คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘การ์ตูน’ที่กำลังจะได้ประดับมงกุฎในฐานะ‘วรรณกรรม’

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘การ์ตูน’ที่กำลังจะได้ประดับมงกุฎในฐานะ‘วรรณกรรม’

ครั้งแรกที่ได้ทราบจากทีมงาน “มติชนอวอร์ด” ว่า นอกจากการประกวดรางวัลวรรณกรรมเวทีนี้จะกลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ในปีนี้แล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่จะเพิ่มรางวัลให้งานอีกประเภทหนึ่ง คือการประกวด “การ์ตูน” ด้วย ในฐานะที่เป็น “ศิษย์เก่า” เวทีนี้ และเป็น“คอการ์ตูน” ก็ตื่นเต้นยินดีเป็นอย่างยิ่ง

เพราะ “มติชนอวอร์ด” เป็นเวทีวรรณกรรมเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาเกินสิบปี โดยจัดการประกวดและมอบรางวัลครั้งแรกในปี พ.ศ.2555 สำหรับงานเขียนประเภท “เรื่องสั้น” และ “กวีนิพนธ์” และในปีต่อมา ได้มีการเพิ่มประเภทของ “เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์” เข้ามาอีกรางวัลหนึ่ง และมีการจัดการประกวดต่อเนื่องมาเรื่อยๆ โดยอาจจะมีช่วงเวลาที่หยุดพักทบทวนแนวทางระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2565 โดยกลับมาให้รางวัลวรรณกรรมสองประเภทหลักคือ “เรื่องสั้นทั่วไป” กับ “กวีนิพนธ์” เช่นเดียวกับเมื่อแรกก่อตั้งรางวัล

การกลับมาของ “มติชนอวอร์ด” ในปีนี้จึงเป็นการเพิ่มประเภทรางวัลอีกครั้ง และที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือเป็นครั้งแรกที่ “การ์ตูน” จะได้มีที่ทางในเวทีวรรณกรรมเวทีหลักของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะเคยมีการให้รางวัลสำหรับงานเขียนประเภท “การ์ตูน” หรือ “นิยายภาพ” บ้าง แต่ทิศทางก็เหมือนเป็นการให้รางวัลสำหรับเป็นหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนมากกว่าจะมองงานสร้างสรรค์ประเภทนี้ในฐานะของ “วรรณกรรม” จริงจัง

พร้อมกันกับกระแสของภาพยนตร์เรื่อง “เป่าฝันให้เต็มฟ้า” (Blue Giant) ซึ่งเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นญี่ปุ่น (ที่มักจะเรียกเจาะจงว่า “อนิเมะ”) ที่เสนอเรื่องราวของเด็กหนุ่มนักเรียนมัธยมปลายผู้หลงใหลในดนตรีแจ๊ซผู้มุ่งมั่นจะเป็นนักดนตรีแจ๊ซอันดับหนึ่งของโลกที่ออกมาตามหาความฝันและพบปะกับคนที่มีความฝันอย่างเดียวกันในโตเกียว ก็ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปในประเทศไทยโดยค่ายหนังเจ้าใหญ่ GDH ภายใต้แบรนด์ Out of the Box ซึ่งก็ได้รับความสนใจและคำวิพากษ์วิจารณ์แง่บวกเป็นส่วนใหญ่จากนักเขียนนักวิจารณ์ทั่วไปที่ไม่ใช่สายอนิเมะญี่ปุ่น ยิ่งแสดงให้เห็นสถานะของ “ภาพยนตร์การ์ตูน” ในปัจจุบันได้ว่าไม่ใช่ “เรื่องเด็กๆ ดู” อีกต่อไป

Advertisement

โลกอาจจะเริ่มทำความรู้จักกับ “การ์ตูน” ในฐานะของภาพล้อเพื่อความบันเทิงหรือเรื่องราวสำหรับเด็กและวัยรุ่น ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นว่าการ์ตูนทั้งในฐานะของสิ่งพิมพ์และภาพยนตร์แอนิเมชั่นทั้งฉายทางโรงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในสมัยนั้นก็มีเนื้อหาสำหรับเด็กและวัยรุ่น เช่น ภาพยนตร์การ์ตูนฝรั่งที่ดัดแปลงมาจากเทพนิยายที่รู้ตอนจบอยู่แล้วของวอลต์ ดิสนีย์ หรือการ์ตูนญี่ปุ่นซึ่งถ้าเป็นการ์ตูนเด็กผู้หญิง (โชโจ) ก็เป็นการ์ตูนตาหวานพาฝัน การ์ตูนเด็กผู้ชาย (โชเน็น) ก็เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของวัยรุ่นเด็กหนุ่มกับอำนาจชั่วร้ายที่เหนือกว่าแต่ตรงไปตรงมา และมีการดำเนินเรื่องที่เป็นเส้นตรงคาดเดาได้ ว่าสุดท้ายกลุ่มเด็กหนุ่ม (หรือบางครั้งก็มีเด็กสาว) นั้นอาจจะเคยพ่ายแพ้อ่อนแอในตอนแรก แต่สุดท้ายเขาก็จะพัฒนาตัวเองแข็งแกร่งขึ้นและเอาชนะเหล่าร้ายวายร้ายที่เหนือกว่านั้นได้ด้วยพลังแห่งความมานะพยายาม

หากปัจจุบันนี้สถานะของ “การ์ตูน” ไม่ว่าจะรูปแบบของงานภาพนิ่งหรือภาพยนตร์ในระดับสากลนั้นพัฒนาไปสู่ผลงานสร้างสรรค์ที่เทียบเท่ากับวรรณกรรมและภาพยนตร์นานแล้ว โดยในปี 1991 (พ.ศ.2536) การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่อง Beauty and the Beast เป็นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับภาพยนตร์จิตวิทยาสยองขวัญคลาสสิกอย่าง “อำมหิตไม่เงียบ” (The Silence of the Lambs) ที่ได้รางวัลไปในปีดังกล่าว ก่อนจะมีการแยกรางวัลสำหรับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นมาเป็นครั้งแรกในปี 2001 (พ.ศ.2544) ซึ่งเป็นการยอมรับ “หนังการ์ตูน” ในฐานะของ “ภาพยนตร์” จริงจังที่อาจได้รับการประดับมงกุฎรางวัลภาพยนตร์ฝั่งอเมริกาที่เกือบๆ กลายเป็นรางวัลภาพยนตร์โลกไปแล้ว

ลักษณะพิเศษของ “การ์ตูน” ไม่ว่าจะรูปแบบภาพนิ่งสิ่งพิมพ์ หรือแอนิเมชั่น คือการใช้ภาพและเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นนำเสนอสาระที่ผู้สร้างสรรค์อยากจะสื่อออกมา บางเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องราวง่ายๆ สนุกสนานอาจจะซ่อนสารเบื้องหลังไว้มากกว่านั้น ตัวอย่างที่ดีที่สุดของเรื่องนี้คือ “มิติวิญญาณมหัศจรรย์” (Spirit Away) ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นรางวัลออสการ์เรื่องที่สองที่ได้รับรางวัลในปี 2002 กำกับโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ แห่งสตูดิโอจิบลิ ซึ่งชั้นแรกอาจจะดูว่าเป็นเรื่องการผจญภัยของ “จิฮิโระ” เด็กหญิงตัวน้อยที่พลัดหลงไปในโลกของภูตผีปีศาจเพราะพ่อแม่ไปกินอาหารของผู้ไร้ร่างจนถูกสาปเป็นหมู จนเธอต้องทำงานที่โรงอาบน้ำสไตล์ญี่ปุ่นของแม่มดยูบาบะ เพื่อหาทางนำพ่อแม่คืนสู่ร่างเดิมและกลับไปสู่โลกมนุษย์

Advertisement

เราจะดูภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้เป็นเรื่องเด็กสาวผจญภัยในมิติพิศวงที่ประหลาดล้ำหาที่มาที่ไปไม่ได้ตามหน้าหนังไปก็ได้ หากบางสิ่งบางอย่างที่แสดงออกมาในเรื่องก็สามารถตีความไปได้อย่างลึกล้ำว่าการ์ตูนเรื่องนี้อาจจะพยายามสื่อสารวัฒนธรรมบริโภคนิยมอันเพลิดเพลินมูมมามและโสโครกในสังคมทุนนิยมก็ได้ หรือแม้แต่การตีความไปได้มืดดำกว่านั้นว่าเป็นภาพแทนของเด็กที่ถูกขายให้ธุรกิจทางเพศเพราะพ่อแม่หลงไปบริโภคอาหารอันต้องห้ามแห่งทุนนิยม การดูได้หลายชั้นนี้เป็นจุดเด่นในการ์ตูนของฮายาโอะ มิยาซากิ และสตูดิโอจิบลิ เช่นในเรื่องล่าสุดอย่าง “เด็กชายกับนกกระสา” (The Boy and the Heron) ก็มีลักษณะเดียวกัน

แม้แต่ในบางครั้ง การ์ตูนบางเรื่องก็มีความตั้งใจให้เป็นเรื่องที่จริงๆ แล้วก็ไม่ควรต้องไปควานหาสาระอะไรในการอ่านการชมก็ได้ แต่ด้วยความแยบยลของผู้เขียนก็อาจจะซ่อนปัญหาและการสะท้อนสังคมที่เคยเป็นหน้าที่ของสิ่งที่เรียกว่า “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ก็ได้

การ์ตูนมังงะและอนิเมะเรื่องหนึ่งที่ชอบมากที่สุดในปีที่แล้ว เป็นเรื่องบ้าบอคอแตกที่ว่านั้นโดยแท้คือเรื่อง “รักรักรักรักรักเธอหมดหัวใจจากแฟนสาว 100 คน” (Kimi no koto ga Dai Dai Dai Dai Daisuki na 100-nin no Kanojo) เมื่อไอโจ เรนทาโร หนุ่มวัยรุ่นมัธยมปลายคนหนึ่งได้รับพรจากความผิดพลาดของพระเจ้าให้ต้องมีเนื้อคู่ถึง 100 คน และต้องคบหากับเด็กสาวและหญิงสาวทั้ง 100 คนนั้นพร้อมๆ กันด้วย

พล็อตที่เหลวไหลและเรื่องตลกโปกฮาแนวฮาเร็มที่แนะนำให้ถอดสมองดูเพื่อความบันเทิงนี้ ผู้เขียนก็ได้บอกเล่าเรื่องราวปัญหาสังคมญี่ปุ่นเอาไว้ผ่านตัวละครต่างๆ ที่เป็นแฟนสาวของเรนทาโร ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นปัญหาของหนุ่มสาวและวัยรุ่นทั่วโลกด้วย เช่น เรื่องของชิซูกะ เด็กสาวหนอนหนังสือที่มีปัญหาด้านการสื่อสารด้วยคำพูดจนถูกทำร้ายแม้แต่จากครอบครัวของตัวเอง หรือนาโนะ แฟนสาวอีกคนผู้คลั่งไคล้ในประสิทธิภาพและการใช้ชีวิตตามตรรกะเหมือนเป็นหุ่นยนต์จนละเลยมิติแง่มุมเชิงความรู้สึกและความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม สาวที่รับมือกับการยอมรับความรู้สึกตัวเองอย่างซื่อตรงไม่ได้จนออกมาเป็นบุคลิกแบบการกระทำไม่ตรงกับใจหรือที่เรียกว่าซึนเดะเระอย่างคาราเนะ คุณฮาฮาริ แม่ม่ายเลี้ยงเดี่ยวผู้ร่ำรวยจนไม่สมเหตุสมผลแต่ที่แท้แล้วเป็นคนที่ทุกข์ทรมานที่เสียคนรักไปก่อนวัยอันควร และสูญเสียชีวิตในวัยสาวทั้งหมดไปกับการทำงานและการเลี้ยงลูก ไปจนถึงอดีตอันเศร้าหม่นของทามะ คุณแฟนสาวคนที่ 25 อดีตพนักงานบริษัทที่ปรับตัวเข้ากับโลกแห่งการทำงานไม่ได้จนเกือบตัดสินใจจบชีวิตไปเกิดเป็นแมวที่ไม่ต้องมีเรื่องเดือดร้อนทุกข์ใจใดๆ

การสื่อสารเรื่องราวปัญหาสังคมร่วมสมัยออกมาได้อย่างแยบยลผ่านเรื่องราวที่ดูบ้าบอล้นเกินจนดูไร้สาระ หากการเล่นคำทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษกับชื่อของบรรดาแฟนสาว และการเกลี่ยบทให้ทุกคนยังมีบทเด่นได้อย่างไม่น่าเชื่อแม้ว่าจะมีตัวละครหลักปาเข้าไปแล้วเกือบ 30 คน พูดได้ว่าเป็นทักษะที่หาได้ยากแม้แต่กับนักเขียนสายนวนิยายหรือวรรณกรรมสายจริงจัง

เพราะจุดเด่นของ “การ์ตูน” ไม่ว่าจะรูปแบบใด คือไม่ว่าจะอย่างไรนั้นควรเริ่มต้นด้วยการนำเสนอที่สนุกสนานหรือน่าประทับใจสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ในเบื้องแรก หากภายในนั้นอาจจะสอดแทรกหรือสื่อสารเรื่องราวที่ลึกล้ำหรือดำมืดอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีผู้รับสารไปได้และตีความหรือไม่ คงน้อยเต็มทีที่จะมีการ์ตูนเรื่องใดที่คนอ่านคนดูบอกว่าเรื่องนี้ต้องปีนบันไดขึ้นไปเสพ หรือควรกินเบียร์สักไพน์ ไม่ก็สูบกัญชาสักมัดก่อนจะอ่านหรือชมเหมือนงานวรรณกรรมหนักหรือหนังอาร์ตบางเรื่อง

นอกจากนี้ วงการการ์ตูนไทยนั้นก็ไม่ได้น้อยหน้า การ์ตูนแก๊กล้อเลียนการเมืองหลายเรื่องที่ผ่านมาก็สะท้อนปัญหาการเมือง ความขัดแย้ง และการต่อสู้กับผู้มีอำนาจได้อย่างคมคายแยบยลด้วยอารมณ์ขัน ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่อีกฝ่ายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งในทางจารีตและอำนาจรัฐ งานของนักวาดที่ใช้นามแฝงว่า “คชสาร ตั้งยามอรุณ” จากผลงาน “การเดินทางของคชสาร” นั้นได้รับการยอมรับจากผู้คนในวงการวรรณกรรม หรือผลงานของ “ไข่แมว” ที่กลายเป็นการ์ตูนช่องมีมระดับโลก ภาพของชายหนุ่มที่ประคองหญิงสาวเข้ามาในห้องของเธอ หากก่อนที่จะเริ่มบรรเลงเพลงรัก เขาก็มีอันเปิดหนีไปอย่างไวทันทีเมื่อได้เห็นภาพใส่กรอบที่หญิงสาวเจ้าของห้องเคยไปร่วมมหกรรมเป่านกหวีดและชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. การ์ตูนสี่ช่องนี้กลายเป็นไวรัลไปในระดับโลก ทำให้เรื่องราวต้นฉบับที่แสดงให้เห็นถึงความชิงชังรังเกียจของผู้คนต่อกลุ่มอันธพาลการเมืองนี้ก็ถูกรับรู้ไปในระดับโลก หรือหากจำกันได้ในยุคสมัยแห่งระบอบรัฐประหาร นักเขียนการ์ตูนบางคนถูกติดตามแกะรอยเพื่อหาตัวตนโดยฝ่ายความมั่นคงก็มีอยู่อย่างที่ทราบกัน ส่วนการ์ตูนเรื่องยาวนั้น ล่าสุดก็มีผลงานที่น่าสนใจจาก “นายสะอาด” ก็เพิ่งออกผลงาน “2475 นักเขียนผีแห่งสยาม” การ์ตูนแนวดราม่าอิงประวัติศาสตร์ที่แต่งขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของบุคคลและเหตุการณ์จริงจากยุคอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

สำหรับการประกวดการ์ตูนของเวที “มติชนอวอร์ด” ที่เริ่มต้นในปีนี้นั้น โดยกติกาแล้วก็น่าจะเหมาะกับการ์ตูนแก๊กแบบหน้าเดียวจบภายในหนึ่งหน้ากระดาษ A4 โดยไม่จำกัดรูปแบบ เนื้อหา และเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานส่วนกติการายละเอียดอื่นๆ เช่นผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผลงานใหม่ ไม่ลอกเลียน หรือดัดแปลงมาจากงานของผู้อื่น ฯลฯ ก็เป็นกติกาทั่วไปเช่นเดียวกับการประกวดวรรณกรรมในรูปแบบอื่น โดยส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

ท่ามกลางบรรยากาศที่งานวรรณกรรมรูปแบบเดิมที่เริ่มเงียบเหงาและถูกตั้งคำถามว่า วรรณกรรมไทยที่เรียกตัวเองว่าเป็นแนวสร้างสรรค์นั้นยังต่อเชื่อมสะท้อนหรือเป็นปากเสียงให้ผู้คนในสังคมร่วมสมัยได้อยู่หรือไม่รางวัลวรรณกรรมระดับประเทศเริ่มเสื่อมความขลังจนแทบไม่มีใครจำได้ว่าปีนี้ใครได้รับรางวัล รวมถึงสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ในประเทศไทยก็เริ่มปฏิเสธการตีพิมพ์ผลงานประเภทงานวรรณกรรมรูปแบบเดิมแล้ว

การที่เวที “มติชนอวอร์ด” ซึ่งเป็นเวทีประกวดวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ มีความเป็นมาและได้รับการยอมรับในวงการวรรณกรรม ได้มองเห็น “การ์ตูน” ในฐานะของวรรณกรรมสาขาหนึ่งที่สมควรได้รับการประดับมงกุฎ จึงเป็นก้าวสำคัญยิ่งต่อวงการวรรณกรรมและสร้างความตื่นตัวให้มองเห็นน่านน้ำใหม่ของคนทำงานสร้างสรรค์แบบเล่าเรื่องของไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image