ประเทศไทยในประชาธิปไตยโลก ค.ศ.2024 โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในที่สุดรายงานฉบับล่าสุดของ Freedom House คือ Freedom in the World 2024 ก็คลอดออกมาจนได้ และมีเรื่องราวที่ทำให้วงการศึกษาประชาธิปไตยและรัฐศาสตร์นั้นจำต้องขบคิดกันต่อ

ที่สำคัญปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติ (หรือเปล่า?) ในการพูดถึงเป็นพิเศษในฐานะกรณี
ของประเทศที่ได้รับการเลื่อนอันดับจากประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มาเป็นประเทศกึ่งประชาธิปไตย

เพราะมีเลือกตั้ง แต่มีความซับซ้อนในเรื่องของการเลือกตั้ง เพราะผลแพ้ชนะจากการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าอภิปรายถกเถียงกันอยู่มากในเชิงวิชาการ

แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องน่ายินดีว่า การเลื่อนสถานะของประเทศไทยนั้นเป็นกรณีที่สวน
กระแสกับแนวโน้มประชาธิปไตยโลกที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องยาวนับเกือบสองทศวรรษกัน
เลยทีเดียว

Advertisement

โดยในส่วนของการเปิดเผยรายงานการสำรวจประชาธิปไตยโลกในรอบนี้ (แน่นอนว่ามีอคติของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แต่แม้ว่าองค์กรที่วัดประเมินประชาธิปไตยองค์กรนี้จะมีอคติแบบนี้ และตัวองค์กรอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีความร่วมมือกับหลายประเทศ และสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ได้รับคะแนนที่สูงจนน่าเกลียด คือ ได้คะแนนรวม 83 จาก 100 ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในสถานะของประเทศที่มีเสรีภาพ (คือมีประชาธิปไตยในความหมายของการวัด) แต่สิทธิทางการเมืองได้เพียง (Political Rights) 33/40 และเสรีภาพของพลเมือง (Civil Liberties) ได้ 50/60

ส่วนที่เกริ่นนำในกรณีของไทยนั้น ประเทศไทยได้คะแนนในปีนี้ 36/100 เป็นประเทศกึ่งเสรี หรือมีประชาธิปไตยกึ่งเสรี มีสิทธิทางการเมือง 12/40 และเสรีภาพของพลเมือง 24/60 โดยได้คะแนนสูงขึ้น 6 คะแนน

โดยในปีนี้ รายงานฉบับใหญ่ของ Freedom House นั้น หัวข้อใหญ่ว่าด้วยเรื่อง The Mounting Damage of Flawed Elections and Armed Conflict หรือแปลง่ายๆ ว่า ความเสียหายที่เพิ่มพูนขึ้นของการเลือกตั้งที่บกพร่อง และความขัดแย้งที่ใช้อาวุธประหัตประหารกัน

Advertisement

หมายถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญนอกจากความถดถอยประชาธิปไตยในภาพรวมของโลก ก็คือเรื่องของปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีความบกพร่อง และความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ ซึ่งเราก็คงจะเห็นสงครามกลางเมือง และการรุกรานและการต่อสู้ปกป้องพื้นที่ของหลายประเทศ

ตัวรายงานฉบับนี้ยังมีประโยชน์ในส่วนของการเปิดข้อมูลหลายประเทศที่เราไม่รู้จัก หรือไม่ได้ติดตามข่าว แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ซื้อแนวคิดเรื่องตัวชี้วัด และทิศทางในการมองประชาธิปไตยไปเสียทั้งหมด อย่างกรณีประเทศในแอฟริกา และประเทศชื่อแปลกๆ อีกมากมายที่เราอาจไม่ได้ผ่านตาในข่าวต่างประเทศในบ้านเรามากนัก

จุดเด่นจุดแรกที่ควรให้ความสนใจในตัวรายงานนี้ก็คือการคงไว้ซึ่งจุดยืนที่สำคัญของเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่เน้นย้ำว่าหัวใจสำคัญในการวัดคุณภาพของประชาธิปไตยคือตัวของการรักษาและขยายพื้นที่ของเสรีภาพ มากกว่าตัวรูปแบบการปกครองแบบเสียงข้างมากและการเลือกตั้งเท่านั้น และจุดนี้เองที่นำไปสู่เรื่องของการมองว่านี่คือปีที่ 18 แล้วที่ภาพรวมของเสรีภาพในโลกที่ถดถอยลง ซึ่งสะท้อนถึงการถดถอยของประชาธิปไตยไปด้วย โดยทั้งสิทธิทางการเมือง และเสรีภาพของพลเมืองนั้นลดลงใน 52 ประเทศ โดยที่มีแค่ 21 ประเทศ ที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้น (ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้)

และเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การถดถอยของเสรีภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยตามกรอบทฤษฎีนี้ Freedom House มองว่ามีเงื่อนไขสำคัญสองประการ ก็คือการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง และความขัดแย้งที่มาจากการใช้อาวุธ

การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องนั้น หมายถึงว่าไม่ใช่มีการเลือกตั้งแล้วเท่ากับมีประชาธิปไตย เพราะว่าการเลือกตั้งนั้นประเทศเผด็จการก็มี การเลือกตั้งในหลายประเทศเป็นเงื่อนไขให้เผด็จการรักษาอำนาจไว้ได้ ดังนั้น การให้ความสนใจเรื่องของการเลือกตั้งลงไปในระดับรายละเอียดในหลายมิติจึงเป็นเรื่องสำคัญในการทำความเข้าใจทั้งการจรรโลงประชาธิปไตย การถดถอยของประชาธิปไตย และการรักษาอำนาจของเผด็จการเอาไว้ได้

ประเด็นนี้ในทางรัฐศาสตร์ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก มากกว่าเพียงแค่เรื่องของการติดตามตรวจสอบการเลือกตั้ง ทั้งจากองค์กรกลาง หรือองค์กรอิสระภายในและนอกประเทศ เพราะต่อให้ไปตรวจสอบแทบตาย สุดท้ายก็ต้องมานั่งให้คะแนนตัดเกณฑ์อยู่ดี แต่ถ้าไปให้ไกลขึ้นเรื่องราวมันไปอยู่ที่การเข้าใจความซับซ้อนของเรื่องมากกว่าแค่การตัดเกรดตามตัวชี้วัด

การทำความเข้าใจเรื่องการเกิดข้อบกพร่องในการเลือกตั้งที่ไม่ใช่แค่ข้อบกพร่องที่ไม่ได้ตั้งใจกลายเป็นเงื่อนไขใหญ่ที่ทำให้การทำความเข้าใจความถดถอยของประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นการที่องค์กรอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงในเอกวาดอร์เข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งโดยการสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้สมัครเลือกตั้งหลายราย หรือในกรณีที่กัมพูชา กัวเตมาลา โปแลนด์ ตุรกี และซิบบับเว ที่รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจพยายามที่จะควบคุมการเลือกตั้งไม่ให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม พยายามสกัดกั้นฝ่ายค้านไม่ให้มีพื้นที่ในการแข่งขัน หรือขาดคุณสมบัติ หรือทำให้ฝ่ายที่ชนะไม่สามารถเข้าถึงอำนาจได้หลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง

ในกรณีประเทศไทยก็กลายเป็นประเทศที่ถูกยกตัวอย่างถึงอย่างจริงๆ จังๆ เพราะถูกมองว่าในทางหนึ่งแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีนี้ และเกิดการเปลี่ยนตัวรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้มีลักษณะที่เป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง (และผลการเลือกตั้งก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ายกุมอำนาจเก่าไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง) แต่โดยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยฝ่ายกองทัพก็ทำให้องคาพยพทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถบิดเบือนกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งจนเป็นผลสำเร็จ

ส่วนกรณีที่เสรีภาพในโลกถดถอยก็ยังมีกรณีของการทำรัฐประหารในไนเจอร์ ซึ่งนอกจากจะทำให้คะแนนของไนเจอร์ร่วงหนักเป็นอันดับสองของปี และมีผลต่อภาพรวมของภูมิภาคย่อยของแอฟริกาในส่วนนั้น

ในส่วนของความขัดแย้งที่ไปถึงขั้นการใช้อาวุธ สิ่งที่เห็นก็คือประเทศเผด็จการหลายประเทศมีความก้าวร้าวและขยายอำนาจและอิทธิพลออกนอกประเทศของตนเอง นำไปสู่การเสียชีวิตและเป็นภัยต่อเสรีภาพ ไม่ว่าจะในกรณีของพื้นที่ของนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) ซึ่งถูกปิดกั้นและบุกรุกโดยระบอบของอาเซอร์ไบจาน รวมไปถึงการบุกยูเครนของรัสเซีย ซึ่งมีผลทั้งต่อยูเครน และเสรีภาพในรัสเซียเอง และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ปะทะขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา และยังรวมไปถึงผลพวงจากการทำรัฐประหารในพม่าเมื่อสามปีก่อน และการต่อสู้กันภายในประเทศระหว่างกองทัพและกลุ่มติดอาวุธในซูดาน

ในส่วนของความขัดแย้งนี้สิ่งที่มีความซับซ้อนขึ้นก็คือ เมื่อพูดถึงความรุนแรงด้วยกำลังอาวุธนั้น มีหลายกรณีที่ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลเผด็จการ แต่เกิดจากกรณีของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเองด้วย โดยเฉพาะความรุนแรงที่มีต่อพื้นที่ในประเทศ หรือพื้นที่ที่ติดกันที่ถูกรุกรานยึดครอง อย่างในกรณีของอิสราเอล และอินเดียที่มีต่อแคชเมียร์ เรื่องเหล่านี้คงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการศึกษาความซับซ้อนของประชาธิปไตยกับสันติภาพ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและการคงไว้ซึ่งเสรีภาพ

ในส่วนการค้นพบที่สำคัญประการสุดท้าย ก็คือการให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางความคิดและจุดยืนทางการเมือง ศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม (Pluralism) โดยในปีที่ผ่านมานั้นลักษณะเหล่านี้ที่เรียกรวมว่าพหุนิยมนั้นถูกท้าทายเป็นอย่างมาก ซึ่งการท้าทายและรุกรานต่อลักษณะพหุลักษณ์เหล่านี้มีผลต่อบรรยากาศของประชาธิปไตย และเสรีภาพเป็นอย่างมาก ยิ่งในปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ อาทิการเลือกตั้งอินโดนีเชียที่ผ่านไปแล้ว และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา การรักษาไว้ซึ่งลักษณะพหุลักษณ์นี้จะต้องกระทำผ่านการคงไว้ซึ่งความหลากหลาย การปกป้องคนที่คิดเห็นต่าง และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของการคงไว้ซึ่งพหุลักษณ์เอาไว้ได้ และจะมีผลทำให้ประชาธิปไตยสามารถจะยังเป็นความหวังและพลิกฟื้นจากการถดถอยลงได้

นี่คือภาพรวมของประชาธิปไตยในปีที่ผ่านมาจากสายตาของ Freedom House ที่มีการจับตาดูกันทุกปีว่าประเทศไทยจะได้คะแนนเท่าไหร่ และก็คงจะเห็นว่าในส่วนของความขัดแย้งรุนแรงในระดับการใช้อาวุธนั้น ประเทศไทยเองนอกจากจะยังเผชิญปัญหาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือยังอยู่ติดกับพม่า และกัมพูชา ซึ่งก็ไม่ได้ส่งผลบวกต่อความเชื่อมโยงของประเทศและผู้คนในภูมิภาคนี้สักเท่าไหร่ การอพยพจากพม่าน่าจะเพิ่มขึ้นจากกดดันในพม่า และความขัดแย้งของผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนของไทยกับกัมพูชา ก็อาจจะถูกใช้เป็นเงื่อนไขทางการเมืองภายในของกัมพูชา (จากฝ่ายรัฐบาล) และของไทย (จากฝ่ายต่อต้านรัฐบาล) ได้เช่นกัน

แต่ที่สำคัญที่มากกว่าเรื่องของการประเมินข้อบกพร่องของการเลือกตั้งในไทย ซึ่งในโลกนั้นมองไปถึงการเชื่อมโยงไปที่กระบวนการตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งไปด้วยนั้น ผมว่าเงื่อนไขเรื่องการธำรงไว้ซึ่งพหุลักษณ์นั้นเป็นเงื่อนไขใหญ่ในสังคม และจนถึงวันนี้ความพยายามที่จะหาจุดลงตัวในเรื่องนี้ในสังคมประชาธิปไตยที่เสรีภาพไม่เต็มใบแบบบ้านเรานั้นก็ยังมองไม่เห็นแสงสว่างสักเท่าไหร่

จากในยุคที่ความปรองดอง และความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจบลงด้วยความคาใจและล้มเหลวในกระบวนการและผลลัพธ์

มาสู่ยุคที่ทุกคนแทบจะไม่สามารถพูดจาอะไรกันได้มากนัก แต่เต็มไปด้วยความอึดอัดและพร้อมระเบิดอารมณ์ และสัมผัสถึงแรงกดทับอันหนักอึ้ง และความมืดมนที่ยังคงปกคลุมบ้านเมืองในแบบที่เป็นอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image