ชาติพันธุ์เพื่อการตลาดของชนชั้นนำ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชาติพันธุ์สองฝั่งโขง (บน) นั่งชันเข่าดูการละเล่น (ภาพถ่ายเก่าโดยชาวยุโรป)

กะเหรี่ยง, ลัวะ, มอญ มีบรรพชนอยู่ทางภาคเหนือของไทยไม่น้อยกว่า 1,700 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 900

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยกลุ่มดีเอ็นเอจากโลงผีแมน อ. ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอน โดย ดร. วิภู กุตะนันท์ แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร (จ.พิษณุโลก)

[สรุปจากข่าวแถลงเรื่องโลงผีแมนฯ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567]

กะเหรี่ยง พูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ส่วนลัวะ, มอญ พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร (ลัวะ เป็นชื่อเรียกรวมๆ ในภาคเหนือ แต่ภาคกลางเรียกละว้า)

Advertisement

เรือน พ.ศ. 900 ในไทยเป็นช่วงนับถือศาสนาผี ก่อนมีวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลาง และก่อนรับศาสนาพราหมณ์-พุทธจากอินเดีย

ครั้งนั้นยังไม่มีคนไทย แต่อีก 800 ปีต่อไปข้างหน้าจะเริ่มมีคนไทยที่อโยธยาในภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ราว พ.ศ. 1700

ดังนั้น “ชาวกะเหรี่ยงเล่าว่าพวกเขาเป็นพี่ชายของไทย” บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เขียนบอกไว้ในหนังสือชาวเขาในไทย (พิมพ์ครั้งแรก 61 ปีมาแล้ว พ.ศ. 2506)

Advertisement

กะเหรี่ยง, ลัวะ, มอญ ยังดำรงชาติพันธุ์ของตนอย่างองอาจ แล้วตั้งหลักแหล่งปะปนอยู่ในไทย, พม่า ฯลฯ แต่จำนวนไม่น้อยกลายตนเป็นไทยเมื่อหลังประเทศสยามถูกเปลี่ยนเป็นประเทศไทย 85 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2482

คนไทยมีบรรพชนหลายพันปีมาแล้วเป็น “ลูกผสม” จากชาวสยาม “ไม่ไทย” หลายชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ (นับไม่ถ้วน)

ความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ไทย (กระแสหลัก) เพราะหลงว่ามีชนเชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์อยู่ในโลก ทำให้ประวัติศาสตร์ไทย (กระแสหลัก) วิปลาศ

ดังนั้น ต้อง “ปลดล็อก” ประวัติศาสตร์ ด้วยการยกเลิกประวัติศาสตร์เชื้อชาติ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ไทย (กระแสหลัก) เข้าสู่ประวัติศาสตร์ประเทศชาติ ที่ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ และคนไทยเป็นชาติพันธุ์หนึ่ง

ประวัติศาสตร์ไทย (กระแสหลัก) หลงทางยกประวัติศาสตร์ชนเชื้อชาติไทยเป็นใหญ่ แล้วด้อยค่าประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์อื่นเป็นกระแสรอง ถ้าต้องการเข้าถูกทางตามแนวสากล ต้องเริ่มต้นที่บรรพชนหลายพันปี (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) ในไทยและอุษาคเนย์ ที่มีทายาทผู้รับมรดกคือกลุ่มชาติพันธุ์ทุกวันนี้

จึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เป็นหลักเพื่อรู้จักแท้จริงบรรพชนคนไทย (ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เป็นกระแสรอง)

รัฐบาลต้อง “ปลดล็อก” ประวัติศาสตร์ไทย จาก “เชื้อชาติ” เป็น “ประเทศชาติ” เพื่อความเสมอหน้าทุกชาติพันธุ์อย่างถูกต้องตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยาที่มีวิทยศาสตร์สนับสนุนซึ่งมีคุณค่าและมูลค่า ดังนี้

(1.) ชาติพันธุ์หลากหลายมีส่วนเป็นเจ้าของความเป็นไทย

(2.) ลดความขัดแย้งรุนแรงกับเพื่อนบ้าน

(3.) ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเป็นจุดขายการท่องเที่ยว

ทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่เคลื่อนไหว “ปลดล็อก” ประวัติศาสตร์ไทย และทำเหมือนเสวยสุขบนซากของความผิดพลาดนั้น

ดังจะเห็นว่าชนชั้นนำของรัฐบาลพยายามแสดงตนผ่านสื่อสารพัดว่าใกล้ชิดชุมชนชาติพันธุ์ เพื่ออีเวนต์ “การตลาด” ทางเศรษฐกิจ-การเมือง ด้วยสำนึกของประวัติศาสตร์ “เชื้อชาติ” ซึ่งไม่ใช่สำนึกทางประวัติศาสตร์ประเทศชาติ

วันนี้ (18 มีนาคม 2567) เวลา 14.45 น. ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนและการพัฒนาพื้นที่ก่อสร้างที่ทำการด่านชายแดน CIQ โดยมีนายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับด้วยกระเป๋าย่ามไทลื้อและโคมล้านนาของจังหวัดพะเยา

(คำบรรยายและภาพจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/80497)

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง สวมชุดชาติพันธุ์ลีซู พร้อมสะพายย่าม เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวกิจกรรมวิถีชีวิตทางสายไหมชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองลีซู ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2567 (ภาพจาก มติชนออนไลน์)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image