้นเรียกว่า “ระบบการศึกษาใหม่” (New Education System: NES เป็นระบบ streaming) ที่เริ่มเมื่อ 2523 ที่แยกนักเรียนที่จบ ป.3 เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก สอบ ป.3 ได้ จะได้เรียนต่อในหลักสูตรสองภาษาปกติ กลุ่มที่ 2 สอบไม่ผ่าน ป.3 แต่สอบผ่าน ป.2 จะได้เรียนหลักสูตรสองภาษาแบบขยายโดยต้องเรียนนานขึ้น และกลุ่มที่ 3 สอบตกทั้ง ป.2 และ ป.3 และการทดสอบของกระทรวงศึกษาธิการ จะถูกจัดให้เรียนหลักสูตรภาษาเดียวและจะต้องไปสอบความสามารถทางภาษาระดับประถมศึกษาเมื่อเรียนจบประถมศึกษา

เมื่อเรียนจบ ป.4 นักเรียนสามารถเรียนวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาแม่และวิทยาศาสตร์ ต่อในชั้น ป.5 และ ป.6 ในระดับพื้นฐาน หรือมาตรฐาน นักเรียนที่ทำคะแนนภาษาแม่ได้ดีอาจได้เลื่อนชั้นไปเรียนภาษาแม่ระดับสูงขึ้น

อนึ่ง ในปี 2534 มีการปรับปรุง streaming เพื่อช่วยเด็กที่เรียนอ่อนอีกครั้งโดยเลื่อนเวลาที่แยกจากตอนจบ ป.3 ไปแยกสายตอนจบ ป.4 เพื่อให้เด็กเรียนไม่เก่งมีเวลาอีก 1 ปีเพื่อพัฒนาพื้นฐานภาษาอังกฤษ ภาษาแม่ และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น พร้อมกับปรับเปลี่ยนระบบสองภาษาเดิม (normal bilingual, extended bilingual and monolingual streams) เป็นระบบ EM (English and mother tongue) ประกอบด้วยสาย EM1, EM2 and EM3 โดย EM 1 สําหรับนักเรียนที่ทําคะแนนดีในภาษาอังกฤษ ภาษาที่สองและคณิตศาสตร์จะได้เรียนภาษาอังกฤษและภาษาที่สองในระดับสูง EM 2 เป็นระดับมาตรฐานของนักเรียนส่วนใหญ่ และ EM 3 สําหรับนักเรียนที่อ่อนภาษาและคณิตศาสตร์จะได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ส่วนวิชาภาษาแม่จะเน้นที่ทักษะการพูดและการอ่านและฟังเพื่อความเข้าใจ

ตั้งแต่ ปี 2551 ระบบ Subject-based Banding System (SBB) เข้ามาแทน EM 3 ในชั้น ป.5 และ ป.6 จากเดิมนักเรียนระดับ EM 3 ต้องไปเรียนระดับพื้นฐานทุกวิชา แต่ในระบบ SBB นักเรียนจะถูกแยกไปเรียนบางวิชาตามความถนัดของนักเรียน โดยที่ในบางวิชานักเรียนก็จะได้เรียนอยู่กับเพื่อนกลุ่มเดิมและบางวิชาก็จะไปเรียนกับกลุ่มอื่น

ไม่ต้องงงครับ สิงคโปร์ขยันปรับหลักสูตรมาก โดยเฉพาะหลักสูตรชั้นมัธยม

เมื่อสอบจบ ป.6 แล้วนักเรียนจะต้องสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยม ที่เรียกว่า PSLE (Primary School Leaving Examination) คะแนน PSLE จะเป็นตัวตัดสินว่านักเรียนจะได้เลือกเรียนชั้นมัธยมที่ไหน

การศึกษาระดับมัธยมของสิงคโปร์ ขอผลัดไว้ฉบับหน้าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image