สุจิตต์ วงษ์เทศ : หญิงชาวบ้าน งานหนักเลี้ยงครอบครัว เพราะผัวถูกเกณฑ์ไปทำงาน

 

1
หญิงชาวบ้านยุคอยุธยาทำงานหนัก ต้องดูแลลูกกับผัวและครอบครัวขยาย เพราะผัวถูกเกณฑ์ไปสงคราม เมื่อรอดตายก็ต้องไปรับใช้ในเรือนนายปีละ 9 เดือน (ลายเส้นจาก จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ สมัยพระนารายณ์ฯ)

หญิงไทยอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และมีกิริยามารยาทเรียบร้อยราวผ้าพับไว้ ไม่มีจริงในวิถีชีวิตชาวบ้าน แต่เป็นหญิงไทยที่ถูกสร้างโดยคนชั้นนำที่ต้องการจรรโลงโครงสร้างอำนาจของตน

หญิงชาวบ้านยุคอยุธยามีอิสระที่จะไปไหนได้เต็มที่ เพราะไม่ถูกเกณฑ์แรงงานประจำ (เหมือนผู้ชาย) แต่ต้องทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวด้วยตัวคนเดียว มีภาระสูงมาก ต้องทำไร่ไถนา และดูแลหมดทั้งบ้านเรือน พ่อแม่ พี่น้อง ลูกผัว

บางทีต้องไปขายของในตลาด เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวทั้งหมด รวมทั้งต้องหาข้าวปลาอาหารส่งผัวที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานให้มูลนายที่ไม่จ่ายเงินเดือน และไม่มีข้าวเลี้ยง

Advertisement
2
หญิงชาวบ้านยุคอยุธยาหาบของไปขายในตลาด เพื่อทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวแทนผัวที่ถูกเกณฑ์ไปทำศึกและไปทำงานรับใช้นาย จิตรกรรมฝาผนังวัดเขียน อ. วิเศษชัยชาญ จ. อ่างทอง

ครั้นหมดเกณฑ์กลับไปอยู่เรือน ผัวก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่ทำมานาน ขณะอยู่เป็นข้าในบ้านของมูลนายก็ได้แต่กินเหล้าเมายา ทำงานไม่เป็นแล้ว มีบอกไว้ในเอกสารลาลูแบร์ ดังนี้

“ในระหว่างที่พวกผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเข้าเวรยามมีกำหนด 6 เดือนนั้น เป็นงานหลวงที่เขาจะต้องอุทิศถวายเจ้าชีวิตทุกปี ก็เป็นภาระของภรรยา, มารดาและธิดาเป็นผู้หาอาหารไปส่งให้”

“เมื่อพ้นกำหนดเกณฑ์แล้วและกลับมาถึงบ้าน ผู้ชายส่วนมากก็ไม่รู้ที่จะทำงานอะไรให้เป็นล่ำเป็นสัน เพราะไม่ได้ฝึกงานอาชีพอย่างใดไว้ให้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษสักอย่างเดียว ด้วยพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงใช้ให้พวกนี้ทำงานหลายอย่างต่างๆ กัน แล้วแต่พระราชประสงค์ เช่นนี้จึงพออนุมานได้ว่าชีวิตตามปกติของชาวสยามนั้นดำเนินไปด้วยความเกียจคร้านเป็นประมาณ เขาแทบจะไม่ได้ทำงานอะไรเลยเมื่อพ้นจากราชการงานหลวงมาแล้ว เที่ยวก็ไม่เที่ยว ล่าสัตว์ก็ไม่ไป ได้แต่นั่ง, เอนหลัง, กิน, เล่น, สูบยา สูบแล้วก็นอนไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น
ภรรยาจะปลุกให้เขาตื่นขึ้นราว 7 โมงเช้า เอาข้าวปลาอาหารมาให้บริโภค เสร็จแล้วก็ลงนอนต่อไปใหม่ พอเที่ยงวันก็ลุกขึ้นมากินอีก แล้วก็มื้อเย็นอีกคำรบหนึ่ง
ระหว่างเวลาอาหารมื้อกลางวันกับมื้อเย็นนี้ เขาก็เอนหลังลงพักผ่อนเสียพักหนึ่ง เวลาที่เหลืออยู่นอกนั้นก็หมดไปด้วยการพูดคุยและเล่นการพนัน
พวกภรรยานั้นไปไถนา ไปขายของหรือซื้อของที่ในเมือง”

Advertisement

[จากหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 (สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510 หน้า 223-224]

หญิงผู้ดี ชอบถูกกักตัว แสดงว่าผัวรักผัวหลง

ภรรยาขุนนางยุคอยุธยาไม่ค่อยได้ออกไปไหนนอกบ้านเรือน ไม่สุงสิงกับคนนอกบ้าน โอกาสที่จะออกไปไหนนอกบ้านเรือนบ้างคือไปเยี่ยมญาติ ไปทำบุญที่วัด
แต่แทนที่ภรรยาขุนนางเหล่านั้นจะรู้สึกอึดอัดไม่พอใจ เพราะถูกกวดขัน ลาลูแบร์เล่าว่านางเหล่านั้นกลับรู้สึกเป็นเกียรติมาก รู้สึกเป็นผู้ดี และเห็นว่าการไปไหนมาไหนได้โดยเสรีนั้นเป็นสิ่งที่น่าอัปยศด้วยซ้ำ และถ้าสามีปล่อยปละละเลยให้นางไปไหนมาไหนได้ตามอำเภอใจ จะกลับคิดไปว่าสามีไม่ยกย่องทั้งดูถูกดูหมิ่นตัวเองเสียอีก
ลูกสาวขุนนางไม่ต้องทำการงานใดๆ ได้แต่นั่งๆ นอนๆ และแต่งเนื้อแต่ตัวรอลูกชายขุนนางด้วยกันมาเลือกไปเป็นภรรยา (เหมือนสุภาษิตสอนหญิง ยุครัตนโกสินทร์)

ผัวกลัวเมียหลวง

ผู้หญิงยุคอยุธยาได้รับยกย่องมากเมื่อมีฐานะเป็นเมียหลวง เช่น บันทึกจีนของหม่าฮวน ระบุว่ากิจการทั้งปวงให้เมียหลวงจัดการดูแล
บันทึกของลาลูแบร์ (ราชทูตจากฝรั่งเศส) ระบุว่า ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรสามัญยุคอยุธยา ถ้ามีเรื่องราวที่จำต้องใช้หัวคิดและตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าจะลงโทษหนักเบา หรือค้าขายใหญ่น้อย พวกเขาทั้งหลายก็จะทำไปตามการตัดสินใจของเมีย

หย่าร้าง

การหย่าร้างกระทำกันแต่ในหมู่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น คนมั่งคั่งที่มีภรรยาหลายคนก็ยังเลี้ยงดูภรรยาที่ตนไม่รักแล้ว หรือที่ตนยังรักอยู่ไว้ทั้งโขยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image