ดุลยภาพดุลยพินิจ : ความเปราะบางของคนไทยจากโรคระบาด (โควิด-19) ข้อสังเกตความแตกต่างมิติพื้นที่

ดุลยภาพดุลยพินิจ : ความเปราะบางของคนไทยจากโรคระบาด (โควิด-19)
ข้อสังเกตความแตกต่างมิติพื้นที่

ความรู้สึกเครียดจากสถานการณ์โรคระบาด (โควิด-19) ผ่อนคลายลงไปมากแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคม ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมกลับคืนมาคล้ายปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด ความจริงยังมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดทุกวันเพียงแต่ไม่รุนแรงเท่ากับในปี 2563-2564 ในโอกาสนี้ขอนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขบันทึกสถิติผู้ติดเชื้อ-และผู้เสียชีวิตเป็นรายจังหวัด วิเคราะห์จากมุมมองของนักวิจัยสังคมศาสตร์ โดยสร้างดัชนีชี้วัดสองตัวหนึ่ง อัตราการติดโควิดต่อประชากรพันคนเป็นรายจังหวัด เพื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงมิติพื้นที่ สอง อัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อพันคนเป็นรายจังหวัดเช่นกันเพื่อการอภิปรายผล

ก่อนอื่นขออธิบายแหล่งที่มาของข้อมูล กระทรวงสาธารณสุขจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับโรคระบาด (โควิด-19) เป็นรายบุคคล-รายวัน แต่ประมวลเป็นรายจังหวัด/รายสัปดาห์ (เริ่มจากปี 2563 สัปดาห์ที่ 3 จนถึงปลายปี 2565) มีผลสรุปที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ หนึ่ง ผู้ติดเชื้อรวมกันจำนวน 4.7 ล้านราย หมายเหตุ โดยไม่นับซ้ำกรณีการติดซ้ำถือเป็น 1 ราย ข) จำนวนผู้เสียชีวิต 33,474 คน ซึ่งถือเป็นความภัยหรือความเสียหายของประเทศ ในฐานะนักวิจัยสังคมศาสตร์นำมาวิเคราะห์ในหัวข้อ หนึ่ง ความเสี่ยงการติดเชื้อเปรียบเทียบระหว่างจังหวัด คือผู้ติดเชื้อต่อประชากรพันคน เพื่อเป็นข้อสังเกตว่า เหตุใดอัตราความเสี่ยงการติดเชื้อในบางจังหวัดจึงสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ สอง อัตราการเสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อพันรายแตกต่างกันหรืออย่างไร?

รูปภาพที่ 1 กราฟวงกลมแสดงการกระจายของผู้ติดเชื้อโควิดเป็นรายภูมิภาคสรุปความได้ว่า กรุงเทพฯและปริมณฑล (รวม 6 จังหวัด) มีจำนวนผู้ติดโควิดสูงที่สุด คิดเป็นร้อย 36.4 รองลงมาภาคอีสานสัดส่วนร้อยละ 17 (ภาคอีสานประกอบด้วย 20 จังหวัดมีประชากรมากที่สุด) และภาคใต้ (14 จังหวัด)

Advertisement

รูปภาพที่ 2 แสดงตัวชี้วัดอัตราการติดเชื้อโควิดต่อประชากรพันคน โดยมีข้อสังเกตดังนี้ เราพบว่า 5 จังหวัดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และชลบุรีตามลำดับ ตั้งคำถามว่าเป็นเพราะสาเหตุอันใด? การสรุปอาจจะยังไม่ชัดเจนแต่เราสันนิษฐานว่า ก) พื้นที่ที่มีโรงงานจำนวนมาก สภาพการทำงานที่ใกล้ชิดกัน ในพื้นที่แออัด อาจจะส่งผลบวกต่อการติดเชื้อ ข) การติดเชื้อส่วนหนึ่งมาจากต่างชาติ หมายถึง เมืองท่า ที่รับการเดินทางจากคนต่างชาติ เช่น กรณีกรุงเทพมหานคร ภูเก็ตและชลบุรี ซึ่งความจริงมีผลงานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวทำนองนี้ ดูหนังสือ Survival of the City โดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสองท่าน Edward Glaeser and David Cutler เผยแพร่ในปี 2022

รูปภาพที่ 3 เปรียบเทียบระหว่างภูมิภาค พบข้อสังเกตความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญคือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ความเสี่ยงติดเชื้อโควิดน้อย ในทางตรงกันข้ามภาคตะวันออก (8 จังหวัด) และกรุงเทพฯและปริมณฑล (6 จังหวัด) ความเสี่ยงติดเชื้อโควิดต่อประชากรพันคนสูงที่สุด ข้อสันนิษฐานคือ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากสภาพการเป็นอยู่ที่แออัด การทำงานในโรงงาน ธุรกิจการบันเทิง-การบริการ-และท่องเที่ยว การเป็นเมืองท่าที่เปิดรับคนต่างชาติ ในทางตรงกันข้ามจังหวัดที่มีฐานการผลิตการเกษตร-ความเสี่ยงติดโควิดน้อย

อัตราการเสียชีวิตจากผู้ป่วยโควิดพันราย เป็นอีกดัชนีหนึ่งที่น่าสนใจ พบว่าค่าเฉลี่ย 6.4 คนที่เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อพันคน รูปภาพที่ 4 แสดง 20 จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง และเกิดคำถามที่น่าสนใจว่าเพราะอะไร? ทีมวิจัยไม่ใช่นักการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญได้แต่สันนิษฐานว่า อาจจะมาจาก 2-3 สาเหตุหนึ่ง การบริการการแพทย์ในบางจังหวัดต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น ห่างไกลจากโรงพยาบาล-น่าสังเกตว่า จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ติดเชื้อสูง-อัตราการเสียชีวิตกลับไม่สูงตามไปด้วย

Advertisement

รูปภาพที่ 5 แสดงดัชนีวัดการเสียชีวิตต่อผู้ป่วย (รายสัปดาห์) เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลง น่าสังเกตคือ แนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เป็นเพราะอะไร? บางท่านให้คำอธิบายว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคทำให้การรักษายากขึ้นและความเสี่ยงการเสียชีวิตสูงขึ้น-แต่นี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานไม่ใช่ผลสรุปที่พิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์

ประสบการณ์ที่คนไทยเผชิญปัญหาโควิด-19 และนโยบายภาครัฐ (การป้องกัน การประชาสัมพันธ์ การฉีดวัคซีนป้องกัน และมาตรการกักกันหรือปิดสถานบริการ ฯลฯ) เป็นประสบการณ์ใหม่ (ในรอบร้อยปีที่มีโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุด) ของคนไทย ซึ่งควรค่าต่อการวิจัยจากมุมมองหลายศาสตร์ รวมทั้งด้านการจัดการและสังคมศาสตร์ บทความนี้เสนอข้อมูลตามสภาพเป็นจริงเป็นส่วนใหญ่ เราระมัดระวังในการเสนอข้อสังเกตหรือการตีความ ประเด็นสำคัญคือการชี้ว่า ข้อมูลการติดเชื้อ/และการเสียชีวิตจากโควิด-19 มีความสำคัญยิ่ง เราไม่มีทางทราบว่าในอนาคตอันใกล้จะมีปัญหาโรคระบาดทำนองเดียวกันอีกหรือไม่ การเตรียมการและสร้างระบบป้องกันเยียวยาด้วยความไม่ประมาทน่าจะเป็นแนวทางที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image