เมืองกระชับ? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

มีสองแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการวางผังเมืองสมัยใหม่ที่หลายคนเคยได้ยิน แต่อาจไม่ค่อยมีโอกาสได้อภิปรายกันสักเท่าไหร่

นั่นก็คือ แนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของเมืองกระชับ (compact city) และแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาที่อิงกับการคมนาคม (transit oriented development) โดยเฉพาะที่หมายถึงการคมนาคมแบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่มากกว่าเรื่องของการขยายถนน และส่งเสริมการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว

โดยแนวคิดในเรื่องของเมืองกระชับ และการพัฒนาที่อิงกับการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่นี้จะว่าไปก็มีทั้งความใหม่ และความเชื่อมโยงกับสายธารความคิดในเรื่องของการพัฒนาเมืองมาโดยตลอด

แต่สิ่งที่เป็นแกนสำคัญที่ต้องย้ำก็คือ เมื่อประเมินในเรื่องของพัฒนาเมืองแบบนี้ก็คือ มันจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองและการควบคุมการพัฒนาเมือง เพื่อให้เมืองเป็นพื้นที่ที่ผู้คนอยู่ด้วยกันได้ และลดความขัดแย้งระหว่างกันและไม่ให้คนในเมือง “กินชีวิต” กันมากจนเกินไป

Advertisement

หมายถึงว่าเมืองที่น่าอยู่นั้นไม่ใช่น่าอยู่ด้วยตาเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการที่ผู้คนที่หลากหลายนั้นสามารถมีสิทธิที่จะมีชีวิตและกำหนดการเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (rights to the city)

สิ่งที่นักพัฒนาเมืองและผู้บริหารเมืองพึงตระหนักก็คือ เมืองนั้นเป็นพื้นที่แห่งการต่อรอง ไม่น้อยไปกว่าเป็นพื้นที่ที่จะเร่งเร้าการพัฒนาให้ไปสู่การเผาผลาญทรัพยากรสูงสุด เพราะหนึ่งในทรัพยากรที่เผาผลาญไปมากที่สุดไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม

แต่เป็นผู้คนในเมืองที่จะต้องเข้ามาทำงานในเมือง แต่ไม่ได้ประโยชน์และการดูแลจากเมืองอย่างเต็มที่ เพราะเขาไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองและกำหนดการเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี

Advertisement

แนวคิดเรื่องเมืองกระชับและการพัฒนาเมืองที่เน้นการสร้างศูนย์กลางการคมนาคมแบบขนส่งมวลชนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ไปหมด เพราะรากฐานที่สำคัญก็คือ การตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองในแบบใหม่

หมายถึงว่าเดิมนั้นการพัฒนาเมืองมันกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลางจนเต็มไปด้วยความหนาแน่นที่ไร้ระเบียบ และเต็มไปด้วยมลพิษ จึงเกิดแนวคิดและการพัฒนาสองแบบใหญ่ๆ เป็นผลตามมา

หนึ่ง คือ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ชานเมือง ด้วยการส่งเสริมให้มีการขยายถนนและโครงสร้างพื้นฐานออกไป เพื่อให้เกิดโอกาสที่จะได้พักอาศัยในราคาที่ถูกลง และใช้การคมนาคมโดยถนนเดินทางเข้ามาที่ศูนย์กลางเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งก็สอดคล้องกับเศรษฐกิจในแบบที่เน้นกลไกตลาด เสรีภาพในการเดินทาง และความสามารถในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

อีกแนวคิดหนึ่งที่บางที่ก็เกิดคู่ขนานกัน หรือแยกจากกันก็คือ เรื่องของการควบคุมไม่ให้พื้นที่เมืองขยายตัวจนเกินขอบเขตที่กำหนด และเชื่อมเมืองใหญ่กับเมืองบริวารจะด้วยรถยนต์ ถนน หรือรถไฟก็ได้ แต่วัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือ ทำให้เมืองไม่ขยายไปรุกล้ำพื้นที่ในชนบท หรือพื้นที่โดยรอบ และผลักดันการพัฒนาไปยังพื้นที่ภายนอกอย่างเป็นระบบและเน้นการกระจุกตัวอย่างจริงจัง

แนวคิดที่สองนี้บ้านเราไม่ค่อยเห็นอย่างจริงจัง มีแต่ลักษณะของการวางผังแบบจำแลง เพราะไม่มีกลไกควบคุมการพัฒนาที่เป็นจริง เน้นไปที่การจูงใจ มากกว่าการบังคับ

เราจึงได้ยินแต่การพูดถึงถนนวงแหวน มากกว่าวงแหวนสีเขียวที่กระชับเนื้อเมืองเอาไว้ไม่ให้ล้ำออกไป

และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง วิธีคิดเรื่องการพัฒนาชานเมืองนั้นสุดท้ายเกิดการค้นพบใหม่ว่า ในเมืองแบบไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนมากไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชานเมือง (suburb) หรือชานเมืองภิวัฒน์ (suburbanization)

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการพัฒนาระบบเมืองแบบใหม่ที่เกิดการ “ผสมแต่ไม่ผสาน” ของเมืองแบบใหม่ที่เรียกว่า peri-urbanizaion เสียมากกว่า เพราะพื้นที่ที่เราเชื่อว่าเป็นพื้นที่ชนบทเดิมก่อนที่เมืองจะรุกเข้าไปนั้นเป็นพื้นที่ที่มีผู้คน ประวัติศาสตร์ และระบบนิเวศวิทยาบางอย่างอยู่ก่อน

ไม่ใช่พื้นที่แห่งความเวิ้งว้าง ไร้ผู้คนและความสัมพันธ์ของคนผู้คนใดๆ แต่เป็นชีวิตของคนชนบทที่มีระบบนิเวศน์วิทยาทางสังคมเศรษฐกิจของเขา และเมื่อเกิดการพัฒนาเมืองในพื้นที่นั้น พวกเขาไม่ได้หายไปหรือถูกแทนที่โดยระบบพื้นที่พักอาศัยไปทั้งหมด แต่พวกเขาบางส่วนยังอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น และมีปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ๆ กับความเป็นเมืองที่คืบคลานเข้ามา

ในความเป็นจริงเราจึงไม่ได้เห็นโครงการของเมืองใหม่ง่ายๆ ที่ขอบของเมือง แต่เราเห็นความผสมที่ไม่ผสานของเมืองแบบใหม่ที่มีผู้คนสองแบบอยู่ด้วยกัน และเต็มไปด้วยความตึงเครียดขัดแย้งของระบบนิเวศ และการเมืองเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่

อาทิ เรื่องของการบริหารจัดการ อบต.ที่มีลักษณะเมืองมากกว่าชนบท เราเห็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไร้มาตรฐาน และเห็นความขัดแย้งของวิถีชีวิตของการเกษตรกับน้ำเสียจากอุตสาหกรรม และบ้านจัดสรร

สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่มองไม่เห็นจากผังสีเหลือง (พื้นที่พักอาศัยหนาแน่นน้อย) หรือสีเขียว (พื้นที่เกษตร) ในระดับจุลภาค เพราะอย่าลืมว่าพื้นที่สีเขียวนั้นมีคนและวิถีชีวิตบางอย่างที่มีวิวัฒนาการและปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเช่นกัน (ยังไม่นับเรื่องของพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่คนในพื้นที่เองไม่ได้เลือกแต่ถูกกำหนดเอาไว้จากภายนอก โดยไร้กลไกชดเชย)

ความเชื่อเรื่องเมืองกระชับและพัฒนาบนศูนย์กลางการคมนาคมแบบขนส่งมวลชนจากเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นระบบรถไฟกับย่านชานเมืองที่มีไว้ป้องกันการกระจายตัวอย่างไร้ทิศทางของเมืองนั้น กลับมามีชีวิตอีกครั้งเมื่อแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (sustainability) กลายเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะเชื่อว่ายิ่งทำให้เมืองกระชับและเชื่อมโยงการเคลื่อนที่ของผู้คนด้วยการคมนาคมขนาดใหญ่นั้นจะยิ่งทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดี และมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เมืองจะมีการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การเดินทางจะมีประสิทธิภาพและเกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่ต่ำลงเพราะลดการใช้รถยนต์ และจะเกิดความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ๆ เช่น เมืองสร้างสรร และการได้พบปะของผู้คนในเมืองมากขึ้นกว่าการที่ต่างคนต่างอยู่ในบ้านจัดสรรและขับรถเข้ามาทำงานในเมือง

แถมยังมีความเชื่อว่า ถ้ามีเมืองกระชับแล้ว คนที่ขาดโอกาสจะได้พักอาศัยในเมืองจะมีโอกาสได้กลับมาอยู่ในเมืองได้มากขึ้น เพราะรูปแบบการพักอาศัยจะเป็นไปในแบบของอาคารสูงที่ทำให้เกิดความหนาแน่นมากขึ้น และพอจะสามารถเข้ามาอาศัยได้มากกว่าการปล่อยให้เมืองขยายออกไปเรื่อยๆ

เรื่องนี้ในระยะยาวได้พิสูจน์มาแล้วว่า การเพิ่มความแน่นของเมืองนั้นไม่ได้ทำให้เกิดโอกาสในการพักอาศัยในเมืองมากขึ้น ถ้าไม่มีมาตรการอื่นๆ ที่เข้มข้นมาผลักดันให้เกิดความเป็นไปได้ในการเข้าถึงที่พักอาศัย (housing affordability)

ในความเป็นจริงแล้วหลายเมืองที่สร้างเมืองด้วยแนวคิดเมืองกระชับและการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งมวลชนที่เชื่อว่าจะมีการพัฒนาในพื้นที่โดยรอบกลับเกิดปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนเดิมในพื้นที่ ทั้งคนที่อาศัยเดิมที่เคยอยู่มาตั้งแต่สมัยที่เป็นพื้นที่พักอาศัยน่าอยู่ และกับชุมชนที่ไม่มีสิทธิในการครองที่ดิน แต่มีส่วนในการพัฒนาเมืองมาโดยตลอดอย่างชุมชนแออัด ทั้งสองแบบอยู่ในสภาวะที่เกิดปัญหาต่อชีวิตของเขาทั้งสิ้น คือ ปัญหาจากมลพิษในการก่อสร้าง และความไม่ตรงไปตรงมาในการก่อสร้างจริงที่ผิดระเบียบและสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ที่เคยอยู่ รวมทั้งการถูกผลักจากพื้นที่ภายใต้แรงบีบค้นจากการพัฒนาโดยเฉพาะของคนที่ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่ แต่ควรมีสิทธิที่จะอยู่ในเมือง

จนเกิดคำถามว่าตกลงเราจะมีเมืองกระชับ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระชับพื้นที่ผู้คนบางกลุ่มให้มีโอกาสที่ดีในเมืองยากขึ้น

และมีการศึกษาจริงๆ จังๆ หรือไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนใหม่กับคนเก่าในพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น “ผสมผสาน” หรือ “ผสมแต่ไม่ผสาน”

จนบางครั้งเกิดคำถามที่ท้าทายว่าตกลงแนวคิดเรื่องเมืองกระชับและการพัฒนาเมืองแบบเน้นการขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่นั้นให้ผลตามที่พึงปรารถนาจริงๆ หรือไม่ หรือยิ่งพัฒนาไปในแนวทางนี้กลับไม่ได้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอะไรตามที่คาดไว้ แต่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ ต้นทุนชีวิตทุกฝ่ายกลับสูงขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องการเพิ่มมูลค่าพื้นที่ในเมืองที่ไม่ใช่ทุกคนได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ร่วมกัน

คนที่ตกที่นั่งลำบากจริงๆ คือ ผู้บริหารเมืองที่ต้องเผชิญกับความเป็นจริงทางการเมืองว่าพวกเขาจะสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่เดือดร้อนกับเรื่องของการพัฒนาเมืองในรูปแบบนี้อย่างไร เพราะหลักการเมืองกระชับและการพัฒนาเมืองที่มีศูนย์กลางที่การขนส่งมวลชนขนาดใหญ่นั้นดูจะสวยงามพึ่งปรารถนา

แต่พื้นฐานของเมืองอีกด้านหนึ่งไม่ใช่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องของความเป็นชุมชนและการเชื่อมร้อยชุมชนย่อยขึ้นมาเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย การพึ่งพาอาศัยกัน การแข่งขัน แก่งแย่งทรัพยากรกัน และการเอาเปรียบกัน

มันไม่ง่ายหรอกครับในการบริหารเมืองสักเมือง ถ้าเมืองนั้นมันจะต้องมีรากฐานของเมืองจากประชาธิปไตยด้วย

ผู้บริหารเมืองบางคนอาจจะมองว่าคนที่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับทิศทางการพัฒนาเมืองที่ดูทรงประสิทธิภาพและประสิทธิผลนี้เป็นเรื่องที่คิดได้ยังไง สงสัยจะเป็นเพราะเขาเหล่านั้นเต็มไปด้วยอคติ และผลประโยชน์ส่วนตน

แต่สิ่งที่จะต้องระมัดระวัง คือ ผลประโยชน์ส่วนตนเหล่านั้น มันคือ รากฐานทางการเมืองของการเลือกตั้งผู้บริหารเมืองมาตั้งแต่แรก และจะเป็นเช่นนั้นในครั้งต่อๆ ไป

การชนะการเลือกตั้งมาเป็นผู้บริหารเมืองนั้นไม่ได้ยากเย็นขนาดนั้น เพราะมีหลายปัจจัยที่ประกอบกัน

แต่การจะมีอนาคตทางการเมืองหลังจากเป็นผู้บริหารเมืองสักเมืองหนึ่งนั้นไม่ได้ง่ายนัก แม้ว่าทิศทางของการที่ผู้บริหารเมืองจะกลายเป็นผู้บริหารประเทศนั้นเป็นหนึ่งในทิศทางที่เกิดขึ้นจริงในหลายประเทศ ทั้งจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย

ในบ้านเราแม้จะเคยมีอยู่สักครั้ง แต่ยังไม่ได้เห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างคุณสมัคร หรือบทบาทของคุณจำลอง แต่อาจจะยังหาแบบแผนที่ชัดเจนไม่ได้

นี่คือ ประเด็นที่ท้าทายของบ้านเมืองของเราอีกเรื่องหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image