การเมืองไทยหลัง‘20ม.ค.60’ … โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

คุณลักษณะของระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ การมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง (Elected government) การที่มีประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง (Participation) การประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน (right, freedom and equality) การเคร่งครัดต่อหลักนิติธรรมในการออกกฎหมายในการใช้กฎหมายและการวางนโยบาย เป็นการธำรงไว้ซึ่งวิถีทางของ “รัฐธรรมนูญ” ที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (the rule of law) และผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงานทางการเมือง รวมทั้งประชาชนผู้ใช้สิทธิ ในการมีส่วนร่วมต้องมีจริยธรรม (ethics) ทางการเมือง มีมารยาททางการเมือง (Political etiquette) โดยมี “หิริโอตตัปปะ” เช่น การแสดงน้ำใจนักกีฬาด้วยการลาออก เมื่อบริหารผิดพลาด และที่สำคัญในการอภิปรายหรือการแสดงออกทางการเมืองนั้นจะต้องธำรงไว้ซึ่งความเป็น “ผู้ดี” ทางการเมือง ไม่กล่าวข้อมูลเป็นเท็จ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ต้องมีการเสนอข้อมูลและมุมกฎหมายที่ตรงประเด็น การอภิปรายและการปฏิบัติทางการเมืองต้องอยู่บนพื้นฐานของ “เจตนาที่สุจริต” (on a bona fide basis) เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม และธำรงไว้ซึ่งกฎหมาย หลัก “นิติธรรม” และ “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ระบอบประชาธิปไตยจึงจะสามารถธำรงอยู่ได้ และจะสามารถพัฒนาความจำเริญ (Viability) อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน (Sustainability) ได้

การพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีคุณลักษณะเด่น 5 ประการ : 1.สังคมนั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของปรัชญา และหลักการที่เน้นสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ถ้าไม่มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคก็ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย 2.จะต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (Elected government) แต่การเลือกตั้งนั้นจะต้องเป็นตัวแทนอย่างแท้จริง (representativeness) ซึ่งหมายความว่า การลงคะแนนเสียงที่เป็นเพียงแต่พิธีกรรมทางการเมืองยังไม่เพียงพอ จะต้องมีตัวแทนที่ประชาชนตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง ไม่ใช่การปลุกเร้า (mobilization) หรือการล่อด้วยอามิสสินจ้าง คือการซื้อเสียง 3.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยสมัครใจและตั้งใจโดยตนเอง มีเหตุมีผลถูกต้องตามกฎหมายและความชอบธรรมทางการเมือง 4.จะต้องมีการปกครองยึดหลัก “นิติธรรม” โดยเริ่มต้นจากกระบวนการออกกฎหมาย จะต้องมีความโปร่งใส ตั้งอยู่บนหลักการของความถูกต้อง มีเหตุมีผล การบังคับคดีใช้กฎหมายประกอบด้วยกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง 5.ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะต้องสามารถคัดสรรตัวบุคลที่มีความสามารถในการบริหารบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ปัญหาสังคม พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้ ซื่อสัตย์ สุจริต มีจริยธรรม

การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ปลุกเร้าต่อสู้กับศัตรูทางการเมือง โดยการกระทำที่ผิดกฎหมายและขาดความชอบธรรมทางการเมือง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะการมีส่วนร่วมที่พึงประสงค์ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การออกกฎหมายที่มีวาระซ่อนเร้น ไม่ใช่หลักนิติธรรมหรือนิติรัฐ การบังคับกฎหมายที่ลำเอียงไม่เสมอภาคก็ขัดกับหลักนิติธรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน

ความสำเร็จของการปกครองแบบประชาธิปไตย : ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะสามารถดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สามารถ แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ซึ่งความขัดแย้งของสังคมมนุษย์มีสาเหตุ 4 เรื่อง คือ 1) ความขัดแย้งในเรื่องอำนาจ 2)ความขัดแย้งในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 3)ความขัดแย้งในลักษณะทางสังคม 4)ความขัดแย้งในส่วนที่เป็นนามธรรมและค่านิยม นำไปสู่การประกันสิทธิเสรีภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งการแจกแจงรายได้อย่างยุติธรรม ต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายตัว
ดังนั้นใครก็ตามที่คิดว่าจะสามารถสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ด้วย “การร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มีความเป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นการมองภาพไม่กระจ่าง เจ้าอาณานิคมที่ยึดประเทศ ยึดเป็นอาณานิคม ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมานานแล้ว ก่อนที่จะปล่อยให้อาณานิคมได้รับเอกราชจะมี “การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบให้กับประเทศ” ดังกล่าว แต่ทันทีที่เจ้าอาณานิคมถอนตัวจากอำนาจการปกครองบริหาร “ความขัดแย้ง” จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน บ่อยครั้งความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นเป็น “สงครามการเมือง” ประเทศที่พยายามสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมานั้น จะพบอุปสรรคและความล้มเหลวคณานับ บางประเทศได้ข้อสรุปว่า : ในสภาวะที่ประชาชนยังยากจน ไร้การศึกษา เศรษฐกิจอ่อนแอ ระบบที่ดีที่สุดได้แก่ระบบเผด็จการแบบอ่อนๆ ความคิดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นระหว่างสงครามเวียดนามและประเทศทั้งหลายในเอเชียอาคเนย์ก็รับเป็นแบบอย่าง “ผู้นำ” ที่มีลักษณะกึ่งเผด็จการ เช่น ลีกวนยู ซูฮาร์โต มาร์กอส เนวิน และ “รัฐบาลทหาร ในประเทศไทย” ต่างมีวิธีการใกล้เคียงด้วย หากดูประวัติศาสตร์ทุกเรื่อง กฎหมาย กติกาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎฟีฟ่าฟุตบอล กฎหมายจราจร อยู่ที่องค์ประกอบ 4 ส่วนที่จะทำให้เกิดความยุติธรรม ได้แก่ 1.คนร่างกติกา 2.คนเป็นกรรมการ 3.คนเล่น 4.คนเชียร์ (ประชาชน) แต่ที่สำคัญคือ “คน” สำคัญที่สุด ซึ่งต้องมีวินัย รู้หน้าที่ มีความสามัคคี เสียสละ มีสัจจะ กตเวที ให้ความเป็นธรรม ถูกต้องและเสมอภาค และ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย”

Advertisement

ในกรณีประเทศไทยนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมการศึกษา ซึ่งเกิดขึ้นยุครัฐบาลกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย โดยมีเศรษฐกิจเสรี กลไกตลาดผสมผสานกับระบบกึ่งผูกขาด ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในเศรษฐกิจสังคมและการบริหารของประเทศ ตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และนี่คือที่มาของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้ “รัฐบาลทหาร” ขณะนั้นต้องลงจากอำนาจ และแม้พยายามจะกลับมาสู่อำนาจใหม่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ จนนำไปสู่การออมชอม หรือ “การประสานประโยชน์” ในรูปของประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการมา…จนถึงยุคที่เป็น “ประชาธิปไตยอย่างเต็มที่” ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สืบเนื่องมาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

“รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540” เกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง เนื่องจากมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจากการใช้เงินซื้อเสียงเลือกตั้ง การฉ้อราษฎร์บังหลวง และการละเมิดกฎหมาย ละเมิดหลักนิติธรรม ที่สำคัญคือ “การไร้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลผสม” และการที่ “นายกรัฐมนตรี” ไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำทางการเมืองได้ เนื่องจากความจำเป็นในการออมชอมกับพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ส.ในพรรคของตนเอง การปฏิรูปการเมืองจึงเกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกันวิกฤตทางเศรษฐกิจอันเกิดจาก “ฟองสบู่แตก” ก็มีส่วนผลักดันให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมือง โดยหวังว่าระบบการเมืองที่พัฒนาจากการปฏิรูปจะแก้ปัญหาได้

แต่ข้อเท็จจริง ก็คือ “การร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นทั้งฉบับ เป็นการสร้างโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองขึ้นใหม่ โดยใช้ “กฎหมาย” เป็นตัวนำ ไม่ใช่ “คาถาที่จะเสกให้สำเร็จได้อย่างอัศจรรย์” ความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยมี 3 ตัวแปร คือ 1) สภาพสังคมและเศรษฐกิจต้องเอื้อต่อการปฏิรูปและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เช่น อาจต้องมีระบบการศึกษาสูง มีความตื่นตัวทางการเมือง มีเขตชุมชนเมือง มีรายได้ภายใต้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระดับหนึ่ง 2) โครงสร้างและกระบวนการต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการปกครองตนเอง การแสดงประชาพิจารณ์ ประชามติ 3) ตัวแปรสุดท้ายสำคัญมาก คือ “วัฒนธรรมทางการเมือง” แบบประชาธิปไตยสำคัญที่สุด ถ้าประชาชนไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย

Advertisement

ถ้าผู้นำทางการเมืองขาดจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย การปฏิรูปและการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้

หลังปี 2516 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา พลวัตของสังคมไทยที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประชาธิปไตยดังนี้คือ จากเศรษฐกิจภาคเกษตร จะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ผลผลิตของประเทศไทยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และเป็นสิ่งสำคัญของตลาดโลก ความพลวัตของเศรษฐกิจดังกล่าว จะทำให้ “อำนาจของนักธุรกิจ” หรือกลุ่ม “ธนาธิปัตย์” มีอำนาจยิ่งขึ้น บุคคลดังกล่าวนี้จะเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองอย่างสืบเนื่อง ซึ่งเป็นจุดที่เริ่มมี “ระบบประชาธิปไตย” เกิดขึ้น เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาการศึกษาดังกล่าวทำให้คนมีความรู้มากขึ้น มีข่าวสารข้อมูลมากขึ้น มีความคิดเป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งมีผล
กระทบโดยตรงต่อการตื่นตัวทางการเมือง ทำให้การใช้อำนาจทางการเมือง “ตามอำเภอใจ” ขัดต่อหลักการและกฎหมายกระทำได้ยากขึ้น นอกจากการศึกษา การพัฒนาทาง “สื่อสารมวลชน” เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผลอย่างยิ่งต่อการตื่นตัวทางการเมือง ต้องการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ทำให้ระบอบการปกครองแบบทางการเมืองมีโอกาสพัฒนาในลักษณะของพลวัตและยั่งยืนยิ่งขึ้น การใช้อำนาจอย่างผิดๆ จะกระทำได้ยากขึ้น

ยุคพฤษภาทมิฬ นอกเหนือจากนั้น “คนรุ่นเยาว์” ในปัจจุบัน เริ่มมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองก็กลายเป็นวัยกลางคนได้ยาวขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการมีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 ที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” หรือที่รู้จักกันว่า กลุ่มม็อบมือถือ ม็อบรถเก๋ง และเมื่อรวมกัน “คนรุ่นใหม่” ซึ่งจะมีอายุในเกณฑ์มีสิทธิเลือกตั้งได้ บุคคลดังกล่าวนี้จะมีส่วนผลักดันให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปตามครรลอง ที่สำคัญที่สุดจากสภาพของเศรษฐกิจ การศึกษา สื่อมวลชน และการปรากฏของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย จะมีลักษณะ “พหุนิยม” มากขึ้น จากสภาพดังกล่าวจะตามมาด้วยทางการเมือง 3 ประเด็น คือ 1.ประเด็นการกระจายอำนาจให้มีการปกครองตนเอง 2.ประเด็นปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 3.ประเด็นปฏิรูประบบราชการจะเกิดการปฏิรูปได้ดีตามลำดับ

ปี 2548 : รัฐบาลไทยรักไทย หรือทุกพรรคการเมืองที่มีโอกาสแข่งขันเพื่อเป็น ส.ส.นั้น นโยบายการแก้ปัญหารากเหง้า คือ “ความเหลื่อมล้ำ” ของประชาชนรากหญ้าในชนบทเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการประกาศนโยบายที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนตามปรัชญาการเมืองที่ “รัฐ” มีหน้าที่คอยดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชนเจ้าของประเทศ ซึ่งทุกพรรคที่จะแข่งขันในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ ชาติไทย กิจสังคม ฯลฯ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน Theme หาเสียงโฆษณารูปนโยบายที่
เหมือนๆ กันคือ “ประชานิยม” ซึ่งพรรคไทยรักไทยเองก็ชูนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค, โครงการกองทุนหมู่บ้าน (หมู่บ้านละล้านบาท), โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เช่น การชลประทาน สร้างถนน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยเน้น “คนและพื้นที่ชนบท” มากกว่า “คนเมือง” ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจชนชั้นกลาง

ผลการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับการไว้วางใจจากประชาชน เลือก ส.ส.เข้าเกินครึ่งของ ส.ส.ในสภา สามารถ “ตั้งรัฐบาล” โดย “พรรคเดียว” ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เลือกตั้งมีเพียงพรรคเดียวเป็นรัฐบาล มีอำนาจการบริหารบ้านเมืองอย่างมาก และเบ็ดเสร็จ และพรรคประชาธิปัตย์เองได้รับเลือกจากพื้นที่ กทม.และภาคใต้เป็นเสียงส่วนใหญ่

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อ 19 กันยายน 2549 : โดยมีการล้มล้างรัฐบาลซึ่งรักษาการอยู่ตามรัฐธรรมนูญและมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 ปฏิวัติโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มีการอ้างว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นกระบวนการทางการเมือง เพื่อที่จะสกัดไม่ให้ปัญหาทางการเมืองที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่… “กลียุค” รวมทั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจ ความแตกแยกของคนในสังคมยุติลง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นกับประชาคมหรือสังคม การกระทำดังกล่าวนั้นในตัวของมันเองมีเหตุผลที่จะกล่าวอ้างได้ และในความเป็นจริงก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ใช้มาแล้ว 10 ปี จนกระทั่งมีการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เกิดตามมา

ต่อมา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 : จากการเลือกตั้งปี พ.ศ.2555 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดปี 2550 หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ “พรรคเพื่อไทย” (เกิดหลังจากไทยรักไทยถูกยุบ) ได้เสียงข้างมากเข้าเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ลักษณะของการปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คล้ายคลึงกับเมื่อ 19 กันยายน 2549 : โดยมีกลุ่ม “กปปส.”… “ม็อบนกหวีด” ซึ่งแปลงรูปจากการแยกตัวออกมาจากพรรคคู่ต่อสู้ทางการเมืองรวมตัวกับ “คนเมือง” กลุ่มนักธุรกิจ ขับไล่รัฐบาล กรณีการทุจริตจำนำโดยการปฏิวัติของ “คสช.” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ปฏิวัติ ขณะนี้ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2559 โดย กรธ. มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นฉบับปราบโกง เป็นการปฏิรูปทุกระบบ ทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ทุกส่วนราชการและท้องถิ่น ซึ่งได้ทูลเกล้าฯถวายเพื่อโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว

เมื่อ “20 ม.ค.60” รัฐบาลรับพระราชทานรัฐธรรมนูญกลับคืนมา ซึ่งต้องรีบแก้ไขและนำเสนอโปรดเกล้าฯอีกครั้งภายใน 30 วัน รอโปรดเกล้าฯลงมาภายใน 90 วัน ก็จะมีการ “ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2559” ซึ่งรวมเวลาอย่างน้อยอีก 4 เดือน หรือ 120 วัน (ตกประมาณเดือนพฤษภาคม 2560) ก็จะนำไปสู่การทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ และกฎหมายลูก คาดว่าใช้เวลา 2 เดือน บวก 5 เดือน จึงมีการจัดการเลือกตั้ง ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 2 เดือน รวม 9 เดือน (ตกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2561)

ต้องติดตามดูว่าเหตุการณ์ภายใต้ “รัฐธรรมนูญใหม่ 2559” ซึ่งคาดว่าน่าจะดีที่สุด เป็นยาวิเศษ สารพัดนึก แก้ได้ทุกโรค ที่เป็นปัญหาของโรคทางการเมือง (ขัดแย้ง) ว่าจะหายเป็นปลิดทิ้ง (100%) ฤๅว่าจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดังที่เคยเกิดมาแล้วจากการมีรัฐธรรมนูญ ปี 2534, 2540, 2550 จนถึง 2559 หรืออาจจะไม่เกิดเลยก็ดี ขอให้โชคดีนะครับ

 

นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image