ข้อคิดเห็นประกอบการชี้แจงของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ข้อคิดเห็นประกอบการชี้แจงของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ข้อคิดเห็นประกอบการชี้แจงของเจ้าหน้าที่รัฐ
ต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ด้วยผู้เขียนในระหว่างรับราชการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนกรมพระธรรมนูญและผู้แทนกระทรวงกลาโหมไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และต่อมาได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เห็นควรรวบรวมข้อคิดเห็นเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้บังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐในการพิจารณาแต่งตั้งผู้แทนหน่วยไปชี้แจง ตลอดจนเป็นข้อคิดเห็นสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้แทนหน่วยไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บังคับบัญชา หน่วย ผู้ชี้แจง และเป็นการให้ความร่วมมือกับการทำงานของคณะกรรมาธิการซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ สรุปได้ ดังนี้

1.ทำความเข้าใจประเด็นที่ต้องชี้แจงและเตรียมการเป็นอย่างดี การไปชี้แจงควรมีการจัดเตรียมข้อมูลให้สมบูรณ์ครบถ้วนมากที่สุด แล้วแบ่งเป็นข้อมูลสำหรับชี้แจงเบื้องต้นกับเป็นข้อมูลสำหรับการถูกซักถามหลังชี้แจง โดยศึกษาประเด็นที่จะต้องชี้แจงจากหนังสือที่ขอให้ไปชี้แจงให้เข้าใจเป็นอย่างดี และก่อนไปชี้แจงอาจสอบถามเพิ่มเติมจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการ รวมทั้งควรศึกษาและเตรียมการล่วงหน้าสำหรับคำถามอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องที่คณะกรรมาธิการอาจถาม ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปชี้แจงอาจไม่ได้เป็นผู้ที่รู้เรื่องชี้แจงในทุกประเด็นหรือทุกมิติ ควรสอบถามจากผู้ที่ทราบเรื่องดีก่อนไปชี้แจงหรือขอให้ผู้ที่ทราบเรื่องดีร่วมคณะไปชี้แจงด้วย ผลจากการเตรียมการไม่ดีอาจทำให้ต้องไปชี้แจงใหม่หลายครั้ง ส่งผลกระทบต่อเวลาในการปฏิบัติราชการสำคัญอื่น เคยมีตัวอย่างผู้ชี้แจงถูกประธานกรรมาธิการเชิญออกจากที่ประชุม เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ที่ทราบเรื่องดีและไม่สามารถชี้แจงหรือตอบคำถามได้เลย ข้อสังเกต กรณีเรื่องที่คณะกรรมาธิการขอให้ชี้แจงเป็นเรื่องสำคัญและมีปัญหารวมทั้งหน่วยงานชี้แจงอาจต้องรับผิดชอบเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่สุ่มเสี่ยงไม่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หัวหน้าหน่วยที่ถูกเชิญส่วนใหญ่มักไม่มาชี้แจงเองโดยจะมอบหมายให้ระดับรองลงมามาชี้แจง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่อาจชี้แจงหรือตอบคำถามได้ตรงประเด็น สร้างความอึดอัดให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาที่มาชี้แจงและตอบคำถาม

2.การชี้แจงของผู้แทนหน่วยผูกพันหน่วย ผู้ชี้แจงพึงตระหนักว่าทุกคำพูดและเอกสารที่มอบให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการมีผลผูกพันหน่วย ดังนั้น การจะตอบคำถามนั้นหากเป็นประเด็นสำคัญจำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบก่อนจะตอบ ตัวอย่างที่น่าสนใจ ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….. สภาผู้แทนราษฎร ผู้เขียนซึ่งเป็นกรรมาธิการได้สอบถามผู้แทนหน่วยงานใหญ่ของประเทศในการบังคับใช้กฎหมายว่า หน่วยงานทั่วประเทศพร้อมปฏิบัติงานตามกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือบันทึกภาพและเสียงในการจับกุมหรือควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพียงใด ในใจคิดว่าจะได้คำตอบว่า ยังไม่พร้อมเพราะจะต้องใช้เวลาในการจัดซื้อและงบประมาณยังไม่ได้ตั้งไว้ในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวให้หน่วยงานตนเองทั้งประเทศ แต่ปรากฏว่า ผู้แทนหน่วยงานดังกล่าวตอบว่าพร้อมเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ คณะกรรมาธิการก็ยังไม่แน่ใจในคำตอบของผู้แทนหน่วย คณะอนุกรรมาธิการของคณะกรรมาธิการข้างต้นได้เชิญหัวหน้าหน่วยมาสอบถามอีกครั้งถึงความพร้อมในการปฏิบัติ หัวหน้าหน่วยได้มอบหมายรองหัวหน้าหน่วยมาชี้แจงและตอบคำถาม ซึ่งได้ตอบว่าพร้อมปฏิบัติเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่ผลสุดท้ายเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับหน่วยงานดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติได้เพราะไม่อาจจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวได้ทันและเพียงพอ ส่งผลให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องตราพระราชกำหนดขยายเวลาการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในสาระสำคัญ ดังนั้น หากเป็นคำถามที่สำคัญมากเฉพาะหน้าที่ไม่อาจตัดสินใจได้ ก็ควรตอบว่าไม่อาจให้คำตอบได้ในเรื่องนี้ขอให้คณะกรรมาธิการมีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยแล้วให้หน่วยตอบมาเป็นหนังสือจะชัดเจนและครบถ้วนมากกว่า ประการสำคัญผู้ชี้แจงก่อนมาชี้แจงควรปรึกษาหารือผู้บังคับบัญชาถึงขอบเขตการชี้แจงหรือตอบคำถามว่าสามารถกระทำได้เพียงใดด้วย

Advertisement

3.การไม่ควรอ่านเอกสารให้คณะกรรมาธิการฟัง การไปชี้แจงนั้นผู้ชี้แจงไม่ควรไปอ่านจากเอกสารให้คณะกรรมาธิการฟัง เพราะการไปอ่านให้ฟังจะทำให้คณะกรรมาธิการเห็นว่า ไม่ได้เป็นผู้ที่ทราบเรื่องดี และเป็นการชี้แจงที่ไม่น่าสนใจ ผู้ชี้แจงอาจมีกระดาษเขียนประเด็นสำคัญหรือทำ outline แล้วอาจเหลือบมองกระดาษเป็นครั้งคราว แต่มิใช่ไปอ่านทุกคำจากกระดาษหรือโพยทุกแผ่น

4.ชี้แจงเฉพาะประเด็นที่คณะกรรมาธิการต้องการทราบ เริ่มต้นชี้แจงเฉพาะประเด็นที่คณะกรรมาธิการต้องการทราบแบบกระชับเฉพาะจุด มิใช่เป็นการบรรยายสรุปให้ทราบหลายเรื่องหรือเรื่องที่กว้างทั่วไปเช่นการบรรยายสรุปที่มีการมาตรวจเยี่ยมหน่วยของผู้บังคับบัญชา

5.หลีกเลี่ยงการกล่าวให้ความเห็นส่วนตัว การไปชี้แจงนั้นหากไปในนามหน่วยงานมิใช่ได้รับเชิญไปชี้แจงในนามส่วนตัว ควรหลีกเลี่ยงการชี้แจงหรือให้ความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่า “เรื่องนี้ผม/ดิฉันมีความเห็นส่วนตัวว่า…….” เพราะคณะกรรมาธิการประสงค์อยากรับฟังความเห็นของหน่วยงานมิใช่ความเห็นส่วนตัว

Advertisement

6.ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารลับของทางราชการ ในการชี้แจงควรระมัดระวังถึงเอกสารหรือข้อมูลที่เป็นความลับของทางราชการว่า คณะกรรมาธิการสามารถเข้าถึงชั้นความลับของทางราชการได้มากน้อย เพียงใด ระดับใด ซึ่งในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการนั้นมิใช่จะมีแต่คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิกเท่านั้น แต่จะมีที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ จำนวนมากมายที่แต่งตั้งมาจากข้าราชการประจำ ข้าราชการเกษียณ นักวิชาการ นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม NGO และประชาชน ประการสำคัญ อาจมีผู้ร้องเรียนซึ่งถือว่าเป็นคู่กรณีกับหน่วยงานของรัฐอยู่ในการประชุมของคณะกรรมาธิการด้วย ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของทางราชการจะต้องระมัดระวังมากกว่าการประชุมที่ไม่มีคู่กรณีของรัฐอยู่ด้วย

7.ถ้อยคำชี้แจงถูกบันทึกเป็นเอกสารราชการและอาจเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ ในการประชุมคณะกรรมาธิการทุกครั้งทุกคณะนอกจากจะมีการจัดทำบันทึกรายงานการประชุมและมีการรับรอง ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารราชการที่สำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติแล้วยังมีการบันทึกการประชุมโดยละเอียดทุกคำพูดโดยชวเลข กล่าวได้ว่านอกจากเป็นข้อมูลราชการแล้วยังอาจเป็นข้อมูลหรือเอกสารประวัติศาสตร์ในเรื่องสำคัญในอนาคตด้วย รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับร่างกฎหมายอาจเป็นส่วนหนึ่งในการนำมาประกอบการพิจารณาตีความหาวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย อนึ่ง ผู้ชี้แจงควรอำนวยความสะดวกให้กับชวเลขโดยทุกครั้งที่กดไมโครโฟนชี้แจงหรือตอบคำถามควรแจ้งชื่อและตำแหน่งทุกครั้งตลอดไป แม้แต่กรรมาธิการเองทุกครั้งที่กดไมโครโฟนพูดก็จะแจ้งชื่อและตำแหน่งกรรมาธิการทุกครั้ง เพื่อสะดวกสำหรับเจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกรายงานการประชุมและชวเลข

8.บรรยากาศการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรอาจแตกต่างจากการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการของวุฒิสภานั้นอาจมีบรรยากาศแตกต่างกัน ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรคณะกรรมาธิการประกอบมาจากทุกพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ทิศทางการประชุมอาจจะไม่เป็นในแนวทางเดียวกันกับคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ประการสำคัญหนึ่ง คือ ผู้ชี้แจงควรต้องเข้าใจเป็นอย่างดีว่าคณะกรรมาธิการไม่ได้มีวัตถุประสงค์มาจับผิด แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อคลี่คลายปัญหาที่มีการร้องเรียนโดยประชาชน ตลอดจนเพื่อให้ความจริงหรือความชัดเจนปรากฏ ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หากหน่วยงานปฏิบัติงานภายใต้หลักนิติธรรม กล่าวคือ มีกฎหมายรองรับ ก็สามารถชี้แจงหรือตอบคำถามได้ทุกประการ

9.จัดทำแนวทางการชี้แจงและการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม ผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาที่เรียกว่า ปคร.ของแต่ละกระทรวงควรพิจารณาจัดทำแนวทางการชี้แจงของผู้แทนหน่วยงานของรัฐต่อคณะกรรมาธิการขึ้น ตลอดจนพิจารณาจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมให้ความรู้ผู้แทนหน่วยที่จะไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ โดยอาจเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ในการชี้แจงและตอบคำถามคณะกรรมาธิการทั้งในกระทรวงและนอกกระทรวงรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐสภามาร่วมในการจัดทำแนวทางและหลักสูตรตลอดจนเป็นวิทยากร แสดงให้เห็นว่ากระทรวงที่มีการดำเนินการข้างต้นให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือกับรัฐสภาเป็นอย่างดี

สรุป การพิจารณาแต่งตั้งหรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ มีผลต่อการบริหารราชการแผ่นดินและประชาชน ส่งผลต่อภาพพจน์และภาพลักษณ์ขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ที่จะไปชี้แจงจะต้องมีบุคลิกและทักษะตลอดจนปฏิภาณไหวพริบในการชี้แจงและตอบคำถาม รวมทั้งการเตรียมการที่ดี

พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์
ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย
ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image