รัฐคะเรนนีคือพื้นที่ยุทธศาสตร์ของไทยวันนี้และข้างหน้า โดย ลลิตา หาญวงษ์

ท่ามกลางการสู้รบอย่างเข้มข้นในสงครามกลางเมืองครั้งล่าสุดในพม่า ที่มีมาแล้วกว่า 3 ปี มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า EROs หรือ Ethnic Resistance Organisations เกิดขึ้นมากมาย เช่นเดียวกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านที่เป็นคนพม่าแท้ๆ ที่แตกหน่อจากรัฐบาลคู่ขนาน NUG มาเป็นกองกำลัง PDF หลายร้อยกลุ่มในปัจจุบัน แต่ละรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีความเข้มข้นด้านการต่อสู้และการเรียกร้องสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเอง (self-determination) ที่แตกต่างออกไปด้วย

ท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลงต่อสู้กับกองทัพพม่า และคณะรัฐประหาร หรือ SAC ในปัจจุบัน มีรัฐคะเรนนี (Karenni State) อยู่ด้วย รัฐคะเรนนีเป็นพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคะเรนนี บ้างเรียกว่า “กะเหรี่ยงแดง” (Red Karens คำว่า “นี” ในภาษาพม่าแปลว่า สีแดง) หรือคะยาห์ (Kayah) ความน่าสนใจของพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะสำหรับรัฐไทย คือการเป็นรัฐที่กั้นกลางระหว่างไทย ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กับพื้นที่ทางตอนในของพม่า ระยะทางจากลอยก่อ (Loikaw) เมืองเอกของคะเรนนี ไปเนปยีดอ เมืองหลวงของพม่า คือ 222 กิโลเมตรเท่านั้น ในขณะเดียวกัน คะเรนนียังเป็นตัวเชื่อมภาคเหนือและภาคตะวันออกของไทย ตั้งแต่แม่ฮ่องสอนลงมา ถึงจังหวัดตาก เข้ากับรัฐฉานตอนใต้ ที่มีเมืองสำคัญๆ มากมาย โดยเฉพาะตองจี เมืองหลวงของรัฐฉานใต้ ยองห้วย และปางหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยทรัพยากร

ในด้านยุทธศาสตร์ รอยต่อระหว่างไทย ลาว และพม่าในเขตของรัฐฉานใต้ เป็นพื้นที่ที่รู้จักกันในนาม “รัฐว้าใต้” คาบเกี่ยวกับเขตสามเหลี่ยมทองคำ ติดกับเมืองท่าขี้เหล็กและชายแดนไทยในจังหวัดเชียงราย พื้นที่ดังกล่าวเคยมีชื่อเสียงระดับโลก ในฐานะหนึ่งในแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุด รัฐว้าใต้มีกองกำลังของว้า หรือ UWSA ควบคุมอยู่ นี่คือกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพม่า ประมาณกันว่ากำลังพลในว้าเหนือและว้าใต้น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นนาย มีโรงงานผลิตอาวุธเป็นของตนเอง และมีเงินทุนมหาศาลจากการค้ายาเสพติดและธุรกิจอื่นๆ UWSA ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับรัฐบาลจีน เพราะมีพื้นที่ในเขตว้าเหนือติดกับชายแดนจีน และเป็นหนึ่งในผู้ควบคุมผลประโยชน์ของจีนในรัฐฉานตอนเหนือเป็นส่วนใหญ่

หลายปีที่ผ่านมา UWSA ขยายใหญ่ขึ้น และมีความมุ่งมั่นจะควบรวมพื้นที่ทางขวาของแม่น้ำสาละวินทั้งหมดมาเป็นเขตอิทธิพลของตนเอง และด้วย UWSA เกี่ยวข้องกับการผลิตและกระจายยาเสพติด ทำให้เคสจับกุมยาเสพติดในไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือเกือบทั้งหมดถูกลำเลียงผ่านเขตอิทธิพลของว้าในฝั่งพม่าทั้งสิ้น แม้รัฐคะเรนนีไม่ได้มีพื้นที่อยู่ติดกับว้าใต้โดยตรง แต่นี่คือพื้นที่หน้าด่านที่จะป้องกันไม่ให้อิทธิพลของว้าแดงลงมาจนถึงพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไทยแถบแม่ฮ่องสอนและตากได้

Advertisement

แม้รัฐคะเรนนีจะมีขนาดเล็ก ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดในพม่า อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการสู้รบตั้งแต่ปี 2021 อย่างหนัก ทำให้รัฐคะเรนนีมีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs หรือ Internally Displaced Persons) มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐคะเรนนี อันเป็นผลมาจากการปะทะกันอย่างรุนแรง ระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังคะเรนนี KNDP หรือ Karenni Nationalities Defence Force ที่รวมตัวขึ้นหลังรัฐประหาร และกองทัพคะเรนนี หรือ KA ที่มีมาแต่เดิม

ความเข้มแข็งและความเป็นเอกภาพของกองกำลังในรัฐคะเรนนีทำให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศของกองทัพ และทำให้เกิดจำนวนผู้อพยพจำนวนมากกว่า 2.5 แสนคน และมีค่าย IDP ที่กระจายอยู่ทั่วรัฐคะเรนนีมากกว่า 200 แห่ง เมื่อทั้งรัฐอยู่ในยุค “มิคสัญญี” ผู้คนที่ยังอยู่ก็ต้องมีชีวิตและลุกขึ้นต่อสู้ เรายังคงเห็นภาพของกองกำลังคะเรนนีปะทะกับกองกำลังฝั่ง SAC อยู่เรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นความพยายามของภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนพอจะดีขึ้นบ้าง

คะเรนนียังเป็นรัฐที่กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม หรือทั่วโลกให้ความชื่นชม เพราะเขาสร้างระบบปกครองตนเองขึ้นมาในช่วงที่ไม่มีหน่วยบริหารภายในรัฐ หน่วยงานราชการของรัฐบาลพม่าปิดตัวลงไปหมดแล้วจากการสู้รบ แต่ประชาชนยังต้องการเข้าถึงระบบสาธารณสุข โรงเรียน และสวัสดิการของรัฐ ภายใต้พรรคการเมืองหลักที่ปกครองคะเรนนี ได้แก่ พรรค KNPP หรือ Karenni National Progressive Party และยังมีสภารักษาการในนาม Karenni IEC (Interim Executive Council) และสภาที่ปรึกษาในนาม KSCC ที่ช่วยดูแลทั้งด้านบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

Advertisement

ในขณะนี้ KNPP และ KNDF เคลมว่าตนปกครองพื้นที่ในรัฐคะเรนนีได้เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ และยังมีพื้นที่อีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่ยังอยู่ในสภาพสงคราม ความน่าสนใจของพรรคการเมืองและกองกำลังในเขตรัฐคะเรนนีคือพวกเขาเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของ KNU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐกะเหรี่ยง ที่อยู่ติดกัน หากพื้นที่ทั้งในรัฐคะเรนนีและรัฐกะเหรี่ยงมีความปลอดภัยและมีความสงบแล้ว พื้นที่ชายแดนไทยตั้งแต่แม่ฮ่องสอนลงมาจนจรดภาคใต้ของรัฐกะเหรี่ยงที่จังหวัดกาญจนบุรีก็จะปลอดภัยมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็จะมีปริมาณผู้หนีภัยสงครามเข้ามาในไทยน้อยลง และหากไทยเริ่มกระบวนการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่มอย่างจริงจัง นอกจากไทยจะกลายเป็น “มิตร” ของพวกเขาแล้ว ไทยจะได้ประโยชน์มหาศาลจากมิตรภาพของทั้งชาวกะเหรี่ยงและคะเรนนี ที่เรียกว่าเป็นชนชาติที่ “เฟรนด์ลี่” และจริงใจที่สุดในพม่า

อังกฤษที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าอาณานิคมที่หมกมุ่นกับการศึกษาบุคลิกภาพและนิสัยใจคอของกลุ่มชาติพันธุ์ในอาณานิคมของตน ยังอดไม่ได้ที่จะอวยยศให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ซื่อสัตย์ รักใครรักจริง และคบได้ ส่วนชาวคะเรนนี หรือกะเหรี่ยงแดงนั้น ด้วยขนาดของรัฐที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก และตลอดยุคอาณานิคมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัฐฉานใต้ แต่อังกฤษก็ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มเล็กๆ นี้เช่นกัน ในเวลานี้ เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองพร้อมที่จะตัดสินอนาคตของตนเอง การเริ่มเจรจาอย่างเป็นระบบ และได้รับการยอมรับจากรัฐไทย และเป็นรัฐไทยที่กรุงเทพฯ มิใช่แต่เพียงหน่วยงานในพื้นที่ ที่มีประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนมายาวนานแล้ว

หากสถานการณ์ในพม่ายังเป็นเช่นนี้ต่อไป หมายความว่ากองทัพพม่าจะสูญเสียพื้นที่โดยรอบ ที่อยู่ตลอดแนวชายแดนไทย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอีกไม่นาน ไทยก็จะไม่มีพื้นที่ที่อยู่ติดกับพื้นที่ของพม่าแท้เลย หากคะเรนนีและกะเหรี่ยงเข้มแข็งขึ้น โอกาสที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่มีจุดยืนชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นฉานหรือมอญ ก็จะเอียงมาทางการเจรจาเพื่อนำอิทธิพลของ SAC ออกไปจากพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาทั้งหมดในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image