สะพานแห่งกาลเวลา : หมาป่าแห่งเชอร์โนบิล

(ภาพ-User:Mas3cf/wikimedia/CC BY-SA 4.0)

สะพานแห่งกาลเวลา : หมาป่าแห่งเชอร์โนบิล

เมื่อปลายเดือนเมษายน ปี 1986 ได้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ขึ้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเมืองเชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้กับชายแดนของเบลารุส ซึ่งในขณะนั้นทั้งยูเครนและเบลารุส ยังคงเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของ สหภาพโซเวียต ไม่ใช่ประเทศเอกราชอย่างทุกวันนี้

อุบัติเหตุครั้งนั้น ยังคงได้ชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลกมาจนถึงบัดนี้

สาเหตุหลักของโศกนาฏกรรมใหญ่หลวงนี้เกิดขึ้นระหว่างการทดสอบระบบของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้า เป็นการทดสอบทั้งระบบหล่อเย็น และระบบทำความเย็นฉุกเฉินของเตา

Advertisement

เมื่อเดินเครื่องทดสอบระบบ เกิดความร้อนสูงขึ้นภายในเตาจนเกิดไอน้ำแรงดันสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติ ไม่ทำงานตามที่กำหนดไว้ ทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้นภายในตัวเตาจนแกนปฏิกรณ์หลอมละลาย แล้วเกิดการระเบิดขึ้นตามมา

ผลจากการระเบิดส่งขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ ปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือ

ทางการยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรมากกว่า 336,431 คน มีผู้เสียชีวิตทันที 31 ราย และเสียชีวิตจากการสัมผัสกัมมันตภาพรังสีในเวลาต่อมาอีกราว 4,000 ราย

Advertisement

เมืองปรีเปียต เมืองที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ยังคงเป็นพื้นที่แพร่กระจายของสารกัมมันตภาพรังสีมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่อนุญาตให้มนุษย์เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ หลงเหลือเพียงบรรดาสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ป่าต่างๆ เท่านั้นที่ยังคงเคลื่อนไหวใช้ชีวิตตามปกติภายในเขตอันตรายที่เรียกกันว่า “เขตพิเศษเชอร์โนบิล” มาต่อเนื่องนานเกือบ 40 ปี

ข้อที่นักวิทยาศาสตร์กังขาตลอดมาก็คือ สัตว์เหล่านี้เอาตัวรอดจากรังสีมหาศาลมาได้หรือไม่ รอดมาแล้วตกอยู่ในสภาพอย่างไรกัน

เมื่อปี 2014 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน เริ่มเข้าไปตรวจสอบบรรดาสัตว์ป่า โดยเฉพาะ หมาป่าสีเทา (gray wolves) เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้

ยิ่งตรวจสอบวิจัยมากเข้า นักวิทยาศาสตร์ยิ่งแน่ใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า บรรดาหมาป่าสีเทา หรือหมาป่ายุโรป เหล่านี้ ได้วิวัฒนาการกลไกของร่างกาย จนผิดแปลกไปจากธรรมดา และมีความสามารถพิเศษในการต่อต้านการสัมผัสกับสารกัมมันตภาพรังสีอย่างต่อเนื่องได้

เชน แคมป์เบลล์-สเตตัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชานิเวศวิทยา และชีววิทยาวิวัฒนาการ ของปรินซ์ตัน ระบุว่า หมาป่าแห่งเชอร์โนบิลน่าสนใจศึกษาอย่างมาก เพราะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางกัมมันตภาพรังสีมาต่อเนื่องราว 7-8 รุ่นแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พวกมันนอกจากจะรอดชีวิตได้ ยังสามารถแพร่พันธุ์มีลูกมีหลานมาต่อเนื่องได้อีกด้วย อะไรคือกลไกตามกระบวนการคัดสรรโดยธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของพวกมันซึ่งส่งผลให้เกิดผลเช่นนี้ตามมาได้

หมาป่าที่ตกเป็นเป้าศึกษาวิจัยเป็นหมาป่าที่เกิดในพื้นที่พิเศษห้ามเข้า สัมผัสกัมมันตภาพรังสีมาตั้งแต่วันแรกต่อเนื่องทุกวันจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต โดยนอกจากได้รับสารจากสภาพแวดล้อมแล้ว ยังได้รับจากอาหาร และน้ำ เพราะมันยังชีพด้วยการ ควายไบซัน ซึ่งกินหญ้าและพืชอื่นๆ ที่อาบด้วยรังสีมาโดยตลอดเช่นกัน

ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์แปลกใจก็คือ หมาป่าเหล่านี้กลับไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นกับมนุษย์โดยทั่วไปที่สัมผัสกับรังสีต่อเนื่อง

แต่แม้จะไม่มีอาการโรคมะเร็ง เลือดของหมาป่าเหล่านี้กลับมี “รูปแบบเดียวกันกับเลือดที่ได้จากตัวคนที่ป่วยเป็นมะเร็ง” แคมป์เบลล์-สเตตัน ระบุว่า ทีมวิจัยตัดสินใจจำแนกพันธุกรรมของหมาป่าเหล่านี้ นำไปเปรียบเทียบกับของหมาป่าในเบลารุส รวมถึงหมาป่าจากเขตอนุรักษ์เยลโลว์สโตนในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

จากการจำแนกพันธุกรรมนี่เองที่ทำให้ทีมวิจัยพบว่า เกิดการกลายพันธุ์ที่น่าสนใจอย่างมากในยีนของหมาป่าเชอร์โนบิล ยีนที่กลายพันธุ์เหล่านี้ทั้งหมดล้วนเกี่ยวเนื่องกับมะเร็งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นยีนซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกันมะเร็ง หรือสร้างภูมิตอบสนองเพื่อต่อต้านมะเร็ง

แคมป์เบลล์-สเตตัน ยอมรับว่ายังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกไม่น้อยเพื่อยืนยันและทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่เบื้องต้น เขาเชื่อว่า สภาพการณ์ในเชอร์โนบิลที่เต็มไปด้วยรังสีต่อเนื่อง 30-40 ปี ส่งผลให้ยีนเหล่านี้กลายพันธุ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการรับมือกับการก่อตัวของมะเร็ง หรือการคงอยู่และการแพร่กระจายของมะเร็งในตัวหมาป่าไป

ทำให้มันรับมือกับมะเร็งได้ดีกว่าเดิมและดีกว่าหมาป่าทั่วๆ ไป จนมะเร็งไม่ใช่อาการป่วยสำหรับพวกมันอีกต่อไปแล้วนั่นเอง

นับเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติโดยแท้

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image