จั๊ดแถ่ว ข้าราชการ จัดแล้ว จัดอีก จับตา กระชับอำนาจ

31 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า

ก่อนการประชุม ครม. มีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เพื่อพิจารณาเตรียมออกคำสั่งมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ

Advertisement

โดยหาหลักการป้องกัน แก้ไขการทุจริต วิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งตำรวจ

ด้วยการนำแนวทางของกองทัพมาเป็นหลัก

ให้ผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับชั้นมีอำนาจเสนอแต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาตามลำดับ

แต่การตัดสินใจสูงสุดยังอยู่ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

แม้ปัจจุบันนี้จะมีกลไกในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจอยู่แล้ว คือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)

แต่ก็ยังมีปัญหา

ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า

ในอดีตมีการซื้อขายตำแหน่ง ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามหาแนวทางป้องกัน

ใช่ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะทั้งหมดนี้อยู่ที่ตัวบุคคล

แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

สําทับด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

ว่าการหารือและพูดคุยกันในส่วนของฝ่ายความมั่นคงทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องของตำรวจ

ประเด็นคือ การปฏิรูปตำรวจเดินไปถึงไหน อย่างไร และควรต้องดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถตอบคำถามกับสังคมได้

โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง ระบบอุปถัมภ์ต่างๆ

ต้องมีการไปคิดต่อว่าจะแก้ไขอย่างไร

จะทำอย่างไรให้คนไม่ดีหมดไป และคนดีมีมากขึ้น

“วันนี้ยังไม่มีการออกคำสั่ง คสช.มาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ

เป็นเพียงการพูดคุยหารือกันว่า ทำอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

โดยเฉพาะเรื่องของการแต่งตั้ง ที่มีการกล่าวอ้างกันตลอดมาว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง

การกล่าวหาว่ามีการเรียกรับเงินทองต่างๆ

เรื่องเหล่านี้ก็ต้องให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับล่างเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของผู้การจังหวัดก็ให้มีการพิจารณาแต่งตั้งลูกน้องตัวเอง

และให้ ผบ.ตร.เป็นผู้ตัดสินในขั้นตอนสุดท้าย เพราะเป็นอำนาจ

จะต้องมีการพิจารณาตั้งแต่ระดับล่าง ตรงกลาง และข้างบน โดยมีคณะกรรมการบริหารในการพิจารณา

ซึ่งเดิมไม่มีเช่นนี้ อยู่ที่ข้างบนที่เดียวก็ตายกันพอดี

วันนี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ต้องพิจารณารายชื่อ (ตำรวจ) ทั้ง 300 ตำแหน่ง

เอาชื่อมาดูมันเหนื่อยเกินไป

มันควรจะต้องมีบอร์ดกลั่นกรองในแต่ละระดับ”

คําแถลงของทั้งนายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล

ด้านหนึ่ง ฟังน่าเห็นใจในภาระงานอันหนักหน่วงที่ต้องแบกรับ

ด้านหนึ่ง เห็นความพยายามในการ “จัดแถว-จัดระบบ” อย่างต่อเนื่อง

ด้านหนึ่ง ก็สะท้อนสภาพปัญหาที่เป็นมาแต่อดีต

แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากพิจารณาว่า

คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557

จนถึงวันปัจจุบันนี้ผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปีมาแล้ว 3 ครั้ง

มีการสลับ ปรับ ย้ายข้าราชการทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร มาแล้วนับหมื่นนับแสนราย

นับเฉพาะ “หัวแถว” ของหน่วยราชการ

จากปี 2557 ถึงวันนี้ ไม่มี “คนเดิม” เหลืออยู่อีกแล้ว

“คนใหม่” ทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่รัฐบาลและ คสช.

เลือกมากับมือ

กระนั้น สิ่งที่ปรากฏหรือผลงานที่เป็นจริงก็ล้วนแต่สะท้อนภาพ “ม่ายล่ายลางจาย” ของแกนนำผู้มีอำนาจ

ไม่เว้นแม้แต่เรื่อง “ความมั่นคง”

ประสาอะไรกับเรื่องเศรษฐกิจ และการบริหารราชการอื่นๆ

จึงไม่แปลกที่ คสช. ที่เคยชินกับระบบ “รวมศูนย์” ในการบัญชาการกองทัพ

จะยกเครื่อง “จั๊ดแถ่ว” ข้าราชการ ไม่ว่าจะหน่วยงานไหนมาเป็นระยะ

และยิ่งปรับปรุง เปลี่ยนแปลง มากขึ้นเท่าไหร่

ก็ยิ่งสะท้อนภาพของความพยายามในการ “กระชับอำนาจ” เข้ามาที่ศูนย์กลาง

มากขึ้นเท่านั้น

แม้แต่การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจก็เช่นกัน

ม.44 ทำให้อำนาจกระจายขึ้น

หรือยิ่งรวบกระชับไว้

ผลงานที่ผ่านบ่งชี้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image