เม็ดทรายและลายดอก ในสงกรานต์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชุดไทยหรือเสื้อคอกลมลายดอก แบบแผนนี้ไม่เคยพบอยู่ในสังคมชาวไทยสยามยุคก่อนๆ เช่น ยุคอยุธยา

ผ้าลายดอกเสื้อคอปกและเสื้อคอกลม ไม่ใช่ของไทยมาแต่เดิม เพราะเป็นสิ่งรับมาสมัยหลังจากอุตสาหกรรมทอผ้า ซึ่งควรยอมรับความจริงอย่างองอาจ และยกเป็นอัตลักษณ์สร้างใหม่อย่างภาคภูมิก็ได้ ไม่ผิดกติกา

ขนทรายเข้าวัดและก่อพระทราย เป็นประเพณีสร้างใหม่หลังรับศาสนาพุทธ และหลังรับสงกรานต์จากอินเดีย

ผ้าลายดอกเสื้อคอปก-คอกลม จนถึงขนทรายเข้าวัดและก่อพระทรายถูกประโคมประจำปีจากสื่อทั้งภาคราชการและภาคเอกชนว่าเป็นของไทยแท้คู่กับสงกรานต์

ระบบการศึกษาไทยไม่อนุญาตให้ตั้งคำถาม และสื่อไทยอยู่ในระบบการศึกษาไทยอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ข้อมูลคลาดเคลื่อนย่อมถูกส่งต่ออย่างแข็งแรง บางที่ถูกยอมรับว่าเป็นสิ่งถูกต้อง จึงขอทบทวนเรื่องเหล่านี้

Advertisement

ชุดไทยลายดอก เล่นสงกรานต์
ประเพณีสร้างใหม่เพื่อการท่องเที่ยว

ชุดไทยหรือเสื้อคอกลมลายดอกที่ทางการกำหนดให้ต้องแต่งในสงกรานต์ แบบแผนนี้ไม่เคยพบอยู่ในสังคมชาวไทยสยามยุคก่อนๆ เช่น ยุคอยุธยา

จึงเป็นแบบแผนใหม่ล่าสุดของทางการที่ต้องการแสดงตนเป็นไทยแท้, ไทยทั้งแท่ง, ไทยทั้งดุ้น, ไทยเดิมตั้งโด่ ฯลฯ เพื่อการตลาดของการท่องเที่ยว

Advertisement

สงกรานต์สมัยก่อนพวกไพร่แต่งตัวตามมีตามเกิด หรือที่คิดว่างามของยุคนั้นๆ มีร่องรอยอยู่ในนิราศเดือน ของเสมียนมี (กวีสมัย ร.3) สะท้อนรสนิยมเล่นสงกรานต์ของคนในยุคต้นกรุงเทพฯ ว่าแต่งตัวตามสะดวกสบาย และตามลักษณะชนชั้น เช่น

“ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์ ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย”,

“ล้วนแต่งตัวเต็มงามทรามสวาท ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม”,

“มีเท่าไรใส่เท่านั้นฉันผู้หญิง ดูเพริศพริ้งเพราเอกเหมือนเมขลา”,

“ประดับพร้อมแหวนเพชรเม็ดมุกดา” ฯลฯ

ไม่มีตรงไหนเลยที่จะกำหนดให้แต่งชุดไทยเสื้อคอกลมลายดอกเหมือนทางการยุคนี้มีระเบียบออกมา

เสื้อ หมายถึง เครื่องสวมใส่กายท่อนบนของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

ถ้าจะมีก็เริ่มหลังรับอารยธรรมอินเดียและจีน พบร่องรอยในนิทานกำเนิดรัฐฟูนัน เมื่อพราหมณ์จากอินเดียทำพิธีนุ่งผ้าให้นางใบมะพร้าวหัวหน้าเผ่าพื้นเมืองเป็นหญิง ซึ่งนุ่งเตี่ยวหุ้มอวัยวะเพศเท่านั้น (เหมือนจีสตริงทุกวันนี้)

เสื้อคอกลม ไม่ใช่ประเพณีพื้นเมืองอุษาคเนย์ และไม่ใช่ไทย แต่รับจากที่อื่น เช่น อินเดีย, จีน

ลายดอก ที่แพร่หลายทุกวันนี้ มีต้นแบบจากประเพณีตะวันตกเมื่อไม่นานมานี้ เช่น เสื้อฮาวายจากสหรัฐ ฯลฯ

(มติชนออนไลน์ วันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2559)

ขนทรายไปสร้างวัด

ขนทรายเข้าวัด มีคำบอกเล่าที่เชื่อกันมานานแล้ว ว่าต้นเหตุจากทรายที่มีบนพื้นดินในวัดติดตีนเปล่าชาวบ้านที่เดินเข้าๆ ออกๆ เป็นประจำ เมื่อถึงสงกรานต์เลยนัดหมายกันไปขนทรายเข้าวัด ถือเสมือนใช้หนี้คืน

ก่อพระทราย มีคำบอกเล่าว่าสืบเนื่องจากขนทรายเข้าวัดได้กองพะเนินเทินทึก เลยพากันก่อพระทรายในวันสงกรานต์ สมมุติเป็นรูปสถูปเจดีย์ ถือเป็นทำบุญอุทิศส่วนกุศล

คำบอกเล่า 2 เรื่องต่อเนื่องกัน อาจพิจารณาดังนี้

เรื่องขนทรายเข้าวัดเป็นนิทานโน้มน้าวให้ขนทรายใช้คืนวัด แต่ไม่น่าเชื่อว่าจริง

ส่วนเรื่องก่อพระทราย มีร่องรอยเป็นไปได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการก่อสร้างศาสนสถาน เช่น สถูปเจดีย์

ขนทรายเข้าวัด แล้วก่อพระทราย อุบายวิธีหาทรายให้ช่างก่อสร้างพุทธสถาน (ภาพจาก http://kanchanapisek.or.th)

ทรายสร้างวัด

ขนทรายเข้าวัด เป็นประเพณีที่ชาวบ้านร่วมกันหาแหล่งทราย แล้วขนทรายไปกองเก็บในวัด

ให้พระสงฆ์และช่างใช้ผสมดินเหนียวทำอิฐเผาแข็งแกร่งเป็นวัสดุก่อสร้างศาสนสถานสำคัญในวัด เช่น พระพุทธรูป, สถูปเจดีย์, โบสถ์, วิหาร

[ผมเคยเขียนอธิบายต่อเนื่องกันหลายปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2553]

นิยมทำในหน้าแล้ง เพราะน้ำแห้งน้ำลดตามแหล่งน้ำ มองเห็นแหล่งทราย แล้วตักขุดทรายสะดวกกว่ามีน้ำมาก

ประเพณีขนทรายเข้าวัดอย่างนี้ไม่เคยมีมาก่อน เพราะชุมชนดั้งเดิมนับถือศาสนาผี (ใช้หินตั้ง ไม่มีเทคโนโลยีเผาอิฐ) แต่จะมีเมื่อรับนับถือศาสนาพราหมณ์กับพุทธจากอินเดีย ราวหลัง พ.ศ. 1000

ผี, พราหมณ์, พุทธ

ขนทรายเข้าวัดและก่อพระทราย สะท้อนความเชื่อเก่าและใหม่ปนกัน คือ ผี, พราหมณ์, พุทธ

เมื่อพราหมณ์กับพุทธแผ่ถึงสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ ก็มักเลือกสร้างศาสนสถาน      (เทวสถาน, พุทธสถาน) ทับซ้อนครอบคลุมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีที่มีมาก่อน หรือบริเวณเดียวกัน เช่น

แหล่งฝังศพกลางบ้าน มีตัวอย่างหลักฐานที่วัดชมชื่น (อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย), ปราสาทพนมวัน (อ. เมืองฯ จ. นครราชสีมา)

ชาวบ้านดึกดำบรรพ์จึงมีประเพณีทับซ้อนกันระหว่างผี, พราหมณ์, พุทธ เช่น หน้าแล้งต้องมีพิธีเลี้ยงผีประจำปีของชุมชน มีชาวบ้านมาชุมนุมทำพิธีกรรมพร้อมกัน เลยผนวกเข้าด้วยกันทั้งผี, พราหมณ์, พุทธ

ผี คือ ชาวบ้านชุมนุมเลี้ยงผีหน้าแล้งราวเดือน 3, 4, 5 (มีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม)

พราหมณ์ คือ พิธีเปลี่ยนราศี เรียกมหาสงกรานต์ ตอนเดือนเมษายน ตรงกับหน้าแล้งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

พุทธ คือ ศูนย์รวมของชุมชนที่เรียกวัด ซึ่งต้องสร้างพุทธสถานด้วยวัสดุหลัก คือ อิฐ (ก่อพระทรายเป็นสัญลักษณ์ของการก่อสร้างสิ่งเหล่านี้) เลยถือโอกาสชุมนุมเลี้ยงผี มาขนทรายเข้าวัด

ผู้รู้พิธีกรรมอินเดียและลังกา บอกว่ามหาสงกรานต์ของพราหมณ์อินเดียไม่มีขนทราย และพุทธในอินเดียกับลังกาก็ไม่มีประเพณีขนทรายเข้าวัดและก่อพระทราย

(จากคอลัมน์สยามประเทศไทย มติชน วันพุธที่ 15 เมษายน 2558)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image