กองทัพปากีสถานไม่เคยรบชนะสงครามเลยแต่มีชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง

กองทัพปากีสถานไม่เคยรบชนะสงครามเลยแต่มีชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง

สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชียใต้ มีพรมแดนติดกับประเทศอินเดีย อิหร่าน อัฟกานิสถาน และจีน มีชายฝั่งติดกับทะเลอาหรับ มีเนื้อที่รวม 1,030,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 171 ล้านคน มากเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามใหญ่เป็นอันดับที่สอง (รองจากอินโดนีเซีย) และเป็นสมาชิกที่สำคัญขององค์การความร่วมมืออิสลาม และเป็น 1 ใน 9 ประเทศของโลกนี้ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง

ภูมิภาคเอเชียใต้ที่ประกอบด้วย 8 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อินเดีย, ศรีลังกา, ภูฏาน, เนปาล, บังกลาเทศ และมัลดีฟส์ ล้วนแต่เป็นอาณานิคมของอังกฤษมากว่า 100 ปีแล้วทั้งสิ้น ครั้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงและกระแสชาตินิยมรุนแรงขึ้น อังกฤษจึงจำใจให้ 8 ประเทศนี้ เป็นรัฐเอกราชแต่ได้ทิ้งปัญหาที่ตามมาคือการกระทบกระทั่งขัดแย้งกันของชนชาวฮินดูและชนชาวมุสลิมในประเทศหลัก 2 ประเทศในภูมิภาคนี้คือเอเชียใต้ คือประเทศอินเดียกับประเทศปากีสถาน ที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองแบบ “แบ่งแยกแล้วปกครอง-divide and rule” ของอังกฤษ ทำให้เกิดสงครามระหว่าง 2 ประเทศ คือ อินเดียกับปากีสถานถึง 4 ครั้ง

โดย ครั้งแรกใน พ.ศ.2490 หลังได้เอกราชเพียง 2 เดือนเท่านั้น ก็เกิดสงครามอันเป็นสงครามแย่งดินแดนแคว้นแคชเมียร์ที่ประชาชนส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม แต่มหาราชาผู้ครองแคว้นนับถือศาสนาฮินดู ดังนั้น ทั้งอินเดียและปากีสถานส่งทหารประจำการเข้าทำสงครามเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติได้เข้ามาไกล่เกลี่ยสั่งให้ทั้ง 2 ชาติ หยุดยิงโดยตกลงให้ฝ่ายอินเดียได้ดินแดน 2 ใน 3 ของแคว้นแคชเมียร์ ส่วนทางปากีสถานได้พื้นที่ 1 ใน 3 ของแคว้นแคชเมียร์ตามแนวที่ทั้ง 2 ประเทศยึดครองอยู่เมื่อตอนหยุดยิงนั่นเอง และมีการแบ่งเส้นเขตแดนชั่วคราวในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2492

Advertisement

สงครามครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2508 โดยกองทัพปากีสถานเปิดฉากด้วยการส่งกองทัพขนาดใหญ่พุ่งโจมตีอินเดียก่อน โดยมีเป้าหมายยึดพื้นที่ของจังหวัดจัมมูและหุบเขากัษมีระ ทางด้านอินเดียได้ตอบโต้ด้วยการส่งกองทัพทางบกและอากาศโจมตีแนวชายแดนปากีสถานตะวันตกเต็มรูปแบบ ทำให้ปากีสถานต้องถอนกำลังออกมาจากกัษมีระ ทั้ง 2 ฝ่าย มีทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนนับพันนาย หลังจากปะทะกันอย่างหนักประมาณ 1 สัปดาห์ ทางการสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้เชิญ 2 ประเทศ มาเจรจาหยุดยิงที่นครทัชเคนต์ ประเทศสหภาพโซเวียต ให้ต่างฝ่ายต่างถอนกำลังทหารกลับที่ตั้งเดิมที่ขีดเส้นไว้เมื่อ พ.ศ.2492

สงครามครั้งที่ 3 เกิดขึ้นใน พ.ศ.2514 จากสาเหตุภายในของปากีสถานเอง คือเกิดความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงในปากีสถานตะวันออกหรือสาธารณรัฐบังกลาเทศ ระหว่างประธานาธิบดีชีคมูจิบูร์ เราะห์มาน ที่เป็นชาวเบงกาลีมุสลิม กับ 2 ผู้นำฝั่งปากีสถานตะวันตก คือ พลเอกยาย่าห์ ข่าน และนายซัลฟีการ์ อาลีบุตโต ปากีสถานตะวันตก ใช้กองทัพจัดการปราบการจลาจลของชาวเบงกาลีอย่างหนักจนประชาชน 10 ล้านคน ลี้ภัยเข้าไปในอินเดีย อินเดียกับปากีสถานต่างส่งกองทัพประชิดชายแดนทุกด้าน รวมทั้งแคว้นแคชเมียร์ ปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออกเกิดเป็นสงครามขนาดใหญ่เต็มขนาดระยะเวลา 2 สัปดาห์ อินเดียมีกำลังพลมากกว่าสามารถยึดดินแดนปากีสถานตะวันตกได้พื้นที่บางส่วนของแคว้นแคชเมียร์ และยึดครองพื้นที่ของรัฐปัญจาบและรัฐชินด์เพิ่มขึ้นอีก รวม 15,010 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่กองทัพด้านปากีสถานตะวันออก อินเดียรุกเข้าไปยึดได้ทังหมดพร้อมกับสนับสนุน ชีคมูจิบูห์ เราะห์มาน ให้เป็นประมุขของบังกลาเทศ มีการสถาปนาให้เป็นรัฐเอกราช ทหารปากีสถานตกเป็นเชลยกว่า 90,000 นาย ทั้งเสียกำลังทางอากาศไป 1 ใน 4 กับกองทัพเรืออีกครึ่งหนึ่ง สงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถานครั้งนี้จัดว่าปากีสถานแพ้อย่างราบคาบ

สงครามครั้งที่ 4 ใน พ.ศ.2542 เรียกกันว่าสงครามอำเภอคาร์กิลในแคว้นแคชเมียร์ โดยปากีสถานเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีอินเดียที่ชายแดนกองทัพปากีสถานยึดแคชเมียร์ก่อนช่วงต้นปีแล้วเข้ายึดอำเภอนี้ไว้ได้ อินเดียตอบโต้ด้วยการส่งกองทัพเพิ่มเข้าโจมตีกองทัพปากีสถานกลับ การสู้รบผ่านไป 3 เดือน ปากีสถานเสียทหารในพื้นที่กองทัพภาคเหนือไปมากกว่า 4,000 นาย ทางการสหรัฐอเมริกาได้เป็นคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหาพิพาทของ 2 ประเทศ อินเดียได้อำเภอคาร์กิลกลับคืน

Advertisement

สรุปแล้วคำกล่าวที่พูดกันในปากีสถานว่า “กองทัพปากีสถานไม่เคยรบชนะสงครามเลยแต่มีชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง” ก็เป็นความจริงครึ่งหนึ่งแล้วจากสงคราม 4 ครั้งกับอินเดีย แต่ความจริงอีกครึ่งหนึ่งก็มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้เช่นกัน คือกองทัพปากีสถานเข้าแทรกแซงทางการเมืองของปากีสถานมาโดยตลอด 77 ปีของการก่อตั้งประเทศปากีสถานมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งทั่วไปจะเห็นได้จากการที่ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีของปากีสถานคนไหนเลยที่อยู่ครบวาระ 5 ปี รัฐบาลในอดีตถูกโค่นล้มจากการทำรัฐประหารหลายครั้ง และฝ่ายทหารยังมีอำนาจสั่งให้ศาลพิพากษาปลดนายกรัฐมนตรีแล้วตัดสินให้ถูกจำคุกหรือประหารชีวิตเป็นประจำ

บทพิสูจน์ที่เพิ่งผ่านมาหยกๆ คือเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือ 3 วันหลังการเลือกตั้งทั่วไปของปากีสถานสิ้นสุด ปรากฏว่ากลุ่มผู้สมัครอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเตห์รีก-อี-อินซาฟ (PTI) ของอดีตนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน ได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผลการเลือกตั้งปากีสถานอย่างเป็นทางการที่ประกาศโดยคณะกรรมการเลือกตั้งระบุว่า ผู้สมัครอิสระได้คะแนนเสียง 102 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน-นาวาซ (PML-N) ของนายนาวาซ ชารีฟ อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ที่ถูกขับออกตำแหน่งและถูกจำคุกจนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราวจากอิทธิพลของกองทัพปากีสถาน ที่ได้อันดับ 2 ด้วยคะแนนเสียง 73 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาชนปากีสถาน (PPP) ของอดีตนายกรัฐมนตรี 2 คน พ่อกับลูกสาว ชื่อบุตโต ที่พ่อถูกประหารชีวิตและลูกสาวถูกลอบสังหารโดยมีกองทัพปากีสถานอยู่เบื้องหลัง ได้ 54 ที่นั่ง แต่เนื่องจากพรรคใหญ่ 3 พรรคนี้ ไม่มีพรรคไหนได้คะแนนเสียงถึง 169 ที่นั่ง ที่จำเป็นสำหรับการครองเสียงข้างมากในสภา ทั้ง 3 พรรคจึงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าพรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน-นาวาซ ของนายชารีฟ และพรรคประชาชนปากีสถาน มีการพูดคุยกันเรื่องจัดตั้งรัฐบาลแล้วภายใต้การหนุนหลังของกองทัพปากีสถาน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะถึงแม้ทั้ง 2 พรรคนี้ที่จะตกลงรวมกันได้ก็ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี ซึ่งแน่นอนที่สุดกองทัพปากีสถานก็จะเข้ามาแทรกแซงอย่างแน่นอน เนื่องจากกองทัพปากีสถานเคยปกครองประเทศโดยตรงมาแล้วเกือบ 30 ปี จากช่วงเวลาทั้งหมด 76 ปี นับตั้งแต่ปากีสถานได้รับเอกราชมา

ครับ! กองทัพปากีสถานไม่เคยรบชนะสงครามเลยแต่มีชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image