ผู้เขียน | สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ |
---|
รากฐานการศึกษาของสิงคโปร์ (จบ) มัธยมศึกษา
ได้กล่าวในตอนแรกแล้วว่าระบบการศึกษาของสิงคโปร์ประกอบด้วย (ก) การศึกษาพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ 1) การศึกษาก่อนเข้าโรงเรียน 2) ประถมศึกษา 3) มัธยมศึกษาตอนต้น 4) มัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษาและเทคนิค (ข) อุดมศึกษา และ (ค) การศึกษาพิเศษ โดยการศึกษาขั้นประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับ วันนี้จะกล่าวต่อถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาของสิงคโปร์อีกส่วนหนึ่ง คือมัธยมศึกษา
ในสิงคโปร์ เมื่อนักเรียนเรียนจบชั้นประถมศึกษาโดยสอบไล่ประถม 6 แล้ว จะไม่ได้เลื่อนชั้นไปเรียนมัธยมศึกษาโดยอัตโนมัติ แต่จะต้องสอบเข้าเรียนมัธยมศึกษาอีกครั้งโดยการสอบที่เรียกว่า Primary School Leaving Examination : PSLE ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันทั้งประเทศเพื่อขึ้นชั้นมัธยมในสายที่ต้องการ PSLE เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2503 เพื่อแทนการสอบเข้าเรียนมัธยมศึกษา (Secondary School Entrance Examination : SSEE) ซึ่งเคยใช้มาตั้งแต่ปี 2549 คะแนน PSLE จะตัดสินว่านักเรียนจะได้เลือกเรียนชั้นมัธยมที่ไหนและสาย (หลักสูตร) ไหน อย่างไรก็ตาม นอกจากผล PSLE แล้ว ผู้ปกครองและนักเรียนสามารถขอเปลี่ยนสายได้ถ้าแสดงให้เห็นว่าสามารถเร่งการเรียนหรือต้องการความช่วยเหลือ
มัธยมศึกษา
มัธยมศึกษาไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ (TIMSS 2019; MOE 2021) แต่ร้อยละ 99 ของนักเรียนจาก ป.1 เรียนจนจบมัธยมศึกษา วิธีการเข้าเรียนต่อมัธยมศึกษาในสิงคโปร์ซึ่งต้องสอบ PSLE มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเพื่อแก้ปัญหานักเรียนทิ้งการเรียนกลางคัน (drop out) และพัฒนาการเรียนการสอน โดยเฉพาะการใช้ระบบการแยกสายนักเรียน (Streaming) ซึ่งจะขอกล่าวถึงเฉพาะการปรับที่สำคัญๆ
การแยกสายสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเริ่มเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้วตั้งแต่ปี 2524 เพื่อแก้ปัญหานักเรียนทิ้งการเรียนกลางคันซึ่งมีอัตราสูงถึงร้อยละ 30-40 ในสมัยนั้นให้เหลือเพียงร้อยละ 1 ในปัจจุบัน โดยกระทรวงศึกษาธิการเชื่อว่าการแยกสายเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แยกเรียนตามระดับความสามารถของแต่ละคนทำให้นักเรียนที่เรียนอ่อนสามารถเรียนต่อไปได้
วิธีการคือนักเรียน ม.1 จะถูกแยกออกเป็น 3 สาย (ตามผลสอบ PSLE) โดยในตอนโน้น (2524) แยกเป็น (1) หลักสูตรพิเศษ (Special Course) (2) หลักสูตรเร่งด่วน (Express Course) และ (3) หลักสูตรปกติ หรือธรรมดา (Normal Course)
หลักสูตรพิเศษ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หลักสูตรตามแผนช่วยเหลือพิเศษ (Special Assistance Plan : SAP) จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2522 เพื่อดูแลส่งเสริมนักเรียนที่เรียนเก่งกว่าคนอื่นทั้งภาษาแม่และภาษาอังกฤษ นักเรียนสายนี้จะได้รับอนุญาตให้เรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนระดับสูงและการเข้าถึงวัฒนธรรมและค่านิยมจีน หลักสูตรนี้มีสอนในโรงเรียนที่ได้รับการยอมรับด้านวัฒนธรรมและค่านิยมจีนและความสามารถทางวิชาการ โรงเรียนเหล่านี้เรียกว่า Special Assistance Plan (SAP) School ซึ่งนอกจากการคัดเด็กเก่งเข้าเรียนแล้ว (ได้คะแนน PSLE ในกลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์แรก และได้ A วิชาภาษาแม่และภาษาอังกฤษ) คุณภาพการเรียนการสอน ตลอดจนชั้นเรียนและอุปกรณ์การสอนที่ทันสมัยก็ดีกว่าโรงเรียนอื่น และเนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้จะสอนเฉพาะภาษาจีนแมนดารินเป็นภาษาแม่ บางคนจึงเรียกโรงเรียน SAP ว่าโรงเรียนจีน ปัจจุบัน (2567) ระดับมัธยมมี 11 โรงเรียน นักเรียนหลักสูตรนี้สามารถเข้าสอบ GCE O-Level (Singapore-Cambridge General Certificate of Education Ordinary Level examination คือการสอบระดับประเทศของสิงคโปร์เพื่อประเมินผลการศึกษาของนักเรียนที่จบมัธยมศึกษา) ได้ในเวลา 4 ปี
หลักสูตรเร่งด่วน เป็นหลักสูตรมัธยมศึกษาเพื่อเข้าสอบ GCE O-Level ได้ในเวลา 4 ปีเช่นเดียวกับหลักสูตรพิเศษ แต่ต่างกันตรงที่นักเรียนสายพิเศษจะเรียนภาษาอังกฤษและภาษาแม่เป็นภาษาที่หนึ่ง (first-language level) ขณะที่นักเรียนสายเร่งด่วนจะเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่งแต่เรียนภาษาแม่เป็นภาษาที่สอง ทั้งนี้นักเรียนสามารถเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น หรือสเปน เพิ่มหรือแทนภาษาแม่ได้ นักเรียนที่จะเข้าสู่สายเร่งด่วนเป็นผู้ที่ได้คะแนน PSLE อยู่ในกลุ่ม 40 เปอร์เซ็นต์รองจากกลุ่มท็อป 10 เปอร์เซ็นต์
ในปี 2538 มีการรวมหลักสูตรพิเศษกับหลักสูตรเร่งด่วนเป็นหลักสูตรเดียวกันใช้ระเบียบเดียวกันเนื่องจากนักเรียนหลักสูตรเร่งด่วนได้รับอนุญาตให้เรียนวิชาภาษาแม่ระดับสูงได้
หลักสูตรปกติ นักเรียนที่สอบ PSLE ได้คะแนนต่ำอยู่ในกลุ่ม 40 เปอร์เซ็นต์ที่รองลงมาจะถูกแยกสายไปเรียนสายปกติ หลักสูตรปกติจะใช้เวลา 4 ปี เพื่อเตรียมนักเรียนที่เก่งน้อยให้พร้อมสอบ GCE O-Level โดยเมื่อจบ ม.4 ต้องสอบประกาศนียบัตรมัธยมศึกษา (Certificate of Secondary Education : CSE) ซึ่งต่อมาในปี 2527 เรียกว่าการสอบระดับปกติ (Normal Level) ถ้าผ่านจึงจะได้สิทธิสอบ GCE O-Level ในปีที่ 5 (ตอนจบ ม.5) (ระเบียบนี้ถูกแก้ไขเมื่อ 23 ปีต่อมาในปี 2547 โดยอนุญาตให้นักเรียนสายปกติสอบ O-Level ได้โดยไม่ต้องสอบไล่ ม.4 ก่อน)
ตั้งแต่ปี 2537 นักเรียนสายปกติถูกจับแยกออกเป็นหลักสูตรปกติ-วิชาการ และหลักสูตรปกติ-เทคนิค โดยหลักสูตรปกติ-เทคนิคจะรับนักเรียนที่ทำคะแนน PLSE ต่ำ ในกลุ่ม 15-20 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย (ก่อนหน้านี้ อาชีวศึกษาไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับเนื่องจากจะมีแต่เด็กที่เรียนไม่เก่งจึงถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เด็กจะเลือกเรียน แต่ต่อมารัฐบาลได้พยายามพัฒนาอาชีวศึกษาจนเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและนักเรียนว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและการมีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษา) วิชาที่ต้องเรียนในหลักสูตรปกติ-เทคนิค วิชาที่บังคับ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาแม่ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และสังคมศึกษา ในขณะที่ในหลักสูตรปกติ-วิชาการจะต้องเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาแม่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ (humanities : ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดีอังกฤษ) นอกจากนี้แล้วทั้ง 2 หลักสูตรยังมีวิชาเลือกอีกจำนวนหนึ่ง โดยนักเรียนสายเทคนิคจะเรียนหนักไปทางวิชาช่างเช่น การออกแบบและเทคโนโลยีและเมื่อเรียนจบ ม.4 ก็จะเข้าสอบหลักสูตรปกติ-เทคนิคเพื่อเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาเทคนิค (Institute of Technical Education : ITE)
ในปี 2545 นักเรียน ม.ปลาย หลักสูตรปกติ-วิชาการได้รับอนุญาตให้เข้าสอบวิชาระดับเร่งด่วน 1-2 วิชา และในปี 2549 นักเรียนหลักสูตรปกติ-เทคนิคก็ได้รับสิทธิเช่นเดียวกัน ซึ่งต่อมาปี 2552 นักเรียนทั้ง 2 หลักสูตรได้รับอนุญาตให้สอบวิชาระดับเร่งด่วนได้ 3 วิชา
ปี 2557 รัฐบาลหันมาใช้วิธีการจัดกลุ่มตามวิชาที่เรียน (Subject-based banding : SBB) โดยยกเลิกการแยกสายแบบเดิมตามผล PSLE และจะพิจารณาจากความสามารถหรือคะแนนการเรียนวิชาต่างๆ โดยนักเรียนสามารถเลือกเรียนวิชาที่มีคะแนนดีในชั้นสูงระดับมาตรฐาน (standard level) และแยกไปเลือกเรียนวิชาที่คะแนนไม่ดีในชั้นระดับพื้นฐาน (foundation level) เช่น ถ้านักเรียน ก. เรียนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาแม่ได้ดี แต่คะแนนไม่ดีในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ก็สามารถไปเรียนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาแม่ในชั้นมาตรฐาน แต่ไปเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในชั้นพื้นฐานเพื่อจะได้เรียนทันเพื่อน ในปีนี้ รัฐบาลได้ทดลอง SBB กับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.2 ในหลักสูตรปกติ-วิชาการและหลักสูตรปกติ-เทคนิค ในโรงเรียนมัธยม 12 แห่ง และปี 2561 ได้ขยาย SBB ไปทุกโรงเรียนมัธยมกับนักเรียน ชั้น ม.1 และขยายไปจนครบทุกชั้นในปี 2566
ขณะเดียวกัน ในปี 2564 ก็มีปรับวิธีการคัดนักเรียนเรียนต่อมัธยมศึกษาใหม่อีก โดยดูคะแนนเป็นรายวิชา ไม่ใช่จากคะแนนรวมจาก PSLE โดยแปลงคะแนนเป็นกลุ่มระดับความสำเร็จ (Achievement Level tiers)
และตั้งแต่ปี 2567 นี้เป็นต้นไป สิงคโปร์จะยกเลิกการแยกนักเรียนออกเป็นหลักสูตรหรือสายต่างๆ นักเรียน ม.1 จะสามารถเรียนวิชาทั่วไป (G=General) ได้ 3 ระดับ คือ G1, G2, และ G3 โดยรัฐบาลจะยกเลิกหลักสูตรเร่งด่วน ปกติ-วิชาการ และปกติ-เทคนิค เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีการจัดระดับอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยลดปัญหาปมด้อยของเด็กที่เรียนไม่เก่ง ระบบใหม่นี้เรียกว่า Full Subject-Based Banding (Full SBB) ซึ่งรัฐบาลได้ทดลองกับโรงเรียนมัธยม 28 แห่งในปี 2563 และค่อยๆ เพิ่มจำนวนจนครบ 120 โรง
ตามหลักสูตรใหม่ล่าสุดนี้ นักเรียนชั้นมัธยมสามารถจะเลือกเรียนวิชาต่างๆ ในชั้นเรียนต่างๆ ใน 3 ระดับ (G1, G2 และ G3) ได้ตามอัธยาศัยโดยไม่ต้องแยกชั้นให้เกิดปมด้อยอีกต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2570 เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษานักเรียนทุกคนต้องสอบประกาศนียบัตร Singapore-Cambridge Secondary Education Certificate (SEC) ซึ่งนำเข้ามาแทนการสอบ GCE O-Level และ N-Level ของเดิมต่อไป
จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์โดยกระทรวงศึกษาธิการได้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้อย่างแข็งแรง จริงจังและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการติดตามนักเรียน การเรียนการสอนอย่างใกล้ชิด การยอมรับปัญหา พร้อมที่จะแก้ไข และกล้าเปลี่ยน เจ้าหน้าที่ของกระทรวงก็เข้าไปดูแลโรงเรียนต่างๆ อย่าง “ถึงตัว” โดยเข้าพบเป็นประจำกับผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งร่วมหารือกับผู้สอนเกี่ยวกับหลักสูตรซึ่งในระยะหลังกระทรวงจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนมีอิสระในการปรับหลักสูตรให้เข้ากับพื้นฐานและความต้องการของเด็กนักเรียนมากขึ้นรวมทั้งเปิดโอกาสให้โรงเรียนเพิ่มจุดขายที่จะดึงดูดนักเรียนได้ดีขึ้น ครูเองก็มีบทบาทสำคัญและเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่อง
ครับ เอามาแชร์พอเป็นตัวอย่างของการวางรากฐานการศึกษาที่แข็งแรงและมีพลวัตซึ่งอาจเป็นความสามารถเฉพาะตัวของสิงคโปร์
สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์