สุวรรณภูมิ “จากเรือใบถึงเรือบิน” อนาคตของไทยและเพื่อนบ้าน

แผนที่แสดงบริเวณสุวรรณภูมิ บนภาคพื้นทวีปของภูมิภาคอุษาคเนย์ เส้นประทางซ้าย แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลจากตะวันตกไปตะวันออก เส้นประทางขวา แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลเลียบชายฝั่งจากตะวันออกไปตะวันตก ทั้งสองเส้นทางต้องพักแวะขนสินค้าข้ามคาบสมุทรบริเวณที่เป็นประเทศไทย จึงสร้างความมั่งคั่งมั่นคงต่อเนื่องยาวนาน แล้วส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์และสังคมวัฒนธรรมในไทยและสุวรรณภูมิ เส้นลูกศรข้างบน แสดงทิศทางเคลื่อนย้ายไปมาของกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์จากตอนใต้ของจีน สู่ลุ่มน้ำโขง ลงเจ้าพระยา

1. สุวรรณภูมิในอดีต รุ่งเรืองขึ้นจากการค้า

 

สุวรรณภูมิรุ่งเรืองขึ้นจากการค้า ราว 2,500 ปีมาแล้ว ทั้งการค้าโลกและการค้าภายใน เพราะมีสิ่งสำคัญอำนวยการค้า ได้แก่ อยู่กึ่งกลางเส้นทางคมนาคมในอุษาคเนย์ และมีทรัพยากรคับคั่งหลายอย่าง

การค้าทำให้สุวรรณภูมิเจริญรุ่งเรืองและเติบโตก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะมีความเคลื่อนไหวไปมาหาสู่ของผู้คนหลากหลาย แล้วประสมประสานทั้งทางเผ่าพันธุ์กับทางสังคมวัฒนธรรมระหว่างพื้นเมืองดั้งเดิมกับที่มาจากภายนอก (ตะวันตก-ตะวันออก)

คนพื้นเมืองดั้งเดิมกับคนนานาชาติพันธุ์จากทุกทิศทาง ผสมกลมกลืนเป็นคนกลุ่มใหม่ แล้วสมมุติชื่อเรียกตัวเองต่างๆ กัน เช่น มอญ, เขมร, ชวา, มลายู, ลาว, ไทย ฯลฯ

Advertisement

วัฒนธรรมพื้นเมืองดั้งเดิม กับวัฒนธรรมจากที่อื่นซึ่งก้าวหน้ากว่า ผสมกลมกลืนเป็นวัฒนธรรมใหม่ เช่น วัฒนธรรมไทย มีหลายด้าน ได้แก่ ศาสนา, ภาษา, อักษร, เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ, อาหารการกิน ฯลฯ

กึ่งกลางเส้นทางการค้า

บริเวณสุวรรณภูมิอยู่ราวกึ่งกลางอุษาคเนย์ ซึ่งมีดินแดนคาบสมุทรยื่นยาวลงไปทางทิศใต้ ระหว่างมหาสมุทรอินเดีย (ทางทิศตะวันตก) กับมหาสมุทรแปซิฟิก (ทางทิศตะวันออก)

ทำให้สุวรรณภูมิเสมือนสะพานแผ่นดิน เชื่อมเข้าด้วยกันระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก

Advertisement

ตะวันตก-ตะวันออก หมายถึง การค้าทางทะเลกับบ้านเมืองที่อยู่ห่างไกล โดยมีสุวรรณภูมิเป็นสะพานแผ่นดินเชื่อมโยงให้พบปะกัน

ตะวันตก หมายถึง อินเดีย, เปอร์เซีย (อิหร่าน), อาหรับ (อิรัก) ฯลฯ

ตะวันออก หมายถึง จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี ฯลฯ

การค้าทางทะเลยุคแรกเริ่มมากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว เทคโนโลยีไม่แข็งแรง ต้องแล่นเรือเลียบชายฝั่งอ่าวเบงกอล ตั้งแต่อินเดีย, บังกลาเทศ, พม่า, ไทย, มาเลเซีย แต่ไม่ผ่านช่องแคบมะละกา เพราะคลื่นลมรุนแรงทำเรือล่มแตก รวมทั้งมีโจรสลัดชุกชุม

สุวรรณภูมิจึงเป็นดินแดนกลาง คล้ายสะพานแผ่นดินให้ขนสิ่งของสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน

จากอินเดีย ขนลงเรือเลียบชายฝั่งไปทางตะวันออก ท่าเรือต่างๆ ทางอ่าวเมาะตะมะ ทะเลอันดามัน เช่น ทวาย, มะริด, กระ, พังงา, ถลาง, ตรัง, กระบี่, ไทรบุรี ฯลฯ จากนั้นขนสินค้าขึ้นบกข้ามไปฝั่งอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ ลงเรือไปจีน ฯลฯ

จากจีน ขนลงเรือแล่นเลียบชายฝั่ง ตั้งแต่มณฑลฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง ฯลฯ ผ่านปากน้ำโขงทางเวียดนามและกัมพูชา เข้าอ่าวไทย

ระยะแรกจีนไม่ออกค้าขายทางทะเล แต่อนุญาตให้คนกลาง เช่น ศรีวิชัย ขนสินค้าจากจีนไปแลกเปลี่ยนกับอินเดียที่สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

ระยะหลังจีนต่อสำเภาใหญ่ค้าขายด้วยตนเอง โดยขนสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับนานาชาติที่สุวรรณภูมิ (เป็นเหตุหนึ่งให้รัฐอยุธยายุคต่อไปเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ)

ทรัพยากรธรรมชาติ

แร่ธาตุและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นทรัพยากรธรรมชาติมีคับคั่งในสุวรรณภูมิ ซึ่งเอื้อต่อการค้า

แร่ธาตุ ได้แก่ ทองคำ, ทองแดง, เกลือ ฯลฯ มีมากทางลุ่มน้ำโขง

ความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย สัตว์, พืช ฯลฯ มีทั่วไปทั้งแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีป

การค้าโลก หมายถึง การค้าทางทะเลกับบ้านเมืองที่อยู่ห่างไกล ทั้งตะวันตกและตะวันออก (ในที่นี้หมายถึง อินเดียและจีน) ไปแลกเปลี่ยนค้าขายกันบริเวณสุวรรณภูมิ

การค้าภายใน หมายถึง การค้าทางบกและแม่น้ำลำคลอง ภายในดินแดนสุวรรณภูมิ ที่มีแม่น้ำเป็นแกนหลักอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำโขง กับแม่น้ำสาละวิน โดยค้าขายถึงหมู่เกาะในอุษาคเนย์

แผนที่สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ กำหนดตำแหน่งแผ่นดินเงินอยู่ระหว่างกรุงหงสาวดีและปากแม่น้ำคงคา ส่วนแผ่นดินทอง (สุวรรณภูมิ) มีอาณาเขตทิศเหนือจดกรุงหงสาวดี ทิศใต้จดมะละกา ทิศตะวันตกจดอ่าวเมาะตะมะ และทิศตะวันออกจดทะเลจีนใต้  แผนที่นี้ได้จากตำราภูมิศาสตร์ Cosmographia ของ เซบาสเตียน มึนสเตอร์ นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2083 ตำราเล่มนี้ฉบับพิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2171 ระบุชัดเจนว่า "ในราชอาณาจักรสยามเป็นที่ตั้งของแผ่นดินทอง ซึ่งเป็นแผ่นดินทองของปโตเลมี...ถัดลงมาคือแหลมทอง ซึ่งมีภูมิลักษณะเป็นคอยาว" (ภาพและคำอธิบายได้จาก ธวัชชัย ตั้ง ศิริวานิช)
แผนที่สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ กำหนดตำแหน่งแผ่นดินเงินอยู่ระหว่างกรุงหงสาวดีและปากแม่น้ำคงคา ส่วนแผ่นดินทอง (สุวรรณภูมิ) มีอาณาเขตทิศเหนือจดกรุงหงสาวดี ทิศใต้จดมะละกา ทิศตะวันตกจดอ่าวเมาะตะมะ และทิศตะวันออกจดทะเลจีนใต้
แผนที่นี้ได้จากตำราภูมิศาสตร์ Cosmographia ของ เซบาสเตียน มึนสเตอร์ นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2083 ตำราเล่มนี้ฉบับพิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2171 ระบุชัดเจนว่า “ในราชอาณาจักรสยามเป็นที่ตั้งของแผ่นดินทอง ซึ่งเป็นแผ่นดินทองของปโตเลมี…ถัดลงมาคือแหลมทอง ซึ่งมีภูมิลักษณะเป็นคอยาว” (ภาพและคำอธิบายได้จาก ธวัชชัย ตั้ง ศิริวานิช)

2. อนาคตของไทยและเพื่อนบ้าน คือ อดีตของสุวรรณภูมิ “จากเรือใบถึงเรือบิน”

การค้าด้วยเรือใบทำให้สุวรรณภูมิรุ่งเรือง ทั้งการค้าโลกและการค้าภายในหลายพันปีมาแล้ว ส่งผลความรุ่งเรืองตกทอดถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ ควบคู่การค้ากันเองกับศูนย์กลางอื่นๆ ในกลุ่มเกาะอุษาคเนย์

ทุกวันนี้ไทยรับมรดกโดยมีพัฒนาการปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของโลกซีกอุษาคเนย์ ด้วยเรือบิน

ไทยควรลด ละ เลิก ประวัติศาสตร์สงคราม (แบบคลั่งชาติ) ที่ครอบงำมานานนับศตวรรษ แล้วทำความเข้าใจใหม่ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม(แบบเครือญาติ) จากเรือใบถึงเรือบิน เพื่อใช้งานการค้าและการท่องเที่ยว

ความรุ่งเรืองของสุวรรณภูมิเชื่อมโยงทุกทิศทาง กับชุมชนบ้านเมืองและรัฐทั้งแนวเหนือใต้ และตะวันตก-ตะวันออก จึงควรยกความเชื่อมโยงในอดีต มาใช้งานปัจจุบัน เพื่อ

(1.) สร้างคุณค่า ทางวัฒนธรรมความเป็นพวกเดียวกัน

(2.) สร้างมูลค่า ทางการท่องเที่ยวจากเรือใบถึงเรือบิน และการค้าข้ามภูมิภาค

(ทั้งนี้ โดยไม่ปิดหูปิดตาตัวเองจากโลก)

ประวัติศาสตร์ คืออนาคต

“ประวัติศาสตร์ คืออนาคต” หมายถึง “เรียนอดีต รู้ปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต” และ “พรุ่งนี้ เริ่มเมื่อวาน, อนาคต เริ่มจากอดีต”

ประวัติศาสตร์ ในที่นี้หมายถึงความเป็นมาทางสังคมและเศรษฐกิจการเมืองของผู้คนทุกชนชั้น รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนข้าวปลาอาหาร และ กิน ขี้ ปี้ นอน

[วิชาประวัติศาสตร์ไทย หรือประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ล้วนเป็นนิยายที่ตัดตอนจากพระราชพงศาวดาร ซึ่งเป็นคนละอย่างกับประวัติศาสตร์ คืออนาคต]

“เมื่อไรที่เราเห็นโอกาสจะวางอนาคตใหม่ เมื่อนั้นเราจะหันกลับไปทบทวนความจำเกี่ยวกับอดีต”

“ใครหรือเหตุการณ์อะไรก็ตามที่ทำให้คนในสังคมมีจินตนาการถึงอนาคตของสังคมโดยรวมไปในทางเดียวกันได้ ก็เท่ากับทำให้ทุกคนวางอนาคตของตนเองไปในทางเดียวกัน หรือในทางที่สอดคล้องกันด้วย จึงนับเป็นพลังที่ใหญ่มาก

[อดีตในอนาคต (1) ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ 2559 หน้า 30]

จากเรือใบถึงเรือบิน กับสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ
จากเรือใบถึงเรือบิน กับสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ

3. ดินแดนสุวรรณภูมิ ไม่ใช่ชื่อรัฐ หรืออาณาจักร

สุวรรณภูมิ เป็นชื่อดินแดนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ หรือเป็นดินแดนภาคพื้นทวีป พบหลักฐานในคัมภีร์อินเดียและลังกา

ไม่ใช่ชื่อรัฐ หรืออาณาจักร เพราะไม่เคยพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่ามีรัฐสุวรรณภูมิ หรืออาณาจักรสุวรรณภูมิ

พื้นที่

สุวรรณภูมิ ขนาบด้วย 2 มหาสมุทร ได้แก่ มหาสมุทรอินเดีย (อยู่ทางตะวันตก) กับมหาสมุทรแปซิฟิก (อยู่ทางตะวันออก)

สมัยแรกๆ หลายพันปีมาแล้ว มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมกว้างขวางกว่าที่รู้กันในปัจจุบัน ดังนี้

ทางเหนือ ครอบคลุมทั้งมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน

ทางตะวันตก ถึงรัฐอัสสัม ลุ่มน้ำพรหมบุตร ในอินเดีย

ทางตะวันออก รวมมณฑลกวางสีกับกวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

ผู้คน

บริเวณสุวรรณภูมิ ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ผสมปนเปร้อยพ่อพันแม่ (ไม่มีเชื้อชาติบริสุทธิ์) นับถือศาสนาผี ล้วนเป็นบรรพชนคนไทยทุกวันนี้ (หรือคนไทยมีบรรพชนร่วมกับชาวสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image