ดุลยภาพดุลยพินิจ : เศรษฐกิจการท่องเที่ยวและรายได้ ความแตกต่างมิติพื้นที่

ดุลยภาพดุลยพินิจ : เศรษฐกิจการท่องเที่ยวและรายได้ ความแตกต่างมิติพื้นที่

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหรือยัง? เป็นคำถามที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ หนึ่งในตัวชี้วัดคือรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดทำเป็นข้อมูลรวดเร็วตามสถานการณ์ ระบุเชิงปริมาณหรือมูลค่า เป็นรายประเทศและรายจังหวัด ในโอกาสนี้ผู้เขียนในฐานะนักวิจัยสาขาสังคมศาสตร์นำข้อมูลจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มาวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามว่า หนึ่ง เศรษฐกิจการท่องเที่ยวฟื้นตัวแค่ไหนเปรียบเทียบสถิติปี 2566 และ 2565 สอง รายได้จากการท่องเที่ยวกระจุกตัวหรือกระจายอย่างไรตามจังหวัดต่างๆ อย่างไร เพื่อเป็นข้อสังเกตและวิจารณ์

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการบันทึกข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ด้านการท่องเที่ยว เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ผ่านกระบวนการการตรวจคนเข้าเมือง สถิติการเข้าพักโรงแรมจดบันทึกเป็นรายห้อง (ต้องเสียภาษีให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด) บันทึกจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารระบุเป็นรายสนามบิน ฯลฯ จึงสามารถประมวลข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นตรง ขอขอบคุณกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนดาวน์โหลดได้ หนึ่งในตัวแปรสำคัญคือรายได้การท่องเที่ยวผู้วิจัยนำมาคำนวณแสดงผลในตารางที่ 1 สรุปได้ว่า หนึ่ง การท่องเที่ยวทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม 2.1 ล้านล้านบาทในปี 2566 นับว่าสูงทีเดียว และเปรียบเทียบกับ 1.0 ล้านล้านบาทในปี 2565 ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก สอง รายได้การท่องเที่ยวกระจุกในสองภูมิภาคคือกรุงเทพฯและปริมณฑล (6 จังหวัด) และภาคใต้ (14 จังหวัด) สาม อัตราการขยายตัวสูงที่สุดในภาคใต้ รองลงมาภาคตะวันออก กรุงเทพฯและปริมณฑล

นักวิจัยในทีมของเราให้ความสำคัญกับมิติพื้นที่ จึงเรียงลำดับจังหวัดที่สร้างรายได้การท่องเที่ยวตั้งแต่มากที่สุดถึงน้อยที่สุด นำมาแสดงในรูปภาพที่ 1 ระบุยอดรายได้การท่องเที่ยว 10 จังหวัดชั้นนำด้านการท่องเที่ยว เริ่มจากกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ฯลฯ ซึ่งเราพอทราบก่อนหน้าว่าเป็นจังหวัดที่มี “แหล่งดึงดูด” นักท่องเที่ยว อาทิ ธรรมชาติ ทะเล ภูเขา และทิวทัศน์งดงาม ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การให้บริการและการเป็นเมืองธุรกิจชั้นนำ เฉพาะใน 3 จังหวัดชั้นนำรายได้ท่องเที่ยวเป็นหลักหลายแสนล้านบาท

Advertisement

เศรษฐกิจการการท่องเที่ยวมีการกระจายรายได้ (income distribution) ให้ภาคส่วนต่างๆ คือเจ้าของกิจการ แรงงานในภาคท่องเที่ยว การขนส่ง โรงแรมและภัตตาคาร การบริการ แม้แต่ธุรกิจการเงินจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ ผลกระทบเกิดทั้งที่แหล่งท่องเที่ยว (tourist site) กับนอกแหล่ง เช่น คนมาบริโภคอาหารอร่อยๆ ที่เยาวราช สมมุติว่าจ่ายค่าอาหาร 2 พันบาท จำนวนนี้จะเป็นรายได้ในร้านค้าในเยาวราชแต่ว่าเยาวราชต้องซื้ออาหารทะเลสด ข้าว ผัก หมูเห็ดเป็ดไก่จากพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ ฯลฯ ผู้เขียนเข้าใจว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯเคยทำรายงานวิจัยผลลัพธ์ต่อการจ้างงาน – หากทีมวิจัยค้นพบตัวเลขและผลการคำนวณจะนำมาเผยแพร่ในโอกาสหน้า

การท่องเที่ยวเป็นสาขาเศรษฐกิจที่ผันผวนสูง ตามฤดูกาลหรือตามสถานการณ์การเมือง โรคระบาด หรืออื่นๆ จึงต้องคำนึงถึงมิติเวลา รูปภาพที่ 2 แสดงสถานการณ์ของภูเก็ตเทียบปี 2566 และ 2565 และเดือนต่อเดือน ซึ่งสรุปว่า รายได้การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในปี 2566 อย่างมีนัยสำคัญทีเดียว นับเป็นข่าวดีของคนภูเก็ตหรือเมืองอื่นๆ (ซึ่งไม่ได้นำมาแสดงในที่นี้)

การที่เมืองไทยของเรามีเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตามเป็นภาระการดูแลรักษาตามหลักการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (sustainable tourism) แน่นอนว่าภาครัฐไม่อาจปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดชอบได้ เพราะว่าหน่วยงานรัฐถือกฎหมาย ออกระเบียบ จัดเก็บรายได้จากภาษีและจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อการดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ภาครัฐในที่นี้กินความถึงรัฐบาล กระทรวง/กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารระดับจังหวัด/อำเภอต่างๆ นอกเหนือจากการทำให้ท่องเที่ยวยั่งยืน มีข้อคิดฝากคือคำถามว่าทำอย่างไรให้กระจายผลประโยชน์การท่องเที่ยวให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคย่อมดีกว่า “การกระจุกตัว” ในภาคใดภาคหนึ่ง เป็นโจทย์ที่ยาก–แต่ว่าท้าทาย คงต้องระดมสติปัญญาจากหลายฝ่ายจากทุกภูมิภาค ความจริงทุกภาคล้วนมี “ของดี” ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าเรายังอาจจะไม่ได้นำศักยภาพนั้นมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image