พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาด้านทฤษฎีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม : โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการทางศาล รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับมีบทบัญญัติรับรองอำนาจนี้ไว้ แม้แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ก็บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ในส่วนที่เกี่ยวกับงานของกระบวนการยุติธรรมจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อประเทศเพียงใด

ตัวอย่างเช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังกระทรวงยุติธรรม ในการถวายครุยเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2495 ความว่า “…การศาล ยุติธรรมนั้น มีความสำคัญยิ่งประการหนึ่ง เพราะเป็นหลักประกันความปลอดภัย และความเที่ยงธรรมของคนในประเทศ และเป็นอำนาจอธิปไตย ส่วนหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปได้ก็ต่อเมื่อมีความยุติธรรมสม่ำเสมอ เป็นหลักอันควรให้ปวงชนทุกคน ควรนับถืออย่างเนืองนิตย์ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่จะได้ช่วยเหลือส่งเสริมให้การประสาทความยุติธรรมเจริญรุ่งเรืองสมควรแก่การกาลสมัย… ข้าพเจ้าหวังใจว่าท่านทั้งหลายจะได้ตั้งใจช่วยกันพิทักษ์รักษาอารยธรรม ความยุติธรรม และความผาสุกของประเทศชาติสืบไป ไม่ว่าท่านจะมีหน้าที่เป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หรืออาชีพอื่นใดที่หมายถึงอาชีพของนักกฎหมาย ขอให้ช่วยกันทำประโยชน์อื่นๆ ให้แก่ประเทศชาติ อันเป็นที่รักของเรา…”

และในการเสด็จฯไปในพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ทนายความ ผู้สำเร็จการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา คณะผู้พิพากษา การถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ของผู้พิพากษาประจำกระทรวงก็มักจะมีพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทเป็นข้อคิดที่ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมจะต้องนำไปเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งสิ้น ซึ่งสรุปข้อสาระสำคัญได้ในข้อดังต่อไปนี้

ความซื่อสัตย์สุจริต
พระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำกระทรวงเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันอังคารที่ 21 ตุลาคม 2540 ความว่า “ประเทศชาตินี้ก็ยังมีคนสุจริต และมีคนที่ทุจริต ถ้าคนสุจริตซึ่งมีจำนวนมาก ไม่สามารถป้องกันตัวจากทุจริตชน ก็จะทำให้ประเทศชาติล่มจม ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่จะรักษาความสัตย์สุจริตนี้ไว้ ร่วมกับผู้ที่ได้ทำมาก่อนนี้ เป็นผู้พิพากษาที่กำลังทำงานอยู่เดี๋ยวนี้ ตลอดจนผู้พิพากษาที่ได้ทำมาในอดีต ฉะนั้นท่านก็ได้รับมรดกของอำนาจตุลาการนี้ และจะต้องรักษามรดกนี้ไว้”

Advertisement

พระราชดำรัสพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2495 ความว่า “ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ความซื่อสัตย์สุจริตที่ว่านี้ หมายถึง ความสุจริตซื่อตรงต่อหน้าที่ ต่องานของตนเอง และต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับท่านที่ใช้วิชากฎหมาย ย่อมกินความถึงการรักษาความเป็นธรรม ไม่บิดเบือนความหมายของตัวบทกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของตนเองด้วย”

พระราชดำรัสนี้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเข้าใจแก่นแท้ของผู้ที่มีอาชีพในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการว่า ความซื่อสัตย์สุจริตนั้นสำคัญอย่างยิ่ง มีการตรวจสอบเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มเข้าเป็นผู้พิพากษา และตรวจสอบไปตลอดชีวิตของการดำรงตำแหน่ง และใช่จะตรวจสอบเฉพาะตัวผู้พิพากษา แม้แต่ผู้ใกล้ชิด เช่น คู่สมรส บุตรธิดา ก็ต้องถูกตรวจสอบด้วย หากตรวจพบหรือแม้แค่มีข้อระแวงในความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะต้องออกไปจากสถาบันนี้

Advertisement

ผู้เขียนจึงกล้าที่จะยืนยันว่าสถาบันผู้พิพากษาพบการทุจริตน้อยมาก เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ ในประเทศไทย ความซื่อสัตย์สุจริตถือว่าเป็นอุดมการณ์สูงสุดของผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะผู้พิพากษาตุลาการ

ความเป็นกลาง
พระราชดำรัสในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2525 ความว่า… “สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ผู้พิพากษา ถ้าผู้พิพากษาขาดความยุติธรรมคือความเป็นกลาง กลไกต่างๆ ของประเทศชาติก็คงจะต้องเสื่อมโทรมลงไปไม่น้อย และคนก็จะไม่มีที่พึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นสังคมจะอลเวง พวกเราทุกคนจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ใดก็ตามจะเดือดร้อนกันทั้งนั้น” ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมจะดำรงความเป็นกลางได้ก็จะต้องมีการรับรองให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจหรือการสั่งการของคณะใดหรือบุคคลใด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับจึงมีบทบัญญัติรับรองความเป็นอิสระของ

ผู้พิพากษาตุลาการไว้ แม้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ก็มีบทบัญญัติรับรองอำนาจอิสระของผู้พิพากษาตุลาการไว้ตามมาตรา 26

ปราศจากอคติ
พระราชดำรัสในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2525 ความว่า… “อคตินั้นแปลว่าทำอะไรที่ไปในทางที่ไม่ควรจะไป ถ้าปราศจากอคติก็หมายความว่าไปในทางที่ควรจะไป ทางที่ควรจะไปนั้นคืออะไร ก็คือความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ ความตั้งใจแน่วแน่ ความตั้งใจที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ย่อมทำให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองด้วย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองมีความสุขทุกอย่าง ฉะนั้น คำว่าปฏิบัติงานทุกอย่างโดยปราศจากอคตินั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะในงานของผู้พิพากษา…คำวินิจฉัยต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย และแนวบรรทัดฐาน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา”

อคตินั้นมีอยู่ 4 ได้แก่ ฉันทาคติ-ลำเอียงด้วยความรัก โทสาคติ-ลำเอียงด้วยความโกรธ โมหาคติ-ลำเอียงด้วยความโลภ, หลง ภยาคติ-ลำเอียงด้วยความกลัว ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ เคยให้คติแก่ผู้ช่วยผู้พิพากษาว่า “เวลาคิดเรื่องงานหรือนั่งบัลลังก์ จิตของเราต้องประภัสสรคือ แจ่มใสสว่างจ้า ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง…การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคง ผ่องใส และไม่รวนเรไปในทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้น”

ความกล้าหาญ
คดีตัวอย่างอันแสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาอย่างกล้าหาญ เป็นคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2510 คนไทยเรียกคดีนี้ติดปากว่า “คดีกินป่า” ศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะถูกจำคุกมียศพลเอก เป็นเวลา 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคุณหญิงของจำเลยที่ 1 กับผู้ใกล้ชิดเป็นเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เสียชีวิตในระหว่างถูกจำคุกตามคำพิพากษา คดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ทหารเข้ามาบริหารประเทศโดยอำนาจคณะปฏิวัติ ต้องถือว่าเป็นความกล้าหาญของคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งประกอบด้วย ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ ท่านจิตติ ติงศภัทิย์ และท่านโพยม เลขยานนท์ โดยคณะผู้พิพากษาได้พิพากษาลงโทษผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ซึ่งมีอำนาจเต็มที่อยู่ในขณะนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์และความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจตุลาการ โดยไม่หวั่นเกรงอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับความกล้าหาญในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เคยมีพระบรมราโชวาทไว้ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน 2518

ความว่า “ข้าพเจ้ามีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนสร้างตนให้เป็นนักกฎหมายที่ดี ที่แท้ โดยฝึกฝนตนให้มีความกล้าในอาชีพของนักกฎหมาย คือ กล้าที่จะปฏิบัติการไปตามความถูกต้องเที่ยงตรง ทั้งตามกฎหมายและศีลธรรม ไม่ปล่อยให้ภยาคติ คือความเอียงเอนไปด้วยความหวาดกลัวในอิทธิพลต่างๆ เข้าครอบงำ สำหรับเป็นพลังส่งให้ทำงานได้ด้วยความองอาจ มั่นใจ และมุมานะ…”

ความบริสุทธิ์ยุติธรรม
ความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้นเป็นหลักสำคัญ ที่ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เมื่อใดเกิดความระแวงสงสัยในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของผู้อยู่ในกระบวนการนี้ ย่อมจะเป็นเหตุให้ผู้อยู่ในกระบวนการนี้ โดยเฉพาะผู้พิพากษา ตุลาการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบาก จนถึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เลย เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ยุติธรรมนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เคยมีพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม 2523

ความว่า “…จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้กฎหมายจะต้องสำนึกตระหนักในความรับผิดชอบของตนเองอยู่ตลอดเวลา ในอันที่จะใช้กฎหมายเพื่อดำรงรักษาและผดุงความยุติธรรมถูกต้องเพียงอย่างเดียว มิใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่นในขณะที่ ทุกคนต้องทำใจให้หนักแน่นเที่ยงตรงปราศจากอคติ ให้กล้าแข็งและทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม ให้สุขุมรอบคอบประกอบด้วยสติปัญญาที่จะตรวจตราและพินิจพิจารณาหาทางที่จะใช้ตัวบทกฎหมายให้ได้ผลตามจุดประสงค์ คือ ให้เกิดความถูกต้องเที่ยงธรรมโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ยอมปล่อยให้มีผู้อาศัยข้อบกพร่องตามกฎหมาย เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นในทางไม่เป็นธรรมได้ ทั้งต้องดำรงตนให้เป็นที่พึ่งของสุจริตชนด้วยเสมอ นักกฎหมายจึงสามารถรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความผาสุกสงบของบ้านเมืองไว้ได้”

การกระทำซึ่งเป็นเหตุให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน

1.เรื่องการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีโดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอนายกฯพระราชทาน ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เมื่อต้นปี 2549 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) มีพระราชดำรัสแก่ผู้พิพากษาประจำกระทรวง สำนักงานศาลยุติธรรม ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 มีสาระสำคัญดังนี้

“ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ ซึ่งมิใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี หรือตามที่เคยทำมา ไม่มี อยากได้นายกฯพระราชทาน เป็นต้น การขอนายกฯพระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครอง แบบขอโทษ แบบมั่ว แบบไม่มี ไม่มีเหตุมีผล”

กรณีที่ขอนายกฯพระราชทานนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เคยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งท่าน อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศไทยสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะจอมพลถนอมต้องเดินทางออกไปนอกประเทศ คนไทยสมัยนั้นจึงเรียกท่าน อ.สัญญาว่า “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน”

แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เหมือนกับระยะที่พันธมิตรขอนายกฯพระราชทาน ก็คือ ตอนที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง อ.สัญญา ประเทศไทยยังมีสภาผู้แทนราษฎร จึงมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ อันเป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ขณะที่พันธมิตรขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานนั้น สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสว่า ขออย่างนี้ไม่ใช่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการขอแบบ “มั่ว”

2.เรื่องการกล่าวหากันกรณีทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี (ความผิดฐานนี้คนทั่วไปมักจะเรียกว่า ความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง)

กรณีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เคยมีพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรดา พระราชวังดุสิต วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2548 ความว่า “การละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี้ พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อน พระมหากษัตริย์ต้องบอกว่าเข้าคุกแล้วต้องให้อภัย ที่เขาด่าเราอย่างหนัก ฝรั่งเขาบอกว่าในเมืองไทยมีพระมหากษัตริย์ถูกด่า ต้องเข้าคุก

…ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก ตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อนๆ เป็นกบฏก็ยังไม่จับเข้าคุก ไม่ลงโทษ รัชกาลที่ 6 ท่านไม่ลงโทษ ไม่ได้ลงโทษผู้เป็นกบฏ ต่อมารัชกาลที่ 9 ใครเป็นกบฏก็ไม่เคยมี ที่จริงก็ทำแบบเดียวกันไม่ให้เข้าคุก ให้ปล่อย หรือเข้าคุกแล้วก็ให้ปล่อย อย่างคนที่ละเมิดพระมหากษัตริย์และถูกทำโทษไม่ใช่คนนั้นเดือดร้อน พระมหากษัตริย์เดือดร้อน นี่ก็แปลก คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก

อันนี้มหาวิทยาลัยนักกฎหมายก็สอนนายกฯว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ ก็สอนนายกฯว่าใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ลงท้ายไม่ใช่นายกฯเดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน อาจจะอยากให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน ไม่รู้นะเขาทำผิดเขาด่าพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อนจริงๆ เพราะใครมาด่าเราชอบไหม ไม่ชอบ แต่ถ้านายกฯเกิดให้ลงโทษแย่เลย แล้วนักกฎหมายต้องการให้ลงโทษคนที่ด่าพระมหากษัตริย์ ทำไปทำมา เอะอะเขาด่านายกฯ ถ้าด่านายกฯ นายกฯเดือดร้อนไหม ไม่ควรเดือดร้อน แต่ถ้าด่านายกฯ พระมหากษัตริย์ก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่าเป็นเรื่องนายกฯ แต่ถ้าเขาด่าพระมหากษัตริย์ นายกฯเดือดร้อนเพราะต้องเป็นคนจัดการ…

คนไทยส่วนใหญ่จะได้ทราบถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาด้านอื่นๆ เช่น ด้านการเกษตร (เศรษฐกิจพอเพียง) ด้านศิลปิน เพราะมีผู้นำมาเผยแพร่ให้ได้รับรู้กันอยู่เสมอ แต่คงมีส่วนน้อยที่จะทราบถึงพระอัจฉริยภาพเกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะทราบจากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ได้ให้แก่ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ทนายความ ตลอดจนผู้ที่จบการศึกษาจากเนติบัณฑิตยสภาอันแสดงแก่นแท้ ที่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นในจิตวิญญาณของบุคคลเหล่านั้น เพราะเขาเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ อันเป็นอำนาจ 1 ใน 3 ของอำนาจสูงสุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

หลักกฎหมายเป็นเพียงลายลักษณ์อักษรที่วางไว้ให้บุคคลปฏิบัติตาม แต่ถ้าหากบุคคลที่อยู่ในกระบวนการนี้ ขาดความสำนึกในหน้าที่ ก็ย่อมเป็นหนทางที่นำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่สังคม โดยเฉพาะการกล่าวหาฟ้องร้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นเหตุให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อนนั้น หากได้นำพระราชดำรัสมาไตร่ตรองให้ดีจะเห็นว่า เมื่อมีการกล่าวหากันด้วยข้อหานี้ตามใจชอบโดยไม่มีขอบเขต ย่อมจะทำให้เกิดการแตกแยกกันในสังคม ระหว่างผู้ที่ยกตัวเองว่าเป็นคนดีมีความจงรักภักดี กับอีกฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีความจงรักภักดี

จึงต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งว่า การกล่าวหากันเช่นนี้ทำให้ดูเสมือนจะดึงพระองค์ท่านมาร่วมด้วย ซึ่งมิบังควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระมหากษัตริย์มิใช่ชนวนของความขัดแย้ง แต่พระองค์ท่านอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาล
และหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image