การเมืองยุคหลังทักษิณ การเมืองฤดูร้อน โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

แม้ว่าคุณทักษิณจะกลับเมืองไทยมาหลายเดือนแล้ว แต่การไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เชียงใหม่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความสนใจในบ้านเมืองนี้เพิ่มขึ้นถึงบทบาททางการเมืองของคุณทักษิณ

เพราะเป็นครั้งแรกตั้งแต่กลับมาเมืองไทย ที่คุณทักษิณได้มีโอกาสพูดคุยกับสื่อและมีการรายงานบรรยากาศของการเข้าพบคุณทักษิณจากผู้คนหลายกลุ่มฝ่าย มากกว่าที่ผ่านมาที่มีแต่คนในครอบครัว และอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา (รวมทั้งนายกฯเศรษฐา)

คงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคาดเดากันมากว่าที่ผ่านมานับตั้งแต่คุณทักษิณออกจากประเทศไทยไปก่อนที่จะถูกรัฐประหารเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น (ไม่นับที่กลับมาแป๊บนึงแล้วก็ออกไปใหม่) คุณทักษิณมีบทบาททางการเมืองโดยตลอด

แต่การมีบทบาททางการเมืองของคุณทักษิณที่ผ่านมานั้นยังอยู่บนสองเงื่อนไขสำคัญคือ มีสถานะของผู้ต้องหาในคดีความหลายคดี ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันว่าแต่ละคดีที่คุณทักษิณโดนนั้นเป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่

Advertisement

และสอง คุณทักษิณมีบทบาททางการเมืองอยู่นอกประเทศ แม้ว่าในช่วงหลังเทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้คุณทักษิณสามารถพูดคุยกับผู้คนได้ผ่านรายการสดในหลายรูปแบบก็ตาม

ไม่นับว่าที่ผ่านมานั้นทุกคนคงไม่ไร้เดียงสาขนาดไม่เข้าใจว่าคุณทักษิณมีบทบาทในการคุยกับเจรจากับหลายฝ่ายมาตลอด หรืออธิบายอีกอย่างก็คือคุณทักษิณไม่ได้มีท่าทีในการปฏิเสธล้มล้างระบบการเมืองที่เป็นอยู่ อย่างน้อยในระดับของการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

อย่างไรก็ตาม การกลับบ้านของคุณทักษิณในรอบนี้ มีเงื่อนไขใหม่ๆ ที่คงเป็นที่สนใจเพิ่มขึ้นถึงบทบาทของคุณทักษิณในทางการเมือง ด้วยเงื่อนไขหลายประการเช่นกัน

Advertisement

หนึ่ง พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ต้องประนีประนอมอำนาจกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนระบอบอำนาจเก่า แต่ถ้าดูดีๆ ในพรรคการเมืองเหล่านั้นหลายคนก็เป็นศิษย์เก่าของไทยรักไทยและเพื่อไทยมาก่อน

สอง คุณทักษิณเองอยู่ในสถานะที่ยังต้องโทษ (แต่อย่างน้อยก็ถูกตัดสินคดีแล้ว ไม่ต้องหลบหนี) และก็ได้ลดโทษ แต่น่าจะยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่ทำให้คุณทักษิณนั้นไม่สามารถมีบทบาททางการเมืองโดยตรงได้

แต่เอาเข้าจริงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เห็นที่เชียงใหม่นั้น ผมก็ไม่รู้จะหาคำอธิบายอะไรได้มากเพราะไม่ได้รู้สึกว่าคุณทักษิณมีข้อจำกัดทางการเมืองอะไรเหลืออยู่มากนัก

เว้นแต่เรายอมรับกันว่าเมืองไทยนั้นเปลี่ยนไปมากอยู่ ในแง่โครงสร้างทางอำนาจ และในแง่ของการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล รวมทั้งคนรุ่นใหม่และการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบที่ผ่านมาของม็อบเยาวชน

อย่าลืมว่าคุณทักษิณใช่ว่าไม่รู้จักคนหลายคนในอนาคตใหม่-ก้าวไกล หลายคนก็เคยพูดคุยกันมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับผม คุณทักษิณกลับบ้านรอบนี้ ก็คงเหมือนคนที่ครั้งแรกได้กลับมาเจอกับพีเอ็มสองจุดห้านั่นแหละครับ หลายๆ อย่างรอบตัวก็คงมีสิ่งที่ไม่เปลี่ยน และหลายๆ อย่างก็คงเปลี่ยนไป

เหมือนกับเพลง “ฤดูร้อน” ของพาราด๊อกซ์ นั่นแหละครับ

ที่เขียนมานั้นเพื่อจะชี้ว่า บางครั้งถ้าเราจะพยายามหาทางเลือกไปจากการวิจารณ์หรือคาดเดาบทบาทของคุณทักษิณแบบวิเคราะห์รายวัน เราคงต้องตั้งคำถามกันก่อนว่าสังคมไทยนั้นเปลี่ยนไปแค่ไหน เปลี่ยนไปอย่างไร และเปลี่ยนไปเป็นอะไร

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมานั้นคุณทักษิณไม่เคยหายไปจากสังคมไทยเช่นกัน เพียงแต่บทบาทที่ผ่านมาของคุณทักษิณนั้นไม่ได้ทำได้อย่างที่คุณทักษิณต้องการไปเสียทั้งหมด

แต่มรดกของคุณทักษิณที่มีไว้กับสังคมไทยสิบกว่าปีนั้นก็มีความสำคัญ มีประโยชน์ และมีข้อที่เป็นประเด็นท้าทายให้สังคมลองขบคิดกันอยู่ไม่ใช่น้อย

อย่างแนวคิดเรื่องสามสิบบาทรักษาทุกโรค คงไม่มีใครปฏิเสธแนวคิดนี้ต่อไป เพราะเป็นความกล้าหาญทางการเมืองครั้งสำคัญที่คุณทักษิณเคาะนโยบายนี้ทั้งที่มีการเรียกร้องกันมานานในหมู่แพทย์หัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่ง และนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้แนวคิดเรื่องของสามสิบบาทรักษาทุกโรคก็กลายเป็นสัญญาประชาคมไปแล้ว

ส่วนเรื่องของปัญหาภาคใต้ก็คงพูดได้ว่าทั้งหมดไม่ได้เป็นเพราะคุณทักษิณ แต่ต้องทำความเข้าใจพลวัตของปัญหาว่าหลายเรื่องมันสะสมกันมานาน มีทั้งคนได้และเสียประโยชน์ หลายเรื่องเป็นเงื่อนไขใหม่ในระดับโลก และหลายส่วนก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่ทั้งหมดทั้งปวงคงไม่ใช่เรื่องที่จะโทษว่าเป็นเรื่องของคุณทักษิณ และบ่อยครั้งคุณทักษิณก็ยังยอมรับว่าตนเองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้ทั้งหมด ซึ่งน้อยคนที่จะกล้ายอมรับเรื่องราวอย่างนี้ โดยเฉพาะเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

ส่วนเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ก็เป็นข้อหาทางการเมืองที่สำคัญที่คุณทักษิณและคนที่เกี่ยวข้องก็ต้องพิสูจน์ตัวเองกันไปอีกนาน เพราะการคอร์รัปชั่นกับสังคมไทยนั้นมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน บางเรื่องก็ไม่เป็นคดีความ บางเรื่องที่เป็นคดีความก็ถูกฟ้องในมุมเชิงเทคนิค พูดง่ายๆ หลายคดีความเรื่องคอร์รัปชั่นก็หลุดกันมาแบบงงๆ บางเรื่องเวลาโดนก็รู้กันว่าไม่ใช่คนที่อยู่ข้างหลัง

แต่อย่างน้อยสิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือเรื่องของการคอร์รัปชั่นนั้นมันเกี่ยวพันกับข้อกล่าวหาที่มากไปกว่าเรื่องทางกฎหมายมาสู่ปริมณฑลทางการเมือง ดังนั้น ไม่ว่าจะหลุดคดีหรือไม่หลุดคดี การคอร์รัปชั่นนั้นก็ทิ้งตราบาปไว้ให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาได้เสมอ และคดีความไม่ใช่เรื่องราวที่สำคัญที่สุด หรือเป้าหมายสุดท้ายในการกล่าวหาเรื่องของการคอร์รัปชั่นในสังคมไทย แต่มันโยงไปถึงการเมืองเรื่องของความเกลียดชัง และการไม่ไว้วางใจ และเป็นการเมืองของการกล่าวหากันที่ไม่จบสิ้น

แล้วสิ่งที่ควรจะแก้กันจริงๆ ก็คือกลไกในการตรวจสอบก็ไม่สามารถทำได้จริงๆ จังๆ หรือไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นไปจากสมัยที่คุณทักษิณอยู่ในอำนาจสักเท่าไหร่

ส่วนเรื่องประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ จนถึงวันนี้ความคืบหน้าก็ไม่ได้มีอะไรมาก หลายคดีหลังจากยุคคุณทักษิณเองก็ยังหลุดไปเหมือนเดิม ซ้ำร้ายความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐและการกระทำที่ผิดพลาดก็มีขึ้นมาโดยตลอด

สิ่งที่ยังคงจะต้องดูกันต่อไปก็คือนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายคนคาดหวังจากเพื่อไทย และเพื่อไทยก็คาดหวังกับตัวเองว่าน่าจะเป็นไพ่สำคัญจริงๆ ในการที่จะได้รับความชอบธรรมจากประชาชนนั้นยังเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญ

จนทำให้ผมเริ่มว่า ตกลง เพื่อไทยที่มีคุณทักษิณเดินไปเดินมาได้แบบนี้ กับเพื่อไทยที่ทำเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จ

อันไหนจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เพื่อไทยได้รับความนิยมและไว้วางใจจากประชาชนได้มากกว่ากัน

อย่าลืมว่าการกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่ทำให้เพื่อไทยได้รับความนิยม เพราะมันต้องมาถูกที่ถูกทาง

เหมือนราคายางภาคใต้ ขึ้นเท่าไหร่เพื่อไทยก็ไม่ได้คะแนน (ฮา)

แต่ใช่ว่ารอบหน้าเพื่อไทยจะไม่มีโอกาสได้คะแนนเพิ่มขึ้น เพราะทางหนึ่งคู่แข่งของเพื่อไทยคือก้าวไกล และแม้ก้าวไกลอาจจะถูกยุบ ก็จะมีพรรคที่สืบเนื่องของก้าวไกลขึ้นมาอยู่ดี

แต่อีกด้านหนึ่ง เพื่อไทยจะเน้นนโยบายควบรวมกับพลังประชารัฐ หรือจะปล่อยไว้เป็นพันธมิตรน่าจะเป็นเรื่องใหญ่

เพราะอย่าลืมว่าการเมืองบ้านใหญ่นั้นยังเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเมืองไทย และการเมืองบ้านใหญ่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งระดับชาติในรอบที่ผ่านมาแบบเดิม

แต่พรรคที่มีบ้านใหญ่ก็ได้จัดตั้งรัฐบาล และการเลือกตั้งจากวันนี้จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปอีกสามปี ก็จะเป็นเรื่องของการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง อบจ.ปีหน้า อบต.และเทศบาลอีกสองปี นั่นแหละครับ

ก้าวไกลและพรรคที่อาจเกิดขึ้นแทนถ้าถูกยุบนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จในการลงลึกถึงการเมืองท้องถิ่นได้มากนัก ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถของก้าวไกลในระดับท้องถิ่นอยู่มาก และการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นนี้ประเด็นปัญหาก็ยังกระจัดกระจายอยู่

ในประการสุดท้าย การเมืองแบบประชานิยมนั้นไม่ใช่มีแต่เรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพึ่งพาความเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมของตัวผู้นำทางการเมืองเท่านั้น แต่การเมืองแบบประชานิยมยังมีความหมายเรื่องของการอ้างอิงถึงประชาชน และการวางเรื่องเล่าทางการเมืองแบบ “พวกเขา” – “พวกเรา” หรือ “มิตร” – “ศัตรู” ทางการเมืองที่ชัดเจน ปลุกเร้า และแหลมคมด้วย

อาจเป็นข้อดีของเพื่อไทยในรอบนี้ที่ถูกด่าเยอะ และการตอบโต้ของเพื่อไทยนั้นไม่แข็งแรง สะใจกองเชียร์สายฮาร์ดคอร์ของพรรค เมื่อนึกถึงท่าทีของหมอชลน่านสมัยการจัดตั้งรัฐบาล คุณภูมิธรรม หรือคุณเศรษฐาเอง แล้วเปรียบเทียบกับสมัยที่คุณทักษิณมีอำนาจรัฐโดยตรง

แต่นี่อาจจะเป็นท่าทีใหม่ที่ทำให้เพื่อไทยอยู่รอดได้ แต่ก็เป็นไปแบบนี้เรื่อยๆ

ดังนั้น การเมืองไทยยังไม่พ้นไปจากคุณทักษิณหรอกครับ แต่คุณทักษิณกลับมาเกี่ยวพันกับการเมืองไทยในวันนี้ก็ไม่ได้เป็นไปแบบที่คุณทักษิณกำหนดได้คนเดียวแบบเดิม หรือมีคู่ขัดแย้งหลักที่เผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมา

ก็คงต้องดูกันต่อไปครับ ทั้งมนต์ขลังของคุณทักษิณ และความสามารถของเพื่อไทยเองในการบริหารประเทศ

ไม่นับองคาพยพอื่นๆ ที่ได้กล่าวถึงและไม่ได้กล่าวถึงในครั้งนี้ครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image