อ่านแถลงการณ์รัฐบาลคู่ขนานกับพม่าในยุคหลัง SAC โดย ลลิตา หาญวงษ์

เข้าปีที่ 3 หลังรัฐประหารในพม่า ในปีนี้ ฝ่ายต่อต้านออกมาประกาศตั้งแต่ต้นปีว่าจะเป็นปีสุดท้ายของคณะรัฐประหาร SAC (State Administration Council) และของการลุกฮือทั่วประเทศที่เขาเรียกว่า “การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ” (Spring Revolution) ความโดดเด่นของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารในพม่าคือการจับกลุ่มกันเป็นพันธมิตรกลุ่มย่อยๆ ดังนี้เราเคยเห็นกันในปฏิบัติการ 1027 เมื่อกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าตอนเหนือและตะวันตก 3 กลุ่ม รวมตัวกันในนามพันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) และการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐประหารของกองกำลังแทบทุกกลุ่มในประเทศพร้อมๆ กัน ส่งผลให้กำลังของกองทัพพม่าถดถอย และหลายฝ่ายประเมินกันว่ากองกำลังพม่าจะไม่สามารถปกครองและรักษาความเป็นเอกภาพในพม่าได้อีก

ในอันที่จริง ต้องกล่าวก่อนว่า ที่ผ่านมาหลายสิบปีตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 1948 พม่าก็ไม่เคยมีเสถียรภาพหรือมีเอกภาพ แม้จะเคยผ่านช่วงรัฐบาลพลเรือนมารวมๆ กันประมาณ 16 ปี คือในยุคอู นุ และรัฐบาล NLD แต่ในระหว่างนี้รัฐบาลหรือกองทัพก็ติดศึกภายในมากมาย เริ่มตั้งแต่การปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ การปราบกองกำลังจีนคณะชาติ (KMT) ที่บุกรุกเข้ามาตั้งกองกำลังในเขตพม่าในยุคอู นุ และการรบกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่กองทัพพม่าจะ “เสียศูนย์” มากเท่าครั้งนี้ บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางเดียวกันว่ากองทัพพม่ากำลังเพลี่ยงพล้ำและกำลังแพ้ในสงครามครั้งนี้ หลายสัปดาห์มานี้ ผู้เขียนก็มีโอกาสไปเข้าร่วมงานเสวนาที่เกี่ยวกับพม่าหลายครั้ง รวมทั้งงานเสวนาออนไลน์ หลายฝ่ายมองว่าปัจจัยหลักที่สร้างความระส่ำระสายในกองทัพพม่ามี 3 ปัจจัย

ปัจจัยแรกคือความอ่อนแอภายในของกองทัพพม่า ที่สะท้อนออกมาจากจำนวนทหารในกองทัพที่ลดลง ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร มีทหารหลายพันนายที่ตัดสินใจทิ้งกองทัพ เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ทหารหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีในข้อหาหนีทหาร แต่การปล่อยทหาร 200 นายออกมาจากเรือนจำทั่วประเทศ ก็ชี้ให้เห็นว่าจำนวนทหารตามกองร้อยต่างๆ ร่อยหรอลงไปมาก และไม่พร้อมจะต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน

ปัจจัยที่สองคือฝ่ายต่อต้านเองก็เข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านี้จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้นแบบเป็นกอบเป็นกำ ต้องเข้าใจว่าเมื่อกองทัพพม่าอ่อนแอลง กองกำลังทั่วประเทศก็เริ่มรวมตัวและเข้าโจมตีกองทัพพม่าพร้อมๆ กัน สำหรับกองกำลังอย่าง PDF ที่ประกอบด้วยคนพม่าเป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลคู่ขนาน NUG มีกิจกรรมระดมทุน และได้รับเงินบริจาคจากประชาชน ทั้งภายในประเทศและจากคนพม่าพลัดถิ่นทั่วโลก

Advertisement

ปัจจัยสุดท้าย คือการแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ที่ต้องเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สั่นสะเทือนไปทั้งภูมิภาค ก่อนเกิดปฏิบัติการ 1027 ถึงแม้ว่าทหารพม่าจะเริ่มหมดใจไปบ้างแล้ว แต่หลายฝ่ายก็ยังประเมินว่าสงครามกลางเมืองยังมีสิทธิลากยาวออกไปได้อีกนาน แต่เมื่อเกิดการโจมตีในรัฐฉานเหนือพร้อมๆ กัน โดยกองกำลังสามฝ่าย นำไปสู่ปฏิบัติการยึดเมืองเอกของรัฐฉานตอนเหนือ การขับกองกำลังที่สวามิภักดิ์ต่อกองทัพพม่าออกไปจากเมืองเล้าก์ก่ายและเมืองรอบข้าง รวมทั้งยังมีปฏิบัติการปราบปรามแก๊งจีนเทาแบบราบคาบ เมสเสจของจีนในครั้งนี้ไปไกลกว่าพม่ามาก จีนไม่เคยออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าตนอยู่เบื้องหลังกองกำลังสามพี่น้อง แต่พูดเป็นนัยๆ มาหลายครั้งว่าหากเนปยีดอยังคงละเลยไม่ปราบปรามเครือข่ายจีนเทา จีนก็จำเป็นต้องขยายปฏิบัติการของตนเข้าไปในเขตของพม่าและสนับสนุนทรัพยากรทุกอย่างเพื่อให้กองกำลังสามพี่น้องยึดเล้าก์ก่ายและรัฐฉานตอนเหนือกลับมาให้ได้ เพราะนอกจากธุรกิจจีนเทาจะทำให้จีนเสียรายได้มหาศาลแล้ว ยังเคยเกิดกรณีอาชญากรรมประเภทการลักพาตัวชาวจีนไปเรียกค่าไถ่ หรือเกิดกรณีสังหารชาวจีนหลายครั้ง จีนประกาศให้โลกรู้ว่าเมื่อพม่ามีชายแดนติดกับจีน หากจีน “เอาจริง” ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ กองทัพพม่าแพ้ราบคาบในครั้งนี้เพราะประเมินจีนต่ำเกินไปจริงๆ

เมื่อแสนยานุภาพของกองทัพพม่าสวนทางกับความเข้มแข็งของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ก็ถึงคราวที่ฝ่ายต่อต้านจะวางหมากเพื่อปิดเกม ผู้เขียนมองว่ารัฐบาล NUG กำลังเล่นเกมทางจิตวิทยากับ SAC เมื่อต้นปี NUG ออกมาประกาศสนับสนุนรัฐบาลจีนอย่างเต็ม ไปถึงประกาศรับรองการอ้างสิทธิเหนือไต้หวันของจีน แม้ผู้เขียนตงิดๆ กับท่าทีของ NUG ในลักษณะนี้ แต่ก็พูดได้เต็มปากว่าเมื่อจีนให้การสนับสนุน NUG อย่างเต็มตัวเมื่อไหร่ กองทัพพม่าก็อาจจะเกิดอาการอกสั่นขวัญแขวนได้ พัฒนาการอีกอย่างที่น่าสนใจคือเมื่อสัปดาห์ก่อน NUG ออกแถลงการณ์ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อีก 3 กลุ่ม ได้แก่ KNU หรือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง CNF หรือแนวหน้าแห่งชาติฉิ่น และ KNPP หรือพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง เป้าหมายของแถลงการณ์ร่วมมีอยู่ 6 อย่าง โดยรวมคือการล้มล้างการปกครองของ SAC นำกองทัพออกจากการเมืองโดยสมบูรณ์ สถาปนารัฐบาลพลเรือน ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่กองทัพร่างขึ้นมา การออกกฎบัตร (charter) เพื่อกรุยทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ การหารือกับทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และการนำอาชญากรสงครามมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย

แก่นของแถลงการณ์นี้มีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรกคือการล้มล้างระบอบการปกครองเดิมทั้งหมด รวมทั้งการตัดไฟแต่ต้นล้ม และการนำกองทัพออกจากการเมืองแบบถาวร และประเด็นที่สองคือความพยายามผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลุกฮือทั้งหมด กลุ่มชาติพันธุ์น้อยใหญ่ และภาคประชาสังคมที่เสียสละเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาเพื่อวางโครงสร้างรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐใหม่ทั้งหมด ที่น่าสนใจคือ NUG มองว่าการเจรจานี้จำเป็นต้องเจรจากับกองทัพด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ NUG ก็มีทีท่าแข็งกร้าวและไม่พร้อมจะเจรจาใดๆ กับกองทัพ แต่มีข้อแม้ว่ากองทัพจะไม่มีส่วนใดๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญและกำหนดอนาคตของประเทศ

Advertisement

ปัญหาสำคัญสำหรับพม่าคือแม้ว่าจะมีรัฐบาลกลางชุดใหม่ขึ้นมาภายใต้การบริหารของ NUG แต่ก็ยังมีรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีเป้าหมายแตกต่างกัน บางกลุ่มมีความประสงค์จะตั้งรัฐอิสระอย่างชัดเจน ในขณะที่อีกหลายกลุ่มต้องการความเป็นอิสระและอำนาจที่จะบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองได้ ในหลายพื้นที่ เช่นในรัฐคะเรนนี (คะยาห์) ใกล้ชายแดนไทย ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งได้ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของตนเองขึ้นมา และเริ่มมีการพูดคุยเพื่ออนาคตร่วมกันกับ NUG แล้ว อนาคตของพม่ายังเป็นทางอันแสนยาวไกล เมื่อกองทัพสิ้นอำนาจแล้ว ไม่ได้หมายความว่าปัญหาทุกอย่างในพม่าจะจบลง แต่อย่างน้อยที่สุดความจำเป็นเร่งด่วนในเวลานี้คือการจัดโต๊ะเจรจาเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกัน แต่ต้องเป็นการเจรจาที่รวมทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ไม่ใช่เลือกเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เจรจาง่ายหน่อยเหมือนในการเจรจาสันติภาพที่ผ่านๆ มา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image