ฟอกเขียว Greenwashing

ฟอกเขียว Greenwashing

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จบลงไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องกันทั่วโลก เหตุเพราะประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก แถมยังแต่งตั้งสุลต่าน บิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบรรษัทบริหารธุรกิจน้ำมัน เป็นประธาน COP28 ทั้งที่เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งบริษัทน้ำมันของสุลต่าน อัล จาเบอร์ ยังประกาศแผนขยายการผลิตน้ำมันต่อไปอีก ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า “นี่เท่ากับเป็นการแต่งตั้ง CEO จากบริษัทขายบุหรี่มาดูแลการประชุมเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง” ส่วน
เกรียตา ทุนแบร์ย ก็วิจารณ์ว่า การประชุมนี้คือ “การฟอกเขียว Green washing” เป็นเวทีที่จัดขึ้นเพื่อให้ประเทศและภาคธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลโปรโมตชื่อเสียงในด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงในส่วนที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาจริงๆ

แม้ภาพลักษณ์ของ COP28 ไม่เป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยอมรับว่า COP28 ได้ให้ความหวังเพื่อแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) มากกว่าการประชุมครั้งก่อนๆ เพียงแต่ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ในความตกลงกรุงปารีส หรือ COP21 ที่กำหนดให้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

เรื่องแรกคือการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหงุดหงิดกับข้อสรุปจากการใช้คำว่า “การเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล Transition away” แทนที่จะใช้คำว่า “สิ้นสุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล Phase out” ที่จริงจังชัดเจนกว่า อย่างไรก็ตาม มากกว่า 190 ประเทศ เห็นชอบข้อตกลง “การเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล Transition away” ในระบบพลังงาน ซึ่งแม้ฟังแล้วไม่หนักแน่นจริงจัง แต่ก็ถือเป็นครั้งแรกที่ข้อตกลงอย่างเป็นทางการของการประชุมที่ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องหยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างตรงไปตรงมา ก็ถือเป็น “จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” ที่รอคอยกันมากว่า 30 ปี นับตั้งแต่การประชุม COP ครั้งแรกในปี 1995 หรืออย่างน้อยอาจกล่าวได้ว่า ความพยายามกว่า 30 ปี ได้ทำให้บริษัทและประเทศผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่ไม่เคยยอมโอนอ่อนกับเรื่องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้ยอมรับว่า นี่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่โลกจะต้องเป็นอิสระจากการครอบงำของเชื้อเพลิงฟอสซิล

Advertisement

เรื่องต่อมาที่ก่อเกิดความประหลาดใจ โดยในวันแรกของการประชุม COP28 มีการประกาศข้อตกลงจัดตั้ง “กองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย” ซึ่งนับเป็นกองทุนแรกของโลกที่มีเป้าหมายเพื่อจ่ายเงินชดเชยค่าผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะที่เกิดจากความแปรเปลี่ยนของสภาพอากาศ (Irreversible damage) ให้แก่ประเทศยากจนและเปราะบาง โดยประเทศร่ำรวยหลายประเทศซึ่งต้องมีส่วนรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประกาศจัดตั้งกองทุนดังกล่าวด้วยจำนวนเงินทุนสนับสนุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อเทียบเงินทุนสนับสนุนของกองทุนนี้กับมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศยากจนและเปราะบางจากความแปรเปลี่ยนของสภาพอากาศที่ได้รับการประเมินจากผลการศึกษาที่มากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เงินทุนสนับสนุนกองทุนนี้ยังไม่ถึง 0.2% ของมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

ย้อนกลับมาประเทศไทย เป็นที่น่ายินดีว่าแผนพัฒนากำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศ PDP22 ได้กำหนด Transition ด้านพลังงานไฟฟ้า มีเป้าหมายที่จะลดสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบันที่ประมาณ 10% เป็นไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 2050 หรืออีกประมาณ 25 ปีข้างหน้า นับเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ขณะที่ผลสรุปของ COP28 ต้องการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่าของกำลังผลิตในปัจจุบัน (RE x 3) ความท้าทายนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่ การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ของพลังงานติดตั้งทั้งหมดของประเทศ มาจากส่วนใดและใช้เทคโนโลยีอะไร

การจัดตั้ง “กองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย” ของ COP28 ทำให้นึกถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยหากต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากความแปรเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ ที่อาจรุนแรงถึงขั้นหายนะหรือเกิดความเสียหายที่ไม่อาจย้อนคืน ภัยพิบัติเหล่านี้หนักหน่วงรุนแรงกว่าที่เราคุ้นเคยกับการจัดการด้วยงบประมาณแจกผ้าห่ม แจกสังกะสี หรือเตรียมกระสอบทราย

Advertisement

ประเทศไทยมีพื้นที่ ท้องถิ่นหรือชุมชนใดบ้างที่มีความเปราะบางต่อภัยพิบัติหรือปรากฏการณ์จากความแปรเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ

ในฐานะประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการแปรเปลี่ยนของสภาพอากาศ ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องรายงานเรื่องความเปราะบางและการปรับตัวต่อการแปรเปลี่ยนของสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าเราน่าจะมีข้อมูลจากการศึกษาผลกระทบ การประเมินความเสี่ยง ความเปราะบางและศักยภาพในการตั้งรับปรับตัว เพียงพอที่จะระบุพื้นที่ ท้องถิ่นหรือชุมชนเปราะบางเมื่อประสบกับภัยพิบัติประเภทต่างๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อนหรือกระทั่งโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งการประเมินขนาดของผลกระทบและความเสียหาย ซึ่งสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของการแปรเปลี่ยนของสภาพอากาศ

เมื่อเลขาธิการสหประชาติปรารภถึงสถานการณ์ ที่ไม่ใช่แค่ Global warming แต่เลยเถิดไปถึงขั้น Global Boiling แล้ว ย่อมเป็นสัญญาณที่บอกให้เราควรเร่งมือทำงานอย่างจริงจัง ดังนั้น ข้อมูลต่างๆ ควรถูกนำมาใช้ในการทำงานเชิงรุกด้วยการเสริมสร้างศักยภาพในการตั้งรับปรับตัวให้กับชุมชน ท้องถิ่นหรือพื้นที่เปราะบาง อย่างน้อยก็จะช่วยลดความเสียหายและสูญเสียจากพิบัติภัยต่างๆ

การนำเสนอนโยบายและการจัดทำรายงานมากมายเพื่อนำเสนอต่อประชาคมโลก แต่ยังไม่ลงมือทำงานอย่างจริงจัง ก็ไม่แตกต่างไปจากคำปรามาสกรณีการจัดประชุม COP28 ที่เป็นแค่ “การฟอกเขียว”

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image