การเมืองกับระบบราชการไทย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ความซับซ้อนในความสัมพันธ์ของระบบราชการไทยกับการเมืองไทยในวันนี้เป็นเรื่องที่หลายคนมักจะมองข้าม

เวลาพูดว่ามองข้ามบางทีอาจไม่ได้หมายความว่ามองไม่เห็น

แต่อาจจะเห็น เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญ

หรือบางทีอาจจะไม่รู้จะจัดการอย่างไร

Advertisement

ผมเองก็ยอมรับว่าไม่สามารถอธิบายอย่างเป็นระบบได้ทั้งหมด แต่ก็ยังอยากจะตั้งข้อสงสัยเอาไว้

จากเดิมที่เราเชื่อว่าระบบราชการนั้นพัฒนามาก่อนการเมืองแบบตัวแทน และประชาธิปไตย
(ไม่ว่าประชาธิปไตยจะบิดเบี้ยวแค่ไหน)

มาถึงยุคที่เราเคยเชื่อว่าระบบราชการนั้นครอบงำทุกอย่าง รวมทั้งบางส่วนก็สามารถยึดครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ อาทิ ยุคสมัยของการทำรัฐประหาร

Advertisement

แล้ววันนี้เราอาจจะต้องตั้งหลักให้ดีว่าระบบราชการกับการเมืองสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง เพราะมันช่างสลับซับซ้อนเสียเหลือเกิน

เรื่องราวมันเริ่มต้นที่ว่า เรากำลังมองว่าระบบราชการและข้าราชการนั้นมีควาหมายและนัยยะอย่างไร

ในวันนี้เราคงพบแล้วว่า ระบบราชการนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นเอกภาพ และส่วนที่มีความเป็นอิสระต่อกัน

ส่วนที่มีความเป็นเอกภาพยิ่ง คือความที่ระบบราชการนั้นสามารถยึดกุมอุดมการณ์และการครองความคิดในสังคมได้อย่างชัดเจน เข้มข้น และเข้มแข็ง

ส่วนที่มีความน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง ระบบราชการกับระบบการเมือง ซึ่งนอกจากระบบราชการจะสามารถยึดกุมอุดมการณ์หลักของสังคมได้แล้ว สิ่งที่มีความสำคัญก็คือ ระบบราชการและข้าราชการยังสามารถมีทั้งอำนาจ และอิทธิพลต่อการเมืองผ่านโครงสร้างกระบวนการกำหนดนโยบายในทุกระดับ

ตั้งแต่การชงประเด็น (agenda setting)

การก่อตัวของนโยบาย (policy formulation)

การกำหนด/ตัดสินใจนโยบาย (decision making)

การนำนโยบายไปปฏิบัติ (policy implementation)

การประเมินนโยบาย (policy evaluation)

ประเด็นคือ ระบบราชการอาจไม่ได้ทำหน้าที่นำในทุกระดับ หรือทำเป็นว่ารอให้มีการสั่งการ แต่ระบบราชการอาจจะสามารถมีอิทธิพลในระดับการชงข้อมูล การให้คำแนะนำกับนักการเมืองผู้กำหนดนโยบาย

จะเข้าใจเรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าระบบราชการไทยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เป็นส่วนสำคัญที่มีความต่อเนื่องมากกว่าระบบการเมืองประชาธิปไตย

และแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับระบบการเมืองมากขึ้น บางยุคสมัยถึงกับวิ่งเต้นและฝากตัวเป็นเด็กนักการเมือง

แต่การยึดกุมขั้นตอน กระบวนการต่างๆ เอาไว้กับมือทำให้ต้องทำความเข้าใจกับระบบราชการอย่างลึกซึ้งกว่าเดิม

อย่าเพิ่งรีบด่วนคือว่า ระบบราชการคือทางออกที่ดีกว่านักการเมือง และเข้าใจว่าระบบราชการต้องการอิสระ

แต่ต้องคิดก่อนว่าระบบราชการอาจต้องมีอิสระจากนักการเมือง แต่ต้องไม่สามารถเป็นอิสระจากประชาชนและสังคมเสียทั้งหมด

นั่นคือความรับผิดชอบและพร้อมรับผิดของระบบราชการ (accountability) ที่ไม่ค่อยจะมีคนตั้งคำถามกันมากนัก ถ้าเทียบกับนักการเมือง หรือถ้ามีเรื่องทุจริตเราก็มักจะมองว่าข้าราชการเหล่านั้นเชื่อมโยงกับเครือข่ายนักการเมืองอย่างไร

แต่ไม่ได้มองเรื่องของระบบราชการด้วยตัวเองมากนัก เพราะเชื่อว่าข้าราชการนั้นถ้าทำตามอุดมการณ์หลักแล้วก็จะเป็นที่ยอมรับ

จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูประบบราชการอย่างเป็นระบบไม่ค่อยปรากฏ เราเห็นข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพที่ชัดเจน รวมทั้งการปฏิรูปอื่นๆ เช่น ปฏิรูปตำรวจ ฯลฯ

จนถึงวันนี้เรายังไม่สามารถควบคุมตรวจสอบระบบราชการใดๆ ได้เลย และก็เห็นว่าการควบคุมระบบราชการด้วยระบบราชการด้วยกัน องค์กรอิสระ หรือนักการเมืองนั้นทำไม่ได้ ยิ่งผลักให้นักการเมืองกับระบบราชการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายระบบอำนาจ-อิทธิพลใหม่ที่แข็งแรงขึ้น
และไม่เสมอไปที่นักการเมืองจะมีอำนาจเหนือระบบราชการ

บ่อยครั้งนักการเมืองก็พังเพราะระบบราชการนี่แหละครับ ที่ชงเรื่องมา หรือปล่อยข้อมูลต่างๆ

แต่ต้องถามว่านั่นเพราะข้าราชการทำไปด้วยความเป็นมืออาชีพ ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ หรือพวกเขามีผลประโยชน์อย่างอื่นเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งที่ต้องตั้งหลักให้ดีคือ ไม่ปล่อยให้ระบบราชการกับนักการเมืองนั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตามหลักการประชาธิปไตยกับระบบราชการแบบคลาสสิกเมื่อร้อยปีก่อน เพราะในสังคมแบบประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่นแบบบ้านเราถ้าไม่มีใครกำกับดูแลติดตามผลจากภาคประชาชน สื่อมวลชน และประชาชนแล้ว เราจะไม่สามารถเชื่อว่าความเป็นตัวแทนของข้าราชการ กับนักการเมืองนั้นจะมีความเป็นตัวแทนโดยสมบูรณ์

แถมสมัยนี้ก็พบว่า ขนาดนักร้องยังสามารถเชื่อมโยงกับนักการเมืองในการกดดันข้าราชการได้อีกต่างหาก ดังนั้น จะมองเรื่องนี้ต้องเผื่อใจไว้

ในอีกมิติหนึ่ง เรื่องของระบบราชการอาจต้องมองทะลุไปถึงส่วนของ ขุนนาง นักวิชาการ (technocrat) และองค์กรอิสระด้วย

ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้ทำอะไรได้ยากไม่ใช่เพราะฝ่ายค้าน แต่หมายถึงการที่ถูกเลือกโดยระบบราชการ ระบบเทคโนแครต และองค์กรอิสระ

เราจะเข้าใจโครงสร้างนี้ทั้งหมดในลักษณะเครือข่ายที่ทั้งเชื่อมประสาน และเป็นอิสระต่อกันอย่างไร

แน่นอนว่าฝ่ายค้านในวันนี้ดูจะทรงพลังที่สุดในฐานะทางเลือกของการเลือกตั้งในครั้งต่อไป เว้นแต่จะถูกยุบ และถูกสกัดด้วยเกมกฎหมาย

แต่ในการก่อร่างนโยบาย ตัดสินใจ และนำนโยบายไปปฏิบัติก็เห็นชัดเจนว่า ต่อให้ไม่มีฝ่ายค้าน แนวคิดต่างๆ ของฝ่ายระบบราชการและเครือข่าย เทคโนแครต และองค์กรอิสระ ก็สอดคล้องต้องกันอยู่ในระดับที่สังเกตได้

รัฐบาลจึงจะต้องคิดให้ดีว่าจะวางน้ำหนักการขับเคลื่อนประเด็นที่นำไปสู่การก่อร่างนโยบายอย่างไร จะปะทะกับกำแพงของกฎเกณฑ์และระบบราชการรวมทั้งเครือข่ายได้มากน้อยแค่ไหน และจะช่วงชิงความนิยมกับฝ่ายค้านได้อย่างไร

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ที่พูดมานี้ฝ่ายพรรคการเมือง และนักการเมืองจะระบอบรัฐประหารเดิมและเครือข่ายมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมยังไม่ได้เคลื่อนไหวต้านรัฐบาลอย่างจริงๆ จังๆ

จับตาให้ดีครับ ภาวะตึงเครียดทางการเมืองกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว ส่วนจะยกระดับไปเป็นอะไรบ้างต้องคอยดู เพราะแนวโน้มที่รัฐบาลวันนี้จะกลายเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวทางการกำหนดและปฏิบัติตามนโยบายมีความเป็นไปได้ ทั้งที่ฝ่ายค้านและฝ่ายระบบราชการ และระบอบเก่ายังไม่ได้ร่วมมือกันจริงๆ จังๆ

เพียงแค่บางส่วนอาจเป็นแนวร่วมมุมกลับอยู่บ้าง

อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image