กทม. มีอัตลักษณ์ดั้งเดิม และสร้างเพิ่มก็ได้ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

สะพานดำรงสถิต ข้ามคลองโอ่งอ่าง

“อัตลักษณ์เกิดจากคนในชุมชน” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. บอกต่อสาธารณะ (ดูในมติชนออนไลน์ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2567) แล้วย้ำว่า

“ย่านทรงวาด, ย่านตลาดพลู ที่สร้างจุดเด่นล้วนมาจากคนในอัตลักษณ์นั้น ซึ่งไม่ได้เกิดจาก กทม. ไปจัดอีเวนต์” —– “ประชาชนในแต่ละย่านต้องร่วมคิดสร้างสรรค์ขึ้นเอง ไม่ใช่รัฐสั่งให้ทำ”

คลองโอ่งอ่าง ภาครัฐไม่ได้เป็นเจ้าภาพหลักจัดกิจกรรม แต่จะให้เครือข่าย,
ประชาคม, ประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน ส่วน กทม. สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ค่าไฟฟ้า หรืออาจเป็นเจ้าภาพบางงาน เช่น สงกรานต์, ลอยกระทง ฯลฯ

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ย้ำว่า “ถนนคนเดินจัดได้ แต่ภาครัฐไม่ได้เป็นเจ้าภาพ ต้องยกให้เครือข่ายในพื้นที่จัดงานกันเอง ซึ่งมีอัตลักษณ์และยั่งยืนมากกว่า ส่วน กทม. จัดการขยะ, ทำทางเชื่อมถึงกัน…”

Advertisement

แนวคิดของรองผู้ว่าฯ กทม. มีลักษณะสากลที่ให้ความสำคัญในพลังของภาคประชาชน

แต่ลักษณะสากลต้องแข็งแรงด้านข้อมูลพื้นฐานหลายอย่าง และที่สำคัญคือข้อมูลประวัติศาสตร์ ตลอดจนการเข้าถึงทรัพยากร โดยเฉพาะแหล่งทุน

เฉพาะข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย (กระแสหลัก) ที่รู้จักทั่วไปไม่แข็งแรงตามมาตรฐานสากล เพราะเป็นประวัติศาสตร์เชื้อชาติ (ล้าสมัย) ที่ขาดมิติทางสังคม-วัฒนธรรม ในวิถี “กิน-ขี้-ปี้-นอน” ของคนทั่วไปตั้งแต่ดั้งเดิมเริ่มแรกเป็นชุมชนบางกอกสมัยอยุธยา

Advertisement

กรุงเทพฯ จึงไม่พบความเป็นมาของคลองโอ่งอ่างที่เกี่ยวข้องเครื่องปั้นดินเผาโอ่ง-อ่าง-กระถาง-กระโถน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นสำคัญชุดหนึ่ง (ในหลายชุด) ที่จะผลักดันให้เกิดจินตนาการเพื่อสร้างกิจกรรมด้วยพลังภาคประชาชน

กทม. มีอัตลักษณ์เดิมอย่างไร? ต้องดูในประวัติศาสตร์-สังคมของกรุงเทพฯ ที่ยังไม่มีอย่างเป็นงานเป็นการ (หมายถึงยังไม่มี “กรุงเทพฯ มิวเซียม”) ซึ่งควรเริ่มมีเบื้องต้นอย่างง่ายๆ เป็นศูนย์ข้อมูลฯ แล้วแบ่งปันเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านสื่อโซเชียลอย่างสม่ำเสมอ (เพื่อเป็นฐานข้อมูลจัดแสดงใน “กรุงเทพฯ มิวเซียม”)

อัตลักษณ์สร้างสรรค์ของ กทม. ทำได้ ไม่เสียหาย และจะดีอย่างยิ่ง แต่ข้อสำคัญต้องซื่อตรงต่อสังคม คือบอกความจริงอย่างองอาจผึ่งผายว่าอะไรของเก่า-อะไรเป็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ (ไม่ใช่ของเดิม) เพื่อปัจจุบันและอนาคต

อัตลักษณ์ หมายถึง ลักษณะเฉพาะตัวซึ่งไม่คงที่ตายตัว จึงปรับเปลี่ยนได้เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ทั้งนี้มีความเป็นมาเบื้องต้น 2 ส่วน ได้แก่ (1.) ส่วนดั้งเดิม ตั้งแต่เริ่มแรกมีชุมชนหลายพันปีมาแล้ว และ (2.) ส่วนเพิ่งสร้าง สมัยยุโรปล่าอาณานิคมถึงสยามเมื่อเรือน พ.ศ. 2400 (แผ่นดิน ร.4) ทำให้ชุมชนดั้งเดิมจำนวนหนึ่งต้องปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง

ทุกวันนี้ อัตลักษณ์ถูกใช้งานจนบางครั้งจับต้นชนปลายลำบากมาก เพราะมีทั้งเก่าและใหม่ ทั้งจริงและไม่จริง

กรณีตัวอย่างอยู่ที่เมืองร้อยเอ็ดมีหลักฐานในเอกสารโบราณอายุหลายร้อยปีมาแล้วชื่อ “อุรังคธาตุ” (คือตำนานพระธาตุพนม) ว่าร้อยเอ็ดมาจากชื่อศักดิ์สิทธิ์ในอินเดียว่าเมืองสาเกต (หรือเมืองอโยธยาในมหากาพย์รามายณะ) มี “ร้อยเอ็ดประตู” เพื่อสื่อความหมายว่ามีความมั่งคั่งเพราะเป็นชุมทางคมนาคมการค้าจากบ้านเมืองต่างๆ ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ

แต่ถูกผู้นำชุมชนท้องถิ่นบางกลุ่มปลอมแปลงเพื่อผลประโยชน์หลายอย่าง ว่าเมืองร้อยเอ็ดมี “สิบเอ็ดประตู” และมีเมืองบริวาร 11 เมือง เมื่อมีเทศกาลให้มีประชาชน 11 ขบวนร่วมกันแห่เป็นตัวแทน 11 เมืองในอีเวนต์ประจำปี ซึ่งหมายถึงต้องใช้งบประมาณจัดอีเวนต์จำนวนไม่น้อย

อัตลักษณ์ไม่คงที่ตายตัว จึงปรับเปลี่ยนได้ (ถ้า “ไม่ปลอมหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี”) เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของคนส่วนมากในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ  ด้วยการประกาศความจริงอย่างซื่อตรงต่อสาธารณะว่าเป็นงานสร้างสรรค์ “ตีความใหม่” จากคำเดิม “ร้อยเอ็ดประตู” หมายถึงมีประตูมากเพื่อต้อนรับการติดต่อค้าขาย แล้วย่อส่วนเหลือ 11 ประตู

กทม. มีอัตลักษณ์ดั้งเดิมและสร้างเพิ่มก็ได้ ถ้าซื่อตรงต่อสังคมและไม่ปลอมหลักฐาน

ชุมชนท้องถิ่นรวมทั้งกรุงเทพฯ ไม่แข็งแรง ซึ่งส่วนสำคัญมาจากรัฐรวมอำนาจรวมศูนย์ โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมถูกรัฐราชการควบคุมและสั่งการสะเปะสะปะ (เพราะงูๆ ปลาๆ) นั่นนี่โน้นเป็นวัฒนธรรมราชการเหมือนกันหมดทั่วประเทศจนทุกวันนี้ที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image