ภาพเก่าเล่าตำนาน : ความรัก อาถรรพ์ หรรษา และโศกสลด ของเรือไททานิก (2) : โดย นิพัทธ์ ทองเล็ก

ความเดิมจากตอนที่แล้วครับ… ตอนสายของวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2455 เรือสำราญหรู ทันสมัยที่สุด และราคาตั๋วแพงอันดับ 1 ของโลก ชื่อ ไททานิก เป็นเรือของบริษัทเดินเรืออังกฤษ ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์พร้อมผู้โดยสารระดับมหาเศรษฐีจากทวีปยุโรป จากสแกนดิเนเวีย แล่นจากท่าเรือเมืองเซาแธมป์ตัน (Southampton) ของอังกฤษแวะรับผู้โดยสารในฝรั่งเศสและไอร์แลนด์ เพื่อมุ่งหน้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่มหานครนิวยอร์ก

14 เมษายน 2455 ราว 23.40 น. (ตามเวลาเรือ) เรือไททานิกแล่นไปชนภูเขาน้ำแข็งในทะเลแอตแลนติกเหนือ เรือยักษ์ขนาดความยาว 270 เมตร ย่นยุบเข้ามา หักงอเหมือนเศษเหล็ก น้ำทะเลเย็นเฉียบทะลักเข้าตัวเรือด้านขวา ผู้โดยสารหนีตายแย่งชิงกันลงเรือชูชีพ ไอ้คนที่ชิงลงเรือได้มีแต่คนใจดำไม่ยอมคอยคนอื่น ชิงออกเรือชูชีพเผ่นหนีทั้งๆ ที่ยังมีที่ว่างพอที่จะให้เพื่อนผู้โดยสารคนอื่นๆ รอดตายได้อีกตั้งเยอะแยะ

เรือไททานิกชนแฉลบ “ภูเขาน้ำแข็ง” (Iceberg) อย่างแรงเมื่อเวลา 23.40 น. ผู้โดยสารราว 700 คนรอดตายเพราะได้ลงเรือชูชีพ เรือค่อยๆ จมลงสู่ก้นมหาสมุทร เวลา 02.20 น. จึงจมลงก้นทะเลหมดทั้งลำ มีคนตายจากอุบัติเหตุครั้งนี้มากกว่า 1,500 ราย

สารคดี National Geographic นำเสนอบทวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เรือชนภูเขาน้ำแข็งว่า น่าจะเกิดจากภาพลวงตาอันเกิดจากมวลอากาศอุ่น มาปะทะกับอากาศเย็น เหมือนเราเห็นน้ำนองบนถนนตอนแดดจัด (Mirage) ภาพลวงตาที่ว่านี้จะทำให้เราเห็นเส้นขอบฟ้าสูงกว่าความเป็นจริง ภาพจริงของภูเขาน้ำแข็งจึงถูกซ่อนในเงามืดของทะเล หรือถ้าจะพูดให้ง่ายก็คือ มองไม่เห็นภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ตรงหน้า

Advertisement

ส่วนสาเหตุที่เรือจมลง เพราะด้านขวาของเรือไททานิกแฉลบชนกับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้ห้องกันน้ำในตัวเรือฉีกแตกถึง 6 ห้อง หาก ณ นาทีนั้นหัวเรือวิ่งไปชนภูเขาน้ำแข็ง โอกาสรอดจะยังมีมากกว่านี้ เพราะความเสียหายจะน้อยกว่า

ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยหลังจากหายนะครั้งประวัติศาสตร์อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรือชูชีพที่เตรียมไว้จะอพยพผู้โดยสารได้เพียง 700 คน เพราะมั่นใจว่ายังไงๆ ก็จะไม่มีวันได้ใช้เรือชูชีพแน่นอน

ทุกคนเชื่อว่า เรือไททานิกที่แข็งแรงที่สุดในปฐพี ใหญ่ที่สุด มั่นคงที่สุด และหรูหราที่สุดจะไม่มีวันจมแน่นอน

Advertisement

ในยุคสมัยนั้น การเดินทางระหว่างยุโรปกับอเมริกาทำได้ทางเดียวคือ เรือเดินสมุทรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก บริษัทเดินเรือ White Star Line ของอังกฤษเป็นเจ้าพ่อใหญ่ในกิจการนี้ บริษัทนี้ก่อตั้งในปี พ.ศ.2393 โดยโทมัส อิสเมย์ (Thomas Ismay) และเซอร์ เอ็ดเวิร์ด ฮาร์แลนด์ (Sir Edward Harland) เข้ามาซื้อกิจการ และต่อมาในปี พ.ศ.2445 เจ.พี. มอร์แกน (J.P. Morgan) บริษัทสัญชาติอเมริกันเข้ามาซื้อกิจการต่อไปอีกครั้ง แต่ยังคงใช้ลูกเรือที่เป็นชาวอังกฤษ

ย้อนอดีตกลับไปอีกนิด ตอนนั้น White Star Line คิดการใหญ่จะเป็นเจ้าสมุทร ตัดสินใจลงทุนต่อเรือทีเดียว 3 ลำ คือ เรือ Olympic เรือ Titanic และเรือ Gigantic (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Britannic)

เรือ Olympic มีระวางขับน้ำ 45,000 ตัน สร้างเสร็จและให้บริการทันที วิ่งในทะเลได้เพียง 2 เดือนก็เกิดอุบัติเหตุไปชนกับเรือลำอื่นและต้องเข้าอู่ซ่อม กัปตันเรือโอลิมปิกชื่อ E.J. Smith ต่อมาถูกทาบทามให้มาเป็นกัปตันของเรือไททานิกที่กำลังจะออกสู่มหาสมุทร

กัปตัน E.J. Smith คือกัปตันเรือที่มีค่าตัวแพงที่สุดในเวลานั้น

เรือไททานิก พระเอกของเรื่องนี้มีระวางขับน้ำ 46,300 ตัน ใหญ่กว่าเรือโอลิมปิก ถูกออกแบบให้จุผู้โดยสารได้ 3,547 คน ใช้เครื่องยนต์ 46,000 แรงม้า งบประมาณต่อเรือ 7.5 ล้านเหรียญ และตกแต่งภายในให้เป็นวิมานลอยน้ำอีก 2.5 ล้านเหรียญ รวมมูลค่าราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ถ้าคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันราว 2 หมื่นล้านเหรียญ)

ไททานิก สวรรค์ลอยน้ำ มีห้อง VVIP 2 ห้องที่มีดาดฟ้าส่วนตัวไว้ให้ผู้โดยสารคนสำคัญกินลมชมทะเลขณะแล่นเรือเป็นแรมเดือนชนิดที่ไม่ต้องปะปนกับใคร ห้องผู้โดยสารชั้น 1 จำนวน 67 ห้อง ตกแต่งห้องแบบหลากหลายตามแต่รสนิยมและตามกำลังเงิน มีห้องแบบหลุยส์ แบบดัตช์ มีเตาผิง มีห้องอบไอน้ำ และเป็นเรือลำแรกที่สร้างสระว่ายน้ำไว้บนเรือ

เมื่อบุคคลสำคัญ มหาเศรษฐี นักธุรกิจต้องมากินอยู่หลับนอนบนเรือนานเกือบเดือนระหว่างเดินทาง การติดต่อสื่อสารกับบริษัทและหน่วยงานของตนที่อยู่บนฝั่งเพื่อทราบความเคลื่อนไหว เรื่องกำไร-ขาดทุน เรื่องที่ต้องตัดสินใจ ผู้โดยสารแทบทุกคนกระวนกระวายที่จะใช้บริการวิทยุโทรเลขแบบรหัสมอร์ส (Morse) บนเรือไททานิก เพื่อรับ-ส่งข้อมูลและเรื่องส่วนตัวเท่านั้น การติดต่อระหว่างเรือที่วิ่งในทะเลด้วยกัน ข้อมูลด้านอื่นๆ จึงถูกละเลย

พนักงานวิทยุโทรเลขบนเรือที่มีจำกัด ต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการบริการรับข่าว-ส่งข่าวทางโทรเลขที่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้โดยสาร การติดต่อเพื่อแจ้งข่าวสาร/ข้อมูลเรื่องการเดินเรือ ลมฟ้าอากาศ การแจ้งเตือนภัยจากเรือลำอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เรื่องความปลอดภัยในการเดินเรือจึงเป็นเรื่องที่ขาดหายไป

เรือไททานิกในเวลานั้นจึงเปรียบได้กับคนหูหนวกตาบอด

ข้อมูลในรายละเอียดที่ถูกนำมาเปิดเผยภายหลังโศกนาฏกรรม ระบุว่า ในคืนวันเกิดเหตุคือวันที่ 14 เมษายน 2455 พนักงานวิทยุโทรเลขได้รับคำเตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่บริเวณใกล้เคียงถึง 7 ฉบับ จากเรือชื่อ แคโรเนีย เรือบอลติก เรืออเมริกา เรือแคลิฟอร์เนีย เรือเมซาบา ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรที่กำลังแล่นอยู่ในแอตแลนติกเหนือด้วยความหวังดีต่อเพื่อนร่วมทาง แจ้งเตือนกัปตันเรือไททานิกเรื่องภูเขาน้ำแข็งในเส้นทางข้างหน้า

อนิจจา พนักงานวิทยุมัวสาละวนกับรับ-ส่งโทรเลขบริการผู้โดยสาร จึงมิได้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งต่อกัปตัน

ตอนหัวค่ำของคืนวันที่ 14 เมษายน คืนวันเกิดเหตุ เรือโดยสารแคลิฟอร์เนียเข้าไปติดอยู่ในวงล้อมของภูเขาน้ำแข็งในทะเล ต้องหยุดการเคลื่อนที่ และได้ส่งโทรเลขแจ้งมาที่กัปตันเรือไททานิกที่กำลังแล่นตามมาอีกครั้งด้วยความห่วงใยและปรารถนาดี โทรเลขฉบับนี้ ไม่มีใครว่างที่จะนำไปให้กัปตันทราบครับ

บนเรือไททานิกเองมีการจัดยาม 2 นายขึ้นไปยืนบนเสากระโดงเรือเพื่อตรวจการณ์ไปข้างหน้า ยามคนหนึ่งชื่อ เฟรเดอริก ฟลีต (Frederick Fleet) เฝ้ามองภูเขาน้ำแข็งท่ามกลางความขมุกขมัวของอากาศที่หนาวเหน็บแบบขั้วโลกเหนือ ตามข้อมูลที่เปิดเผยภายหลัง ยามทั้ง 2 นายเป็นเพียงลูกเรือที่มิได้ถูกฝึกอบรมมาก่อน และมิได้นำกล้องส่องสองตาติดตัวขึ้นไป

ยมบาลกำลังกวักมือเรียกเรือไททานิก

23.40 น. ท่ามกลางความหนาวเหน็บ ท้องฟ้ามีแสงสลัวรำไร ผู้โดยสารระดับมหาเศรษฐี นักธุรกิจชั้นนำของยุโรป ที่กำลังดื่มด่ำความสุขในเรือ วงดนตรีในห้องขับกล่อมให้คู่รักเต้นรำกันอย่างมีความสุข เรือไททานิกแล่นไปในทะเลน้ำแข็ง

ยาม 2 นายบนเสากระโดงเรือ ตกใจสุดขีดตะโกนร้องสุดเสียง และรีบส่งสัญญาณไปยังห้องควบคุมการเดินเรือ “ภูเขาน้ำแข็งตรงหน้า” บุรุษผู้ที่ทำหน้าที่กัปตันชื่อ เมอร์ดอค (First Officer William M. Murdoch) สะดุ้งสุดตัว ตะโกนสั่งให้ไททานิกหยุดเดินเครื่องและให้เบนหัวเรือยักษ์เลี้ยวไปทางซ้าย

40 วินาทีต่อมา กราบขวาของลำเรือกระแทกเข้ากับภูเขาน้ำแข็งเสียงดังสนั่นปานฟ้าผ่ากลางดึก ผู้โดยสารบนเรือคะมำลงไปกองกับพื้น สิ่งของทุกชนิดกลิ้งระเนระนาดบนพื้นเรือ ตัวเรือที่เป็นเหล็กระวางขับน้ำ 46,300 ตันหักงอ มีรอยฉีกขาดเป็นแผลขนาดใหญ่ น้ำทะเลแช่แข็งเริ่มแทรกตัวเข้ามาตามรอยแตก น้ำเย็นพุ่งไปทุกหนแห่งบนเรือ กวาดทุกอย่างที่ขวางหน้าด้วยแรงดันมหาศาลปานพายุร้าย เรือสำราญกลายเป็นขุมนรก

เรือแตกทางกราบขวาและกำลังจะจมลงสู่ท้องมหาสมุทร

ภูเขาน้ำแข็ง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Iceberg หมายถึง ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ ที่แตกออกจากธารน้ำแข็งแถบขั้วโลก ล่องลอยไปในทะเลแถบขั้วโลก

เวลา 40 วินาที สำหรับเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่กำลังแล่นเต็มฝีจักรในทะเล ไม่พอเพียงที่หยุดยั้งเรือยักษ์ลำนี้ได้ ความหายนะทางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในคืนวันนั้นไม่มีใครบอกได้ว่า ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้หน้าตาเป็นอย่างไร

วันต่อมา คือ 15 เมษายน เรือ Prinz Adalbert แล่นไปถึงบริเวณที่เรือจมในวันรุ่งขึ้นได้ถ่ายภาพ “ภูเขาน้ำแข็งมรณะ” ลูกนี้ไว้ได้ซึ่งปรากฏความสูงประมาณ 100 ฟุต เพราะส่วนใหญ่ของภูเขาจมอยู่ใต้น้ำ (ตามภาพที่ปรากฏข้างบน) เรือเบรเมน (Bremen) ของเยอรมัน และเรือมิเนีย (Minia) ที่ทยอยกันเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิตบริเวณที่ไททานิกจมลง ก็บันทึกภาพภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ไว้ได้เช่นเดียวกัน (ขอบคุณภาพจาก nationalgeographic.com)

เรื่องของ ไททานิก ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่โกยเงินมากที่สุด ได้รับรางวัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ กรุณาติดตามตอนต่อไปครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image