ทิศทาง ปรองดอง ‘เดิมพัน’ ประเทศไทย เดิมพัน ‘คสช.’

ด้าน 1 คสช.ออกมาระบุว่า “ปรองดอง” คือ เดิมพันของประเทศ ขณะเดียวกัน ในอีกด้าน 1 “ปรองดอง” ก็เป็นเดิมพันของ คสช.ด้วย

บทสรุปนี้สะท้อนความสำคัญของ “ปรองดอง”

ที่ว่าปรองดองเป็นเดิมพันของ “ประเทศ” เพราะความขัดแย้ง แตกแยก คือ “วิกฤต” คือปัญหาของบ้านเมือง

แสดงอาการตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

Advertisement

บทสรุป 1 ซึ่งนำไปสู่รัฐประหาร “ซ้ำ” อีกคำรบ 1 ในเดือนพฤษภาคม 2557 เพราะรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ถูกประเมินว่า

เป็นรัฐประหาร “เสียของ”

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้ “คสช.” จำเป็นต้องประกาศให้ “ปรองดอง” เป็นนโยบายสำคัญตั้งแต่เดือนมกราคม 2560

คำตอบ 1 เพราะว่าปัญหานี้ยืดเยื้อ ยาวนานอย่างยิ่ง และยังคงเป็น “ปัญหา” อยู่

คำตอบ 1 เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่าตลอดเวลา 2 ปีกว่าที่ “คสช.” อาสาเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา ยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย

ตรงนี้แหละที่ “ปรองดอง” จะเป็น “เดิมพัน” ของ คสช.

 

ต้องยอมรับว่า วิกฤตอันเนื่องจากความขัดแย้ง ความแตกแยก ไม่สามารถใช้ “อำนาจ” บังคับหรือบริหารจัดการได้

หากทำได้คงทำได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 แล้ว

หากสรุปตามสำนวนของคำสั่งที่ 66/2523 ก็ต้องว่า ความขัดแย้ง ความแตกแยก มิอาจนำเอาแนวทาง “ปราบปราม” มาเป็นเครื่องมือ

จำเป็นต้องเอาแนวทาง “ต่อสู้”

และการต่อสู้ในที่นี้มิใช่การต่อสู้ด้วย “อำนาจ” ตรงกันข้าม เป็นการต่อสู้ในทาง “ความคิด” ซึ่งตามหลักของ “ซุนวู” ก็คือ

การรบทาง “ใจ” นั่นก็คือ “ปรองดอง”

กระบวนการรบทางใจก็คือ กระบวนการยึดเมืองโดยไม่ต้องรบ แต่ทำให้อีกฝ่ายยอมรับและยอมจำนนเอง

จำเป็นต้องใช้ “การเมือง” นำ

หากใช้การทหารนำความสงบที่บังเกิดก็คือ ความสงบอย่าง “ราบคาบ” มิใช่ความสงบอย่างร่มเย็นเป็นสุข

คำถามก็คือ “คสช.” มีความพร้อมเพียงใดกับ “เครื่องมือ” นี้

 

บทบาทและความหมายของ “ปรองดอง” จึงมิได้อยู่ที่การลงนามในสิ่งที่เรียกว่า “บันทึกช่วยจำ” หรือ “เอ็มโอยู”

เพราะนั่นเสมอเป็นเพียง “รูปแบบ”

ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ จะต้องมีการพัฒนาจากที่เคยพูดกันคนละภาษา พูดกันคนละผลประโยชน์ ให้มาพูดภาษาเดียวกัน ให้ยอมรับต่อผลประโยชน์ร่วมกัน

จำเป็นต้อง “เสียสละ” ในบางเรื่อง

ในความเป็นจริงภายในกระบวนการ “ปรองดอง” ไม่มีใครเป็นฝ่าย “ได้” อย่างเดียว และไม่ควรให้ใครเป็นฝ่ายเสียสละหรือ “เสีย” อย่างเดียว

สรุปตามสำนวนก็คือ ต้องพบกัน “ครึ่งทาง”

หาก “คสช.” สามารถสร้าง “ปรองดอง” ให้บังเกิดขึ้นได้ในทางเป็นจริง นั่นหมายถึงความสำเร็จ นั่นหมายถึงชัยชนะ แต่ถ้าหากไม่สำเร็จ นั่นหมายถึงความล้มเหลว นั่นหมายถึงความพ่ายแพ้

ตรงนี้แหละคือ “เดิมพัน” อันทรงความหมายยิ่ง

 

เดิมพันจาก “ปรองดอง” จึงมิได้หมายความว่าจะเป็นการยุติความขัดแย้ง และประเทศไทยเริ่มเดินไปข้างหน้า

หลังจากพลัดหล่นไปในหล่มโคลนมากว่า 1 ทศวรรษ

บทบาทที่สำคัญก็คือ เท่ากับสะท้อนว่ารัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มีความเหนือกว่ารัฐประหารเดือนกันยายน 2549

และนั่นคือ “เดิมพัน” สำคัญของ “คสช.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image