ดุลยภาพดุลยพินิจ : ค่าจ้างขั้นต่ำวิบาก 2567

ดุลยภาพดุลยพินิจ : ค่าจ้างขั้นต่ำวิบาก 2567

การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นการเดินทางวิบาก ระหกระเหิน ไม่เข้าถึงแรงงานได้ง่ายๆ ตั้งแต่มีกฎหมายเรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อ 2499 และใช้เวลา 17 ปี กว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) และกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2516 วันละ 12 บาท ในเพียง 4 จังหวัด คือ กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี จากปี 2516 ถึงปีนี้ก็นับได้ 51 ปี

สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำวิบากในอดีตขอฝากไว้ก่อน และมาดูแค่วิบากกรรมของค่าจ้างขั้นต่ำช่วง 7 เดือนของรัฐบาลใหม่

ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท วิบาก

Advertisement

หลังรัฐบาลผสมได้รับโปรดเกล้าฯเมื่อ 1 ก.ย.2566 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาทโดยเร็วที่สุด ต่อมาเมื่อ 8 ธ.ค.2566 บอร์ดค่าจ้างได้มีมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียงวันละ 2-16 บาท โดยจะเสนอ ครม. 12 ธ.ค.2566 แต่เมื่อนายกฯบ่นว่าขึ้นน้อยไป รมว.แรงงานจึงดึงเรื่องกลับไปเพื่อให้บอร์ดค่าจ้างทบทวนโดยอ้างว่าตัวเลขที่จะเสนอนั้นคำนวณผิด (อ้างว่าเพราะใช้อัตราเงินเฟ้อปี 2563-64 มาคำนวณ และมีการถ่วงค่าผลิตภาพแรงงานเหลือ 0.32%)

อย่างไรก็ตาม ต่อมาปลัดกระทรวงแรงงานได้ประชุมบอร์ดค่าจ้างเมื่อ 20 ธ.ค.66 และได้ประสานให้คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำสูตรใหม่โดยตั้งคณะอนุกรรมการปรับสูตร (แต่คณบดีฯถอนตัว) ผลคือบอร์ดค่าจ้างยืนมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามเดิม และจะประกาศใช้ 1 ม.ค.67 แต่ปลัดกระทรวงแรงงานบอกว่าจะรีบพิจารณาปรับสูตรค่าจ้างขั้นต่ำใหม่และจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 อีกครั้งภายในปี 2567

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อ 21 ธ.ค.66 รายการ PPTV ได้สัมภาษณ์กรรมการไตรภาคีฝ่ายนายจ้างท่านหนึ่งและปลัดกระทรวงแรงงานในรายการเดียวกัน เท่าที่ฟังดูนายจ้างก็พยายามอธิบายเหตุผลที่ไม่ทบทวนมติ 8 ธ.ค.66 และไม่ปรับสูตรค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่ปลัดกระทรวงแรงงานก็ย้ำอยู่แต่เรื่องสูตรผิดเพราะเอาตัวเลขปี 2563-64 ไปคิด นายจ้างมีการเกทับปลัด กระทรวงฯว่าปลัดเพิ่งมา 2-3 เดือน (จะไปรู้เรื่องอะไร) ส่วนท่านนายจ้างอยู่มา 20 กว่าปี บอกว่าสูตรก็มีการปรับมาโดยตลอดรวมทั้งยกเอาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำภูเก็ตเป็นวันละ 370 บาท ทั้งๆ ที่ถ้าใช้สูตร ภูเก็ตจะถูกลดค่าจ้างจากปีที่แล้ว 5 บาท ฟังดูก็งงๆ ดี

Advertisement

ต่อมาเมื่อ 17 ม.ค.67 บอร์ดค่าจ้างจึงตั้งอนุกรรมการวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ และประชุมคณะอนุฯดังกล่าวและประชุมบอร์ดค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 2/2567 เมื่อ 27 ก.พ.67

ซึ่งคณะอนุกรรมการที่ตั้งอย่างรีบเร่ง 17 คน ไม่ทราบว่าจะมีนักวิชาการที่เคยออกมาวิสัชนาสูตรค่าจ้างขั้นต่ำมาร่วมกี่คน เพราะมาจากนายจ้าง 5 คน ลูกจ้าง 5 คน และส่วนราชการเสนออีก 6 คน ไม่นับรองปลัดฯที่เป็นประธานฯ

สรุปคือบอร์ดค่าจ้างมีมติเห็นชอบสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ตามที่คณะอนุกรรมการฯเสนอ และเห็นชอบแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ โดยให้มีการสำรวจข้อมูลกิจการด้านท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง เพื่อสำรวจอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ มาตรฐานการครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และข้อเท็จจริงทางสังคมและเศรษฐกิจตามพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลประกอบการพิจารณาต่อไป

ซึ่งวาระซ่อนเร้นของ รมว.แรงงาน ใครๆ ก็รู้ว่าเพื่อสนองนโยบายนายกฯเศรษฐาให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท แม้จะทำได้ไม่กี่แห่ง อย่างที่ รมว.แรงงานให้สัมภาษณ์เมื่อ 24 ก.พ.67 ว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เพื่อเป็นของขวัญวันสงกรานต์ให้กับผู้ใช้แรงงานได้ วันละ 400 บาท (แบบศรีธนญชัย)

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบ 2 เดือน เม.ย.ตามคำแถลงของกระทรวงแรงงาน (12 มีนาคม 67) สรุปว่าการคำนวณด้วยสูตรใหม่ได้ปรับค่าจ้างเพิ่มอีก 1.5% โดยสูตรใหม่จะอิงผลิตภาพแรงงานโดยถ่วงน้ำหนักเหมือนเมื่อ 8 ธ.ค.66 ใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายจังหวัด แต่อิงอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 (แทนของเดิมที่ใช้ค่าเฉลี่ย 5 ปี และเอาอัตราเงินเฟ้อปี 2563-2564 มาใช้)

ซึ่งถ้าตามนั้น ก็ใกล้เข้าไปวันละ 400 บาทอีกนิด แต่แค่ใน 10 จังหวัด โดยใน 10 จังหวัดนั้นก็เห็นว่าจะให้แค่บางพื้นที่ ไม่ใช่ทั้งจังหวัด และยังมีปัญหาการขาดข้อมูลในระดับพื้นที่ย่อย

และแล้ว 26 มีนาคม 67 บอร์ดค่าจ้างก็ประชุมและลงมติให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวที่ระบุไปแล้วเฉพาะบางพื้นที่ เช่น เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขต อบต. เขตตำบล (เว้นภูเก็ตทั้งจังหวัด) ในกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป

สูตรค่าจ้างขั้นต่ำวิบาก

ย้อนกลับไปเรื่องสูตรค่าจ้างขั้นต่ำที่กระทรวงแรงงานชักเข้าชักออกมติบอร์ดค่าจ้างโดยอ้างว่าสูตรผิดนั้น ผู้เขียนพอทราบว่าตั้งแต่ 11 ธ.ค.66 มีนักวิชาการด้านแรงงานออกมาชี้ให้เห็นว่าบอร์ดค่าจ้างใช้สูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำผิดมา 5-6 ปีแล้ว (โดยหลักๆ คือไม่เห็นด้วยกับการถ่วงน้ำหนักค่าผลิตภาพแรงงานที่ใช้ในสูตร ส่วนการใช้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ใช้คำนวณ 5 ปีที่เอาปี 2563-64 มาเฉลี่ยด้วยเพิ่งเกิดปัญหาปีนี้)

เท่าที่ตามข่าวเรื่องสูตรผิด พบว่าส่วนหนึ่ง รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Special Report – เดลินิวส์ 11 ธ.ค.66) ได้เสนอมุมมองว่าในสูตรมีการใช้อัตราการสมทบของแรงงานที่ใช้มาตั้งแต่ปี’60 ไม่ถูกต้อง เพราะผิดหลักวิชาการ รวมทั้งข้อสังเกตอื่นๆ เช่นที่มาของสูตร ซึ่งต่อมาได้ร่วมกับนักวิชาการแรงงานอีก 3-4 ท่าน ไปนำเสนอต่อสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานซึ่งเป็นไตรภาคีอีกคณะหนึ่งเมื่อ 13 ธ.ค.66

ต่อมา 21 ธ.ค.66 นักวิชาการกลุ่มดังกล่าวรวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานค่าจ้างถูกเชิญไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีพรรคการเมืองเอาไปใช้อภิปรายในสภาช่วง 3-5 ม.ค.2567 รวมทั้งคุณศิริกัญญา ตันสกุล พรรคก้าวไกล
เอาไปให้สัมภาษณ์ THE STANDARD (19 ธ.ค.66) ว่า “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไทย ใช้สูตรผิดนาน 6 ปี”

วิบากกรรมของบอร์ดค่าจ้าง?

นอกจากนั้น เมื่อ 22 ธ.ค.66 ประธานกรรมาธิการการแรงงาน ยังให้สัมภาษณ์ว่าในอดีตกระทรวงแรงงาน เป็นกรมแรงงานในกระทรวงมหาดไทย กฎหมายจึงตามไม่ทัน ทำให้และเกิดความขัดแย้งในอำนาจรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง รวมถึงอธิบดี และตัวแทนไตรภาคีจากฝั่งนายจ้าง เป็นนายจ้างที่บางครั้งเป็นลูกจ้างที่นายจ้างมอบหมายมา จึงทำให้เป็นการทำงานตามคำสั่งนายจ้าง ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น บารมีตัวแทนนายจ้าง ยังเหนือกว่าลูกจ้าง จึงเสนอว่า ให้มีการเปลี่ยนระบบไตรภาคี เป็นพหุภาคี หรือรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงเสนอการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด (Thai PBS 22 ธ.ค.66)

ครับ ตรงนี้เป็นจริตกิริยาของนักการเมือง ผู้เขียนไม่มีความเห็นใดๆ

ในความเห็นของผู้เขียน ดูเหมือนว่าปัญหาของของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะถูกโยนไปที่สูตรที่ใช้คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งความจริงอาจจะใช่หรือไม่ใช่ (ซึ่งคงต้องจับนักวิชาการมานั่งถลกกันให้รู้เรื่องไป เพราะอนุกรรมการฯปรับสูตรฯไม่ได้ตอบชัดเจน) แต่อย่างน้อยราชการก็โทษว่าสูตรผิดจนกระทั่งต้องตั้งคณะอนุกรรมการมาพิจารณาปรับสูตรใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้ปรับอะไรมาก แต่การแก้ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำของราชการกลับไปอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท ตามการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย แม้จะปรับแค่บางพื้นที่ภาคการท่องเที่ยวใน 10 จังหวัด (ซึ่งมีความขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างแรงงานตลาดสูงกว่าที่อื่นอยู่แล้ว ไม่ต้องไปปรับสูตรให้เสียเวลา)

ที่จริงปัญหาของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยมีมานานแล้วดังที่เกริ่นว่าใช้เวลาพัฒนามามากกว่า 50 ปี ก็ยังไม่ไปถึงไหน มีปัญหาค้างคาอยู่หลายเรื่องแม้แต่ตัวบอร์ดค่าจ้างเองก็มีตำหนิ เช่น บอร์ดค่าจ้างหลายคนไม่มีความรู้ทางเทคนิคโดยเฉพาะการวิเคราะห์สูตรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแม้จะมีที่ปรึกษาช่วยอยู่ก็ตามแต่ก็เถียงไม่ทันและไม่มีสิทธิโหวต ความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจต่อรองระหว่างตัวแทนนายจ้างกับตัวแทนลูกจ้าง ตัวแทนลูกจ้างในบอร์ดบางคนถูกสงสัยว่าถูกรีโมตคอนโทรลทำให้ทำหน้าที่ไม่เต็มที่ ยังไม่นับข้าราชการที่เกี่ยวข้องบางคนที่ไม่แม่นระบบค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ ขอชมเชยนักวิชาการที่ช่วยตรวจสอบเรื่องสูตรการคำนวณ ผู้เขียนเองไม่อยากบอกว่าสูตรผิดหรือไม่ เพราะสูตรการคำนวณต่างๆ มักจะมีหลุมพรางที่ควรระวังอยู่เสมอเนื่องจากตัวแปรที่ใช้คำนวณมีทฤษฎี กรอบคิด วิธีวัดและคำนวณได้หลายทางซึ่งน่าจะทราบกันดี ถ้าไม่ระวังและช่วยกันตรวจสอบก็มีโอกาสผิดพลาดได้ การใส่ข้อมูลตัวแปรผิดไม่ได้แปลว่าสูตรผิด

ที่สำคัญ ILO ไม่ได้บอกว่าสูตรเป็นคำตอบสุดท้าย แต่แนะว่าทุกขั้นตอนแม้แต่การเลือกหรือการพัฒนาสูตรต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของไตรภาคี ความเป็นไปได้ และความเหมาะสม ดังนั้น การสื่อสารระหว่างนักวิชาการกับไตรภาคีจึงสำคัญ

ไม่ต้องสงสัย บอร์ดค่าจ้างก็ไม่ได้ยึดสูตรเป็นหลักในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำใน 10 จังหวัดแน่ๆ ไม่งั้นมันจะออกมาเป็นวันละ 400 บาท เท่ากันทั้ง 10 พื้นที่ได้ยังไง ยิ่งกว่านั้น อีก 66 จังหวัดที่ไม่ได้ปรับจากมติ 8 ธ.ค.66 ก็ไม่ได้เอาสูตรใหม่มาใช้

วิบากกรรมค่าจ้างขั้นต่ำยังมีอีกมาก เอาไว้มีโอกาสจะมาคุยต่อ

สำหรับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2567 คราวนี้ จากประสบการณ์การวิจัยด้านแรงงานมากว่า 40 ปีของผู้เขียน ขอสรุปอย่างเกรงใจว่า “ล้มเหลว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image