คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘กอปร’ ไปด้วย ‘คนต่าง Gen’

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘กอปร’ ไปด้วย ‘คนต่าง Gen’

วงการภาษาไทยถึงแก่สลดสรวลพลันที่คำว่า “กอปร” ถูกทักว่าเป็นคำเขียนผิดที่ไม่มีความหมาย เมื่อมีผู้นำภาพบันทึกหน้าจอที่มีผู้อ่านนิยายออนไลน์จากแพลตฟอร์มหนึ่ง ท้วงติงนิยายเรื่องหนึ่งขอให้แก้คำผิดจาก “กอปร” เป็น “ประกอบ” ด้วยว่าผู้อ่านท่านนั้นไม่เคยเห็นคำนี้ด้วย พร้อมหงุดหงิดว่าผู้เขียนไม่ได้ตรวจสอบดูก่อน “หรอ”

ผู้ที่น่าจะเป็นนักเขียนที่ถูกติติงนั้นถึงแก่หงุดหงิดไปกว่าแล้วบ่นว่า เดี๋ยวนี้คนอ่านนิยายแชตเยอะ พรรณนาโวหารไม่ได้ คำศัพท์ไม่ได้ การตีความไม่ได้อติพจน์ไม่ได้ เมื่อผู้เขียนใช้ถ้อยคำสวยๆ ก็ไม่รู้จัก มาเที่ยวถามว่าคำนี้คำนั้นมีด้วยหรือ

จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ ก็เคยมีดราม่าแบบนี้เป๊ะ ว่าด้วยนักอ่านรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จักคำว่า (หน้าตา) “เหยเก” หรือ (แดง) “ระเรื่อ” และต่อว่าผู้แปลการ์ตูนที่เลือกใช้คำยากจนเกินไป

บางคนเห็นเรื่องนี้ก็อาจจะง้างมาแต่ที่บ้านว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะ “เด็กไทยสมัยนี้” ไม่รู้จักอ่านหนังสือดีๆ กันก็จะขอบอกอะไรให้สิ้นหวังขึ้นไปอีกว่า จริงๆ แล้ว เด็กที่ยังอ่านนิยายออนไลน์หรือนิยายแชตอยู่นั้น เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะดีกว่ามาตรฐานระดับหนึ่งแล้ว เพราะยังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่อ่านอะไรที่มีแต่ตัวอักษรเลย หรือแม้แต่ไม่อ่านหนังสือไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ใช่ว่าไม่มี

Advertisement

อย่างน้อย เด็กที่ถูกมองอย่างสิ้นหวังต่อความรอบรู้เรื่องคลังคำศัพท์นี้ ก็เป็นกลุ่มที่ยังอ่านหนังสือ ยังมีการอ่านนิยายไม่ว่าจะรูปแบบใดเป็นงานอดิเรก แต่ก็เป็นเรื่องจริงเช่นกันที่หนังสือกลุ่มที่ขายดีในปัจจุบันนั้นก็มีลักษณะอย่างที่มีผู้ติฉินไว้ว่าเป็นนิยายที่ดำเนินเรื่องโดยการบรรยายเป็นหลักหรือใช้ภาพประกอบแบบการ์ตูนสอดแทรกอย่างแนวไลต์โนเวล และถึงจะมีบทที่เป็นการพรรณนาบ้างก็จะใช้คำศัพท์ง่ายๆ โดยพยายามหลีกเลี่ยงคำศัพท์ที่ยากหรือคำเก่าที่คนอ่านจะไม่เข้าใจ และเลือกใช้คำร่วมสมัยที่เป็นภาษาพูด มากกว่าจะเป็นภาษาหนังสือ อย่าง “กอปร”

เมื่อเป็นเด็กกลุ่มที่ “อ่านหนังสือ” แล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ศัพท์ จะโทษว่าเป็นเพราะคนอ่านนิยายแชต นิยายเว็บ หรือนิยายวัยรุ่นก็อาจจะได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะนิยายเหล่านี้มักจะเขียนง่ายๆ ใช้บรรยายโวหารมากกว่าพรรณนาโวหาร และทำไมเด็กกับวัยรุ่นถึงอ่านแต่พวกหนังสือนิยายหรือวรรณกรรมอ่านง่ายแบบนั้น ถ้าเราย้อนกลับไปถึงเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงอ่านหนังสือ ถ้าตัดเหตุผลเชิงการอ่านเพื่อใช้งานเช่นการอ่านตำราทางวิชาการไปก็จะเหลือเหตุผลสั้น ง่าย ตรงไปตรงมาว่า “ก็เพราะมันสนุก” และบางเรื่องก็ยังบอกเล่าสื่อสารถึงปัญหาร่วมสมัยของเด็ก วัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่วรรณกรรมไทยที่ยังเพียรพูดแต่เรื่องเดิมๆ และก็เข้าไม่ถึงด้วยกำแพงกลไกภาษาและวิธีการเล่าเรื่อง แต่ความสนุกและสาระของการอ่านหนังสือที่ง่ายกว่านั้นก็แลกมากับการที่หนังสือหรือนิยายแนวนั้นไม่อาจช่วยเติมคลังศัพท์หรือทักษะในการจินตนาการผ่านพรรณนาโวหารได้

นี่จึงอาจจะเป็นเรื่องที่โทษเด็กผู้อ่านฝ่ายเดียวไม่ได้ สำหรับนักเขียนสายวรรณกรรมที่เชื่อว่าภาษาดีภาษาสวย ก็อาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มเพื่อให้หนังสือหรือวรรณกรรมที่ท่านเห็นว่าดีงามล้ำค่าได้รับการอ่านจากนักอ่านรุ่นใหม่ โดยมีความท้าทายว่าต้องยังคงความสวยงามรุ่มรวยแห่งถ้อยความและการพรรณนาเอาไว้

Advertisement

ก่อนเขียนคอลัมน์ตอนนี้ ได้ไปลอง Google ด้วยคำค้นว่า “เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักคำว่า” เพื่อหาข้อมูลว่านอกจาก “กอปร” แล้ว มีคำไหนที่พวกเขายังไม่รู้จักอีกบ้าง แต่คำตอบที่ได้กลับกลายเป็นการบ่นตำหนิว่า “เด็กสมัยนี้” ไม่รู้จักคำว่าอดทน ไม่รู้จักคำว่ารอ ไม่รู้จักคำว่าบุญคุณหรือความกตัญญู

ก็พาให้นึกถึงดราม่าอีกเรื่องที่ก่อนหน้านี้ก็มีการกล่าวถึงไม่แพ้กัน คือดราม่าบ่นกล่าวเรื่องการทำงานกับ “คน Gen (Generation) Z” ผู้เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ.2555 กลุ่มซึ่งเพิ่งเข้าสู่พื้นที่โลกแห่งการทำงาน ที่เป็นปัญหาทั้งในระดับโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

ข้อบ่นกล่าวนั้นสรุปได้ว่า คน Gen Z แม้จะมีความสามารถโดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์หรือความสามารถในงานเฉพาะทางที่ตัวเองสนใจ แต่ก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความเอาแต่ใจเรียกร้องสิทธิมาก่อนหน้าที่หรือการทำงาน การขาดความพยายาม ไปจนถึงความอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์

นายจ้างหรือบริษัทห้างร้านที่เริ่มรับคน Gen Z ไว้ ก็มีปัญหาว่าถ้าไม่ลาออกเองด้วยข้อครหาว่าไม่อดทน ก็เป็นกรณีที่นายจ้างเหลืออดจนต้องไล่ออก มิตรสหายเจ้าของบริษัทท่านหนึ่งเคยพยายามจ้างคน Gen Z เข้าทำงาน ก็ถูกต่อรองว่า ขอทำงาน 8 ชั่วโมง แต่ขอเริ่มงานหลังเที่ยง ก็เป็นอันบอกศาลากันไป

ทางแก้ไขของนายจ้างที่แนะนำกันก็คือ ให้จ้างคน Gen Y (เกิดช่วงปี พ.ศ.2523-2538) เอามาอบรมฝึกฝน ทำการรีสกิล-อัพสกิล ที่เป็นจุดเด่นของคน Gen Z จะดีกว่า แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าเราย้อนกลับไป Google ดูในยุคสมัยที่คน Gen Y เริ่มเข้าสู่ตลาดงานในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ก็ยังคงเหลือร่องรอยดิจิทัลฟุตพรินต์อยู่ คำบ่นติฉินคนรุ่นที่เข้าสู่ตลาดงานสมัยนั้นก็มีเช่น คน Gen Y อยากได้แต่อิสระในการทำงาน ไม่ชอบอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัดหรือการยอมรับในระบบอาวุโส ความอดทนต่ำ มุ่งแสวงหาแต่ความสำเร็จอันรวดเร็ว เปลี่ยนงานบ่อย (บทความส่วนใหญ่ในช่วงนั้นครึ่งหนึ่งคือ ทำงานอย่างไรไม่ให้คน Gen Y ชิงลาออก) ซึ่งข้อติฉินเหล่านี้ก็คุ้นๆ กับอะไรที่เขียนมาแล้วข้างต้น

หรือถ้าจะย้อนกลับไปไกลกว่านั้น คือคนรุ่น Gen X(เกิดช่วงปี พ.ศ.2508-2522) ที่เข้าสู่ตลาดงานก็เป็นช่วงก่อนปี พ.ศ.2540 คนรุ่นดังกล่าวก็ถูกชาว Baby Boomer (เกิดช่วงปี พ.ศ.2489-2507) ตำหนิว่าขาดความภักดีต่อองค์กร เพราะในขณะที่คนรุ่นบูมเมอร์ นั้นทำงานที่ใดก็มักจะปักหลักทำงานที่นั้นไป การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนรุ่นนั้น แต่พวกคน Gen X นี้กลับตัดสินใจลาออกหรือเปลี่ยนงานได้ทันทีที่มีข้อเสนอที่ดีกว่า หรือเป็นงานที่ชอบและท้าทายกว่า

จะให้เก่ากว่านั้นอีก คือเมื่อราว 400 ปีก่อนคริสตกาล โสกราตีส นักปราชญ์ชาวกรีกก็บ่นว่า เด็กสมัยนี้ (เมื่อราว 2,400 ปีที่แล้ว) หลงใหลแต่ความฟุ่มเฟือย มารยาทเลวทราม ขาดความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ชอบพูดคุยแต่เรื่องไร้สาระ

แม้คำบ่นเรื่อง “เด็กสมัยนี้” จะมีมาทุกยุคทุกสมัยแต่ก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาการทำงานกับคน Gen Z นั้นจะไม่เป็นความจริง แต่มันก็เป็นจริงๆ พอๆ กับที่คนรุ่นก่อนหน้าต้องรับมือกับคน Gen Y หรือ Gen Xนั่นแหละ

เหตุที่คน Gen Z อาจจะมีปัญหาหนักมากโดยเฉพาะเรื่องการยอมอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยและกรอบเวลา อาจจะเป็นเพราะโชคร้ายของพวกเขา ที่ช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดที่จะขัดเกลาตัวตน คือช่วงเรียนปริญญาตรีนั้น โลกประสบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ต้องใช้ชีวิตและการเรียนภายใต้วิถี New Normal หรือความปกติใหม่ บัณฑิตในวันนี้ หลายคนอาจจะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแบบในสถานที่เพียงไม่ถึงสองเทอมเท่านั้น ถ้านับจากการเริ่มแพร่ระบาดไปถึงจุดที่ไม่เป็นอันตรายแล้ว พวกเขาต้องเรียนและทำกิจกรรมเชิงสังคมอื่นๆ ออนไลน์ผ่านหน้าจออยู่ที่บ้าน พร้อมกับกระแสความตื่นเต้นของวิถี New Normal ที่เป็นการทำงานแบบ Work from home หรือ Work from anywhere ที่ไม่มีทั้งสถานที่ รวมถึงเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นไม่ตายตัว

ผลของการที่ต้องเติบโตมาในอุบัติการณ์แห่งยุคสมัยเช่นนั้น ก็อาจทำให้พวกเขาขาดทักษะทางสังคม การติดต่อกับผู้ใหญ่ หรือการอยู่ในระเบียบวินัยหรือเคารพกฎที่พวกเขาเห็นว่าไม่จำเป็น แต่แล้วเมื่อโลกแบบ New Normal นั้นไม่เกิดขึ้นจริง กลายเป็นความปกติใหม่ที่เก่าไปเสียแล้ว การทำงานที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้นั้นไม่ใช่ ไม่ใช่ทางหลักแต่เป็นทางเลือกสำหรับบางบริษัท แม้แต่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกก็เริ่มเรียกคนกลับเข้าสำนักงานเป็นหลักแล้ว ดังนั้นที่คนใน Gen Z ที่เคยคิดเคยคาดว่าจะได้ทำงานอย่างยืดหยุ่นนั้นกลับต้องเข้าสู่ระบบงานที่มีกติกา ระเบียบ แบบแผน และความอาวุโส เช่นเดียวกับคนรุ่นก่อนหน้าบรรดาคนรุ่นที่ถูกขัดเกลาด้วยวิถีใหม่ก็เป็นอันเกิดอาการไปไม่เป็น และแสดงออกมาผ่านข้อขัดแย้งต่างๆ นั้น

แน่นอนว่าก็เหมือนทุกครั้ง ที่คงไม่มีคำตอบหรืออะไรให้อย่างชัดเจนนักนอกจากการตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์ ส่วนตัวนั้นเชื่อว่าในที่สุด ทุกเรื่อง ทั้ง “ช่องว่างระหว่าง Gen” และ “กอปร” ก็จะคลี่คลายลงด้วยกลไกตลาดอย่างธรรมดา กล่าวคือ ถ้าฝ่ายนายจ้างเห็นว่าการทำงานกับคน Gen Z ที่ขอเริ่มงานหลังเที่ยงนั้นสุดทนทาน จนกระทั่งไม่มีหน่วยงานองค์กรไหนจ้างคนรุ่นนี้ไว้อีก คน Gen Z ที่ถ้าไม่ทำงานแล้วคงไม่มีเงินไปหาความสุขจากประสบการณ์อันเสรีอย่างที่ต้องการ ก็อาจจะจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะทำงานภายใต้วิถีแบบแผนของคนรุ่นก่อนหน้า แต่ถ้ากลายเป็นว่าคน Gen Z นั้นเป็นกำลังหลักจริงๆ มีความสามารถกันมากจริงๆ หรือถึงไม่มีใครจ้างเขาก็จ้างกันเองได้หรือติดต่องานภายใต้ระเบียบพิธีเฉพาะรุ่น จนบริษัทองค์กรของคนรุ่นก่อนหน้าขาดคนทำงานจริงๆ หรือต้องติดต่อกับบริษัทที่ทำงานด้วยวิถีใหม่ ก็อาจจะเป็นฝ่ายคนรุ่นก่อนที่ต้องปรับหรือทบทวนระเบียบหรือวิธีการทำงานก็ได้ เช่นอาจจะต้องเริ่มจากคำถามว่า ในบริบทปัจจุบัน คนทำงานทุกคนจำเป็นต้องเริ่มงานตอนเช้าพร้อมกันอยู่จริงหรือ

เช่นเดียวกับคำว่า “กอปร” “ระเรื่อ” หรือ “เหยเก” และคำเก่าอันสวยงามต่างๆ นั้น ถ้านักเขียนยืนยันว่าจะใช้คำเหล่านั้นต่อไป ในที่สุดผู้อ่านก็จะต้องเรียนรู้เองว่าคำเหล่านั้นมีความหมายอย่างไร แต่ถ้านักเขียนหรือผู้เขียนเองก็เห็นว่า คำพวกนี้ก็แทบไม่มีที่ใช้ หรือไม่ก็ดูเฉิ่มเชยไม่เข้าด้วยบริบทแล้วเลิกใช้ คำพวกนั้นก็จะหลงเหลืออยู่เพียงในหนังสือรุ่นก่อนก็คงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ

สุดท้ายนี้ ถ้าท่านผู้อ่านไม่รู้สึกตงิดสะกิดใจกับประโยคเปิดคอลัมน์ ก็อาจจะเพราะท่านอาจไม่ทันนึกหรือไม่ทราบว่า “สรวล” นั้นแปลว่า “หัวเราะ” (ส่วนคำที่หมายถึงความโศกเศร้าหรือร่ำไห้นั้นคือ “กำสรวล”) ดังนั้น เมื่อมันตามหลังคำว่า “สลด” มันก็เหมือนกับเป็นการใช้คำที่ขัดแย้งกันเอง คือ เศร้าใจแล้วหัวเราะ ซึ่งก็เหมือนใช้คำพลาดหรือผิดความหมาย

แต่จริงๆ แล้ว เรื่องดราม่า “กอปร” มันก็ทำให้นักเขียน นักแปล คนชอบด้านภาษาหลายท่านเกิดความรู้สึกสลดสรวล เศร้าจนหัวเราะออกมาได้จริงๆ นั่นแหละ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image