ภาพเก่าเล่าตำนาน : ความรัก อาถรรพ์ หรรษา และโศกสลด ของเรือไททานิก (1):พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เรือสำราญสุดหรูของอังกฤษ เป็นสิ่งก่อสร้างใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างบนโลกและลอยน้ำได้ ได้รับฉายาว่า “วัตถุที่ไม่มีวันจม” (Unsinkable) เป็นของเล่น เป็นพาหนะสำหรับเศรษฐี มีผู้โดยสารบนเรือที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มหาเศรษฐี นักธุรกิจระดับโลก นักวิชาการ สื่อมวลชน ชนชั้นสูงทั้งหลายที่ยอมจ่ายเงินก้อนโตเพื่อขอขึ้นไปเพื่อเสพสัมผัสกับสวรรค์ลอยน้ำ

หลังเดินทางออกจากท่าไปเพียง 4 วัน โลกต้องตะลึงกับข่าวโศกนาฏกรรมในทะเลครั้งใหญ่ที่สุด

เรือไททานิก (Titanic) ที่งามสง่า วิ่งไปชนภูเขาน้ำแข็งในทะเลแอตแลนติกเหนือตอนกลางดึก เรือเหล็กหักงอเหมือนแผ่นสังกะสี มีคนกำลังนอน กำลังร้องเพลง ดื่มเหล้า เต้นรำ และมีคู่รักกอดกันจมน้ำตายในห้องนอน ผู้โดยสารจมน้ำตายเพราะถูกแช่แข็งในทะเลมากกว่า 1,500 คน และมีคนรอดตาย 710 คน

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ขอย้อนอดีตของเรือไททานิก ครับ

Advertisement

Online-ไททานิก 3

10เมษายน พ.ศ.2445 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.5) ท้องฟ้าแจ่มใส สายลมแผ่วเบาโชยผ่านเมืองเซาแธมป์ตัน ในอังกฤษ วิมานลอยน้ำชื่อไททานิกลำนี้ พร้อมผู้โดยสารที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียงตะโกนล่ำลา อวยชัยให้พร พร้อมแล้วที่จะออกเดินทางเป็นปฐมฤกษ์จากเมืองเซาแธมป์ตัน (Southampton) ของอังกฤษ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก มุ่งหน้าสู่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

มีมหาเศรษฐีที่ถือว่ารวยที่สุดในตอนนั้น ชื่อ จอห์น จาคอบ แอสเตอร์ ที่ 4 (John Jacob Aster IV) ที่จองตั๋วล่วงหน้ามา 1 ปี ประการสำคัญคือจะเป็นการล่องเรือสำราญฮันนีมูนกับสาวน้อยวัย 18

Advertisement

เรือไททานิก (RMS : Royal Mail Steamer Titanic) ของบริษัทเดินเรือ White Star Line ของอังกฤษ สร้างโดยบริษัท Harland and Wolff ได้รับการออกแบบให้มีความสะดวกสบายหรูหราที่สุด บนเรือมีห้องออกกำลัง สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ภัตตาคาร บาร์ห้องเต้นรำ และห้องพักผู้โดยสารจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีโทรเลขไร้สาย ในยุคสมัยนั้นกิจการเดินเรือระหว่างยุโรป-อเมริกา เป็นธุรกิจที่ทำเงินแบบโตวันโตคืน

ในเวลาเดียวกันนั้น บริษัทเดินเรือ Lunard มีเรือเดินสมุทรสุดหรูชื่อ ลูซิตาเนีย (Lusitania) ถือได้ว่าเป็นบริษัทเดินเรือที่เป็นคู่แข่งของ White Star Line มีการแข่งขันกันการบริการ จุดขายของการเดินเรือคือ “ความหรูหรา สะดวกสบายของผู้โดยสาร”
Online-ไททานิก 2

เรือไททานิก ถูกบรรจงสร้างให้เหนือชั้นกว่า เรือลูซิตาเนีย เป็น 1 ใน 3 ของเรือโดยสารชั้นโอลิมปิก (Olympic-Class) สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2452-2454 โดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟ (Harland and Wolff) ในเบลฟาสต์ (Belfast) ออกแบบให้บรรทุกผู้โดยสารได้ 2,435 คน สร้างเสร็จปล่อยลงน้ำที่อู่ต่อเรือเมืองเบลฟาสต์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ 31 พฤษภาคม 1911 ใช้เวลาต่อเรือนาน 2 ปี ตัวเรือยาว 270 เมตร มีความสูง 53 เมตร ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 44 กม/ชม.

บริษัทโหมโฆษณามาอย่างต่อเนื่องว่า สวยงามอร่ามหรู และปลอดภัยที่สุดในโลก และ ไททานิกจะเป็นวัตถุเคลื่อนได้ที่ใหญ่ที่สุดที่ทำด้วยฝีมือมนุษย์ มีคนมาร่วมชมพิธีปล่อยเรือลงน้ำครั้งประวัติศาสตร์วันนั้นราว 1 แสนคน เรือลูซิตาเนียและไททานิกถูกปล่อยลงน้ำในเวลาใกล้เคียงกัน

หัวหน้าทีมวิศวกรที่มีชื่อเสียงและมีฝีมือไว้วางใจได้มากที่สุดในเวลานั้น คือ โทมัส แอนดรูว์ส (Thomas Andrews) เขาคือผู้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือไททานิก วิศวกรโทมัสมีความสุขที่สุดที่ได้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือ เขาชื่นชมเรือไททานิก และกล่าวว่าเป็นเรือที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะทำได้

พ.ศ.2452 โทมัสเริ่มร่างภาพ ออกแบบ และต้องการใช้ระบบที่ทันสมัยที่สุดในเรือไททานิก จนหลังจากผ่านการทดสอบได้ไม่นานเขาก็ได้ทำงานหลายแผนกในบริษัท จนกลายเป็นผู้จัดการ และในปีเดียวกันนั้นเขาก็ได้เป็นสมาชิกในคณะสถาปนิกของกองทัพเรืออังกฤษ ซึ่งแววความอัจฉริยะทางด้านวิศวกรรมของเขาก็ทำให้อีก 6 ปีต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ โทมัสโชกโชนด้วยประสบการณ์การต่อเรือทั้งที่อายุยังน้อย

ความเป็นอัจฉริยะของวิศวกรหนุ่มโทมัสและทีมงานทำให้มีงานออกแบบและสร้างเรือคู่ขนานกันไปอีก 1 ลำ ที่เรียกกันว่า “เรือพี่-เรือน้อง” โดยให้ Titanic เป็นเรือน้อง และพี่สาวคือเรือ Olympic ทีมวิศวกรต่อเรือไททานิกทำงานได้อย่างราบรื่น และรุดหน้าไปได้ด้วยดี เรือโอลิมปิก (Olympic) เรือแฝดพี่สร้างเสร็จก่อน แล้วก็ตามด้วยแฝดน้อง นั่นก็คือไททานิก

กัปตันเอ็ดวาร์ด จอห์น สมิธ (Captain Edward John Smith) หรือมีชื่อย่อว่า E.J. Smith เป็นกัปตันเรือที่มีชื่อเสียงเกรียงไกรคนหนึ่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเป็นกัปตันเรือที่ค่าตัวแพงที่สุดในยุคนั้น ด้วยความสามารถของกัปตันผู้มากด้วยประสบการณ์ เคยเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมานับครั้งไม่ถ้วน ประสบการณ์ที่โดดเด่นจึงถูกว่าจ้างให้ทำหน้าที่กัปตันเรือประวัติศาสตร์ ชื่อไททานิก

Online-ไททานิก 4

ผู้บริหารสูงสุดของสายการเดินเรือ ชื่อ เจ บรูซ อิสเมย์ (J. Bruce Ismay) และโทมัส แอนดรูว์ส (Thomas Andrews) ผู้ออกแบบเรือลำนี้ก็ไม่พลาดที่จะร่วมเดินทางในการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นี้

ไททานิกออกจากท่าเซาแธมป์ตันแล้ว แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าสู่นิวยอร์ก ผู้โดยสารในเรือลำนี้มี 3 ระดับ คือ ชั้น 1, 2 และ 3 คล้ายกับการขึ้นเครื่องบินในปัจจุบัน

หลังจากออกเรือมา 4 วัน กลางดึกของวันที่ 14 เม.ย. พ.ศ.2455 เรือไททานิกพาผู้โดยสาร 2,240 คน บวกกับลูกเรือ 892 คนที่กำลังกิน นอน ดื่ม เต้นรำ ในมหาสมุทรและท้องน้ำสีฟ้า สนุกสนานหรรษาชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง เมื่อ 23.40 น. และจมหมดลำในเวลา 02.20 น.

ไททานิก เรือสำราญที่กลายเป็นเศษโลหะลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก แตกและจมลง โดยยังมีผู้โดยสารอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่ตกไปในน้ำเสียชีวิตภายในเวลาไม่นาน จากภาวะร่างกายเย็นเกิน (hypothermia) เนื่องจากน้ำในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง

ผู้รอดชีวิตที่ลงเรือชูชีพ (ที่บรรทุกในเรือไททานิก) จำนวน 710 คนถูกส่งต่อขึ้นเรือ คาร์พาเธีย (RMS Carpathia) ที่เขามาช่วยหลังจากนั้น 3 ชม.

ในปี พ.ศ.2528 มีการค้นพบชิ้นส่วนของเรือไททานิกที่จมนิ่งอยู่ท้องมหาสมุทรลึกลงไปราว 4 กม. เรือที่ทำให้ท้องทะเลกลายเป็นสุสาน เลยกลับมาโด่งดังและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอีกครั้ง และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

การชนแฉลบกับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้ลำเรือไททานิกหักงอเข้าหากัน ตัวเรือหลายจุดด้านกราบขวาแตกเป็นแผลขนาดใหญ่ และเปิดห้องกันน้ำ 5 จาก 16 ห้องให้น้ำทะเลทะลักเข้ามา อีก 2 ชั่วโมง 30 นาที ต่อมาน้ำทะเลเย็นเฉียบก็ไหลเข้ามาในเรือและเรือค่อยๆ จมลง ผู้โดยสารและลูกเรือบางส่วนถูกอพยพลงในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกผู้โดยสารอื่นๆ ได้อีกจำนวนมาก ทุกคนต้องการเอาชีวิตรอด มีผู้ชายจำนวนมากถูกทิ้งอยู่บนเรือที่กำลังจมลง เพราะระเบียบกำหนดให้ “ผู้หญิงและเด็กลงเรือชูชีพไปก่อน”

แทบไม่มีใครเชื่อว่าเรือไททานิกจะประสบอุบัติเหตุในลักษณะนี้ นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในการเดินเรือโดยสารในท้องทะเล เป็นความประมาท และเกิดการละเลยที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบจนนำไปสู่หายนะ มีการสอบสวน สืบค้นหาสาเหตุที่เรือล่มทั้งในอังกฤษและสหรัฐเพื่อกำหนดหลักในความปลอดภัยในทะเล

ผลที่ได้หลังการสอบสวน คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS : Safety of Life At Sea) ใน พ.ศ.2457 ซึ่งยังเป็นมาตรการที่ใช้ควบคุมความปลอดภัยการเดินเรือในทะเลมาจนถึงทุกวันนี้

ในมิติด้านสังคม ผู้รอดชีวิต สูญเสีย สิ้นเนื้อประดาตัวและถูกทิ้งให้อดอยากแร้นแค้น ครอบครัวแตกแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสมาชิกครอบครัวของลูกเรือจากเมืองเซาแธมป์ตัน

ในปี พ.ศ.2540 ผู้สร้างภาพยนตร์นำเอาตัวละครและสถานที่จริงบนเรือมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่ทำเงินมหาศาล รวมทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ที่กระหึ่มไปทั่วโลก

ทำไมเรือชนภูเขาน้ำแข็ง และมีเบื้องลึก เบื้องหลังประการใด มีแจ๊ค และโรส ที่ต้องลาจากกันหรือไม่ ?

โปรดติดตามต่อตอนต่อไปครับ

เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
(ขอบคุณภาพจาก http://www.iseehistory.com)

AIS Logo-Online

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image