สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ย่านมลายู คลองตะเคียนเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้ๆ เกาะเรียน พระนครศรีอยุธยา

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหารุนแรงสั่งสมมานานมากนับร้อยปี เริ่มอย่างน้อยตั้งแต่แผ่นดิน ร.5 ปฏิรูปการปกครอง สืบเนื่องการเมืองสมัยใหม่จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีไปตรวจราชการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส ระหว่าง 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 ก็น่าจะทำความเข้าใจพื้นฐานที่จำเป็น

เหตุสำคัญ “เรื่องหนึ่ง” ที่แก้ไขความรุนแรงให้ลดลงหรือหมดไปไม่ได้ คือ ประวัติศาสตร์เชื้อชาติ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก ที่หลงงมงายเรื่อง “เชื้อชาติไทย” สายเลือดบริสุทธิ์ที่ไม่มีจริง

ประวัติศาสตร์ไทย (กระแสหลัก) ถูกสร้างใหม่เพื่อการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” เหนือคนอื่น ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์บาดหมางที่ถูกใช้ในกองทัพเพื่อความมั่นคงและมั่งคั่ง (ของผู้มีอำนาจ) ด้วยการเหยียดคนอื่น มีสาระสำคัญดังนี้

Advertisement

(1.) คาบสมุทรมลายูเป็นดินแดนไทยสมัยโบราณ โดยอ้างจารึกพ่อขุนรามคำแหง ว่ารัฐสุโขทัยมีอำนาจเหนือดินแดนมลายู ซึ่งต้องทบทวนใหม่ตามหลักฐานวิชาการดังต่อไปนี้

(ก.) จารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นวรรณกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นใช้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์รัฐสุโขทัยไม่ได้

หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี ยืนยันตรงกันหมดว่ารัฐสุโขทัยมีดินแดนด้านทิศใต้ถึงเมืองพระบาง (คือ จ. นครสวรรค์) ไม่ต่ำลงไปกว่านั้น

Advertisement

ใต้เมืองพระบางเป็นดินแดนของ 2 รัฐซึ่งใหญ่กว่ารัฐสุโขทัย ได้แก่ รัฐสุพรรณภูมิ-เพชรบุรี (ทางตะวันตก) กับรัฐละโว้-อโยธยา (ทางตะวันออก)

(ข.) คาบสมุทรมลายูเป็นดินแดนดั้งเดิมของคนหลายชาติพันธุ์พูดภาษามลายู หรือชวา-มลายู เมื่อหลายพันปีมาแล้ว (ก่อนมีคนไทย)

ส่วนภาษาไทย (ตระกูลไท-ไต หรือ ไท-กะได) แผ่จากอโยธยา-สุพรรณภูมิลงไปคาบสมุทรมลายูที่เมืองนครศรีธรรมราช ราวหลัง 900 ปีที่แล้ว หรือ พ.ศ. 1600-1700

(2.) ปัตตานีเป็นของไทย ส่วนมลายูมาอาศัยทีหลัง

แท้จริงแล้วรัฐปัตตานี (ร่วมสมัยรัฐทวารวดี) แต่เดิมนับถือฮินดู-พุทธ มีศูนย์กลางอยู่ จ. ปัตตานี และเป็นส่วนสำคัญของ “ศรีวิชัย” มีดินแดนบริเวณคาบสมุทรมลายูฝั่งอ่าวไทย ราว 1,500 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ. 1000

ปัตตานีเป็นรัฐร่วมสมัยรัฐทวารวดีของภาคกลาง (ที่ศูนย์กลางอยู่เมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์-เมืองละโว้ จ. ลพบุรี)

ส่วนชาวมลายูเป็นประชากรดั้งเดิมของหมู่เกาะและภาคพื้นทวีปในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะรอบอ่าวไทย และตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ก่อนมีคนไทย)

(3.) มลายูถูกกวาดต้อนไปอยู่อยุธยา

มลายูมุสลิมรับราชการเป็นขุนนางควบคุมดูแลการค้าทางทะเลในราชสำนักอโยธยา-อยุธยา

มลายูปัตตานีเปลี่ยนจากฮินดู-พุทธไปนับถืออิสลาม ซึ่งเทียบได้ช่วงเวลาเดียวกับอยุธยาตอนต้น

สมัยอยุธยา มลายูมุสลิมควบคุมดูแลการค้าให้ราชสำนัก มีบรรดาศักดิ์เป็น “จุฬาราชมนตรี” เจ้ากรมท่าขวา ควบคุมดูแลการค้าทางทะเลอันดามันติดต่อการค้ากับประเทศทางตะวันตกและตะวันออกกลาง สร้างความมั่งคั่งมหาศาลให้กรุงศรีอยุธยา

นอกจากนั้นมลายู-จาม (อยู่เวียดนาม) ใกล้ชิดอย่างยิ่ง (ระดับเครือญาติ) กับราชสำนักอยุธยา ถึงขนาดมีกองทัพ “อาสาจาม” ดูแลความมั่นคงทางทะลให้อยุธยา

ราชสำนักอยุธยายกย่องวัฒนธรรมมลายู ดังพบหลักฐานสำคัญได้แก่ เครื่องประโคมในพระราชพิธี เรียก ปี่ชวา-กลองแขก (มลายู) ซึ่งรับจากราชสำนักรัฐปัตตานีและรัฐชวา (เกาะชวา อินโดนีเซีย) แล้วยังมีสืบเนื่อถึงปัจจุบัน

ปี่ชวา-กลองแขก (มลายู) รู้จักทั่วไปในการละเล่นกระบี่กระบองและมวยไทย รวมทั้งในงานศพผู้มีฐานะต้องมีเป่าปี่ตีกลอง เรียก “ทำบัวลอย” ประโคมตอนเผาศพ

“เขาเป็นคนมลายู” แต่เราหลอกว่า “เขาเป็นคนไทย”

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดปัญหารุนแรงที่ปัตตานี มีบทความในมติชนรายวัน จะยกข้อความบางตอนมาดังนี้

“การแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ คิดอย่างไรก็ไม่ออก เพราะเราหลอกเขาว่าเขาเป็นคนไทย ซึ่งที่จริงเขาเป็นคนมลายู ตัวที่เป็นปัญหาก็คือ การหลอกว่าตัวเขาเองเป็นคนไทย” เป็นตอนหนึ่งในคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 หลังเหตุการณ์ประท้วงที่จังหวัดปัตตานี ที่ยืดเยื้อเป็นแรมเดือนตั้งแต่ปลายปี 2518 ถึงต้นปี 2519)

อ. รัตติยา สาและ (แห่งมหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา) คัดข้อความนี้พิมพ์ไว้ในหนังสือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกฯ (สกว. พิมพ์เป็นเล่มเมื่อ พ.ศ. 2544) แล้วมีข้อความต่อไปอีกว่า

“อย่าบังคับให้เขาเป็นคนไทย—ส่งเสริมให้เขาเป็นตัวของเขา รักษาเอกลักษณ์ (Identity) ชนมลายูไว้ แต่ไม่ใช่ให้สิทธิเหนือคนที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดนี้—ที่เราดำเนินงานผ่านมาเริ่มต้นก็ผิดแล้ว คือบอกว่า ‘แขกเป็นไทย’ การให้เขาพูดภาษาไทยจึงยากมาก”

กรณีบังคับให้ “แขกเป็นไทย” ก่อให้เกิดปัญหาบาดหมางลึกๆ ทางสังคมและวัฒนธรรมสืบเนื่องยาวนานนับศตวรรษ ดังที่ อ.รัตติยา สาและ กรุณาอธิบายอย่างละเอียดอ่อนไว้ในงานวิจัยชิ้นเยี่ยม จะสรุปมาดังนี้

ประเทศไทย (รัฐบาลกลาง) ใช้อำนาจปกครองจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 ขณะที่ยังเป็นประเทศสยามและสามจังหวัดดังกล่าวอยู่ในฐานะเป็น “บริเวณเจ็ดหัวเมือง” ซึ่งไม่มีทายาทเจ้าเมืองมลายูมุสลิมเป็นเจ้าเมือง (ราฌา) อีกต่อไป ผู้คนที่นี่จึงต้องเป็น “คนสยามเชื้อสายมลายู” โดยปริยาย

เมื่อประเทศสยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย คนสยามกลุ่มนี้ถูกกำหนดให้เป็นคนไทยเต็มตัว คือเป็นคนสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย นับถือศาสนาอิสลาม และเรียกสั้นๆ ว่า “ไทยมุสลิม” ในขณะที่เจ้าของนามเรียกตนเองว่า “ออแฤ มลายู” (ออแฤ มลายู = คนมลายู) ซึ่งหมายถึงเป็นผู้สืบเชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ใช้วิถีชีวิตอย่างมลายูอิสลาม และปฏิเสธความเป็น “คนสยาม” (ออแฤ สีแย) หรือ “คนไทย” ตามที่เข้าใจว่าเป็นคน “ที่นับถือศาสนาพุทธ” คนเหล่านี้เคยรังเกียจ “ภาษาไทย” เพราะถือว่าเป็นภาษาแห่งพุทธศาสนา จึงไม่นิยมเรียนภาษาไทย เพราะกลัวจะกลายเป็นคนพุทธ

ความเข้าใจว่า “สยาม” หรือ “ไทย” หมายถึง “พุทธศาสนา” ยังผูกขาดอยู่ในความคิดของคนรุ่นเก่า (แก่) อีกหลายคนที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การให้ความหมายคำว่า “ไทย” หรือ “สยาม” และ “มลายู” ต่างกันนี้ ถือได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนทั้งสองฝ่าย (ไทยพุทธ และมุสลิมไทย) ผิดใจกัน และเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง (ไทยพุทธ) บางฝ่าย ในการที่จะเปลี่ยนแปลงให้คนมุสลิมเป็น “คนไทย” ตามความหมายของรัฐบาลไทยในอดีตได้

รัฐบาลไทยเริ่มเรียกมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเป็น “คนไทย” อย่างจริงจังเมื่อสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทันทีที่เรียกเขาว่าเป็น “คนไทย” รัฐบาลไทยก็เริ่มนโยบาย “ผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม” เพื่อให้มุสลิมเหล่านั้นได้เป็นคนไทยดั่งที่ต้องการ เช่น ยกเลิกการศึกษาภาษามลายูในโรงเรียนประถม ห้ามหนังสือมลายูเข้ามาในประเทศไทย ฯลฯ

“เขาเป็นคนมลายู” แต่เราหลอกว่า “เขาเป็นคนไทย” แล้วเบียดเบียนบังคับเขาอย่างนั้นสมควรแล้วหรือ?

(สยามประเทศไทย  มติชนฉบับวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2547)

ประวัติศาสตร์ดินแดน

ทางแก้ไขอย่างหนึ่งเพื่อลดปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ “ปลดล็อค” ประวัติศาสตร์ไทย จากประวัติศาสตร์เชื้อชาติเป็นประวัติศาสตร์ดินแดนประเทศไทย ที่ประอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทย, ลาว, มอญ, เขมร, มลายู, จีน, จาม, พราหมณ์, กุลา ฯลฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image