เทศกาลดนตรีแจ๊ซเพื่อการเรียนรู้ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยในหลายๆ มิติทีเดียว คนไทยรู้สึกว้าเหว่ อ้างว้าง ไร้ทิศทาง ไม่รู้จะไปทางไหน ไม่รู้ว่าจะพึ่งใคร ไม่รู้จะไว้ใจใคร สังคมรู้สึกขาดพ่อ ขาดความเชื่อมั่น พอตั้งสติได้ก็กลับไปศึกษาว่าพ่อมีอะไรเหลือไว้ให้บ้างที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตให้ดำเนินต่อไป ทุกภาคส่วนของสังคมต่างก็พยายามที่จะนำองค์ความรู้ของพ่อออกมาใช้ มาไตร่ตรอง และพัฒนาให้เป็นปัญญาที่ยั่งยืน

“ดนตรีช่วยขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวัน” เป็นพระราชปรารภที่พระองค์รับสั่งเอาไว้ เสียงดนตรีที่ได้พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยทั้ง 48 บทเพลง จะเป็นบทเพลงที่ช่วยขจัดความทุกข์ของคนไทยให้คลายลง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553 วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ได้มีโอกาสถวายการแสดงที่หอประชุมราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นครั้งแรกของนักดนตรีวงทีพีโอที่ได้แสดงถวายหน้าพระที่นั่ง ทั้งรายการก็เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ พระองค์ประทับนั่งฟังเพลงอย่างสนพระทัยยิ่ง ทรงถ่ายภาพนักดนตรีที่กำลังแสดงสดอยู่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้นำดนตรีแจ๊ซและได้ทรงวางรากฐานการศึกษาดนตรีแจ๊ซในประเทศไทย บทเพลงพระราชนิพนธ์เป็นเนื้อหาดนตรีแจ๊ซที่สำคัญมากที่นักศึกษาจะต้องศึกษาและสืบทอดต่อไป เป็นคัมภีร์ของนักดนตรีแจ๊ซรุ่นต่อๆ ไป พระองค์ทรงเล่นดนตรีแจ๊ซด้วยพระองค์เอง และทรงพระราชทานดนตรีของพระองค์ให้แก่พสกนิกรชาวไทย

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้เปิดสอนดนตรีแจ๊ซเป็นสถาบันแรกในภูมิภาค (พ.ศ.2541)

Advertisement

ในปัจจุบันมีการศึกษาดนตรีแจ๊ซตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (เตรียมอุดมดนตรี) กระทั่งระดับปริญญาโท และการศึกษาดนตรีแจ๊ซในประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีสถาบันหลักๆ อยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยรังสิต ทำให้การศึกษาดนตรีแจ๊ซขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง

เมื่อ 30 ปีก่อน นักดนตรีที่เล่นอยู่ในโรงแรมหรู (โรงแรมห้าดาว) ก็จะมีนักดนตรีต่างชาติยึดครองเต็มไปหมด ในปี พ.ศ.2540 เมื่อไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ นักดนตรี นักแสดง นักร้องต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก (3 หมื่นคน) ต้องออกนอกประเทศ เพราะสถานบันเทิงต้องปิดตัวลง ลองคิดดูว่า เงินเดือน ค่าที่พัก ค่าตัวศิลปินเหล่านี้ รวมกันแล้วเป็นเงินมหาศาล ทั้งต่อเดือนและต่อปี โดยที่ไม่อยู่ในสารบบของเศรษฐกิจไทย แน่นอนคนไทยเล่นดนตรีไม่เก่ง ร้องเพลงไม่ไพเราะ ภาษาก็สู้ฝรั่งยังไม่ได้

วันนี้สถาบันการศึกษาดนตรีของไทยสามารถที่จะผลิตบุคลากรดนตรีขึ้นมาทดแทนชาวต่างชาติได้อย่างน้อยร้อยละ 40 ซึ่งได้ยึดพื้นที่ในสถานประกอบการไปแล้ว อุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งมีนักร้อง นักดนตรี นักแสดง นักเทคโนโลยีดนตรี นักธุรกิจดนตรี อาชีพดนตรีได้คืนกลับมาอยู่ในมือคนไทยยุคใหม่มากขึ้น ทั้งมีฝีมือดนตรีสูงขึ้น รู้ภาษามากขึ้น ต่อรองกับนายจ้างได้มากขึ้น ปัจจุบันศิลปินไทยไม่ได้ขี้เหร่อีกต่อไป

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเทศกาลดนตรีแจ๊ซแห่งการเรียนรู้ ปีนี้เป็นปีที่ 9 แล้ว ก็เพื่อที่จะให้เด็กไทยได้เรียนรู้ ได้ศึกษา ได้ซึมซับวัฒนธรรมดนตรีสากล โดยเฉพาะทั้งดนตรีคลาสสิกและดนตรีแจ๊ซ การพัฒนาคนไทยให้เรียนรู้วัฒนธรรมที่เป็นสากล เป็นหน้าที่หลักของสถาบันอุดมศึกษา เพราะเมื่อชาวโลกเชื่อว่าดนตรีเป็นเครื่องหมายของความเจริญและเป็นสากล เราคนไทยก็หนีไม่ออกที่จะพัฒนาให้เป็นสากลให้ได้ ไม่เช่นนั้นสังคมไทยก็จะถูกกลืนโดยคนอื่นและวัฒนธรรมอื่น

เทศกาลดนตรีแจ๊ซแห่งการเรียนรู้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2560 ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตั้งแต่ 10 โมงเช้า กระทั่ง 5 ทุ่ม ทุกวัน มีสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เปิดสอนดนตรีส่งวงดนตรีเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง มากจนเหลือเชื่อ ประกอบกับวงดนตรีจากต่างประเทศรวมแล้วได้ 65 วงด้วยกัน

ทุกคนต่างตั้งใจจะเล่นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่านที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งดนตรีแจ๊ซไทย”

เทศกาลดนตรีแจ๊ซเท่าที่เคยจัดกันมาในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีเพื่อความบันเทิง ดนตรีมีสภาพที่ต่ำกว่าสะดือ ทำให้ดนตรีไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร พ่อแม่ผู้ปกครอง คนทำมาหากินก็ไม่เรียนรู้ว่าดนตรีมีความยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ดนตรีได้กลายเป็นวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน ดนตรีเป็นวิชาของทาสและไพร่ ผู้คนเกลียดกลัว พ่อแม่ผู้ปกครองก็รังเกียจที่จะให้ลูกหลานเรียนรู้และศึกษา

ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊ซ สถานภาพดนตรีในประเทศไทยจึงเปลี่ยนไป การศึกษาดนตรีได้พัฒนาขึ้นอย่างเหลือเชื่อ นักดนตรีคนไทยมีฝีมือสู้กับฝรั่งต่างชาติได้ ดนตรีได้กลายเป็นวิชาของนักปราชญ์ นักดนตรีเป็นผู้ที่มีเกียรติเชื่อถือได้ ดนตรีเป็นอาชีพที่มีค่าตัวแพง ค่าเล่าเรียนดนตรีก็แพง และแม้เครื่องดนตรีก็มีราคาที่แพงมากด้วย ซึ่งดนตรีก็เป็นวิชาที่ต้องใช้ความสามารถสูง

สำหรับความพิเศษของเทศกาลดนตรีแจ๊ซแห่งการเรียนรู้ในปีนี้ นอกจากมีวงดนตรีและนักดนตรีเก่งๆ แล้ว ยังมีการสอนดนตรีแจ๊ซโดยนักดนตรีระดับดังๆ ของโลก เพื่อให้เด็กได้สัมผัสคนระดับโลกโดยไม่ต้องวิ่งไปหาโลก แต่มีคนระดับโลกมาหาในเมืองไทย

โดยหวังว่าสักวันหนึ่งเด็กไทยที่ได้เห็นคนที่มีฝีมือระดับโลกจะได้สร้างแรงบันดาลใจ ได้พัฒนาตนเอง ได้เป็นนักดนตรีระดับโลกได้ในอนาคต

โลกในวันนี้และโลกในอนาคต เป็นโลกของคนที่มีกึ๋นเท่านั้น คนก็จะเอากึ๋นออกมาขายให้แก่กัน กึ๋นคือการผสมผสานกันระหว่างความสามารถบวกกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ออกมาเป็นสินค้า วิชาดนตรีและศิลปะก็จะเป็นรากฐานของกึ๋นทั้งหลาย วันนี้การศึกษาไทยได้เข้าไปถึงกึ๋นแล้ว

สิ่งที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอเพิ่มในเทศกาลดนตรีแจ๊ซแห่งการเรียนรู้ คือการเอาดนตรีแจ๊ซและดนตรีคลาสสิกมาผสมกัน แล้วมานำเสนอใหม่ในสังคมไทย แม้จะเป็นของเก่าแล้วทั้งในอเมริกาและยุโรป แต่ในเมื่อสังคมไทยยังไม่เคยมีและทำได้ยาก เพราะทั้งแพง ยาก และไม่พร้อม

วันนี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพร้อมสูง มีวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย และมีอาคารมหิดลสิทธาคาร ทำให้สามารถจัดการผสมผสานกันทั้งดนตรีแจ๊ซและดนตรีคลาสสิกได้อย่างเต็มยศ ซึ่งไม่มีที่ไหนจะทำกัน จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีสำหรับเด็กไทย ประกอบกับบรรยากาศที่ศาลายาในช่วงเดือนมกราคม อากาศเย็นๆ เป็นบรรยากาศในการฟังดนตรีกลางแจ้งที่ดีมาก อยากฟังอยากรู้ ต้องไปสัมผัสและพิสูจน์ด้วยตนเอง

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image