โฮลี เฟสติวัล-เจริญพืชพันธุ์ของอินเดีย-ถึงไทยสมัยอโยธยา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

โฮลี เฟสติวัล - นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ นายนาเคศ สิงห์ ทูตอินเดีย เปิดงาน Holi Festival Bangkok 2024 ท่ามกลางชาวไทยเชื้อสายอินเดียและนักท่องเที่ยวคึกคักลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 (ภาพจาก ข่าวสด ฉบับวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567)

โฮลี หรือ โหลี เป็นเฟสติวัลในอินเดีย มีต้นตอจากพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ หรือเจริญพืชพันธุ์

โฮลี เฟสติวัล มีการละเล่นสาดสี เคยถูกนักวิชาการไทยบอกว่าเป็นรากเหง้าสาดน้ำสงกรานต์ในไทย ซึ่งไม่จริงอย่างนั้น เพราะสาดน้ำสงกรานต์มาจากพิธีขอฝนด้วยการสาดน้ำนางแมว

สมัยอยุธยามีพิธีเผาข้าวเรียกธานย์เทาะห์ มีผู้รู้อธิบายว่าได้ต้นแบบจากพิธีโฮลี หรือโหลีจากอินเดีย เป็นหลักฐานว่าโฮลี-โหลี เข้าถึงไทยสมัยอโยธยาหรือก่อนหน้านั้น แต่พบเป็นพระราชพิธีสมัยอยุธยา

นายกฯ เปิดงาน “Holi Festival Bangkok 2024”
มั่นใจ นทท. เข้าไทยเพิ่มหลังยกเว้นวีซ่าให้แล้ว 

Advertisement

เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 22 มีนาคม ที่บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน “Holi Festival Bangkok 2024” โดยมี นายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย นางพวงเพชร ชุนละเอียด รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว. วัฒนธรรม น.ส. สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว. การท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการและผู้บริหารสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย นักท่องเที่ยว ร่วมงาน

โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางถึง นายนิกร ซัลเดว กรรมการบริหารสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชวน ตาครู นายกสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย และคณะผู้จัดงานให้การต้อนรับ

จากนั้น นายกฯ จุดเทียนเปิดงาน “Holi Festival Bangkok 2024” ร่วมกับเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายกสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย ต่อจากนั้น นายกฯ ชมการแสดงเชิงพหุวัฒนธรรมไทย-อินเดีย เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยกล่าวอวยพรเนื่องในวันโฮลี

Advertisement

นายกรัฐมนตรี กล่าวอวยพรเนื่องในวันโฮลี ว่าการจัดเทศกาลโฮลีแสดงถึงการสิ้นสุดปีเก่าของพี่น้องชาวอินเดีย ด้วยการเฉลิมฉลองด้วยการละเล่นสาดสี เทสีใส่กัน เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นปีใหม่——-

[มติชนออนไลน์ วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2567]

สงกรานต์ ไทย
ไม่ได้มาจากโหลี (Holi) เทศกาลสาดสีในอินเดีย

มีผู้พยายามโยงประเพณีสงกรานต์สาดน้ำของไทย ว่ารับจากโหลี (Holi) เทศกาลสาดสีของอินเดีย

แต่แท้จริงแล้ว สงกรานต์ไม่ได้มาจากโหลี (Holi) เทศกาลสาดสีในอินเดีย                 อ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง [คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ทับแก้ว)]
อธิบายไว้ จะขอสรุปย่อคัดมาแบ่งปันไว้ ดังต่อไปนี้

โหลี-สงกรานต์ ไม่เหมือนกัน

เทศกาลโฮลี ประกอบด้วยสองวันสำคัญ คือวันโหลิกาทหนะ และวันโหลี

[คำว่าโหลีเป็นภาษาฮินดี มาจากคำว่าโหลาหรือโหลิกาในคำสันสกฤต (หรือคำอื่นๆ ที่บ่งถึงเทศกาลเดียวกัน เช่น โหลากา)]

อ.คมกฤช อธิบายว่าโหลี-สงกรานต์ ไม่เหมือนกัน ดังนี้

หนึ่ง โหลีกำหนดวันตามจันทรคติ ซึ่งต่างจากสงกรานต์ที่กำหนดตามสุริยคติ

เทศกาลโหลีจะเริ่มต้นในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือนผาลคุน (คือเดือนตามปฏิทินจันทรคติฮินดูราวกุมภาพันธ์-ต้นมีนาคม) เรียกวันนี้ว่าวัน “โหลิกาทหนะ” (Holika Dahana) แปลว่าวันเผาหรือฆ่านางโหลิกา

วันรุ่งขึ้นเล่นสาดสีและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เรียกว่า วันโหลี หรือ “วสันโตสวะ” หมายถึงเทศกาลแห่งฤดูวสันต์ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนไจตระ (ราวต้นมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน)

[เทศกาลโหลี กำหนดโดยจันทรคติกาล จึงมีวันไม่ตรงกันในแต่ละปีบางปีอาจไปตกอยู่ในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายนก็ได้]

สอง สงกรานต์ถือเป็น “ปีใหม่” หรือเปลี่ยนศักราชตามโหราศาสตร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียภาคใต้ เพราะยังถือตรงกันทั้งไทย (เก่า)

โหลีไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนศักราชปีใหม่ แต่เป็นการฉลองการเข้าสู่ฤดูวสันต์ ซึ่งเป็นฤดูกาลที่จะเริ่มต้นเพาะปลูกจึงเป็นคนละคติความเชื่อกับสงกรานต์

ชาวทมิฬว่าสงกรานต์อันหมายถึงการที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ เป็นปีใหม่ ในอินเดียใต้เรียกว่าเทศกาลปุฑัณทุ หรือวิษณุกณิ (ปกติพระอาทิตย์ย้ายราศีเดือนละหนึ่งครั้ง สงกรานต์จึงมีทุกเดือน)

พิธี “โหลิกาทหนะ” หรือเผากองเศษไม้ (สมมุติว่าเป็นนางโหลิกา) ซึ่งอ้างอิงจากตำนานเรื่องประหลาทะในคัมภีร์ปุราณะ หลังเสร็จพิธีทุกคนก็จะนำเถ้าจากกองไฟนี้มาแต้มที่ศีรษะ พิธีนี้เป็นหัวใจสำคัญของเทศกาลโหลี และน่าจะเป็นพิธีโบราณที่มีมาก่อนคำอธิบายยุคหลัง

ถ้าจะนับเอาการเปลี่ยนศักราชเป็นปีใหม่แล้ว ปีใหม่ในอินเดียมีมากมายหลายเทศกาล และมีช่วงเวลาไม่ตรงกันเลย เนื่องด้วยความกว้างใหญ่ไพศาลของพื้นที่ทำให้ฤดูกาลของแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันมากและในแต่ละพื้นที่ยังมีระบบของปฏิทินของตนเองอีกด้วย

เผาหุ่นนางโหลิกา

อ.คมกฤชเห็นว่าโหลี น่าจะเป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่ของอินเดีย และเป็นของชาวบ้านในสังคมกสิกรรมอาจกล่าวได้ว่า โหลีเป็นประเพณี “ก่อนฮินดู” (pre-Hinduism)

โหลีแต่เดิมเป็นเทศกาลที่แพร่หลายในอินเดียภาคเหนือและตะวันออก ซึ่งมีความแตกต่างของภูมิอากาศในแต่ละฤดูกาลมาก การมาถึงของฤดูวสันต์หรือใบไม้ผลิจึงหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตและเป็นสัญญาณของการเริ่มเพาะปลูก

ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนผาลคุน หรือวันโหลิกาทหนะชาวบ้านจะสร้างกองเศษไม้ใบไม้ และทำเป็นหุ่นอย่างง่ายๆ สมมุติเป็นนางโหลิกา

เมื่อได้กระทำบูชาแล้วก็จะจุดไฟขึ้นร้องเพลงและเล่นสนุกรอบกองไฟและเอาเถ้าจากกองไฟนั้นเจิมหน้าผากจากนั้นจึงเริ่มต้นการเล่นสาดสีกันต่อไปในวันรุ่งขึ้น

ในปัจจุบันมีคำอธิบายต่างๆ ตามตำนานของแต่ละท้องที่

ประเพณีเล่นสาดสี ในเทศกาลโหลี (Holi) ของอินเดียเริ่มเล่นในเช้าหลังจากวันโหลิกาทหนะ (Holika Dahana) ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนไจตระ ซึ่งมีทั้งสาดด้วยผงสี และน้ำผสมสี ประเพณีนี้แต่เดิมแพร่หลายอยู่เฉพาะในอินเดียภาคเหนือและบางส่วนของภาคตะวันออก ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป (ภาพจากเว็บไซต์ http://www.theguardian.com )

สาดสี เป็นพิธีเจริญพืชพันธุ์

การสาดสีกันในเทศกาลโหลี จึงเป็นพิธีการเจริญพืชพันธุ์เพื่อความอุดมสมบูรณ์

หากปราศจากเลือด ไม่ว่าจะประจำเดือนหรือเลือดจากการบูชายัญปราศจากต้นไม้ใบหญ้าและเชื้อชีวิตแผ่นดินและการเพาะปลูกก็ย่อมจะสมบูรณ์ไม่ได้

นอกจากนี้ในบางท้องถิ่นยังมีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเล่นไล่ตีผู้ชาย ซึ่งในเวลาปกติกระทำไม่ได้ เพื่อขับเน้นความสำคัญของ “เพศหญิง” ในบทบาทของศาสนาดั้งเดิม หรือมีการละเล่นร้องเพลงเกี้ยวพาราสีซึ่งล้วนมีนัยถึงการเจริญพืชพันธุ์ทั้งสิ้น

การสาดสีในเทศกาลโหลี ใช้ผงสีทำจากวัสดุธรรมชาติเช่นแร่ธาตุและพืช (ผงคุลาล ผงอพีระ ผงขมิ้น ฯลฯ) สีหลักที่ใช้มาแต่เดิมมีสามสี คือ แดงเขียว และเหลือง

โหลีในสายตาผู้คนปัจจุบันจึงหมายถึงความสนุกสนาน สีสันของชีวิตและความรักเป็นหลัก แต่หากตีความในอีกชั้นหนึ่งสีเหล่านี้มักถูกใช้ในสัญลักษณ์ต่างๆ และพิธีกรรมในศาสนาฮินดูอยู่แล้ว

สีแดง สะท้อนการกำเนิดเจ้าแม่และชีวิต สีแดงจึงแทนโลหิต

สีเขียว คือความบริบูรณ์ของต้นไม้พืชพันธุ์ และ

สีเหลือง คือเชื้อชีวิต และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งแทนอสุจิหรือปัสสาวะ (เทวดาฮินดู เจ้าแม่จึงมักทรงพัสตราภรณ์แดง หรือเขียวในขณะที่เจ้าพ่อมักทรงเหลือง หรือขาว)

สงกรานต์ดั้งเดิมในไทยไม่มีเล่นสาดน้ำมีแต่รดน้ำดำหัวพ่อแก่แม่เฒ่าในชุมชน เพิ่งมีสาดน้ำเมื่อไม่นานมานี้

โหลี กับพระราชพิธีธานย์เทาะห์?

พระราชพิธีธานย์เทาะห์ หรือธัญเทาะห์ หรือพิธีเผาข้าวเป็นพระราชพิธีที่ปฏิบัติในกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีในกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน           ว่าเป็นพระราชพิธีในเดือนสามตั้งโรงพิธีที่ทุ่งนา เอารวงข้าวมาทำเป็นฉัตรปักไว้แล้วเอาไฟจุดรวงข้าวนั้น มีคนแต่งตัวแดงพวกหนึ่ง เขียวพวกหนึ่งสวมเทริดเข้าไปยื้อแย้งรวงข้าวนั้น แล้วมีคำพยากรณ์ต่อจากพระราชพิธีนี้จึงเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

อ. คมกฤช อธิบายว่าที่น่าสนใจคือพระราชพิธีธานย์เทาะห์จัดขึ้นในเดือนสาม
ซึ่งมีช่วงเวลาใกล้เคียงกับเทศกาลโหลี หรือปลายเดือนผาลคุนของอินเดีย และมีการ “เผา” รวงข้าวที่ทำเป็นพุ่มฉัตรไว้ที่ทุ่งนา และมีการ “เล่น” ยื้อแย้งข้าวนั้น มีการแต่งตัว “สีสัน” เข้าในพระราชพิธี

ส่วนคำพยากรณ์หรือมูลเหตุที่กระทำคงมุ่งหมายถึงความสวัสดิมงคลและความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นสำคัญ

พระราชพิธีธานย์เทาะห์ต่างหากที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากเทศกาลโหลิกาทหนะ หรือ โหลีที่ปฏิบัติกันในอินเดียบางภูมิภาค?

นาฏกรรมแห่งรัฐ

ธานย์เทาะห์ เผาข้าว เท่าที่พบร่องรอยจากเอกสารหลายเล่มสรุปพิธีกรรมได้ 3 ขั้นตอน คือ ทำขวัญข้าว, เผาข้าว, เสี่ยงทาย

1.ทำขวัญข้าว หมอขวัญ คือ “อาจารย์” (เอกสารทวาทศมาสไม่เรียก พราหมณ์ หรือ ทวิช) เริ่มพิธีทำขวัญข้าวด้วยการขับลำคำคล้องจองสู่ขวัญแม่ข้าวพร้อมประพรมน้ำหอมดอกไม้ เรียก “สุคนธมาลา” แก่ “พนมรวง” หรือ “พนมข้าว” (คือ พนมรวงข้าว หมายถึงรวงข้าวที่มัดรวมเป็นพุ่มหรือฟ่อน มีเมล็ดข้าวติดรวงเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของแม่ข้าว) มีบอกในทวาทศมาสโคลงดั้น (บท 204) ว่า

“อาจารย์รังเริ่มตั้ง        พนมรวง แม่ฮา
ถวายสุคนธมาลา       เรียบร้อย”

2.เผาข้าว แห่พนมรวงข้าวไปลานเผาข้าว (หลังเสร็จทำขวัญข้าว) เพื่อทำพิธีเผาข้าว เรียกในทวาทศมาสว่า “ส่งโพศพ” หมายถึง ส่งพระไพศพราชขึ้นฟ้าด้วยการเผาศพ

ตำราพระราชพิธีเก่าและตำราทวาทศพิธีจดไว้ว่าขุนนางผู้ใหญ่เชื้อสายพราหมณ์แห่พนมรวงข้าว (สมมุติเป็นฉัตร) มีประธาน 1 พนม และบริวาร 8 พนม เมื่อพร้อมแล้วให้ตระกูลพราหมณ์เป็นใหญ่จุดไฟเผาฉัตรรวงข้าวประธานขึ้นก่อน แล้วตามด้วยเผาฉัตรรวงข้าวบริวารทั้ง 8

ทวาทศมาสโคลงดั้น (บท 204 และ 211) พรรณนาพิธีเผาข้าวว่าขบวนแห่พนมรวงข้าวมีหมู่ฟ้อนร่อนรำเต็มแถวทาง ครั้นเสร็จพิธีเผาข้าวก็เท่ากับส่งพระไพศพขึ้นฟ้า แต่ไฟเผายังคุกรุ่นส่งแสงร้อนรุ่มผลาญไม้ใบข้างเคียง ดังนี้

“รัถยาบ่าวสาวพวง      พาลแพละ กันนา
ตามส่งไพศพคล้อย      คลาศคลา”
“เสร็จส่งไพศพสิ้น       สารสุด
เพลิงฉี่ใบบัวบง           เหี่ยวแห้ง”

3.เสี่ยงทาย ตำราพระราชพิธีเก่ากับตำราทวาทศพิธีบอกว่าเมื่อคณะตระกูลพราหมณ์จุดไฟเผาพนมรวงข้าวแล้วคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งขุนนางจัดไว้ให้ซ่อนซุ่มอยู่ในที่ไม่เปิดเผย ได้ขี่ควายกรูพร้อมกันออกไปแย่งชิงฉัตรรวงข้าว ชิงฉัตรรวงข้าวเป็นการละเล่นเสี่ยงทาย ถ้าเข้าชิงได้จากทิศใดจะมีคำทำนายฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่? อย่างไร? [กิจกรรมนี้มีร่องรอยพบในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)] เรื่องทิศทางเข้าชิงฉัตรแล้วมีคำทำนายเป็นกิจกรรมเสี่ยงทายที่พัฒนาจากความเชื่อวันกำฟ้าของชาวนาดั้งเดิมคอยฟังทิศทางเสียงฟ้าร้องแล้วมีคำทำนาย

การละเล่นเป็นมหรสพ พบร่องรอยสมัยหลังอยู่ในหนังสือนางนพมาศว่า “การมหรสพก็เล่นระเบงระบำ — นางกะอั้วผัวแทงควาย หกคะเมน ไต่ลวดลอดบ่วงรำแพน เสียงฆ้องกลองนี่สนั่นน่าบันเทิงใจ” [กัมพูชามีเล่นหุ่น, โขน, มวยปล้ำ, รำกระบี่กระบอง, ดาบดั้ง เป็นต้น (พงศาวดารละแวก)]

[เอกสารสอบค้น ลำดับขั้นตอนกิจกรรมพิธีธานย์เทาะห์ หรือเผาข้าว ไม่มีบันทึกต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนปลาย ส่วนเท่าที่มีอยู่ไม่สมบูรณ์และอ่านไม่ง่าย เข้าใจลำบาก บางทีจะเข้าใจคลาดเคลื่อนด้วยซ้ำ แต่ได้พยายามเทียบเคียงเอกสารเกี่ยวข้องหลายเล่ม รวมกับการคาดคะเนตามหลักฐานและร่องรอยเท่าที่ค้นได้แล้วลำดับไว้โดยสรุป ทั้งหมดจึงไม่ถือเป็นยุติ และแก้ไขได้เมื่อพบหลักฐานเพิ่มหรือประสบการณ์เปลี่ยนไปทำให้แนวคิดไม่เหมือนเดิม สำหรับบรรดาเอกสารที่ใช้เทียบเคียงมีดังนี้

(1) กฎมณเฑียรบาล เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ พบแต่ชื่อพระราชพิธี แต่ไม่พบรายการพิธีกรรม (2) ทวาทศมาส เดือน 3 พิธีส่ง “พระไพสพราช” มีตั้งพนมรวงข้าว พรรณนาเป็นโคลงดั้นราว 25 บท ไม่พบรายการพิธีกรรม (3) กาพย์ห่อโคลงเจ้าฟ้ากุ้ง เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ เรียก เผาข้าว พรรณนาเป็นกาพย์และโคลงอย่างละ 1 บท (4) คำให้การชาวกรุงเก่า เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ แต่ไม่พบรายการแสดงพิธี พบแต่พรรณนาเรื่องตรียัมพวาย ซึ่งน่าจะเกิดจากการสับสน (5) คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2547) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2549 (6) ตำราพระราชพิธีเก่า และตำราทวาทศพิธี เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์เผาข้าว พรรณนาโดยรวมการละเล่นเสี่ยงทายอย่างหนึ่งในพิธีเผาข้าว แต่ไม่บอกขั้นตอนพิธีทั้งหมด ส่วนเนื้อหาทั้ง 2 เล่ม มีตรงกันในสาระสำคัญแต่ต่างกันในรายละเอียด (7) นางนพมาศ เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ บอกอย่างย่อว่าเริ่มนวดข้าวแล้วมีการละเล่น มีสงฟางกองไว้เผา ตอนท้ายจุดไฟเผาฟางและซังข้าว (8) พระราชพิธีสิบสองเดือน เดือน 3 พิธีธานย์เทาะห์ คือ เผาข้าว ร.5 ทรงบอกว่าพระเจ้าบรมโกศเสด็จนวดข้าวเป็นเรื่องเดียวกับเผาข้าว]

ธานย์เทาะห์ กับ “โหลี” ในอินเดีย

ธานย์เทาะห์ในอุษาคเนย์ไม่พบในอินเดีย แต่พบร่องรอยการเผาหุ่นใบไม้รูปเจ้าแม่ในพิธีโหลีของอินเดีย

“โหลี” เทศกาลสาดสีในอินเดียฉลองฤดูเริ่มการเพาะปลูก (ตามจันทรคติ) ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ราวมีนาคม) เป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวบ้านสมัย “ก่อนฮินดู” (pre-Hinduism) เรียกวัน “โหลิกาทหนะ” แปลว่า เผาหรือฆ่านางโหลิกา (รุ่งขึ้นเล่นสาดสี) โดยทำหุ่นนางโหลิกาจากเศษไม้และใบไม้แล้วจุดไฟเผา ครั้นหลังเสร็จพิธีชาวบ้านนำเถ้าจากกองไฟมาแต้มหน้าผาก

[สรุปจากบทความเรื่อง “สงกรานต์ไม่มีสาดน้ำและไม่ได้มาจากโหลีเทศกาลสาดสีในอินเดีย” ของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม) มติชน ฉบับวันพฤหัส 17 มีนาคม 2559 หน้า 13]

พราหมณ์เผาข้าวที่พัทลุง

พราหมณ์พัทลุงสืบเนื่องพิธีธานย์เทาะห์ แต่ออกเสียงตามสำเนียงท้องถิ่นว่า “ทานท่อ” ส่วนชาวบ้านเรียกพิธี “ลาซัง” เพื่อบูชาเทพยดาพระภูมินาไร่ ในพิธีจะเชิญแม่โพสพมาร่วม ครั้นส่งเทวดาทั้งหลายแล้วก็จุดไฟเผาซังข้าว ทุกวันนี้บางทีเผาตอยางของไม้ยางพร้อมไปด้วย เพื่อเตรียมเพาะปลูกครั้งใหม่ [คำบอกเล่าจาก คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม) เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563]

ข้าวสารดำ

ข้าวสารดำเป็นข้าวสารเมล็ดมีสีดำอันเกิดจากถูกไฟเผาข้าวเปลือกในพิธีเผาข้าว (หรือธานย์เทาะห์) พบเก่าสุดราวเรือน พ.ศ. 1000 (ปัจจุบันนิยมเรียกสมัยทวารวดี)

ข้าวสารดำพบในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีหลายแห่ง มีอายุราวหลัง พ.ศ. 1000 ได้แก่ เมืองอู่ตะเภา (อ. หนองแซง จ. สระบุรี), เมืองมโหสถ (อ. ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี), เมืองดงละคร (อ. เมืองฯ จ. นครนายก), และหลายแห่งใน จ. ลพบุรี รวมทั้ง จ. พระนครศรีอยุธยา มีชื่อ “วัดข้าวสารดำ” เนื่องจากในเขตวัดพบข้าวสารดำจำนวนมาก

[สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อ้างอยู่ในบทความเรื่อง ปริศนาข้าวสารดำ ของ กฤช เหลือลมัย. (2560). สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2563 จาก https://waymagazine.org/krit25/.]

ลานเผาข้าวเปลือก เผาข้าวเป็นพระราชพิธีของกษัตริย์รัฐโบราณในกัมพูชา เพราะเทวสถานสำคัญมีบริเวณ “ลานเผาข้าวเปลือก” เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมเผาข้าวเปลือก (หลังฤดูเก็บเกี่ยว) พบหลักฐานขณะนี้อย่างน้อย 2 แห่ง (ตรวจสอบโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ดังนี้

1.จารึกสด๊กก๊อกธม 2 พ.ศ. 1595 (ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมัน 2) พบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม (จ. สระแก้ว) ระบุข้อความว่าทิศเหนือของเทวสถานมี “กระลาเผาข้าว” คือ ลานเผาข้าวเปลือก แต่ไม่บอกรายละเอียดเผาอย่างไร? แบบไหน?

2.จารึกปราสาทหินพระวิหาร 2 พ.ศ. 1664 (ของพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2) พบที่ปราสาทพระวิหาร (กัมพูชา) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ถนนไปสู่ลานเผาข้าวเปลือก” แต่ไม่บอกรายละเอียดเผาแบบไหน? อย่างไร?

พิธีเผาข้าวเปลือก พบในพงศาวดารละแวก (อยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 71) พรรณนาพระราชพิธีเดือน 3 แผ่นดินพระศรีสุริโยพรรณ โดยสรุปว่าเอาข้าวเปลือกกองในพระราชวัง แล้วเอาฟางข้าวผูกเป็นรูปหุ่นปักไว้กับกองข้าว ต่อจากนั้นให้ขบวนแห่เวียนกองข้าว 3 รอบ เสร็จแล้วพราหมณ์ปุโรหิตกระทำพลีกรรมบวงสรวงบูชากองข้าวแล้วก็เผากองข้าวนั้น

[กัมพูชามีพระราชพิธีเดือนสามเผาข้าวบอกไว้ในพงศาวดารละแวก โดยสรุปดังนี้           

“—–ให้เจ้าพนักงานเอาข้าวไปกองไว้ในพระราชวัง 5 กอง แล้วให้เอาฟางข้าวผูกเป็นรูปหุ่น 4 คน ปักไว้กับกองข้าว—-” จากนั้นพรรณนากิจกรรมราชสำนัก ในที่สุดมีบอกตอนจบว่า “เจ้าพนักงานพราหมณ์ปุโรหิตกระทำพลีกรรมบวงสรวงบูชากองข้าว แล้วก็เผากองข้าวนั้นเสีย”]

ต่อมาพบหลักฐานโบราณคดีว่าข้าวสารดำพบในหลุมฝังศพหลายพันปีมาแล้ว (ก่อนติดต่ออินเดีย) ดังนั้นข้าวสารดำ (ก่อนติดต่ออินเดีย) เป็นพิธีกรรมพื้นเมืองไม่เกี่ยวกับ   ธานย์เทาะห์หรือโหลี

ไม่เสด็จเผาข้าวและแรกนา

ก่อนมีพิธีเผาข้าวเดือน 3 ต้องเสร็จกิจกรรมอื่นแล้ว ได้แก่ เกี่ยวข้าว, นวดข้าว ฯลฯ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จนวดข้าว แต่ไม่เสด็จเผาข้าวและแรกนา (จะมีเดือน 6) เพราะเผาข้าวกับแรกนามีกำเนิดนับพันปีมาแล้วเกี่ยวข้องพิธีกรรมฆ่าคนบูชายัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์

พระเจ้าบรมโกศเสด็จไปนวดข้าวนาหลวงที่ทุ่งหันตรา (อยู่ด้านตะวันออกนอกเกาะเมืองปัจจุบันใกล้ถนนสายเอเซีย) มีจดไว้ในคำให้การขุนหลวงหาวัด

พิธีธานย์เทาะห์ เผาข้าว กับพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญ พระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จ แต่โปรดให้ขุนนางผู้ใหญ่เป็นผู้แทนพระองค์ทำพิธีด้วยเหตุที่เผาข้าวเกี่ยวข้องความตายสืบเนื่องมาแต่ความเชื่อดั้งเดิมนานมากแล้ว ไมเคิล ไรท์ อธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม [ปีที่ 20 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2542) หน้า 72-74] ดังนี้

“ชาวนาในสมัยโบราณทั่วโลกนับถือข้าวว่าเป็น ‘คน’ ที่มีกำเนิด, เติบโต, ท้อง, แล้วตาย ชาวนาจึงต้องทำพิธีรับต้นกล้าเป็นลูก แล้วขอขมาที่เชือดลูกตอนเก็บเกี่ยวโดยทำบุญทำศพเยี่ยงคนด้วยกัน เพื่อขวัญข้าวจะได้กลับมาหาในปีหน้า

ที่ในงานแรกนาขวัญและงานเผาข้าว พระมหากษัตริย์ต้อง ‘หลีก’ และแต่งตั้งกษัตริย์ชั่วคราวแทนพระองค์เพื่อ ‘รับเคราะห์’ นั้น, น่าจะเป็นเพราะแต่เดิม (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) งานเหล่านี้ประกอบด้วยการฆ่าคนบูชายัญสร้างความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ที่เจริญในสมัยหลังๆ ไม่สามารถจะรับหรือร่วมงานได้, ทั้งๆ ที่ต้องมีพิธีนี้ไว้เพราะสำคัญสำหรับเกษตรกร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image