ผังเมืองฟ้าอมรฯ กับทางออกที่ไม่มีใครอยากออก โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ทกปัญหามีทางออก

และทุกทางออกก็มีปัญหา

คิดแบบนี้ได้ก็จะพอปลงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น
กับเรื่องราวผังเมืองกรุงเทพฯได้บ้าง

ถามว่าตอนนี้เรื่องราวไปถึงไหน

Advertisement

คำตอบคือ ก็ซื้อเวลายืดอายุการมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดทำผังเมืองกรุงเทพฯออกไปอีกหลายเดือน

ราวกับว่าคำว่า “มีส่วนร่วม” นั้นคือคำศักดิ์สิทธิ์ที่จะมาแก้ปัญหาทุกเรื่องในบ้านในเมืองแห่งนี้

ผมจะเสนอสองเรื่องหลักในสัปดาห์นี้

Advertisement

หนึ่ง “การมีส่วนร่วม” อย่างที่เป็นอยู่ในกระบวนการผังเมืองไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาผังเมืองกรุงเทพฯ

สอง เมืองไม่มีผังเมืองแบบที่เป็นอยู่ได้ไหม? คำตอบคือได้ และมีตัวอย่างหลายที่ในโลก

สาม ทางออกที่คนมีอำนาจอยากให้ออก และทางออกที่คนไม่มีอำนาจก็ออกได้ในเรื่องผังเมืองกรุงเทพฯ

“มายาคติเรื่องการมีส่วนร่วม” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะสังคมไทยชอบคิดว่าต้องมีส่วนร่วมแล้วจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้

เรื่องนี้คงไม่มีใครว่าผิดหรอกครับ แต่มันหมายถึงการจัดกระบวนการการมีส่วนร่วม และเข้าใจความขัดแย้งด้วย ไม่ใช่แค่ปล่อยให้ทุกคนมาพูดกันเฉยๆ หรือบางเรื่องเป็นปัญหานรก-โลกแตก (wicked problems) ที่ยังหาทางออกไม่ได้ ยิ่งแก้ก็เหมือนลิงแก้แหเข้าไปทุกวัน

ในภาพรวมเราต้องเข้าใจกันก่อนว่า การมีส่วนร่วมโดยเฉพาะในการวางผังเมืองมันมีหลายแบบ ไม่ใช่มีแบบผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมอย่างเดียว (หมายถึงว่าเรียกชาวบ้านมาชี้แจง ทางตัวแทนราชการก็ตอบคำถาม แล้วก็แยกย้ายกันไป)

ในบทความที่คนเรียนเรื่องการวางผังเมืองต้องอ่านในโรงเรียนการวางผังเมืองในอเมริกามีบทความสำคัญที่ชื่อว่า “(ขั้น) บันไดในการมีส่วนร่วมของพลเมือง” A Ladder of Citizen Participation เขียนโดย Sherry R. Arnstein เมื่อปี 1969 ลงในวารสาร American Planning Association ซึ่งเป็นพื้นที่ทางวิชาการหลักของบรรดานักวางผังภาคและเมืองของอเมริกาและสากล (ปีที่ 35 ฉบับที่ 4 เดือนกรกฎาคม หน้า 216-224)

หลักใหญ่ใจความที่ผมเขียนซ้ำซากมาหลาายปีก็คือ การมีส่วนร่วมมีหลายระดับ บางระดับยิ่งมีส่วนร่วมยิ่งทำให้คนมีส่วนร่วมไร้อำนาจ เป็นเพียงพิธีกรรม หรือถูกปิดปากได้ การมีส่วนร่วมมีตั้งแต่การเรียกมากล่อม-หว่านล้อม เรียกมาบำบัดเพราะมองว่าประชาชนป่วยไข้ เต็มไปด้วยปัญหา ซึ่งงานระดับนี้คืองานระดับประชาสัมพันธ์ หรืองานที่วางบนความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม

หรือตีฆ้องร้องป่าวว่าการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องของการให้ข้อมูล แต่ก็ยังเป็นระดับที่ให้ความสัมพันธ์กับอำนาจที่ไม่เท่าเทียม เน้นการไหลของข้อมูลด้านเดียว จากนั้นมาก็เริ่มมาในระดับของการทำแบบสำรวจในนามของการขอคำปรึกษา แต่อธิบายไม่ได้ว่าเมื่อเปิดให้ประชาชนพูด หรือให้ข้อมูลแล้ว จะเอาสิ่งที่ประชาชนพูดไปทำอะไร หรือทำไปก็เท่านั้น

ที่หนักไปอีกแบบคือ พวกเชิญตัวแทนผู้มีผล
กระทบมาพูด เพราะหลายคนก็ค้างคา-ค้างใจกับความเป็นตัวแทนของคนเหล่านั้น และหลายครั้งที่อ้างว่าเชิญตัวแทนมาพูด หรือมาออกสื่อสุดท้ายก็เหมือนจะเข้าใจกัน แต่การเลือกตัวแทนต่างๆ บางทีก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งหมด แต่อาจจะเป็นการจงใจเลือกคนที่ไม่แรงเกินไป ซึ่งทำให้เกิดการยอมกัน ปิดปากกัน หรือบางคนก็ไม่อยากจะพูดในเรื่องนี้เพราะไม่ไว้วางใจกัน มองว่าอีกฝ่ายมีผลประโยชน์แอบแฝง

ดังนั้น ขั้นตอนที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่มันมีความหมายและปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจได้จริง มันจะต้องเกิดในระดับของการ “ต่อรอง” ได้ ต้องเกิดในระดับที่ประชาชนเป็นเสียงข้างมากในการประชุม ไม่ใช่ในคณะกรรมการมีประชาชนเป็นติ่งอยู่สองสามคน

และในระดับที่สูงที่สุดคือ ประชาชนต้องสามารถที่จะมีความสามารถในการควบคุมกิจการสาธารณะ ทั้งการหารือ ขับเคลื่อน ตัดสินใจ ตรวจสอบ ประเมินกิจการสาธารณะได้เอง ทั้งในแบบการมีตัวแทน หรือในแบบของการออกแบบสถาบันทางการเมืองที่สามารถดึงเอาการมีส่วนร่วมต่างๆ มาทำงานกันในสาธารณะในหลายๆ ระดับได้ ไม่ใช่เป็นแค่ภาคีของรัฐ หรือปล่อยให้เอกชนมาบริหารกิจการแทนเท่านั้น

เมื่อมามองปัญหาของการวางผังเมืองรวมของกรุงเทพฯ สิ่งที่พอจะเห็นเป็นประเด็นท้าทายในตอนนี้คือ การใช้เกมกฎหมายในการยื้อ-ซื้อเวลาไปก่อนในนามของการมีส่วนร่วม เพราะมองเห็นช่องกฎหมายว่า ตัว พ.ร.บ.ผังเมืองในระดับชาติที่กำกับกระบวนการจัดทำผังเมืองมันออกมาหลังตัวร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯฉบับใหม่ที่ดองกันมานาน

แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจมากกว่านั้นก็คือ ในตัว พ.ร.บ.ผังเมืองในระดับชาติไม่ใช่เลวร้ายไปเสียหมด นักผังเมืองเขาไปร่ำไปเรียนมา มีประสบการณ์ก็มาก เขาก็พยายามจะทำอะไรดีๆ และจะต้องเข้าใจว่าผังเมืองรวมที่เขาหมายถึงในกฎหมายใหม่มันมีความหมายกว้างไปกว่าผังการใช้ที่ดิน

เพียงแต่ในการปฏิบัติจริงการจัดทำผังเมืองรวมในแต่ละที่ยังเอาตัวผังการใช้ที่ดินมาเป็นหลักในการเขียน ทั้งที่ผังการใช้ที่ดินนั้นถ้าตีความให้ลึกซึ้งหน่อยมันเป็นเพียงส่วนเดียว หรือเครื่องมือเดียวในการทำผังเมือง

อ่านให้ลึกใน พ.ร.บ.ผังเมืองมันมีทั้งส่วนผังนโยบาย และผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ดังนั้น ผังนโยบายในระดับจังหวัดเรายังไม่มี หรือไม่ชัดเลยใน กทม.และมันให้ที่ให้ทางเอาไว้ในการจัดทำอะไรที่ควรบรรจุหลักการจำนวนมากเอาไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันกำหนด

แต่ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินนี่แหละที่มีปัญหา แล้วเราเอามาเป็นหลัก แล้วก็มาคลางแคลงสงสัยว่าเป็นผังเมืองรับใช้นายทุน

นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าใจกันก่อน และถ้าจะถอยก็ต้องมาตั้งหลักให้ถูกว่าไม่ใช่แพ้ กลัวประชาชน กลัวนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องถามว่าเราจะยกเอาผังการใช้ประโยชน์ที่ดินมาตั้ง แล้วก็ใช้คำว่าผังเมืองรวมมาทำให้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ผังนโยบายยังไม่มียังไม่ออก หรือผู้คนยังไม่ได้หารือร่วมกันได้ไหม

สิ่งที่ยังเป็นประเด็นท้าทายในเรื่องของผังเมืองรวมในปัจจุบันและผังนโยบายเองก็คือ ไม่สนสี่สนแปดในการ “เขียน” แต่ไปเน้นเอารูปมาตั้ง เพราะว่าในการเขียนจะต้องดูว่าผังเมืองและผังนโบายวางอยู่บนแนวคิดทฤษฎีอะไร ตรงนี้แหละที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาถกเถียงกันนอกเหนือไปจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและเปิดให้มีส่วนร่วม

เอาจริงๆ ที่ผ่านมาในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ กทม.เกือบทุกฉบับเขาเขียนอย่างชัดเจน แค่เวทีในการถกเถียงมันน้อย เพราะลักษณะเป็นการว่าจ้างมาทำ แต่มันเถียงกันได้อย่างไม่ตีกันตาย (ส่วนจะตกม้าตายเพราะเขียนเสร็จไปหมกมุ่นกับการวัดประเมินตัวชี้วัดที่ประชาชนไม่ได้กำหนดการวัดได้หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง)

อีกอย่างที่สำคัญคือ การมองว่าการจัดทำผังเมืองรวมจะต้องเกิดทุกสี่ปีห้าปีเป็นวิธีคิดที่เต็มไปด้วยปัญหา ในโลกนี้เขาอาจจะจัดทำแผนการพัฒนาเมืองกันทุกยี่สิบปี การไปเน้นว่าต้องทำทุกสี่ปีห้าปีนี้ทำให้เกิดการหมกมุ่นของกระบวนการราชการที่ไร้ความหมาย เป็นการสร้างแรงจูงใจเร่งเร้าให้ภาคอสังหาริมทรัพย์รีบพัฒนาพื้นที่และวางแผนด้วยทรัพยากรที่มากกว่าภาคส่วนอื่นๆ และย่อมมีอิทธิพลในการกำหนดการพัฒนาที่ดินได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ

แผนการพัฒนาเมืองที่มีพื้นที่ในการพัฒนาที่ชัดเจน เช่น แผน/ผังเมืองของเบอร์มิ่งแฮม และลอนดอน เมืองใหญ่อันดับสองและหนึ่งของอังกฤษไม่ได้ทำทุกสี่ปี แต่ทำทีละยี่สิบปีขึ้นไป และเน้นว่าจะพัฒนาพื้นที่ตรงไหนด้วยเงื่อนไขอะไร และอธิบายว่าแต่ละมิติในการพัฒนาจะส่งผลการเปลี่ยนแปลงพื้นที่กายภาพอย่างไร และเตรียมการอย่างไร ไม่ใช่แยกเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินออกจากแผนอื่นๆ จนทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่าตกลงที่วางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบนี้จะเอื้อใครหรือเปล่า

“เมืองที่ไม่มีผังเมืองรวมมีอยู่จริงและเจริญได้” หลายเมืองในโลกไม่มีผังเมืองรวม แต่เมืองเขาไม่พังเพราะเขามีระบบ “ผังเมืองแฝง” ที่อิงตามความสัมพันธ์อำนาจของเมือง

อธิบายอีกอย่างก็คือ การพัฒนาเมืองควบคุมการใช้ที่ดินได้โดยไม่ต้องมีผังการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งเมือง

อย่าลืมว่าในทางบวกนั้นการมีผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม (land use zoning) มุ่งหวังที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยการกำหนดว่าจะสร้างอะไรได้บ้าง และอนุญาตให้ทำกิจการอะไรได้บ้าง และจะมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร

แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าผลพลอยได้ หรืออาจจะเป็นความมุ่งหวังที่โจ่งแจ้งในหลายเมืองนั้น การจัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้วทึกทักเอาว่านั่นคือผังเมือง (ซึ่งเราต้องมาเถียงกันว่า ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน-land use plan นั้นเท่ากับ land use map ไหม เราจะเอาแผนที่มาศักดิ์สิทธิ์กว่าผังนโยบาย หรือแผนระดับเมืองไหม คือ city plan, general plan จะเท่ากับ zoning หรือ land use map เชียวเหรอ)

ที่สำคัญคงปฏิเสธกันได้ยาก หรือบางทีก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า พอมีผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดออกมาแล้วนั้น สิ่งนี้คือพลังสำคัญที่ทำให้ตลาดอสังหาฯมีความแน่นอนในการพัฒนาและป้องกันไม่ให้มูลค่าของที่ดินมันตกต่ำ (เช่น ป้องกันว่าถ้าที่ดินฉันอยู่ในเขตที่พัฒนาได้หลายอย่าง ก็จะยืนยันว่าราคามันจะตกได้ยาก มีแต่จะขึ้นเสียมากกว่า แล้วก็มาอ้างว่าต้องดู “ศักยภาพของพื้นที่่” ด้วย)

นี่แหละคือความท้าทายของการจัดการเรื่องผังเมือง เพราะถ้าสร้างสมดุลไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันก็จะเกิดกับผู้คนในเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมืองฮุสตัน (Houston) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ระดับสี่ของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างเมืองที่ไม่มีผังเมืองรวม (unzoned city) หรือไม่มีผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ก็ไม่ใช่ว่าอะไรก็จะเกิดขึ้นได้

ลองคิดดูว่าถ้าผังเมืองคือธรรมนูญของท้องถิ่น หรือที่เราเข้าใจว่าเป็นกฎกติกาที่เราต้องการอยู่ด้วยกัน เราก็เคยเรียนมาแล้วว่าอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ได้ไม่มีกฎหมายที่จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คนในประเทศของเขา

นี่แหละครับ ฮุสตันไม่มีผังเมืองรวมในแง่ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่มีกฎระเบียบที่กระจายตัวลงไปในแต่ที่ดิน และพื้นที่เฉพาะมากมาย และคนในเมืองเขาก็มองว่าการมีกฎระเบียบในการกำกับที่ดินไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปแบบของการมีผังเมืองรวมในความหมายของผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเสมอไป

กำเนิดของผังเมืองในอเมริกาตามตำราสายหนึ่งมองว่าการเกิดผังการใช้ที่ดินในนิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ.1916 จากแนวคิดการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินมาเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตที่ดี และเมื่อศาลสูงสหรัฐต่อมาตัดสินว่าการกำกับการใช้ที่ดินแบบนี้ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ (หมายถึงสิทธิเสรีภาพ) ในปี ค.ศ.1926 ทำให้เชื่อกันว่า การผังเมืองที่เน้นการทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินคือทางออกสำคัญของการผังเมือง

แต่ในกรณีของฮุสตันนั้นแม้จะมีการอธิบายว่าวัฒนธรรมการส่งเสริมเสรีภาพและให้คุณค่ากับการถือครองทรัพย์สินเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมชาวเมืองใต้ของอเมริกา แต่เมืองอื่นๆ ทางใต้โดยเฉพาะในเทกซัสเองก็มีการจัดทำผังเมืองรวมในแง่ของการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งสิ้น

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ฮุสตันไม่มีผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองสองล้านกว่าคนที่มีพื้นที่เมืองจริงหกล้านกว่าคนก็คือ เพราะว่าในกฎบัตรของเมืองกำหนดว่าถ้าจะมีการใช้ผังเมืองรวมในแง่ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินก็จะต้องทำประชามติ ซึ่งหมายถึงจะต้องผ่านการลงคะแนนหลังจากมีการถกเถียงสาธารณะในหลายเวที และที่ผ่านมาความพยายามในการจัดทำผังเมืองรวมแบบผังการใช้ที่ดินรวมนั้นถูกโหวตคว่ำมาแล้วสามครั้ง คือ 1948 1962 และ 1993

ในอีกด้านหนึ่ง ฮุสตันมีระบบการกำกับดูแลที่ดินที่ละเอียดกว่าผังการใช้ที่ดิน เช่น มีการกำกับขนาดที่ดินในบางพื้นที่เพื่อไม่ให้พื้นที่แน่นเกินไป มีการกำกับมาตรฐานการก่อสร้างที่เข้มงวดและขนาดของถนน นอกจากนั้นยังมีกฎหมายประกาศใช้และกำกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อร้องขอต่อสภาท้องถิ่นให้ประกาศเขตต่างๆ เหล่านี้เพื่อไม่ให้เกิดการพัฒนาที่บ้าคลั่งได้ มีการประกาศบางพื้นที่ว่าห้ามพัฒนาในกิจการต่างๆ (ดูรายละเอียดที่ Matthew Festa. Land Use in the Unzone City. (May 28, 2013) (Spring 2012)., Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=2270956 และงานอื่นของเฟสต้า ที่เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่วิทยาลัย South Texas College of Law. Developing Houston: Land-Use Regulation in the “Unzoned City” and It’s Outcomes. Kinder Institute of Urban Research, Rice University. 2017. และบทความในเว็บของสมาคมการวางผังเมืองอเมริกา โดย William Fulton. The ZWord. Planning. January 2020. (American Planning Association). https://planning.org/planning/2020/jan/the-z-word/)

ตัวอย่างเครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้กันในเมืองก็คือ การกำหนดว่าในพื้นที่โดยรอบที่พักอาศัยที่จะถูกพัฒนาจะต้องไม่มีห้างขนาดใหญ่ หรือคอนโดมาตั้ง มีการกำหนดความหนาแน่นของเมืองบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่ให้หนาแน่นมากเกินไป ซึ่งหมายความว่าประชาชนสามารถกดดันสภาท้องถิ่นได้ มีการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้พัฒนาบางพื้นที่ที่ยังขาดการพัฒนา เพื่อให้ใช้ภาษีในพื้นที่ไม่ต้องส่งออกไปพัฒนาพื้นที่อื่น มีการบังคับการใช้ที่ดินรอบสนามบินเพื่อประโยชน์กับคนในพื้นที่เหล่านั้น มีการเอาจริงเอาจังกับการกำหนดความสูงของตึก (ไม่ใช่จูงใจให้สร้างสูงขึ้นถ้าแบ่งพื้นที่มาทำสีเขียวปลอมๆ) และมีการกำหนดไม่ให้ซื้อที่ดินแบบรวมแปลงถ้าประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย

สิ่งที่ท้าทายในฮุสตันคือ มันสะท้อนว่าถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง ประชาชนไม่เรียกร้องสิทธิการพัฒนาที่ดินแบบทุนอสังหาริมทรัพย์ชี้นำมันจะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้ามีการระบุสีการพัฒนาที่ดินเอาไว้แล้ว

ทางออกที่ไม่อยากออกในกรณีของกรุงเทพฯ ผมฟันธงไว้เลยว่า ถ้าแค่ยื้อเวลาแบบนี้ยังไงผังเมืองแบบที่เน้นการระบายสีที่ดินแล้วมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์แบบที่เป็นอยู่ก็ออกได้ เพราะใครคุมเสียงในสภา กทม.ได้ก็มีผลในการประกาศใช้

สิ่งที่ควรทำคือ ตั้งคำถามว่าผู้บริหาร กทม.ที่เลือกตั้งเข้ามาใหม่หลังจากที่ผังเมืองนี้เขาทำไว้ก่อนจะต้องออกมาพูดไหมว่าเรื่องการจัดทำผังเมืองรวมแบบผังการใช้ประโยชน์ที่ดินนำทุกเรื่องนี้เชื่อมโยงกับนโยบายของผู้บริหาร กทม.ที่สัญญากับประชาชนอย่างไร สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ กทม.ไหม กับนโยบายเป็นร้อยข้ออย่างไร สอดคล้องกับแนวคิดเก้าดีอย่างไร

ส.ก.จะมีส่วนในเรื่องนี้อย่างไร ส.ส.ในพื้นที่จะมีส่วนในเรื่องนี้อย่างไร เรื่องผังเมืองนี้เป็นเรื่องการเมืองของการหาคะแนน โจมตีฝั่งตรงข้ามการดีลลับ หรือเป็นเรื่องของประชาชนที่เขาจะต้องอยู่ร่วมกันจริงๆ

สิ่งที่ต้องถอยมาตั้งหลักคือ อย่าไปกลัวเรื่องของการยกเลิกผังเมือง การยกเลิกผังเมืองคือผังเก่าก็บังคับไป กฎหมายอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ สิ่งที่ต้องคิดคือ การสร้าง “ผังเมืองกรุงเทพฯ” ในลักษณะผังนโยบาย อย่าไปเรียกแผนยุทธศาสตร์แบบที่ผ่านมา เพราะจะไปวุ่นวายกับตัวชี้วัดมากกว่าแนวคิดในการพัฒนาจริง

เราต้องการ Bangkok Plan ในแง่ของผังนโยบายที่อ่านรู้เรื่อง ที่กำหนดอนาคตกรุงเทพฯในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ที่มีทั้งเรื่องแนวคิด ยุทธศาสตร์ และการถอดแนวคิดยุทธศาสตร์มาเป็นพื้นที่ จะเป็นแต่ละเขตหรือกลุ่มเขตก็ได้ เรื่องเหล่านี้จะทำให้เกิดการคิดทั้งระบบ ไม่ใช่มองว่าทุกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือสิ่งที่มีเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ความนิยม ความมุ่งหวัง และความตั้งใจที่ผู้บริหารเมืองในชุดนี้มี ผมคิดว่ามีมากกว่าการเดินตามเงื่อนเวลาในกฎหมายที่ยังมีข้อบกพร่อง และผมเชื่อว่าโอกาสในวิกฤตที่เราเผชิญอยู่มีอยู่มาก และนี่คือเวลาที่เหมาะสมในการหาทางออกในเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image