คนตกสีที่อยูอีกฝั่งหนึ่ง : ‘การปฏิวัติ’ ในการ์ตูน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 มีนาคม 2567) หากใครแวะไปที่ห้าง Union Mall ปากทางลาดพร้าว ก็อาจจะแปลกใจกับปริมาณผู้คนคับคั่งที่ไปร่วมงาน Comic Square ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นมหกรรมออกร้านขายของและแสดงสินค้าของนักวาดและผู้สร้างสรรค์ผลงานดัดแปลงแนวการ์ตูนและเกมที่เป็นสินค้าทำมือ (โดชินจิ)

งานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมในลักษณะเป็นผู้ขาย หรือผู้สร้างสรรค์ประมาณ 1,000 ราย ส่วนผู้เข้าร่วมงานนั้นไม่มีการทำสถิติที่เป็นทางการเอาไว้ แต่หากกะประมาณด้วยสายตา ช่วงเวลาที่มีผู้เข้าร่วมหนาแน่นที่สุด น่าจะเฉียดหมื่นคน หรือถ้ารวมคนที่แวะมาหรือไปกลับก็น่าจะเกินกว่านั้นมาก จำนวนผู้คนล้นหลามนี้ทำให้คนในวงการการ์ตูนและเกมเองก็ตกใจและคาดไม่ถึงเหมือนกันว่างาน CQ ปีนี้จะได้รับความสนใจมากขนาดนี้

รวมถึงถ้าจะนับอีกงานซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกันที่ Siam Discovery ก็มีผู้จัดกิจกรรมรวมตัวชูมือเป็นสัญลักษณ์การรวม “พลังเกงกิ” จากเรื่องดราก้อนบอล เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่อาจารย์โทริยามะ อากิระ ผู้ประพันธ์ซีรีส์ดังกล่าว โดยผู้เข้าร่วมประมาณด้วยสายตาน่าจะเกิน 500 คน โดยผู้เข้าร่วมต่างชูมือส่งพลังเกงกิเป็นสัญลักษณ์ และยืนไว้อาลัยสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที ก่อนจะร่วมกันร้องเพลงจากการ์ตูนดังกล่าวเป็นการปิดท้าย

กิจกรรมทั้งสองงานในวันอาทิตย์แสดงให้เห็นถึงการก้าวขึ้นมาเป็น “วัฒนธรรมหลัก” อย่างหนึ่งของสื่อประเภทการ์ตูนและเกม ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่ว่าในงานสัปดาห์มหกรรมหนังสือแห่งชาติรอบเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หนังสือประเภทการ์ตูน ไลต์โนเวล และนวนิยายเป็นประเภทของหนังสือที่ขายดีและทำรายได้สูงที่สุด

Advertisement

ความเคลื่อนไหวของวงการการ์ตูนไทยยังอาจจะต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นนิดหน่อย ถึงการปรากฏตัวขึ้นของแอนิเมชั่นเรื่อง “2475 Dawn of Revolution” ที่สร้างโดย บริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด กำกับและร่วมกันเขียนบทโดย วิวัธน์ จิโรจน์กุล กับปัณฑา สิริกุล ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านทางแพลตฟอร์ม YouTube ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม โดยการ์ตูนแอนิเมชั่นดังกล่าวได้รับความสนใจพอสมควรจากผู้คนในแวดวงการเมือง ซึ่งมีทั้งเข้าไปเพื่อชมงานอย่างชื่นชมจริงๆ และที่เข้าไปเพื่อจะหาเรื่องมาด่า เพราะแสดงความชัดเจนตั้งแต่ช่วงโปรโมต รวมถึงเพจและบุคคลที่ร่วมโปรโมตที่คาดเดาได้ว่าเป็นไปเพื่อนำเสนอแง่มุมที่ดำมืดของ “คณะราษฎร” และการอภิวัฒน์ 2475

จนถึงค่ำวันอาทิตย์ แอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าวมียอดเข้าชมแล้วเกิน 5 แสนครั้ง ซึ่งถือว่าทำได้ไม่แย่นักเมื่อเทียบกับคุณภาพของงานที่ออกมา ซึ่งผู้เกี่ยวข้องและฝ่ายสนับสนุนก็อวดอ้างได้ว่าเป็น “ความสำเร็จ” ของแอนิเมชั่นเรื่องนี้แล้ว ถึงอย่างนั้นการจะวัด “ความนิยม” อันแท้จริงของแอนิเมชั่นดังกล่าวได้นั้น นอกจากยอดเข้าชมแล้วอาจจะต้องพิจารณาด้วยว่า จำนวน 5 แสนวิวข้างต้น มี “คนกันเอง” ที่เกี่ยวข้อง และที่ “ขอความร่วมมือ” ให้เข้ามาช่วยกันชมกันแชร์อยู่เท่าไรเมื่อหักจากผู้ชมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และในจำนวนดังกล่าวมีผู้ดูจนจบแบบไม่ข้ามเป็นสัดส่วนเท่าไร และมียอดกลับมาดูซ้ำอยู่ที่เท่าไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นอกจาก YouTube แล้วก็มีแต่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะมีไว้วิเคราะห์ได้

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม้ในที่สุดงานจะออกมาในระดับที่คนดูการ์ตูนทั่วไปประเมินกันว่าคุณภาพต่ำเกินกว่าจะยอมรับได้ แต่ในฐานะของคนที่เอาใจช่วยวงการการ์ตูนทุกรูปแบบของผู้สร้างสรรค์ไทย อย่างน้อยควรต้องชื่นชมในความกล้าหาญของผู้สร้างและผู้เกี่ยวข้องกับแอนิเมชั่นเรื่องนี้ที่อย่างน้อยก็สามารถสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นที่ชัดเจนว่าเพื่อสื่อสารอุดมการณ์และแนวคิดทางการเมืองออกมาฝากไว้ในวงการการ์ตูนแอนิเมชั่นไทย โดยการสร้างการ์ตูนแอนิเมชั่นความยาวถึงสองชั่วโมงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยมีต้นทุนทั้งที่เป็นตัวเงินตรงไปตรงมา ต้นทุนเชิงเวลาและพลังแรงงานของคนที่ต้องทำงานนี้เป็นอย่างสูง ที่ถ้าจะเอาเร็ว หรือคุ้มค่าก็ไม่ควรหาทำ อย่างที่แม้จะได้ค่าตอบแทนอย่างไรก็ไม่น่าจะคุ้มกับความเหนื่อยยาก ผู้สร้างสรรค์จึงต้องมีแรงผลักดันที่ลึกซึ้งและทรงพลังมากทีเดียวในการสร้างงานชิ้นนี้ออกมา

Advertisement

สำหรับเนื้อหาของการ์ตูนก็สื่อออกมาอย่างที่คาดหมายได้ ว่าในที่สุดแม้จะพยายามแสดงให้เห็นถึงแง่มุมมิติความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่าย (ซึ่งต้องยอมรับว่าในเรื่องนี้เป็นส่วนที่ดี) แต่สุดท้ายด้วยโทนแสงสีและการนำเสนอก็ต้องให้ฝ่ายผู้ก่อการคณะราษฎรเป็น “ผู้ร้าย” และฝ่ายผู้ครองอำนาจเดิมเป็น “ฝ่ายดี” ที่เห็นแก่ชาติบ้านเมืองอย่างจริงจังและมุ่งหมายพยายามทัดทาน หรือป้องกันผลร้ายที่จะเกิดแก่ประเทศชาติโดยสุดกำลังแล้ว

ในเชิงข้อมูลสนับสนุนนั้น ถ้าใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญก็คงพอจะคาดหมายได้ไม่ผิดคาดมากนัก เพราะถ้าถามว่ามีงานเขียน หรืองานศึกษาทางวิชาการ หรือเรื่องแต่งอิงประวัติศาสตร์ที่มุ่งแสดงแง่ลบแง่ร้ายของคณะราษฎรนั้นจะไปหาได้จากไหน และจะนำเสนอไปในทิศทางใดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิดแอบแฝงของนายปรีดี พนมยงค์ ที่อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากระบอบสังคมนิยม (ซึ่งก็ถูกเอาไปตีขลุมรวมว่าเป็นเรื่องเดียวกับ “คอมมิวนิสต์” ไป) การแตกคอกันเองของคณะราษฎร ความ “บังอาจ” ของผู้ก่อการที่กระทำต่อเชื้อพระวงศ์ หรือบุคคลในระบอบเก่า รวมทั้งข้อมูลว่าพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเตรียมตัวจะพระราชทานรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” อยู่แล้ว แต่เป็นเพราะคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามเอง ฯลฯ

ความพยายามล้างลบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรนี้เป็นกระบวนการที่คล้ายต่อเนื่องกันมาตั้งแต่การขุดลักหมุดคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า การรื้ออนุสาวรีย์ปราบกบฏที่วงเวียนหลักสี่ รวมตลอดจนการเปลี่ยนชื่อสถานที่สำคัญในทุกระดับเพื่อเอาชื่อของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรออกไปจากพื้นที่ที่อำนาจรัฐของฝ่ายความมั่นคงจะจัดการได้โดยไม่เอิกเกริก

แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่เหมือนจะสวนทางกับความพยายามข้างต้นกลับปรากฏว่า “คณะราษฎร” กลับกลายเข้ามาสู่ความสนใจของสาธารณชนในช่วงเวลาแห่งการเรียกร้องทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2563-2564 ที่การย้อนกลับไปหา “คณะราษฎร” นี้ถือเป็นมิติใหม่ของการต่อสู้ทางการเมือง พร้อมกับเพดานของการต่อสู้ที่ไม่ได้หยุดอยู่ที่เรียกร้องเอา “ประชาธิปไตย” จากฝ่ายกองทัพที่รัฐประหารและสืบทอดอำนาจเท่านั้น แต่ยังทะลุเลยไปไกลกว่านั้น

“คณะราษฎร” จึงกลับมากลายเป็น “ปีศาจ” แห่งกาลเวลาที่ไม่มีวันตาย หลอกหลอนผู้คนที่ศรัทธา หรือได้รับประโยชน์จากระบอบเก่าราวกับ “สาย สีมา” ที่กลับมาเกิดใหม่เป็นลูกชายลูกสาวที่พวกเขาไม่รู้จัก วัยรุ่นหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น ย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันอย่างมีนัยสำคัญ หนังสือที่ขายดีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในช่วงเวลานั้นเป็นหนังสือ หรืองานวิจัยประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการอภิวัฒน์ 2475 และช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงงานการศึกษาที่บอกเล่าถึงการ “สร้างสม” กำลังอำนาจทางการเมืองของขั้วอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้รับความสนใจซื้อหาเสพอ่านกันอย่างกระหายหิว โดยวัยของผู้ที่หาซื้อหนังสือเหล่านี้ไปอ่านลดลงเรื่อยๆ จากนิสิต นักศึกษา มาเป็นเด็กมัธยมปลายจนถึงมัธยมต้น หนังสือบางเล่มเป็นเสี้ยนหนามของอีกฝ่ายหนึ่งจนต้องหาทางกำจัด หรือดิสเครดิตด้วยการจับผิดหยุมหยิมเกี่ยวกับการอ้างอิงเพียงไม่กี่จุดเพื่อหวังลากไปทำลายน้ำหนักของผลงานทั้งเล่ม

แอนิเมชั่น 2475 Dawn of Revolution ก็อาจจะเป็นหนึ่งในแนวรบและอาวุธของฝ่ายอำนาจจารีตนิยมที่พยายามมุ่งลดทอนกระแสคณะราษฎร แต่จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ก็ต้องแล้วแต่ว่าตัวชี้วัดของผู้ที่เกี่ยวข้องนี้คืออะไร

การทำการ์ตูนแอนิเมชั่นขึ้นมาโจมตีคณะราษฎรนี้ถือเป็นสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นที่ต้องเคารพ แม้เรื่องมันออกจะย้อนแย้งในทีที่เสรีภาพนี้เกิดมีขึ้นมาได้ก็เป็นผลพวงมาจากการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรก็ตาม แต่ด้วยเหตุผลนี้เองที่การตอบโต้ที่ดีที่สุดของฝ่ายที่ศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางของคณะราษฎร จึงเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นการใช้เสรีภาพอย่างเดียวกันนั้นในการสร้างแอนิเมชั่น การ์ตูน หรืองานสร้างสรรค์ขึ้นมานำเสนอตอบโต้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในอีกแง่มุมหนึ่งบ้าง

แต่เรื่องนี้ก็ยังมีข้อที่ได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ ด้วยฝ่ายที่มุ่งโจมตีคุณค่าแห่งประชาธิปไตยนี้เผลอๆ จะใช้เสรีภาพได้มากกว่าด้วยกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่ได้เอื้อต่อฝ่ายตนได้มากกว่า โดยการสร้างสื่อที่นำเสนอความเลวร้ายของคณะราษฎรว่าแย่งชิงอำนาจการปกครองประเทศมาโดยมิชอบจากผู้ทรงอำนาจปกครองเดิม หรือกระทำการบิดเบือนใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือสร้างภาพให้นายปรีดีเป็นปีศาจปลาหมึกคอมมิวนิสต์นั้นสามารถทำได้เต็มที่ ในขณะที่การนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ว่าการปกครองในระบอบเก่านั้นมีปัญหาอย่างไร หรือทำไมความเชื่อ “อำนาจสูงสุด” ไม่ได้เป็นของประชาชนมาตั้งแต่แรกนั้นไม่สมเหตุสมผลอย่างไร การนำเสนอประเด็นดังกล่าวโดยตรงไปตรงมาภายใต้ระบบกฎหมายและสภาพการบังคับใช้กฎหมายที่คาดหมายไม่ได้ในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องยาก

หากภายใต้ข้อจำกัดและความไม่เท่าเทียม ผู้สร้างสรรค์งานของฝ่ายประชาธิปไตยก็สามารถสร้างผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวในช่วงเดียวกัน แต่เป็นการมองผ่านมุมของสามัญชนคนธรรมดาที่จับพลัดจับผลูเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งสำคัญนี้ได้ สำหรับผู้ที่อยาก “ล้างตา” จากแอนิเมชั่นที่ว่านี้ ก็ขอแนะนำกราฟิกโนเวลแนวดราม่าอิงประวัติศาสตร์ “2475 นักเขียนผีแห่งสยาม” ซึ่งเล่าเรื่องราวของ “นิภา” หญิงสาวสามัญชน ผู้พิสูจน์อักษรแห่งหนังสือพิมพ์ซึ่งมีเบื้องหลังเป็นนักเขียนผีผู้กล้าวิจารณ์รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้เข้าไปพัวพันกับกลุ่มก่อการปฏิวัติขบวนการข้าราชการรุ่นใหม่ที่มุ่งหวังยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนระบอบการเมืองเดิมให้เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ “คณะราษฎร”

บอกไว้ล่วงหน้าว่า หากหวังว่าการ์ตูน หรือกราฟิกโนเวลเรื่องนี้จะออกมาเพื่อ “อวยยศ” หรือ “เชิดชู” คณะราษฎรนั้นก็อาจจะผิดหวังได้ เพราะเอาเข้าจริงในเรื่องนี้แสดงให้เห็นด้านมืดในความเป็นมนุษย์ของนายปรีดี จอมพลแปลก และคณะผู้ก่อการในคณะราษฎรได้ลึกซึ้งและน่ากลัวกว่าแอนิเมชั่นที่กล่าวถึงนั้นอีก หากจุดที่น่าสนใจที่สุดของการ์ตูนเรื่องนี้คือการแสดงให้เห็นภาพของ “สามัญชน” คนธรรมดาว่าพวกเขาเป็นอยู่กันอย่างไรในยุคสมัยนั้น และการปกครองในระบอบเดิมนั้นเป็นแอกภาระให้แก่ชีวิตของพวกเขาอย่างไร รวมถึงให้คำตอบที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งที่มักจะมีผู้ถามกันมาเสมอเวลาถกเถียงสนทนาว่าด้วยสิทธิเสรีภาพว่า “จำเป็นหรือไม่ที่จะมีสิทธิเสรีภาพได้นั้นต้องมีประชาธิปไตยเป็นปัจจัยหลัก” ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนออย่างคมคายผ่านนิทานที่เหมือนจะน่ารักในตอนแรก

สนใจหา “2475 นักเขียนผีแห่งสยาม” มาอ่านได้ผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ (ยังไม่มีรูปแบบ e-Book) ร้านหนังสือและสินค้าเฉพาะทางที่จำหน่ายการ์ตูนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image