คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ประชาธิปไตยให้เรา ‘ลองผิด’ กันได้แค่ไหน : โดย กล้า สมุทวณิช

เพียงสิบกว่าวันหลังการเข้าสู่อำนาจอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ก่อให้เกิดความปั่นป่วนโกลาหลไปทั่วโลก จากการที่ “ทำตามสัญญา” ของตัวเองที่ให้ไว้ในครั้งหาเสียงหลายต่อหลายเรื่อง

โดยเฉพาะเรื่องที่ร้อนที่สุดในช่วงสัปดาห์นี้ คือการใช้คำสั่งของฝ่ายบริหารห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศมุสลิม เดินทางเข้าสู่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน ซึ่งส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วหลายวงการ อย่างไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไรเหมือนกัน ตามด้วยการออกคำสั่งและการใช้อำนาจอีกหลายเรื่องที่สร้างแรงสะเทือนได้แบบรายวันอีกเรื่องแล้วเรื่องเล่า อย่างที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะมีเรื่องอะไรขึ้นมาเป็นประเด็นอีกในแต่ละวัน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผู้นำบริหารประเทศนโยบายชาตินิยมสุดโต่ง แต่นี่อาจจะถือว่าเป็นกรณีแรกเลยก็ได้ในประวัติศาสตร์การเมืองโลกยุคใหม่ ที่การใช้อำนาจในรูปแบบดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นกับประเทศที่ใหญ่ระดับมหาอำนาจของโลก โดยผู้นำที่เข้ามาโดยวิถีทางของ “ประชาธิปไตย” ที่แม้ว่าจะยังมีข้อถกเถียงได้บ้างในเรื่องความชอบด้วยการรับรู้เสียงข้างมากก็เถิด แต่ก็ต้องถือว่าเขาเข้ามาสู่ตำแหน่งโดยชอบด้วยกติกาของการเลือกตั้งทุกประการ

“ระบอบประชาธิปไตย” อาจจะกำลังถูกทดสอบด้วยบททดสอบที่หนักที่สุดในครั้งนี้ แถมยังเป็นการรับมือกับโรคร้ายที่ปรากฏตัวออกมาหลอกหลอนมนุษยชาติครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง คือความคิดแบบ “ชาตินิยม” และกีดกัน “คนอื่น” ออกไปเป็นคนนอก ซึ่งผู้นำที่โผล่ออกมาฉกฉวยโอกาสครองอำนาจด้วยนโยบายชาตินิยมนี้ปรากฏตัวขึ้นมามากมายคนแล้วคนเล่าในประวัติศาสตร์ ซึ่งในที่สุดล้วนพาไปสู่จุดจบแบบโศกนาฏกรรมด้วยสงครามไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ก็กลับเป็นว่าในช่วงเวลานี้ ไข้ชาตินิยมกำลังกลับมาเติบโตโจมตีมนุษยชาติอีกครั้ง เหมือนเป็นสัญญาณเปลี่ยนยุคของระเบียบโลก

Advertisement

ชวนให้คิดไปถึงบทสัมภาษณ์ปิดท้ายของ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ประชาธิป’ไทย” (Paradoxocracy) ที่กำกับโดยเป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์ ที่ว่า “ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบเดียวที่อนุญาตให้เราผิดได้ถูกได้ เสียหายได้หนัก แต่ประเทศไม่ล่ม ไม่ต้องฆ่ากัน” ซึ่งแตกต่างจากระบอบที่หวังว่าจะมีคนดีมาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ แล้วนำประเทศพัฒนาไปได้อย่างรุ่งเรือง ซึ่ง อ.ธงชัยเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

กับคำสอนในชั้นเรียนของ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ที่เคยสรุป “ข้อดี” ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ดีกว่าระบอบอื่น คือ “มีเฉพาะระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่ผู้นำทำผิดแล้วประชาชนสามารถทักท้วงได้”

ซึ่งในบริบทของคำพูดทั้งสองท่านนั้น แม้จะมาจากยุคสมัยที่แม้จะผ่านเลยมายังไม่นานเท่าไรนัก (หนัง “ประชาธิป’ไทย” ฉายในปี 2556 ส่วนคำพูดของ อ.ปริญญานั้นเผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กของอาจารย์ช่วงปี 2557) แต่ในห้วงเวลาเช่นนั้น คงไม่มีใครคาดการณ์ได้ถึงว่าโลกจะเกิดภาวะ “หักขวา” ครั้งใหญ่ที่ส่งผลให้มีผู้นำอย่างทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีทางแบบ “ประชาธิปไตย”

Advertisement

และเอาเข้าจริงแล้ว ความคิดที่ว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่อนุญาตให้เราสามารถลองผิดลองถูกได้นั้น ก็เป็นคำอธิบายที่คนส่วนหนึ่งยังไม่ค่อยสนิทใจเท่าไร เพราะการเอาประเทศและชะตากรรมของผู้คนในประเทศรัฐนั้นมาร่วมลองผิดลองถูกนั้น ถ้าไม่เกิดความเสียหายร้ายแรงมากนัก ก็อาจจะพอถือเป็น “บทเรียนร่วมกัน” ของระบอบประชาธิปไตยที่จะทำให้เราเติบโตไปพร้อมๆ กันได้

แต่ถ้าการลองผิดลองถูกนั้นส่งผลให้เกิดความพังพินาศถึงระดับที่ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้อีกแล้วล่ะจะเป็นอย่างไร หากมองว่าอย่างน้อยก็เป็นประสบการณ์ร่วมกัน ก็อาจจะถือว่าแลกมาด้วยค่าเล่าเรียนที่แพงเกินไป

และการที่เชื่อว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่ให้ประชาชนสามารถทักท้วงในกรณีที่ผู้นำผิดได้นั้น การทักท้วงนั้นก็ยังต้องสงสัยว่า การให้ประชาชนสามารถทักท้วงได้นั้นเป็นเรื่องในทางทฤษฎี ส่วนในทางปฏิบัติแล้วมีกลไกใดทำให้เราแน่ใจได้หรือไม่ว่า การทักท้วงของประชาชนนั้นจะทำให้ผู้นำยอม “ฟัง” และ “หยุด” การกระทำที่อาจจะ “ผิด” นั้นได้

และที่น่าปวดหัวไปกว่านั้น คือใครจะเป็นคนชี้ว่าสิ่งที่ผู้นำทำอยู่นั้นเป็นเรื่อง “ผิด” หรือ “ถูก” เพราะการได้อำนาจมาโดยวิธีแบบประชาธิปไตยโดยชอบ นั้นก็แปลว่าต้องมีคนจำนวนหนึ่งเห็นว่าสิ่งที่ผู้นำของเขาทำ และเป็นการกระทำที่ถือว่าทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ในตอนหาเสียงด้วยซ้ำ นั้น เป็นสิ่งที่ “ถูก” ที่จะต้องทำ เพราะเป็นสิ่งที่คนส่วนหนึ่งร่วมครึ่งๆ ของประเทศนั้นต้องการ

หรือข้อดีที่ว่าผู้นำที่ไม่ดีที่ภายใต้กติกาประชาธิปไตยนั้นไม่สามารถครองอำนาจได้ยาวนานชั่วกาลหรือตามใจ มาแล้วเดี๋ยวก็ต้องไปตามวาระ แต่กรณีของทรัมป์นี่ก็ทำให้ผู้คนหวั่นใจอยู่เหมือนกันว่า นี่ขนาดผ่านไปสิบกว่าวันยังขนาดนี้ แล้วอีกเกือบสี่ปีล่ะจะเกิดอะไรขึ้น

ในปี 2560 ซึ่งจะเป็นปีที่ผลพวงจากการเลี้ยวขวาครั้งใหญ่ในปี 2559 จะเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมนี้เองที่เหมือนจะเป็นการทดสอบครั้งสำคัญว่า คำพูดที่ว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่อนุญาตให้ผิดได้ถูกได้นั้น ยังเป็นคำอธิบายที่ใช้ได้อยู่หรือไม่ และได้เอาใจช่วยว่ากลไกของระบอบประชาธิปไตยเสรีนั้นจะสามารถเยียวยาแก้ไขตัวเองได้อย่างไร รวมถึงกลไกนิรภัยที่ไม่ให้ผู้นำประเทศนั้นพาประเทศเข้ารกเข้าพงคือการที่ให้ประชาชนสามารถส่งเสียงร้องเตือนหรือมีกลไกต่างๆ ในระบบมาตรวจสอบถ่วงดุลนั้น จะใช้ได้จริงหรือไม่ โดยที่กลไกนั้นจะป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการ “ลองผิดลองถูก” ได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ เรากำลังจะได้สังเกตการณ์และเอาใจช่วยไปด้วยกัน ผ่านกรณีศึกษาทางการเมืองขนาดยักษ์ที่ชื่อว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image