สุจิตต์ วงษ์เทศ : อาหารจีนยุคอยุธยา มากับซำปอกง

เรือมหาสมบัติ “เป่าฉวน” ขนาด 9 เสากระโดงอันมหึมาของแม่ทัพเจิ้งเหอ แบบจำลองตามสัดส่วนที่บันทึกโดยหลอเหมาเติ้ง สมัยราชวงศ์หมิง ในหนังสือชื่อบันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน)

อาหารจีนยุคอยุธยา พัฒนาอาหารไทยหลากหลายกว่าเดิม และอร่อยกว่าเดิม มากับซำปอกง คือเจิ้งเหอ แม่ทัพขันที คุมกองเรือมหึมามหาศาลท่องทะเลสมุทรผ่านอ่าวไทย

บริวารคณะหนึ่งของเจิ้งเหอเข้าถึงพระครศรีอยุธยา

อาหารจีนในเรือซำปอกง

ผักหญ้าอาหารจีนที่มากับสำเภาของเจิ้งเหอ ดูได้จากในขบวนมีสำเภาเสบียงลำมโหฬารพันลึก มีเอกสารพรรณนาโดยสรุป ดังนี้

Advertisement

กองเรือของเจิ้งเหอ ประกอบด้วยเรือมหาสมบัติ “เป่าฉวน” สี่ลำ 9 เสากระโดง ยาวราว 400 ฟุต กว้าง 160 ฟุต

รองลงมาคือเรือบรรทุกม้า ใช้ขนสินค้าจากเรือไปสู่เมืองท่าต่างๆ และในเวลาเดียวกันก็บรรทุกเอาเครื่องราชบรรณาการและสินค้าท้องถิ่นในดินแดนที่ไปเยือนขึ้นมาไว้บนเรือ เรือบรรทุกม้านี้มี 8 เสากระโดง ยาวราว 339 ฟุต กว้าง 138 ฟุต

ลำดับต่อมาคือเรือบรรทุกเสบียง ทั้งของคนและสัตว์พาหนะ ที่มีรวมกันถึงกว่า 30,000 ชีวิต ในการร่วมเดินทางไปในแต่ละคราว มี 7 เสากระโดง ยาว 257 ฟุต กว้าง 115 ฟุต

Advertisement

ถัดรองลงมาคือเรือบรรทุกกำลังพล ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในกองเรือ มี 6 เสากระโดง ยาว 220 ฟุต กว้าง 83 ฟุต

และสุดท้ายคือกองเรือผู้พิทักษ์ เพื่อคอยคุ้มครองพิทักษ์และข่มขวัญเรือโจรสลัดที่มีอยู่ในทั่วทุกย่านน้ำ มี 5 เสากระโดง ยาว 165 ฟุต กว้าง 120 ฟุต

กองเรือทั้ง 5 ชนิดนี้รวมเรียกว่ากองทัพมหาสมบัติ

เอกสารระบุอีกว่าเรือแต่ละลำแบ่งเป็น 4 ชั้น

ชั้นล่างสุด แบ่งเป็นห้องๆ แยกออกจากกัน ในกรณีที่ห้องใดห้องหนึ่งเกิดรอยรั่วจนน้ำเข้าเรือ เรือทั้งลำก็ไม่จม

นอกจากนี้ยังมีการสะสมน้ำจืดไว้ที่ท้องเรือ หรือหินเพื่อถ่วงท้องเรือไว้ในห้องอับเฉาเพื่อให้มั่นคง และเป็นการประคองการทรงตัวมิให้เรือโคลงเคลงหรือล่มได้

ชั้นที่สอง ใช้เป็นห้องพักของลูกเรือ (ห้องบาหลี) และเก็บเสบียงกรังพร้อมสินค้าต่างๆ

ชั้นที่สาม หรือบนเรือ จะแบ่งเป็นห้องครัว ห้องอาหาร ห้องเก็บผักและสัตว์ที่ต้องใช้ปรุง เช่น หมู, เป็ด, ไก่ ฯลฯ

ชั้นที่สี่ เป็นชั้นดาดฟ้า สำหรับเป็นห้องควบคุมทิศทางเรือ

[ดูรายละเอียดเรื่องเจิ้งเหอในหนังสือ 3 เล่ม (1.) เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” ของ ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน 2546, (2.) เจิ้งเหอ ซำปอกงและอุษาคเนย์ ของ สืบแสง พรหมบุญ สำนักพิมพ์มติชน 2549, (3.) 600 ปี สมุทรยาตราเจิ้งเหอ แม่ทัพเรือผู้กลายมาเป็นเทพเจ้า “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์ ของ ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน 2548]

กลิ่นทุเรียนเหมือนขี้ซำปอกง

พืชพันธุ์จากสุวรรณภูมิแลกเปลี่ยนเข้าไปเมืองจีนด้วย ในคราวเดียวกัน เรื่องนี้ ปริวัฒน์ จันทร เขียนเล่าเรื่องทุเรียนไปเมืองจีนกับซำปอกง จะสรุปมาดังนี้

คำว่า “ทุเรียน” ในภาษาจีนกลาง เจิ้งเหอเป็นคนตั้งชื่อว่า “หลิวเหลียน” หรือสำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า “โถวเลี้ยง” แปลว่า ความหวนอาลัย หมายถึงผู้ใดที่ไม่เคยรับประทานทุเรียนมาก่อน ลองได้รับประทานเข้าก็จะหลงอาลัยในรสชาติจนยากที่จะลืมเลือนและไม่อยากกลับบ้าน

เชื่อกันว่าผลไม้ทุเรียนนี้ชาวจีนเพิ่งรู้จักครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิง โดยลูกเรือของเจิ้งเหอที่ได้ลิ้มลองแล้วติดใจนำกลับไปเล่าขานให้คนที่เมืองจีนฟังกัน

ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยมักเล่าให้ลูกหลานฟังว่า คำว่า “ทุเรียน” นั้นชาวจีนเรียกว่า “ซำปอกงไส้” หรือ อาจมของซำปอกง?!

กล่าวคือ เมื่อเจิ้งเหอได้เดินเรือมาค้าขายในสยามนั้น ระหว่างทางที่ได้ไปเดินเที่ยวชมตามหมู่บ้าน ท่านเกิดปวดท้องหนัก เมื่อถ่ายแล้วจึงได้นำก้อนอาจมนั้นห่อใบไม้ นำปีนขึ้นไปแขวนไว้บนกิ่งไม้

บังเอิญในขณะนั้นมีชาวบ้านที่ทราบว่าซำปอกงเดินผ่านมา จึงได้มาขออาหารจากเจิ้งเหอที่ชาวจีนเชื่อว่าท่านเป็นผู้ที่มีวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก จึงได้ชี้ขึ้นไปบนต้นไม้ บอกว่าให้ปีนขึ้นไปบนนั้น ข้างบนมีทุเรียนอยู่

ชาวบ้านคนนั้นจึงเชื่อ แล้วปีนขึ้นไปแกะห่ออาจมออกมาดู พบว่าข้างในเป็นผลทุเรียนสีเหลืองที่ส่งกลิ่นอันหอมหวนชวนรับประทานไปในพลัน!

ฉะนั้นใครที่ไม่ชอบกลิ่นของทุเรียนที่หอมฉุน ก็มักจะอ้างว่าทุเรียนมีกลิ่นเหม็นเหมือนขี้ซำปอกง

[บางตอนจากหนังสือ อาหารไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก กำลังพิมพ์เป็นเล่ม จะเสร็จเร็วๆ นี้ สั่งซื้อที่ ไอ้ทุย ituibooks 08 8919 4516]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image