ความบันเทิงในเรื่อง การทุจริตของตำหนวดไทย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

พยายามค้นหาเรื่องการทุจริตของตำรวจในระดับโลกแล้วก็มีเรื่องน่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะการพยายามแบ่งปัญหาของการปฏิรูปตำรวจ และการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของตำรวจในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา

แต่พอมาถึงเรื่องการทุจริตของตำหนวดไทยพูดได้เลยว่าเรื่องการทุจริตของตำหนวดไทยไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเรื่องที่ดูซีเรียสอะไรในสังคมนี้เอาเสียเลย

เพราะถ้าซีเรียสจริง ป่านนี้คงมีความพยายามในระดับประเทศที่จะผลักดันการปฏิรูปตำหนวดอย่างจริงๆ จังๆ

ลองดูเรื่องอื่นๆ สิครับ เรื่องปากท้อง เรื่อง 112 เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องรัฐสวัสดิการ

Advertisement

เป็นเรื่องใหญ่ ถกเถียงกันเอาเป็นเอาตาย สื่อไล่จิกคำตอบวันต่อวัน

ดูเรื่องข่าวตำหนวดทุจริตสิครับ มีใครไปกดดันนายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. หรือมีการผลักดันการแก้กฎหมายในสภาไหม

ทุกวันนี้ข่าวเรื่องการทุจริตของตำหนวด เป็นข่าวชาวบ้าน ราวกับข่าวบันเทิงรายวัน เหมือนข่าวที่แบ่งทุกข์แบ่งสุข เปิดให้รับรู้ มีรายการแนวที่เชิญคนมาให้ความเห็น เปิดสำรวจผลโพล มีทนายหน้าจอ แล้วก็อดีตตำหนวดมาให้ความเห็นต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ

Advertisement

ทุกคนรู้ว่าเป็นปัญหา แต่ไม่มีใครเชื่อว่าจะแก้ได้

กลายเป็นนั่งดูกันไปว่าเรื่องนี้คนที่ถูกกล่าวหาจะโดนไหม ใครเป็นเด็กใคร อ๋อเรื่องนี้มันแดงเพราะจะจัดการไม่ให้คนนี้ได้ไปต่อ

บันเทิงเริงแมวกันไปวันๆ เหมือนเพิ่มคอนเทนต์ให้สื่อออนไลน์ ออฟไลน์ไปเรื่อยๆ

เชื่อไหมว่าสมมุติว่ามีการเอาผิดนายตำหนวดใหญ่สักคนที่ถูกกล่าวหาในกรณีนี้ ก็ไม่มีใครเชื่อว่าการทุจริตในวงการตำหนวดมันจะจบลงหรอกครับ

เพราะในมุมมองของการเสนอข่าวที่เป็นอยู่ มันเป็นเพียงแค่ข่าวการทุจริตของนายตำหนวดใหญ่สักคนที่ถูกจับได้ ไม่ใช่ข่าวที่มุ่งหวังหรือถูกแรงสังคมให้ติดตามตรวจสอบภาพรวมของการปฏิรูปตำหนวดในสังคมไทยอย่างใดเลย

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผมใช้เป็นงานอ้างอิงและแรงบันดาลใจในการเขียนงานในสัปดาห์นี้ นั่นก็คือ N.Malik และ T.A.Qureshi. 2020. A Study of Economic, Cultural, and Political Causes of Police Corruption in Pakistan. ในวารสารวิชาการ Policing. ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 ที่สำรวจและวิเคราะห์ประเด็นเรื่องของที่มาของการทุจริตทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองในวงการตำรวจของปากีสถาน และเทียบเคียงกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในแอฟริกา เป็นต้น

ความน่าสนใจของข้อค้นพบมีหลายประเด็น ส่วนจะเชื่อมโยงกับปัญหาการทุจริตในวงการ
ตำหนวดไทยได้มากน้อยแค่ไหนอันนี้ไม่แน่ใจ

อย่างเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ มักจะเชื่อกันว่าการทุจริตในวงการตำรวจนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาณที่มองว่าบ้านเมืองมันล่มสลาย หรืออย่างน้อยก็ถดถอยในทางเศรษฐกิจ และจะมีผลไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพราะไม่เชื่อมั่นในหลักนิติธรรมในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่พูดเอาหล่อ เพราะเอาเข้าจริงๆ การทุจริตในวงการตำรวจนั้นมันไม่ใช่เรื่องของการไม่มีกฎไม่มีเกณฑ์ เพียงแต่มันมีกฎเกณฑ์อีกชุดหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจและพาตัวเองเข้าสู่ทิศทางให้ถูกต้อง

เพราะการทุจริตของตำรวจไม่ใช่เรื่องอำเภอใจ หรือคาดเดาไม่ได้ หรือเป็นเรื่องของตัวบุคคล หรือกลุ่มคนไม่กี่คน

แต่มันเป็นเรื่องขององค์กร เรื่องของความเป็นสถาบัน และเรื่องของการเชื่อมโยงเอาองค์กรตำรวจนั้นเข้ากับภาพใหญ่ของสังคมไปด้วย

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องที่น่าเรียนรู้ส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ในประเด็นว่าทำไมตำรวจทุจริต เป็นเรื่องที่ควรนำมาอภิปรายร่วมกัน ด้วยว่ามีหลายทฤษฎี แนววิธีคิด

เรื่องที่ง่ายที่สุดก็คือความเชื่อว่าการทุจริตของตำรวจนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นเรื่องของการคำนวณแล้วว่า ต้นทุนในการทุจริตมันต่ำหรือสูง เช่นถ้าโอกาสถูกจับได้ต่ำ เขาก็จะทุจริต เราก็จะพบการให้ทรรศนะเหล่านี้พร้อมกับข้อเสนอการแก้ไขประเภทว่าต้องเพิ่มโทษ

หรืออาจจะรวมไปถึงเรื่องของการพัฒนาระบบคุณธรรมและการคัดกรองการเข้าร่วมองค์กร

ต่อมาก็แนวคิดเรื่องว่า พวกตำรวจทุจริตนั้นเป็นพวกปลาเน่าไม่กี่ตัวเท่านั้นเอง คนส่วนมากยังเป็นคนดี ดังนั้น เราก็ต้องป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้ามามีบทบาทในองค์กร

เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ จากการศึกษามากขึ้นเขาก็เริ่มพบว่าปัญหาการทุจริตของตำรวจไม่ใช่เรื่องของนายตำรวจหรือกลุ่มตำรวจ แต่เป็นปัญหาในระดับองค์กร ทั้งในระดับวัฒนธรรม และโครงสร้างองค์กร ซึ่งเรื่องเหล่านี้น่าสนใจกว่าแค่ไปดูแรงจูงใจของบุคคลและกลุ่มย่อยในองค์กร

การจะแก้ปัญหาการทุจริตในองค์กรได้จะต้องมีการปรับองค์กรใหม่ และต้องทำให้องค์กรนั้นพร้อมรับผิดต่อสังคม (accountability) โดยที่สังคมตรวจสอบองค์กรได้ ตลอดจนเพิ่มการสื่อสารกับสังคมและระหว่างตำรวจด้วยกัน รวมทั้งระบบการติดตามตรวจสอบและอบรมตำรวจไปจนสิ้นอายุราชการ

นอกจากนั้นยังมีแนวคิดที่มองว่าการทุจริตของตำรวจนั้นไม่ใช่เกิดจากแค่โครงสร้างและวัฒนธรรมขององค์กรตำรวจ แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมและโครงสร้างของสังคมเองที่ยอมรับการทุจริต เช่น ไม่มองว่าการมอบของให้ตำรวจเป็นการทุจริต แต่มองว่าเป็นสินน้ำใจ และยอมรับความเป็นจริงว่าตำรวจเองก็ต้องมีบริวาร หรือมีภาระที่ต้องดูแล

กล่าวโดยสรุป มีเหตุผลร้อยแปดที่ตำรวจนั้นทุจริต สิ่งที่น่าสนใจในบ้านเราเมื่อเราเห็นปรากฏการณ์ตำหนวดถูกกล่าวหาว่าทุจริตนั้น เราคงต้องสนใจเพิ่มอีกนิดว่าในบรรดาผู้ให้ความเห็นนั้นเขาอธิบายเรื่องทุจริตแบบไหน แล้วเขาเสนอแก้ปัญหาแบบไหน

สำหรับผม ผมรู้สึกว่าส่วนใหญ่ความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการตำหนวดไทยก็วนเวียนแต่เรื่องของการกล่าวหาบุคคลในองค์กร หรือกลุ่ม/ซุ้มนั้นแหละ ไอ้จะพูดถึงภาพรวมขององค์กรว่าจะปฏิรูปยังไงนั้นน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะตำหนวดไทยชอบอ้างองค์กรในแบบที่ว่า อย่าทำอะไรให้องค์กรเสียหาย

ทั้งที่เอาเข้าจริง บางทีการทุจริตในวงการตำหนวดเนี่ยมันเป็นเรื่องระดับองค์กรและเรื่องของความเชื่อมโยงขององค์กรกับสังคมเสียมากกว่าเรื่องของคนไม่กี่คนในองค์กร

ทีนี้มาดูเรื่องของผลการวิจัยในกรณีของการปฏิรูปตำรวจในปากีสถานบ้าง

งานวิจัยพบว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วการมีหลักนิติธรรม และระบบราชการรวมทั้งตำรวจที่จะต้องโปร่งใสเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนา เพราะความมั่นคงทางการเมืองนั้นเชื่อมโยงกับการกระจายทรัพยากรที่โปร่งใส แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนานั้น ความมั่นคงทางการเมืองไม่ได้เกิดจากความโปร่งใสทางเศรษฐกิจและการยอมรับการกระจายทรัพยากรที่โปร่งใสและเป็นธรรม

แต่ความมั่นคงทางการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนานั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการทุจริต และประเทศเหล่านี้มีลักษณะที่ฐานภาษีแคบ การเสียภาษีเป็นแบบที่คนจนแบกภาระภาษีหลายอย่าง คนรวยหลบเลี่ยงได้ อีกทั้งนักการเมืองในประเทศเหล่านี้ก็ต้องการพัฒนาประเทศผ่านโครงการที่ทุกคนเห็นเพื่อให้ได้คะแนนเลือกตั้งในพื้นที่ของตน มากกว่าภาพรวมของความมั่นคงและพัฒนา หรือโครงการที่ไม่มีคนเห็นซึ่งอาจจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้มากกว่า

ในทางหนึ่งการทุจริตทางการเมืองก็ต้องอาศัยตำรวจเป็นเครื่ืองไม้เครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทั้งที่เป็นนักการเมือง ชนชั้นนำ และประชาชนที่จะออกมาโวยวายและกระทบต่อความชอบธรรมทางการเมืองของพวกชนชั้นนำทางการเมืองที่อยู่ในอำนาจนั่นแหละครับ

และอีกด้านหนึ่งตำรวจที่อยู่ในระบบของประเทศที่ยากจนและกำลังพัฒนาก็มีรายได้น้อย และที่สำคัญปฏิบัติการของตำรวจก็ขาดทรัพยากร เรื่องนี้สำคัญเพราะว่าเราจะเห็นว่าอำนาจของตำรวจนั้นมีมาก รายได้มีน้อย แถมการตรวจสอบจากภายนอกก็ไม่มี (เพราะนักการเมืองกับตำรวจเป็นพวกเดียวกัน หรือชนชั้นนำกับตำรวจดันเป็นพวกเดียวกัน) มันก็เลยกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การทุจริตเป็นเรื่องที่เกิดอยู่ทั่วไป

อีกเงื่อนไขที่เราจะต้องดูนอกจากสวัสดิการของตัวตำรวจเองก็คือเรื่องของโรงพักที่เป็นเรื่องที่ชี้ว่าตำรวจนั้นปฏิบัติการได้จริงไหม เพราะค่าบริหารจัดการโรงพักและการทำงานจริงๆ ของตำรวจก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าโรงพักนั้นขับเคลื่อนด้วยงบประมาณจริงไม่ได้ สิ่งที่พบก็คือมันส่งผลให้แม้ตำรวจในโรงพักหลายคนจะเป็นคนดี และพอจะไม่เป็นภาระทางการเงินมากนัก แต่ก็จำต้องปล่อยให้การทุจริตมากหน้าหลายรูปแบบเกิดขึ้นรอบๆ ตัวของเขาได้ ในกรณีที่ใหญ่บ้างเล็กบ้าง เพราะว่าไม่เช่นนั้นทั้งองค์กร หรือชุมชนเล็กๆ ของเขาก็จะอยู่ไม่รอด

โลกของตำรวจที่ไม่ทุจริตเลยนั้นจึงเป็นเรื่องอุดมคติ แต่โลกความเป็นจริงที่ตำรวจดีก็ยังต้องปล่อยให้องค์กรขับเคลื่อนโดยการทุจริตก็จะดำเนินต่อไปได้

และอีกด้านหนึ่งการไม่ดูแลทรัพยากรในการปฏิบัติงานของตำรวจเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเงื่อนไขที่ชาวบ้านเองส่วนหนึ่งก็ไม่เชื่อมั่นในเรื่องของการไม่ทุจริตของตำรวจ แต่อีกด้านก็รู้สึกเห็นใจว่าตำรวจก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทุจริตไปได้ เพราะตำรวจจำนวนไม่น้อย หรือตำรวจในระดับล่างเองก็ต้องดิ้นรน และยอมสยบต่อการทุจริต ซึ่งส่วนหนึ่งของการทุจริตก็คือการยินยอมต่อผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า หรือยอมเป็นลูกมือ หรือเพิกเฉยต่ออำนาจ อิทธิพลในพื้นที่

เรื่องที่กล่าวมานี้ยังรวมไปถึงเรื่องการทุจริตที่เกี่ยวพันกับการโยกย้ายตำแหน่งในวงการตำรวจด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และในบางสังคมไม่ได้มองว่าการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจนั้นเป็นเรื่องเดียวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ

แต่กลับมองว่าการโยกย้ายตำรวจเป็นเรื่องของการให้รางวัลและการลงโทษ เท่านั้นเอง

หรือแบบในบ้านเราซึ่งก็ตีพิมพ์เรื่องของโผการแต่งตั้งโยกย้ายแล้วปล่อยให้การแต่งตั้งโยกย้ายนั้นผ่านไปเฉยๆ หรือแทบจะชื่นชมยินดีด้วยซ้ำว่าใครได้ไปกินตำแหน่งไหน ทั้งที่ควรจะต้องตรวจสอบทบทวนว่าการแต่งตั้งโยกย้ายตำหนวดทั้งหมด ไม่ว่าจะตั๋วในระดับไหนมันคือการทุจริตในวงการตำรวจทั้งหมดนั่นแหละ และทุกตั๋วมันคือการสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างอำนาจนอกวงการตำหนวดกับอำนาจในวงการตำหนวดเอง

แล้วสื่อก็แค่เว้นพื้นที่บรรยายว่าใครเป็นเด็กใคร ใครมาจากซุ้มใคร และใครมาจากซุ้มใคร ดังนั้น ไม่ว่าจะอ้างร้อยแปดว่า ก.ตร.นั้นแต่งตั้งมาจากไหนบ้าง ก.ตร.เองก็อธิบายไม่ได้หรอกว่าใครเหมาะสมจะไปอยู่ในตำแหน่งไหนได้

อย่างในกรณีของปากีสถานงานวิจัยพบว่านักการเมืองมีอิทธิพลในพื้นที่มากกว่าตำรวจ และสามารถแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจได้ โดยเฉพาะตำรวจในพื้นที่ แต่การมีอำนาจเหนือตำรวจของนักการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่มีเงื่อนไขมาจากการที่ตำรวจในพื้นที่นั้นอยู่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยากจน การปฏิบัติการก็ขาดทรัพยากร จึงจำต้องยินยอมอยู่ในเงื่อนไขระบบอุปถัมภ์ และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยการปกป้องผลประโยชน์และป้องกันการต่อต้านนักการเมืองในพื้นที่เหล่านั้นเป็นการแลกเปลี่ยน

ที่สำคัญระบบอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น (และชาติ) เป็นเงื่อนไขสำคัญที่หล่อเลี้ยงระบบความขัดสนทางเศรษฐกิจและระบบการกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เท่าเทียม คือทำให้ทุกอย่างมันอยู่เป็นที่เป็นทาง เพราะถ้าทุกอย่างมันโปร่งใสเท่าเทียม อำนาจและโครงสร้างวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงอำนาจแบบเดิมมันอยู่ไม่ได้ ดังนั้น แม้ว่าเราจะมองว่าประเทศยากจนและไม่พัฒนาจะยากจน แต่เศรษฐกิจที่แท้จริงก็ขับเคลื่อนนอกกรอบกฎหมาย แต่ไม่ได้ออกนอกโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมเหล่านั้น มีแต่ระบบอุปถัมภ์แบบที่เป็นอยู่และมีตำรวจอยู่ในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเช่นนี้แหละที่ทำให้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในแบบเดิมมันดำเนินต่อไปได้

ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่เชื่อกันว่าจะส่งผลสำคัญต่อการปฏิรูปตำรวจและการไม่ทุจริตคือการที่ชนชั้นนำทางการเมืองต้องการจะปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง เหมือนสิงคโปร์กับฮ่องกง

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ความมุ่งมั่นทางการเมืองของชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่พัฒนาแล้วเหลื่อมล้ำสูงอย่างบ้านเรานั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าเราไม่กดดันและเรียกร้องให้ชนชั้นนำเหล่านั้นยอมปฏิรูปตำหนวด เพราะอย่าลืมว่าในบ้านเมืองเรานั้นไม่มีชนชั้นนำในอำนาจคนไหนไม่อยากมีตำหนวดไว้ใช้งาน และคอยคุ้มครองสร้างความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้พวกเขา

การปฏิรูปกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปรับเปลี่ยนนโยบายใดๆ ในบ้านเมืองนี้มันพอจะทำได้เพราะมันเป็นเรื่องการต่อรองกันในระดับหนึ่ง

แต่การปฏิรูปตำหนวดในประเทศนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้หรอก ตราบใดที่โครงสร้างความเชื่อมประสานทางผลประโยชน์ของตำรวจกับชนชั้นนำทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของประเทศนี้มันเป็นเช่นนี้

เราจึงได้แต่เสพความบันเทิงของข่าวทุจริตในวงการตำรวจ ด้วยความเห็นอกเห็นใจและขำๆ ลุ้นๆ กันไปทีละรายสองราย เหมือนที่เป็นอยู่นั่นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image