เรื่องรัฐล้มเหลว : เฮติ

เรื่องรัฐล้มเหลว : เฮติ

รัฐล้มเหลว (failed state) คือประเทศที่มีรัฐบาลแต่ไม่สามารถทำการปกครองได้ กล่าวคือไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ไม่สามารถรับประกันความมั่นคงและควบคุมเขตแดนได้ ไม่มีข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำทำงานตามปกติ ไม่มีการบำรุงรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานใด ๆของสังคม อาทิ ถนน ทางน้ำ ทางอากาศ ประชากรในประเทศพากันอพยพย้ายถิ่น เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรวดเร็ว และมักมีการแทรกแซงทางการทหารทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เกิดผู้มีอิทธิพลทั้งในภาครัฐและเอกชนที่ทำการปกครองบ้านเมืองกันเองโดยใช้กำลัง ซึ่งรัฐล้มเหลวในปัจจุบันมีอยู่หลายประเทศ แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงประเทศเฮติเป็นตัวอย่าง

ประเทศเฮติตั้งอยู่ทางซีกตะวันตกของเกาะฮิสปันโยลา เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในทะเลแคริบเบียนรองจากเกาะคิวบา เฮติ มีเนื้อที่ 27,750 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 11,639,146 คน ส่วนประเทศโดมินิกันซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของเกาะฮิสปันโยลามีเนื้อที่ 48,671 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 10,878,246 คน โดยทั่วไปบนเกาะฮิสปันโยลามีภูมิอากาศแบบป่าฝนเมืองร้อน

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่ค้นพบเกาะฮิสปันโยลา คือการค้นพบทวีปอเมริกาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2035 ถือเป็นโลกใหม่ของชาวยุโรปในขณะนั้นและยึดครองให้กับกษัตริย์สเปนโดยโคลัมบัสได้เป็นผู้ปกครองคนแรกของสเปน ซึ่งโคลัมบัสได้ปกครองด้วยความโหดเหี้ยม โดยบังคับให้ชาวพื้นเมืองที่ต้อนรับพวกของโคลัมบัสเป็นอย่างดีลงเป็นทาส บังคับให้ขุดหาทองคำและทำงานหนักในไร่ฝ้าย มิหนำซ้ำยังจับชาวพื้นเมืองยัดใส่ใต้ท้องเรือกลับไปขายเป็นทาสที่สเปนอีกด้วย แถมยังลงโทษอย่างโหดร้ายแก่ชาวสเปนผู้ที่มาตั้งรกรากในเกาะฮิสปันโยลา เช่น ตัดลิ้น ตอกตะปูที่มือนักโทษสเปน จนเรื่องเลื่องลือกลับไปถึงสเปน โคลัมบัสจึงถูกปลดออกจากการเป็นผู้ปกครองเกาะฮิสปันโยลาเมื่อ พ.ศ.2043

Advertisement

ภายหลังสงคราม 9 ปี (สงครามนี้มีชื่อหลายชื่อเพราะรบกันทั้งในยุโรป เอเชียและอเมริกา) สงบลงทำให้ฝรั่งเศสได้ดินแดนส่วนตะวันตกของเกาะฮิสปันโยลาไปครอบครอง คือประเทศเฮติในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.2240 ส่วนทางตะวันออกของเกาะซึ่งใหญ่กว่า คือประเทศโดมินิกันในปัจจุบันนั้นก็ยังเป็นของสเปนตามเดิม

ฝรั่งเศสได้พัฒนาเฮติเป็นแหล่งปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลและปลูกกาแฟจนเป็นแหล่งที่มั่งคั่งที่สุดของดินแดนฝรั่งเศสทั้งหมด แต่เป็นการพัฒนาที่โหดเหี้ยมด้วยการใช้ทาสผิวดำจากแอฟริกามาเป็นแรงงานเป็นจำนวนมาก ที่ถูกทารุณกรรมล้มตายลงเป็นเบือเพราะถูกใช้งานหนัก และโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉลี่ยทาสผิวดำจะตายภายใน 3 ปี จากการเป็นทาส ดังนั้น จึงมีทาสผิวดำจำนวนมากสามารถหนีไปอยู่ตามป่าเขาและรวมตัวกันได้จนสามารถทำการปฏิวัติยึดครองได้ทั้งเกาะฮิสปันโยลาทำให้เฮติกลายเป็นประเทศเอกราชแห่งที่ 2 ในทวีปอเมริกาต่อจากสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศเดียวในโลกที่พวกทาสสามารถลุกขึ้นต่อสู้เอาชัยชนะเหนือนายทาสและก่อตั้งประเทศได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ.2347 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

แต่เป็นที่น่าเสียดาย คือตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเฮติได้สำเร็จแล้วก็เกิดการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างผู้นำที่เคยเป็นทาสมาด้วยกันทั้งนั้น โดยเกิดการรัฐประหารเป็นระยะตลอดมา และจากการที่ทางกองทัพทำการรัฐประหารมาตลอด และทหารปราศจากความสามารถในการปกครองประเทศจนทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย ทำให้สหรัฐอเมริกาฉวยโอกาสยกกำลังกองทัพเรือเข้ายึดครองประเทศเฮติ ให้เฮติเป็นรัฐในอารักขาของสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2458 โดยทางการสหรัฐเข้ามาจัดการเรื่องการคมนาคม การสาธารณสุข การศึกษา พัฒนาการเกษตร จัดระเบียบกองทัพ และวางรากฐานประชาธิปไตยรัฐสภาให้กับเฮติ อย่างไรก็ดี สหรัฐ ก็ถูกบีบจากประชาชนอเมริกันเองให้ถอนกำลังจากเฮติใน พ.ศ.2477 เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ปรารถนาที่จะเป็นเจ้าอาณานิคมเนื่องจากหมดเปลืองทรัพยากรมากกว่าได้ประโยชน์ตอบแทน

Advertisement

การเมืองของเฮติดำเนินไปตามแบบประชาธิปไตยอเมริกามาจนถึงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2489 คณะทหารก็อ้างเหตุแห่งความวุ่นวายทางการเมืองแล้วเข้ายึดอำนาจอีกครั้ง กลายเป็นรัฐประหารครั้งที่ 18 และตามด้วยรัฐประหาร พ.ศ.2493, พ.ศ.2499 และรัฐประหารอีก 2 ครั้ง ใน พ.ศ.2500 จนกระทั่งมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2500 โดยนายฟรังซัว ดูวาลิเย ได้ชัยชนะเป็นประธานาธิบดีแห่งเฮติ

จากนั้นดูวาลิเยก็เข้าควบคุมกองทัพ แก้รัฐธรรมนูญรักษาอำนาจ เปลี่ยนตนเองเป็นผู้เผด็จการ สร้างลัทธิบูชาบุคคล ให้ประชาชนยกย่องเชิดชู เรียกกันว่า “ปาปาด๊อก” ระบบเผด็จการของดูวาลิเยขณะนั้นได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นระบอบการปกครองแบบเผด็จการขวาจัดต่อต้านคอมมิวนิสต์สุดชีวิต ดูวาลิเยอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีพ จนถึง 21 เมษายน พ.ศ.2514 ก็ถึงแก่กรรม อายุได้ 64 ปี ทำให้ลูกชายของเขานายฌอง คลอด ดูวาลิเย ฉายา “เบเบด๊อก” มีอายุเพียง 19 ปี ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสืบทอดต่อจากพ่อ

อีก 14 ปีต่อมา เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านนายดูวาลิเย (ผู้ลูก) ตั้งแต่ พ.ศ.2528 ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น รัฐบาลอเมริกาจึงกดดันให้นายดูวาลิเยสละตำแหน่งในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2529 และให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้น และดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง แต่กองทัพนำโดย พล.อ.อังรี นัมฟรี ก็ก่อการรัฐประหารครั้งที่ 23 ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2531 แต่กลับนำมาสู่รัฐประหารซ้อนในวันที่ 17 กันยายนปีเดียวกัน

ท้ายที่สุด กองทัพก็ก่อการรัฐประหารครั้งที่ 25 ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2531 ตั้งระบอบปกครองโดยทหารนานถึง 4 ปี ทำให้นานาชาติพากันคว่ำบาตรเฮติ และสหรัฐอเมริกาส่งคณะผู้แทนไปเจรจาให้คณะทหารคืนอำนาจสู่ประชาธิปไตย พร้อมกับเตรียมการที่จะส่งกองทัพเข้าแทรกแซงในเฮติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในที่สุดคณะทหารเฮติต้องยอมจำนนให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยใน พ.ศ.2538

เชื่อไหมครับ ว่ารัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ของเฮติได้ยุบเลิกกองทัพประจำการทั้งหมด เหลือเพียงกองรักษาการชายฝั่งทะเล และกองตำรวจแห่งชาติรักษาความปลอดภัยเท่านั้น เป็นการประหยัดงบประมาณอย่างมาก เพราะไม่ต้องมีงบกลาโหม และทำให้ประเทศปลอดภัยจากการรัฐประหาร

แต่ก็มีรัฐประหารอีกครั้งจนได้ใน พ.ศ.2547 จนทางองค์การสหประชาชาติต้องส่งกองกำลังเข้ามารักษาความสงบในเฮติหลายปี และดูเหมือนประเทศเฮติจะถูกสาปเพราะเกิดมีภัยธรรมชาติถูกถล่มด้วยพายุเฮอร์ริเคนทำให้คนตายนับร้อยนับพันคนแทบทุกปีตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือใน พ.ศ.2553 เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทำให้คนตายนับแสน ตามด้วยอหิวาตกโรคระบาด คนป่วยเป็นแสนคนและเสียชีวิตนับพัน ตบท้ายด้วยพายุเฮอร์ริเคนตอนปลายปีอีก ทำให้เฮติไม่ฟื้นตัวสักทีและยังคงเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซ้ำร้ายประธานาธิบดียังถูกสังหารในบ้านพักอีกเมื่อ พ.ศ.2564 ครั้นนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อก็เกิดการจลาจลมีการรบราฆ่าฟันกันระหว่างชุมโจรต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการปล้นคุกในเมืองหลวงปล่อยนักโทษออกมาอีกหลายพันคนมาเป็นกำลังชุมโจรต่างๆ ทำให้เฮติกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนจนทุกวันนี้ ทำให้ประเทศเฮติเป็นรัฐล้มเหลวที่แท้จริง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image