ภาพเก่า…เล่าตำนาน เรื่อง ความรัก อาถรรพ์ หรรษาและโศกสลด ของเรือไททานิก (3) : เรียบเรียงโดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

ความเดิมจากตอนที่แล้ว….เรือสำราญวิมานลอยน้ำไททานิก ชนแฉลบกับภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือตอนกลางดึกของวันที่ 14 เมษายน 2455 เมื่อเวลา 23.40 น. (ซึ่งตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.6) ผู้โดยสารแย่งชิงกันลงเรือชูชีพหนีตายไปได้ราว 710 คน ผู้โดยสารชะตาขาดลงเรือชูชีพไม่ทัน ต้องกระโดดลงไปลอยคอในทะเลที่เย็นเกือบเป็นน้ำแข็งอุณหภูมิ ลบ 2 องศา ในที่สุดร่างกายทนไม่ไหวเสียชีวิตเพราะภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) และเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ อีกมากกว่า 1,500 คน เรือที่ได้รับการออกแบบให้ “ไม่มีวันจม” (The Unsinkable) หลังจากกระแทกเข้ากับภูเขาน้ำแข็งที่มีอายุราว 3 พันปี ทำให้ตัวถังเรือด้านขวาแตกฉกรรจ์ น้ำทะเลเย็นเฉียบทะลักทะลุไปทุกแห่งในลำเรือ จ้าวสมุทรไททานิกค่อยๆ จมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก จมสนิทมิดลำเรือในเวลา 02.20 น. (ของวันที่ 15 เมษายน 2455)
มีเวลาทำการอพยพผู้โดยสารลงเรือชูชีพราว 1 ชม. 20 นาที
การสอบสวนความหายนะของไททานิกในภายหลังระบุว่า เย็นวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2455 ทะเลสงบผิดปกติ อากาศโดยรอบเย็นวาบ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในหมู่นักเดินเรือว่าจะต้องมีภูเขาน้ำแข็งอยู่ในบริเวณใกล้พื้นที่ใกล้เคียง กัปตันและลูกเรือบางส่วนบอกได้จากประสบการณ์ในทะเล
กัปตัน อี. เจ. สมิธ ผู้ช่ำชองแอตแลนติกกังวลใจไม่น้อยเรื่องภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg)

Online-Titanic 7

ในเวลา 20.55 น. ด้วยความไม่แน่ใจ กัปตันสมิธเดินมายังสะพานเดินเรือ กังวลว่าไททานิกกำลังแล่นเข้าสู่เขตของภูเขาน้ำแข็ง กัปตันปรึกษากับทีมงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรืออยู่พักใหญ่ด้วยความไม่สบายใจ ทุกคนยอมรับว่าทัศนวิสัยคืนนั้นแย่มาก
เรือโดยสารขนาดยักษ์ที่ทันสมัยที่สุดในโลกยังคงเดินทางต่อไป

Online-ไททานิก 3-1
ในเวลา 21.30 น. กัปตันสมิธออกไปจากสะพานเดินเรือ (ห้องควบคุมและสั่งการ) โดยย้ำเตือนแก่พนักงานบนเรือให้เฝ้าสังเกตสิ่งผิดปกติข้างหน้า ให้รักษาความเร็วของเรือไททานิกที่ 22 นอต (ประมาณ 40 กิโลเมตร/ชม.) และมอบให้ผู้ช่วยกัปตันเมอร์ด็อค รับผิดชอบสั่งการแทน
เวลา 23.40 น. ยามที่ยืนบนเสากระโดงเรือเพื่อเฝ้ามองเส้นทางชื่อเฟรดเดอริก ฟลีท (Frederick Fleet) ตะโกนว่า “ภูเขาน้ำแข็งตรงหน้า” เรือไททานิกกำลังพุ่งเข้าไปปะทะตรงหน้า เฟรดเดอริกเป็นลูกเรือและเป็นยามเสากระโดงเรือมากว่า 4 ปี และได้ถูกมอบหมายให้มาเป็นยามสังเกตการณ์บนเรือสำราญลำนี้ร่วมกับ เรจินัลด์ ลี (Reginald Lee) ที่ย้ายมาจากเรือโอลิมปิกเรือแฝดพี่ของไททานิก
เมื่อได้รับสัญญาณอันตราย ผู้ช่วยกัปตันสั่งหยุดเครื่องยนต์และให้เดินเครื่องถอยหลังเต็มตัว เรือใหญ่ที่สุดในโลกอันแสนจะอุ้ยอ้ายไม่สามารถหยุดได้ในเสี้ยวนาที หลังจากนั้นเพียง 40 วินาที เสียงที่เรือสำราญไปแฉลบชนกับภูเขาน้ำแข็งในทะเลดังสนั่นปานฟ้าผ่าตอนดึก
กัปตันสมิธที่แต่งเครื่องแบบนอนอยู่ในห้องพักสะดุ้งสุดตัวตาม แรงกระแทกสะท้านของตัวเรือ กัปตันรีบไปที่สะพานเดินเรือ สั่งการให้ปิดประตูกั้นน้ำทั้งหมด ผู้ช่วยกัปตันเมอร์ด็อค บอกว่าปิดเรียบร้อยแล้ว และรายงานต่อว่า เรือได้เฉียดไปชนภูเขาน้ำแข็ง แต่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
ผู้โดยสารทุกคนบนเรือทราบดีว่าดึกดื่นป่านนี้ เรือออกอาการกระแทกขนาดนี้ ต้องไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน วินาทีนั้นคือการเริ่มต้นของวิกฤตหนีตาย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เรือออกทะเลมา 4 วันไม่เคยมีการซักซ้อมแผนการสละเรือแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มีระเบียบที่ต้องซักซ้อม
ทุกคนหวีดร้องหยิบฉวยสิ่งของ ตะโกนเรียกหาครอบครัวและคนรักแล้วพุ่งตรงไปดาดฟ้าเพื่อไปให้ถึงเรือชูชีพ

Advertisement

Online-ไททานิก 3-3

เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) เป็นผู้อำนวยการสร้างและกำกับภาพยนตร์เรื่องไททานิก ผลิตโดย ทเวนตี้เซ็นจูรีฟ๊อกซ์ และ พาราเมาท์พิกเจอร์ เลือกนักแสดงชายหล่อลากดินชาวอเมริกัน ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ให้เป็นพระเอกในภาพยนตร์ชื่อแจ๊ค รับบทเป็นเด็กหนุ่มอเมริกันเตร็ดเตร่เล่นโป๊กเกอร์ชนะได้รางวัลเป็นตั๋วเดินทางชั้น 3 และ เคต วินสเล็ต นักแสดงชาวอังกฤษเป็นนางเอกในภาพยนตร์ที่ชื่อโรส รับบทสาวงามผู้ดีมีตระกูลออกฉายเมื่อ พ.ศ.2540 ภาพยนตร์เรื่องนี้ครองแชมป์ทำรายได้สูงสุดของโลกนานอยู่ 12 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ.2553 ภาพยนตร์เรื่องอวตาร ที่เจมส์ คาเมรอน (คนเดิม) กำกับการแสดงก็ขึ้นมาทำรายได้แซงหน้าไททานิก
งบประมาณในการสร้างหนังเรื่องไททานิกใช้ไปราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่งบประมาณต่อเรือไททานิกทั้งลำใช้ไป 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เวลาต่างกันกันราว 80 ปี)
ผู้กำกับมือทองสั่งให้นักแสดง-ทีมงานในภาพยนตร์ใช้เวลาศึกษากิริยาและบุคลิกของผู้คนสมัยปี พ.ศ.2455 รวมทั้งข้อมูลจากซากเรือไททานิกที่จมอยู่ก้นมหาสมุทรนาน 73 ปี ลึกเกือบ 4 กม. นักสำรวจใต้น้ำได้บันทึกภาพของเรือไททานิก รวมทั้งอุปกรณ์บนเรือ สิ่งของในห้องใต้ท้องเรือ แม้กระทั่งสภาพของห้องอาหารที่เรียกอาหารมื้อนั้นว่า The Last Supper of Titanic เพื่อการสร้างฉากให้ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด
ลองมาย้อนอดีตถึงบุคคลที่มีอยู่จริงบนเรือไททานิกและถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

นักแสดงคนสำคัญ คือ กัปตันสมิธ ซึ่งนักแสดงเกือบทุกคนมีอยู่จริงบนเรือไททานิก ที่ผู้กำกับคาเมรอน กำหนดให้นักแสดงกว่า 150 ชีวิตแสดงเป็นตัวละครที่มีชื่อบนเรือ
มากาเร็ต โทบิน บราวน์ (Magaret Tobin Brown) หรือฉายามอลลี่ผู้ไม่มีวันจม เป็นเศรษฐีในยุคนั้นได้ร่วมเดินทางไปกับเรือไททานิกครั้งนั้นด้วย ในภาพยนตร์เธอช่วยหาชุดแต่งกายแบบชนชั้นสูงให้กับแจ๊ค
คู่รักชายหญิงชราภาพที่นอนเคียงกันตระกองกอดและจุมพิตกันบนเตียงในห้องที่น้ำกำลังท่วมเพื่อขอตายไปพร้อมกัน ในเรือที่กำลังจม
แจ๊ค ดอว์สัน ที่เป็นพระเอกในภาพยนตร์ มีตัวตนจริง เขาเป็นผู้โดยสารคนหนึ่งและเสียชีวิตไปพร้อมเรือ ญาติของแจ๊คไปสร้างหลุมฝังศพให้เขาที่สุสาน ในเมืองโนวาสโกเทีย (Nova Scotia) ทางตะวันออกสุดของประเทศแคนาดา หลุมฝังศพของเขาได้รับการเข้าเยี่ยมมากที่สุดในสุสาน
เรื่องเหลือเชื่อ แต่ต้องเชื่อครับ…ในภาพยนตร์มีฉากที่นักดนตรีในเรือยังคงบรรเลงเพลงต่อไปทั้งๆ ที่เรือประสบอุบัติเหตุ นักดนตรีที่ดีดสีตีเป่า ออกอาการลังเลอยู่บ้าง ซึ่งในเหตุการณ์จริงก็เป็นเช่นนั้น ผู้กำกับศึกษาข้อมูลจากผู้รอดชีวิตมาแล้ว ระบุว่า นายฮาร์ทลีย์ (Wallace H. Hartley) หัวหน้าวงสั่งให้นักดนตรีเล่นเพลง Nearer My God to Thee ซึ่งเป็นเพลงที่มีความหมายถึงการได้ใกล้ชิดพระเจ้า เป็นเพลงที่คริสต์ศาสนิกชนใช้ร้องสวดให้มีกำลังใจที่จะได้พบพระเจ้า ในขณะที่เรือประสบอุบัติเหตุยังคงเล่นต่อไป (ภาพนักดนตรีทั้งวงตามที่ปรากฏข้างบน)
วิศวกรผู้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือไททานิกมาตั้งแต่เริ่มชื่อ โทมัส แอนดรูว์ส (Thomas Andrews) สะเทือนใจเป็นที่สุด ขณะที่เรือกำลังจะจม วิศวกรผู้นี้เดินเข้าไปในห้องสูบบุหรี่ของผู้โดยสารชั้น 1 ขอสละชีพไปกับเรือที่ตนออกแบบ เพื่อจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับคำถามและความอับอายที่จะต้องแบกรับในอนาคต
หุ้นส่วนเจ้าของบริษัทเรือชื่อ บรู๊ซ อิสเมย์ (Bruce Ismay) ในขณะเรือประสบเหตุ มีพยานยืนยันว่าชายผู้นี้ใช้ผ้าคลุมศีรษะ พรางตัวเป็นสตรีเพื่อจะที่ได้รับสิทธิลงเรือชูชีพหนีไปก่อนพร้อมกับเด็ก และในที่สุดก็แย่งชิงกับเด็กและสตรีลงเรือชูชีพไปได้จึงรอดตาย แต่ต่อมาบุคคลผู้นี้ได้รับการประณามหยามเหยียดจากสังคมทุกหนแห่งตลอดชีวิตจนตาย
ในฉากสุดท้ายของหนัง เมื่อโรสพบกับแจ๊คที่บันได นาฬิกาบอกเวลา 02.20 น. เป็นเวลาจริงๆ ที่เรือไททานิกล่ม

Advertisement

ภาพยนตร์เรื่องไททานิก ได้รับรางวัลออสการ์ ถึง 11 สาขา และรางวัลลูกโลกทองคำอีก 4 สาขา กวาดทุกรางวัลบนโลกใบนี้ไปหมด มีแฟนพันธุ์แท้เวียนเข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้หลายรอบแบบมิรู้เบื่อ
เรื่องของแจ๊ค ดอว์สัน กับโรส บูเคเตอร์ เป็นเรื่องของบทประพันธ์ที่สร้างขึ้นได้อย่างลงตัว ทำให้ผู้ชมถึงกับละเมอถึงความรักของหนุ่มสาวคู่นี้ที่จำต้องพลัดพราก รวมทั้งเพชรห้อยคอสีน้ำเงินที่ชื่อ “หัวใจมหาสมุทร” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของบทประพันธ์
ฉากที่วิเศษสุดของไททานิก คือ ฉากรักที่พระเอกแจ๊คตระกองกอดนางเอกโรสที่ยืนกางแขนตรงส่วนหัวของเรือเดินสมุทร แจ๊คสอนให้เธอรู้จักบิน ทั้งคู่มองออกไปในทะเลที่ไร้คลื่น ฟ้าเป็นสีคราม ผมสีทองของเธอปลิวสลวยไปกับสายลม ร่างกายของหนุ่มสาวที่มีความรักได้รับลมทะเลที่มาม้วนโอบ หลอมรัดกายาของคู่รักให้แนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน
ประโยคที่เศร้าที่สุดก่อนทั้งคู่ตัดสินใจกระโดดลงทะเล คือ You jump, I jump. โรสบอกแจ๊คว่า เธอโดดลงไปแล้วฉันจะโดดตาม
โปรดติดตามตอนต่อไป ที่จะเปิดเผยผลการสอบสวนหายนะครั้งนี้โดยสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐที่ใช้เวลาสอบสวนนานถึง 18 วันครับ

เรียบเรียงโดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
thetoptens.com/best-moments และ pantip.com

AIS Logo-Online

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image