แนวรบด้านรัฐกะเหรี่ยงกับพลวัตชายแดนไทย-พม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

รัฐกะเหรี่ยง (Kayin หรือ Karen State) หรือ “กอทูเล” (Kawthoolei) เป็นพื้นที่ของคนกะเหรี่ยงหลายชนเผ่า และคนกลุ่มอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นรัฐในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าที่สำคัญที่สุดสำหรับไทย เนื่องจากเป็นเขตรอยต่อกับจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทยทั้งแม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี หากรัฐกะเหรี่ยงมีความสงบ การค้าชายแดนในสามจังหวัดฝั่งไทยก็จะเติบโต แต่เมื่อใดที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็ย่อมมีผลกับเศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า และยังส่งผลให้มีคลื่นมนุษย์จำนวนมากไหลเข้ามาในฝั่งไทย

รัฐประหารปี 2021 ทำให้พลวัตชายแดนระหว่างไทยกับพม่าทั้งในส่วนที่ติดกับรัฐกะเหรี่ยง และรัฐคะเรนนี ในบางอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในพม่าคงจะทราบดีว่ากองกำลังกะเหรี่ยงทำสงครามต่อต้านรัฐบาลพม่ามายาวนาน ตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชเมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว กองกำลังของกะเหรี่ยงก่อร่างสร้างตัวเองขึ้นมาเพื่อความฝันที่จะแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระในช่วงแรกๆ แต่ต่อมาก็ต่อสู้เพื่อจะได้มีอิสระปกครองรัฐและทรัพยากรของตนเอง

ในรัฐกะเหรี่ยง มีกองกำลังหลากหลายกลุ่ม แม้ประชากรในรัฐกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นชาวพุทธ ตามมาด้วยชาวคริสต์ และผู้ที่นับถือผี แต่เรามักจะได้ยินชื่อเสียงเรียงน้ำของกองกำลังกะเหรี่ยงคริสต์มากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะสังคมไทยคุ้นเคยกับชื่อของอดีตผู้นำ KNU หรือ Karen National Union อย่างนายพล โบ เมี๊ยะ เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน ปีกกองทัพของ KNU ที่มีชื่อว่า KNLA (Karen National Liberation Army) กลับประกอบด้วยชาวกะเหรี่ยงพุทธและที่นับถือผีเป็นส่วนใหญ่ จนกองกำลังฝั่งพุทธต้องแยกจาก KNU/KNLA ออกมาตั้ง DKBA (Democratic Karen Buddhist Army) ที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า

ท่าทีของกองกำลังกะเหรี่ยงตั้งแต่ในยุคที่พม่าเริ่มเข้าสู่การปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยในต้นทศวรรษ 2000 จนมาถึงรัฐบาลกึ่งพลเรือนภายใต้ประธานาธิบดี เตง เส่ง และรัฐบาล NLD ของด่อ ออง ซาน ซูจี ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ KNU กับรัฐบาลที่ย่างกุ้ง และเนปยีดอในเวลาต่อมา เรียกว่าค่อนข้างราบรื่น และให้ความสำคัญกับข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่ KNU ลงนามกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อีก 7 กลุ่ม ในปี 2015

Advertisement

สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังรัฐประหาร 2021 เมื่อกองทัพและรัฐบาล SAC ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารอย่างจริงจัง จนประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมขบวนการ CDM นัดหยุดงานประท้วง และ “หนีเข้าป่า” รวมกลุ่มกันเป็นกองกำลังฝ่ายประชาชน หรือ PDF ในกระบวนการนี้ กองกำลังประชาชน (ที่ส่วนใหญ่เป็นคนพม่าหรือบะหม่า) เข้าไปร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต่อต้านรัฐประหารเช่นกัน โดยเฉพาะกองกำลังของกะเหรี่ยง คะเรนนี ฉาน (บางส่วน) และอาระกัน กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จึงกลายเป็นโค้ชฝึกฝนให้ประชาชนที่หลบหนีมาใช้อาวุธและเข้าใจยุทธวิธีการรบ จนในที่สุดสามารถยึดพื้นที่เกินกว่าครึ่งของพม่าได้

อย่างไรก็ดี อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในพม่า ไม่ว่าจะเป็นยุคใดๆ คือความแตกแยกทางความคิดของบรรดาผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ หรือในกลุ่มต่อต้านรัฐประหารโดยรวม เฉพาะในกลุ่มของกะเหรี่ยง นอกจากจะมีความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงพุทธและกะเหรี่ยงคริสต์อยู่แล้ว ยังเป็นเรื่องเป้าหมาย และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น ผู้นำกะเหรี่ยงส่วนมากเห็นตรงกันว่าการสร้าง “สหพันธรัฐ” น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของพม่าและรัฐกะเหรี่ยง แต่ก็มีผู้นำบางส่วนที่ต้องการให้รัฐกะเหรี่ยงเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลกลางอย่างเด็ดขาด ยังมีข้อถกเถียงเรื่องที่มาของรายได้ของกองกำลังกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ บางกลุ่มเข้าไปมีส่วนพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย ที่เห็นชัดที่สุดคือที่ชเวโกกโกและเคเคปาร์คในฝั่งเมืองเมียวดี ซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไปจนถึงเป็นบ่อนกาสิโนขนาดใหญ่ เมื่อธุรกิจของจีนเทาถูกปราบปรามที่เล้าก์ก่ายในรัฐฉานตอนเหนือแล้ว กลุ่มจีนเทาก็จำต้องย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานและ “กลุ่มลูกค้า” ที่เอื้อให้ธุรกิจตนเองเติบโตอยู่แล้ว และเมียวดี เมืองเอกในรัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

เมืองกาสิโนทั้งสองแห่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Forces) หรือ BGF ฝ่ายกะเหรี่ยง ภายใต้การนำของพันเอก ชิต ธู ซึ่งก่อนหน้านี้สวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล SAC ที่เนปยีดอ และแน่นอนว่ารับทั้งเงิน เสบียง และสวัสดิการอื่นๆ จาก SAC แนวทางของชิต ธู นั้นไม่ลงรอยกับผู้นำกะเหรี่ยงกระแสหลักใน KNU และ KNLA แต่จุดเปลี่ยนของพลวัตภายในรัฐกะเหรี่ยง ที่แน่นอนว่าจะส่งแรงกระเพื่อมชุดใหญ่ให้ทั้งรัฐบาล SAC และไทย คือหลังปฏิบัติการ 1027 ในรัฐฉานเหนือ ที่กองกำลังสามกลุ่มในนาม “สามพี่น้องภราดรภาพ” ตีฐานที่มั่นของกองทัพพม่าได้หลายแห่ง จนกองกำลังฝั่งพม่าอ่อนแอลงตามลำดับ และมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “พม่ากำลังจะแตก” นั้น ชิต ธูเองก็ประเมินสถานการณ์แล้วว่า SAC มีแต่จะอ่อนแอลงตามลำดับ จึงชิงประกาศว่า BGF กะเหรี่ยงจะไม่รับคำสั่ง SAC อีกต่อไป

Advertisement

นี่เป็นประเด็นใหญ่ มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่าชิต ธูอาจจะไม่ได้มองว่า SAC อ่อนแอลงอย่างเดียว แต่ SAC กลับไปลงนามกับไทยและให้คำมั่นว่าจะร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเขตอิทธิพลของ BGF กะเหรี่ยง เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับชิต ธู ตามมาด้วยการถอนกองกำลังของ BGF กะเหรี่ยงจากแนวหน้าที่เขาส่งกำลังไปร่วมรบกับ SAC ด้วยความขัดแย้งภายในรัฐกะเหรี่ยงที่มีในทุกระดับ ผู้เขียนมองว่านี่เป็นพื้นที่ที่จะมีการรบอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพราะมีผลประโยชน์เป็นเม็ดเงินมหาศาล และยังเป็นพื้นที่กันชนระหว่างไทยกับพม่าขนาดใหญ่ หากใครช่วงชิงความเป็นใหญ่ใน “ฉนวนกะเหรี่ยง” (Karen Strip) นี้ได้ ก็ย่อมได้เปรียบ ในส่วนของไทยเอง เมื่อหลายสิบปีก่อน ไทยมีนโยบายเข้าหาผู้นำกะเหรี่ยงอย่างเปิดเผย แต่ความสัมพันธ์กับกะเหรี่ยงทุกกลุ่มในปัจจุบัน เป็นไปแบบ “ไม่เป็นทางการ” และมักเป็นการหารือของคณะทำงานในระดับชายแดน ไม่เคยเป็นมติใดๆ ของหน่วยงานความมั่นคงที่ส่วนกลาง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐไทยจะต้องกลับมาประเมินสถานการณ์ในส่วนของชายแดนไทย-พม่า ในเขตรัฐกะเหรี่ยง (พ่วงไปถึงเขตคะเรนนี ที่ก็จะเป็นสภาพการณ์อีกแบบหนึ่ง) อย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image