โชคชะตาคนโรฮีนจา หลังปฏิบัติการ 1027 โดย ลลิตา หาญวงษ์

หลังปฏิบัติการร่วมของกองกำลัง 3 ฝ่าย ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2023 ที่นำไปสู่การยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์ชายแดนพม่า-จีนในรัฐฉานไว้ได้เกือบทั้งหมด กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็บุกยึดพื้นที่ ที่เดิมเป็นของกองทัพพม่าและ SAC ได้เพิ่มขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ราวร้อยละ 70 ของพม่าอยู่ภายใต้การยึดครองของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ

หลายฝ่ายมองว่าปฏิบัติการ 1027 ของกองกำลังพันธมิตรสามภราดรภาพ อันประกอบไปด้วย MNDAA ของโกก้าง TNLA ของตะอาง และ AA ของอาระกัน (ยะไข่) นั้น เป็นจุดที่ทำให้โมเมนตัมการสู้รบในพม่าเปลี่ยน เพราะแต่เดิมกองทัพพม่าถือไพ่ได้เปรียบ มาบัดนี้กองกำลังหลากหลายกลุ่มใช้โอกาสที่กองทัพพม่ากำลังอ่อนแอสุดขีดบุกเข้าตีและยึดเมืองใหญ่น้อยได้เรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการสู้รบที่เข้มข้นในขณะนี้ มีประชาชนที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons) หรือ IDPs นับล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในพม่าฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ในเขตสะกาย มักก่วย ไปจนถึงรัฐยะไข่ นอกจากนี้ การขยายกฎอัยการศึกไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และการประกาศใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ที่บังคับให้ประชาชนเพศชายอายุ 18-35 ปี และเพศหญิงอายุ 18-27 ปีต้องเป็นทหาร สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนทั่วประเทศ คาดว่าหากกองทัพพม่าบังคับให้กฎหมายนี้สำเร็จ (ซึ่งแทบไม่มีความเป็นไปได้เลย) จะทำให้มีทหารเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน

กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารคือชาวโรฮีนจา ส่วนที่ยังอยู่ในพม่าก็มีชีวิตที่ลำบากอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่น แม้จะไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นประชากรของพม่าอย่างเป็นทางการ แต่กองทัพพม่าใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายนี้เพื่อดึงผู้ชายโรฮีนจาเข้าไปเป็นแรงงานในกองทัพ ตั้งแต่ต้นปีมา พื้นที่ของคนโรฮีนจาในรัฐยะไข่ถูกเครื่องบินพม่าทิ้งระเบิดหลายจุด และมีผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวบ้านโรฮีนจาจำนวนมาก

Advertisement

ด้วยชาวโรฮีนจาในค่ายผู้พลัดถิ่นไม่มีบัตรประชาชน และไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ ทำให้พวกเขาเป็นเป้าหมายที่จะถูกเกณฑ์ทหารเป็น กลุ่มแรกๆ มีรายงานข่าวออกมาว่าเมื่อ SAC ประกาศบังคับการเกณฑ์ทหารช่วงแรกๆ มีชาวโรฮีนจาจากค่ายผู้พลัดถิ่นอย่างน้อย 1,000 คน ที่ถูกนำตัวออกไปจาก 3 เมืองในรัฐยะไข่เหนือ ได้แก่ บูตีด่อง ซิตต่วย และเจ้าก์ผิ่ว

กระแสการเกณฑ์ทหารนี้จะทำให้ตัวเลขของชาวโรฮีนจาที่จะหลบหนีออกจากพม่า เพื่อข้ามไปบังกลาเทศมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ประเมินกันว่าปัจจุบันยังมีชาวโรฮีนจาที่อาศัยในค่ายผู้อพยพในรัฐยะไข่อยู่อีกกว่า 6 แสนคน และยังมีชาวโรฮีนจาในค่ายผู้อพยพหลายแห่งในบังกลาเทศอีกเกือบ 1 ล้านคน การเดินทางออกจากพื้นที่ที่ชาวโรฮีนจาได้จดแจ้งไว้จำเป็นต้องมีเอกสารหลายอย่าง และต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐของพม่า

การประกาศเกณฑ์ทหารโรฮีนจาในพื้นที่รัฐยะไข่สร้างความไม่พอใจให้กองกำลังอย่าง AA ที่เป็นกองกำลังในพื้นที่รัฐยะไข่ที่ใหญ่ที่สุด มีคลิปที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม ว่ามีชาวโรฮีนจาเดินขบวนประท้วง AA ที่เมืองบูตีด่อง หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นการประท้วงที่ SAC จัดฉากเพื่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง AA กับชาวโรฮีนจา ที่แต่เดิมก็มีอยู่แล้ว และยังตอกย้ำให้เห็นความแตกต่างทางศาสนาระหว่างชาวโรฮีนจาและชาวยะไข่อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนพุทธด้วย

Advertisement

ชาวโรฮีนจาที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายใดๆ ในพม่าอยู่บนทางสองแพร่ง เมื่อเจ้าหน้าที่ภายใต้ SAC เข้าไปในหมู่บ้านชาวโรฮีนจา ก็คงจะบอกคนหนุ่มในหมู่บ้านว่าการเกณฑ์ทหารจะทำให้พวกเขาได้เอกสาร และจะทำให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น ไม่ต้องถูกจำกัดบริเวณแต่ในหมู่บ้าน แต่ในความเป็นจริง นอกจากการกล่าวอ้างว่าชาวโรฮีนจาที่ยอมไปเกณฑ์ทหารจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจะเป็นเรื่องโกหกทั้งเพแล้ว คนที่ถูกเกณฑ์มาเหล่านี้ ที่รวมกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในพม่า ถูกนำไปใช้เป็นด่านหน้า และบ่อยครั้งที่ถูกใช้เพื่อตรวจหากับระเบิด Radio Free Asia รายงานว่าตำรวจพม่าส่งร่างของชาวโรฮีนจา 7 คน ที่เพิ่งถูกเกณฑ์ไปหมาดๆ ให้ครอบครัว เพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา คนเหล่านี้เสียชีวิตจากการเหยียบกับระเบิด ที่กองกำลังอย่าง AA วางไว้เพื่อสกัดกองทัพพม่า กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และจะมีชาวโรฮีนจาเสียชีวิตจากการเหยียบกับระเบิด หรือการถูกบังคับให้ไปเป็นด่านหน้ารับกระสุนของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน SAC

เมื่อชาวโรฮีนจาไม่ได้มีทางเลือกมากนัก จึงเป็นเหยื่อกระบวนการใช้มนุษย์ในสงคราม มีรายงานว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีชาวโรฮีนจาราว 20-30 คนต่อหมู่บ้าน ที่ถูกบังคับเกณฑ์ทหาร หากปฏิเสธก็จะถูกซ้อมทรมาน กองทัพ AA ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ชาวโรฮีนจาเป็นแรงงานในการรบ กองทัพพม่าส่งชาวโรฮีนจาที่แทบไม่ได้รับการฝึกใดๆ เข้าไปในพื้นที่ที่มีการสู้รบอย่างดุเดือด

นอกจากนี้ AA ยังกระตุ้นให้ชาวโรฮีนจาให้หลบหนี และไม่ปล่อยให้กองทัพพม่าเกณฑ์ไปเป็นทหารได้ และยังกล่าวด้วยว่าชาวโรฮีนจาควรหนีเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของ SAC ทั้งในรัฐยะไข่และในรัฐอื่นๆ สำหรับในรัฐยะไข่ กองทัพพม่าสูญเสียฐานที่มั่นตามเมืองใหญ่ๆ เกือบหมดแล้ว จึงจงใจที่จะใช้ชาวโรฮีนจาเป็นเครื่องมือเพื่อลดความชอบธรรมของ AA และเพื่อกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติในยะไข่

ในปัจจุบัน สมรภูมิการรบในรัฐยะไข่ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะ AA ก็ต้องการเผด็จศึกและยึดเมืองใหญ่ๆ ในรัฐยะไข่จากกองทัพพม่าให้ได้ทั้งหมด การสู้รบจะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอนในหน้าแล้ง และเราอาจจะได้เห็นการเกณฑ์คนโรฮีนจาเข้ามาเป็นกำลังหนุนในกองทัพพม่ามากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image