ความเป็น ‘เมือง’ ของอโยธยา ในโลกจริงของมนุษย์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ความเป็น “เมือง” มักถูกสร้างโดยมีภาพจำลอง (ในอุดมคติ) ว่าต้องมีกำแพงอิฐล้อมรอบ ภายในกำแพงมีวัดวาอารามเรียงรายและปราสาทราชวังอย่างภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในวัด

ในโลกของความเป็นจริง ก่อนจะมีกำแพงเมืองก่ออิฐและมีวัดหลวงวัดราษฎร์ปราสาทราชวัง ต้องมีชุมชนและมีพัฒนาการของชุมชนจากขนาดเล็กไปขนาดกลางกว่าจะถึงขนาดใหญ่นับหลายร้อยปี หรือพันปีก็ได้

อโยธยาก็ไม่เว้น ต้องเริ่มต้นจากชุมชนซึ่งอยู่ชุมทางบนเส้นทางคมนาคมสำคัญมาก จึงเติบโตเป็นบ้านเป็นเมืองและเป็นรัฐขนาดใหญ่ ผมเขียนข้อมูลไว้ในหนังสือ อยุธยามาจากไหน? (พิมพ์ครั้งที่สอง) จะยกมาให้อ่านดังต่อไปนี้

อยุธยามาจากไหน? สุจิตต์ วงษ์เทศ (พิมพ์ครั้งที่สอง กุมภาพันธ์ 2567) สั่งซื้อได้ที่ www.facebook.com/ituibooks โทรศัพท์ 08 8919 4516

ความเป็นเมืองของอโยธยา น่าจะมี 2 สมัย คือ สมัยแรก กับ สมัยหลัง

Advertisement

1.สมัยแรก อโยธยาไม่มีคูน้ำคันดิน เมื่อพุทธศตวรรษที่ 17 ราวหลัง พ.ศ. 1600 เป็นชุมชนขนาดใหญ่บนเส้นทางการค้าของดินแดนภายใน มีขึ้นจากการขยายลงมาของเมืองอู่ตะเภา (วัฒนธรรมทวารวดี อ. หนองแซง จ. สระบุรี) ซึ่งอยู่ต่อเนื่องพื้นที่อยุธยา (ด้านทิศเหนือ) และจากการรวมตัวกันของหลายๆ ชุมชนหมู่บ้านบนที่ราบลุ่มบริเวณรอบๆ

[หลักฐานจากพงศาวดารเหนือ และงานค้นคว้าของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอมฯ (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2547) ตรวจสอบพบว่าเมืองอโยธยามีแล้วเมื่อ พ.ศ. 1632]

วัง ทำด้วยไม้ เหมือนคุ้มหลวง, เรือนจันทน์

Advertisement

วัด แยกเป็นสถูปเจดีย์กับโบสถ์วิหารการเปรียญและกุฏิสงฆ์ สถูปเจดีย์ ทำด้วยอิฐ แต่ถูกสร้างใหม่ครอบ ทำด้วยไม้ที่ย่อยสลายหมดแล้ว

อโยธยามิได้กำเนิดในพริบตาเดียวหรือชั่วข้ามปี แต่ต้องใช้เวลาก่อตัวแล้วมีพัฒนาการนับร้อยๆ ปีก่อนเป็นเมืองมีคูน้ำคันดิน

2.สมัยหลัง เมืองอโยธยามีคูน้ำคันดิน เมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 ราวหลัง พ.ศ. 1700 แรกมีคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ผังเมืองแบบเดียวกันและคราวเดียวกันกับเมืองสุพรรณภูมิ จ. สุพรรณบุรี)

ทั้งนี้สืบเนื่องจากการค้ากับจีนขยายตัวกว้างขวางมากกว่าแต่ก่อน เพราะเทคโนโลยีการเดินเรือสมุทรมีสูงขึ้น ขนาดของเรือใหญ่ขึ้น บรรทุกสินค้ามากขึ้น บ้านเมืองมั่งคั่งขึ้น ทำให้กษัตริย์มีทรัพยากรมากพอในการเกณฑ์แรงงานสร้างคูน้ำกำแพงเมือง

อโยธยามีชุมชนขนาดใหญ่ระดับชุมชนเมือง แต่การขุดค้นทางโบราณคดีหาชุมชนชาวบ้านทั่วไปน่าจะไม่พบ หรือพบลำบากมาก เพราะสภาพวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านไม่เอื้อให้เหลือหลักฐานเพื่อนักโบราณคดีขุดพบ

ในไทยมีประสบการณ์ไม่มากพอต่อการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาวิถีชุมชนชาวบ้านทั่วไป เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นการขุดค้นหลุมศพ (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) และขุดค้นโบราณสถานวัดวังเพื่อการบูรณะเท่านั้น

ส่วนหลักฐานที่นักโบราณคดีขุดพบ “บางแห่ง” เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำ หรือเศรษฐีมีทรัพย์ จึงพบภาชนะหลากหลาย โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจีน (ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่มีใช้)

เมืองอโยธยา มีคูน้ำคันดินทำผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1.4 x 3.1 กิโลเมตร [สำรวจตรวจสอบและทำผัง โดย พเยาว์ เข็มนาค (เมื่อยังรับราชการกรมศิลปากร) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562] (ซ้าย) ผังเมืองอโยธยา (กรอบขาว) จากภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2497 (ขวา) ผังเมืองอโยธยา (เส้นประแดง) บนแผนที่อยุธยาปัจจุบัน
ชนชั้นต่างระดับ เครื่องมือเครื่องใช้สมัยอโยธยาเป็นไปตามชนชั้นทางสังคมที่มีต่างระดับ ดังนี้

1.ชนชั้นนำ และเครือญาติชนชั้นนำ มีภาชนะหลากหลายทั้งที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีต่ำในประเทศ และผลิตด้วยเทคโนโลยีสูงจากต่างประเทศ เช่น จีน, เวียดนาม, กัมพูชา เป็นต้น

2.ชาวบ้านทั่วไป อยู่เรือนเครื่องผูก มีพื้นฟากไม้ไผ่ โดยมุงหลังคาด้วยจากและหญ้าคา ไม่มีภาชนะผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน

ภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวันผลิตในชุมชนซึ่งมีเทคโนโลยีต่ำ มีหม้อดินเป็นหลักใช้หุงหรือนึ่ง ส่วนภาชนะอย่างอื่นจากธรรมชาติ ได้แก่ กระบอกไผ่, ใบไม้ (เช่น ใบตอง ฯลฯ), กาบกล้วย ฯลฯ

ภาชนะดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้จากการขุดค้นของนักโบราณคดีไทย ไม่ใช่หลักฐานชี้ขาดการมีชุมชนทั่วไปสมัยก่อนๆ ดังนี้

[หนึ่ง] ภาชนะดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งของได้จากหลุมศพชนชั้นนำและเครือญาติตามความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผี ซึ่งไม่ใช่สมบัติของชาวบ้าน

[สอง] ชาวบ้านสามัญชนคนทั่วไปไม่ฝังศพ เมื่อมีคนตายก็เอาศพไปวางสถานที่จัดไว้ให้แร้งกากินตามความเชื่อทางศาสนาผี และไม่พบเศษภาชนะเครื่องมือเครื่องใช้ (ตามกรอบคิดกระแสหลัก)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image