การเลือกตั้ง ส.ว.ปีนี้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามครั้งแรกใน พ.ศ.2476

การเลือกตั้ง ส.ว.ปีนี้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามครั้งแรกใน พ.ศ.2476

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ 200 คน ด้วยระบบใหม่ที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกของไทยและของโลก ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมที่มีกติกาที่แปลกประหลาดถึงขนาดที่ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งถึงกับออกมายอมรับว่า “ซับซ้อนที่สุดในโลก” กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งทาง กกต.ผู้จัดการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัครไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. มีดังนี้ คือ

มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. และผู้สมัครเป็น ส.ว. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ คือ เป็นสมาชิกพรรคการเมือง, ข้าราชการ, ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560, บุคคลผู้พ้นจากการเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ไม่เกิน 5 ปี เป็นต้น

ผู้สมัครที่ต้องการจะสมัครเป็น ส.ว. สามารถเลือกได้ว่าตนเองมีคุณสมบัติเข้ากับกลุ่มไหนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 20 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.กลุ่มการศึกษา 4.กลุ่มสาธารณสุข 5.กลุ่มทำนา ทำไร่ 6.กลุ่มทำสวน ประมง เลี้ยงสัตว์ 7.กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน 8.กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs 9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น 10.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม 11.กลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน 12.กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม 13.กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี 14.กลุ่มศิลปะ ดนตรี บันเทิง กีฬา 15.กลุ่มประชาสังคม 16.กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน 17.กลุ่มอาชีพอิสระ 18.กลุ่มสตรี 19.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์ 20.กลุ่มอื่นๆ

Advertisement

ผู้สนใจสมัครเป็น ส.ว. สามารถสมัครได้ที่อำเภอที่ตนเองมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด หากมีคุณสมบัติในหลายอำเภอก็ต้องเลือกว่าจะสมัครที่อำเภอใดเพียงที่เดียวเท่านั้น ซึ่งมีค่าสมัครและค่าธรรมเนียมอยู่ที่คนละ 2,500 บาท ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่รับสมัครจะไม่มีการเปิดเผยชื่อจนกว่าการรับสมัครเสร็จสิ้น

ขั้นตอนการเลือก ส.ว. มีดังนี้ คือ ส.ว.มาจากการเลือกกันเอง โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ได้กำหนดวิธีการเลือกกันเองดังนี้ คือ

1) ระดับอำเภอ ; ผู้สมัครจะเข้า “กลุ่มอาชีพ” ตามที่สมัคร เลือกกันเองในกลุ่มไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียวสองคะแนนไม่ได้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับในแต่ละกลุ่มอาชีพจะได้เข้าสู่การเลือกในขั้นตอนถัดไป จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม ผู้ที่ได้คะแนน 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 โหวต ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ผ่านเข้าสู่สนามระดับจังหวัด

Advertisement

2) ระดับจังหวัด ; ผู้ชนะจากระดับอำเภอจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” ระดับจังหวัด เลือกกันเองในกลุ่มไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียวสองคะแนนไม่ได้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับในแต่ละกลุ่มอาชีพจะได้เข้าสู่การเลือกในขั้นตอนถัดไปจับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม ผู้ที่ได้คะแนน 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 โหวต ผู้ที่ได้คะแนน 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ผ่านเข้าสู่สนามระดับประเทศ

3) ระดับประเทศ ; ผู้ชนะจากระดับจังหวัดจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” ระดับประเทศ แล้วเลือกกันเองในกลุ่มไม่เกิน 10 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียวหลายคะแนนไม่ได้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับในแต่ละกลุ่มอาชีพจะได้เข้าสู่การเลือกในขั้นตอนถัดไป จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม ผู้ที่ได้ 40 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 5 โหวตผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว. คือผู้ที่ได้คะแนน 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม อันดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม เป็นรายชื่อสำรองโดยหากมีผู้สมัครในกลุ่มนั้นๆ ไม่ครบ ใครมาก็เข้ารอบเลย แต่ถ้าโหวตแล้วได้คะแนนเท่ากันให้จับสลาก โดยตลอดระยะเวลาการเลือก ส.ว. จะไม่สามารถหาเสียงได้ ยกเว้นการแนะนำตัวตามที่ กกต.กำหนดให้เท่านั้น

คาดว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่จำนวน 200 คน น่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้ นับว่าเป็นความแปลกประหลาดที่หาเหตุผลไม่ได้เลยว่าทำไมจึงต้องออกแบบการเลือกตั้งที่พิลึกกึกกือขนาดนี้ ความจริงประเทศไทยเมื่อครั้งยังมีชื่อว่าสยาม ก็เคยมีการเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ส.ส.ครั้งแรก และครั้งเดียวของไทยโดยการกำหนดให้กรมการอำเภอ ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จากนั้นผู้แทนตำบลที่ราษฎรเลือกตั้งไว้ตำบลละหนึ่งคนจึงไปเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อได้ผู้แทนตำบลแล้ว ผู้แทนตำบลจึงออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัด โดยผู้แทนตำบลมีสิทธิเลือก ส.ส.ได้เท่าจำนวน ส.ส.ที่จังหวัดนั้นพึงมี การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้มี ส.ส.ประเภท 1 จำนวน 78 คน โดยถือจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัดเป็นเกณฑ์กำหนดจำนวน ส.ส. ถือเอาที่ประชากร 200,000 คนต่อ ส.ส. 1 คน ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีอยู่ 70 จังหวัด เลือกผู้แทนราษฎรหนึ่งคน นับว่าเป็นอัตราส่วนที่คิดจำนวนประชากรไม่สูงมาก เพราะตอนนั้นประชากรทั้งประเทศของสยามยังมีไม่ถึง 18 ล้านคน จึงเลือก ส.ส.ได้ 78 คน โดยบางจังหวัดมีผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคน เช่น จังหวัดเชียงใหม่มีผู้แทนราษฎรได้ 2 คน จังหวัดร้อยเอ็ดกับจังหวัดมหาสารคามก็มีผู้แทนราษฎรได้ 2 คน เพราะมีประชากรมาก เช่นเดียวกับจังหวัดนครราชสีมาก็มีผู้แทนราษฎรได้ 2 คน แต่จังหวัดที่มีผู้แทนราษฎรได้มากที่สุดมีอยู่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดพระนครกับจังหวัดอุบลราชธานี เพราะมีผู้แทนราษฎรได้ 3 คน จึงได้ ส.ส.จำนวน 78 คน จาก 156 คนของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีก 78 คน เป็นการแต่งตั้งจากสมาชิกของคณะราษฎรผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เหตุผลของการเลือกตั้ง ส.ส.แบบทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวนี้เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการศึกษาขั้นประถมศึกษาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดจึงจำเป็นต้องเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวดังกล่าว

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image