บทความ ลุ่มน้ำตาปี โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

แม่น้ำตาปีไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือ มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 13,454 ตาราง กม. ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย 8 ลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำตาปีตอนบน คลองจันดี คลองสินปุน คลองอิปัน แม่น้ำตาปีตอนล่าง คลองสก คลองพระแสง และคลองพุมดวงตอนล่าง พื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่เป็นที่สูง เพาะปลูกยางพารา ตำแหน่งและพื้นที่ลุ่มน้ำสาขา ดังแสดงในรูปที่ 1 มีเขื่อนรัชชประภา ซึ่งมีความจุ 5,686 ล้าน ลบ.ม. มีระดับเก็บกัก 95.00 ม.รทก. และมีความจุใช้งาน 4,287 ล้าน ลบ.ม. จากข้อมูลทางอุทกวิทยาเป็นเวลา 17 ปี ปริมาตรเก็บกักใช้งานมีประมาณ 1.66 เท่าของปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำพร้อมติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 80 เมกะวัตต์ รวม 3 เครื่อง ตั้งอยู่บนคลองพระแสง รูปตัดแสดงความลาดเทท้องน้ำของแม่น้ำตาปี คลองจันดี คลองสินปุน และคลองอิปัน ดังแสดงในรูปที่ 2 และรูปตัดแสดงความลาดเทท้องน้ำของคลองพุมดวง คลองสก และคลองพระแสง ดังแสดงในรูปที่ 3

 

รูปที่ 2 แสดงรูปตัดท้องน้ำของแม่น้ำตาปี คลองจันดี คลองสินปุน และคลองอิปัน
รูปที่ 2 แสดงรูปตัดท้องน้ำของแม่น้ำตาปี คลองจันดี คลองสินปุน และคลองอิปัน

 

รูปที่ 3 แสดงระดับท้องน้ำของคลองพุมดวง คลองสก และคลองพระแสง
รูปที่ 3 แสดงระดับท้องน้ำของคลองพุมดวง คลองสก และคลองพระแสง

 

Advertisement

รูปตัดคลองพุมดวงที่สถานีวัดน้ำ X.36 อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ความกว้างที่ปาก 150 ม. และที่ก้น 14 ม. ลึกจากตลิ่ง 14 ม. ส่วนแม่น้ำตาปีที่สถานีวัดน้ำ X.37A อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ความกว้างที่ปาก 100 ม. ก้นกว้าง 55 ม. และลึก 9 ม. ซึ่งอยู่เหนือจุดที่คลองพุมดวงไหลลง

จากรูปที่ 2 และ 3 จะเห็นว่าที่ต้นน้ำลำน้ำมีความลาดชันสูงมาก และลดระดับลงสู่ที่ราบอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นปริมาณน้ำในช่วงต้นน้ำจึงมีอัตราความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้เกิดอุทกภัยได้ง่ายในช่วงลอยต่อระหว่างทางน้ำที่มีความลาดชันสูงและทางน้ำที่มีความลาดชันต่ำ และอาจทำให้เกิดการตกตะกอนในลำน้ำและบนพื้นที่น้ำท่วม 2 ฝั่ง (Flood plain) บริเวณพื้นที่ดังกล่าวด้วย

อนึ่งการขุดลอกลำน้ำช่วงที่มีความลาดชันสูง อาจขุดลอกได้ยาก เพราะวัสดุท้องน้ำ (Bed material) มีขนาดโต และอาจทำให้เกิดการกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น ถ้าขุดแล้วไปพบวัสดุท้องน้ำ (Bed material) ที่มีขนาดเล็กลง และการเกาะยึดเหนี่ยวระหว่างเมล็ดดินมีน้อย ถ้ามีความจำเป็นต้องการขุดลอกจะต้องศึกษาอย่างละเอียด และพื้นที่รับน้ำ (catchment area) ส่วนใหญ่มีความลาดชันสูง ถ้าพืชที่ปลูกคลุมดินถูกทำลายจะทำให้เกิดการกัดเซาะบนพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างรุนแรงเป็นผลให้ตะกอนที่ถูกกัดเซาะถูกพัดพาลงสู่แม่น้ำ ทำให้แม่น้ำตื้นเขินและเกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น

Advertisement

ข้อเสนอแนะ ประกอบด้วย

1) การก่อสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กบนลำน้ำด้านเหนือน้ำ ตะกอนจะตกเต็มด้านหน้าฝายอย่างรวดเร็ว การขุดลอกเพื่อให้น้ำไหลเข้าคลองส่งน้ำได้สะดวกก็เพียงพอแล้ว เพราะจะประหยัดค่าขุดลอกมากกว่าการขุดลอกเต็มความกว้างลำน้ำ

2) การก่อสร้างฝายบนลำน้ำด้านเหนือน้ำที่มีความลาดเทสูงต้องออกแบบระดับพื้นอ่างขจัดกำลังงาน (Stilling basin) ให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะเกิดการกัดเซาะด้านท้ายน้ำรุนแรงและเป็นระยะทางไกล

3) การขุดลอกลำน้ำท้ายฝายไม่ควรกระทำ เพราะจะทำให้การเปลี่ยนสถานะจากการไหลเร็วเป็นไหลช้า (Hydraulic jump) เกิดนอกอ่างขจัดกำลังงานน้ำ (Stilling basin) เป็นผลให้เกิดการกัดเซาะด้านท้ายน้ำ เว้นแต่จะได้ตรวจสอบอย่างถูกต้องก่อนการขุดลอก อนึ่งถ้าออกแบบพื้นอ่างขจัดกำลังงานน้ำ (Stilling basin) ถูกต้องจะไม่สามารถขุดลอกลำน้ำท้ายฝายได้

4) การออกแบบฝายบนลำน้ำที่มีความลาดเทสูง ต้องตรวจสอบความมั่นคงเนื่องจากน้ำไหลลอดใต้ฝายให้ถูกต้อง เพราะวัสดุท้องน้ำมีขนาดเมล็ดโต

5) การขุดลอกลำน้ำช่วงที่มีความลาดเทสูง อาจทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงเป็นผลให้ต้นไม้บางชนิดตายได้

6) ต้องป้องกันการบุกรุกลำน้ำโดยเฉพาะช่วงที่มีขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น

อนึ่งกรณีดังกล่าวทั้ง 6 กรณีนี้ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกจุดที่แม่น้ำมีแนวตรงและต้องเผื่อลำน้ำถูกการกัดเซาะด้วย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image