ชีวิตแห่งการตื่นรู้ ทำอย่างไรการตื่นรู้จึงจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน? : โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู

ชีวิตช่วงนี้ของผู้เขียน เป็นช่วงของการปรับตัว เนื่องจากมีเวลาว่างมากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังใจ เพราะหากไม่ตื่นรู้มากพอ เวลาก็อาจจะไหลไปอย่างไม่รู้ตัว จนชีวิตเป็นไปอย่างหลับใหลดุจเดียวกับการละเมอเดิน

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงต้องภาวนา โดยมีเป้าหมายคือ การกลับมาอยู่กับความตื่นรู้ทุกครั้งที่ระลึกรู้ตัว สั่งสมวงจรสมองแห่งความตื่นรู้ ออกจากความหลับใหล จากการละเมอเดิน ออกจากยถากรรมความเคยชินเดิมๆ เพราะทุกครั้งที่ระลึกรู้ขึ้นมาได้ จะทำให้วงจรสมองแห่งการตื่นรู้เข้มแข็งขึ้นอีกหนึ่งหน่วยเสมอ เมื่อถึงวันหนึ่งที่บรรลุถึงจำนวนวิกฤตหนึ่ง (critical number) จะเกิดกระบวนการ Myelination กับวงจรสมอง คือการสร้างฉนวนหุ้ม ซึ่งทำให้สมองยกระดับการทำงานสูงขึ้นเป็นสามพันเท่าตัว กลายเป็นความสามารถพิเศษของความรู้ตัว ของการตื่นรู้อย่างยิ่งยวด อย่างไม่ธรรมดา หรืออย่างเซียน คือไปถึงระดับที่ว่า แม้ไม่ได้ตั้งใจก็ยังตื่นรู้อยู่ คือการตื่นรู้ได้กลายมาเป็นธรรมชาติธรรมดาของชีวิตเราไปแล้ว

ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Practicing Mind โดย โธมัส สเตอเนอร์ (Thomas M. Sterner) เขานำเรื่องการปฏิบัติธรรมของโลกตะวันออกมาเขียนให้ชาวตะวันตกได้อย่างน่าอ่านมาก น่าจะมีใครนำมาแปลให้คนไทยได้อ่านกันด้วย

เขามีวิธีอธิบายให้เห็นว่า เราสามารถฝึกฝนวงจรสมองแห่งการตื่นรู้ได้ในทุกๆ เรื่องที่เราทำ อย่างมีความสุข อย่างได้ความสำเร็จ ไปถึงระดับที่ชีวิตเราจะมีแต่ความสำเร็จและความสุขได้ในทุกๆ เรื่องราวที่เรากระทำ

Advertisement

ว่าด้วยความผาสุกของริชาร์ด เดวิดสัน

ริชาร์ด เดวิดสัน นักประสาทวิทยาผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก กล่าวถึงปัจจัยของการเกิดความผาสุกว่า ประกอบด้วย ข้อแรก Resilience คือสมรรถนะที่จะฟื้นคืนสู่ความเป็นปกติ เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือเรื่องราวลบๆ สอง Positive outlook คือการมองโลกในแง่ดี สาม ความสามารถที่จะหลุดออกมาจาก Wandering mind หรือจิตที่ล่องลอยไป อย่างไร้โฟกัสหรือไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ และสุดท้ายคือ Generosity ความเอื้อเฟื้อ หรือทานบารมี อันเป็นบารมีชาติสุดท้ายก่อนมาเป็นพระพุทธเจ้า

เดวิดสันบอกว่า การฟื้นคืนกลับมาสู่ความเป็นปกติจากตกลงไปในหลุมดำนี้ ยากกว่าข้ออื่นๆ มากนัก การฝึกสมาธิซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะเสริมสร้างกระบวนการฟื้นคืนให้เกิดขึ้น จะต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณหกพันถึงเจ็ดพันชั่วโมง

Advertisement

ผมยังเคยอ่านจากแหล่งอื่นอีกว่า สมองมนุษย์ผ่านประสบการณ์มาอย่างยาวนานก่อนยุคประวัติศาสตร์ ความจำเป็นของการต้องอยู่รอด ทำให้ร่องสมอง ความเคยชินเดิมๆ ของวงจรสมองจะคำนึงถึงความอยู่รอดก่อนเรื่องอื่นๆ สมองมนุษย์จึงมีแนวโน้มที่จะระแวดระวังภัยมองหาเรื่องลบๆ มากกว่าเรื่องบวกๆ อย่างเป็นอัตโนมัติ โดยทั้งหมดเป็นไปเพื่อการอยู่รอด

การวนเวียนอยู่ในหลุมดำ ในอารมณ์ลบ จึงกลายเป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาของมนุษย์ การกลับขึ้นมาจากหลุมจึงเป็นสิ่งที่ยากเย็น

การเยียวยากับความผาสุก

อีกหนึ่งสายธารปัญญาของครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะด้านการเยียวยากล่าวว่า หลุมดำเหล่านี้มีทรอม่าหรือปมบาดแผลรองรับอยู่ เวลาเราตกไป ทรอม่าจะดูดเอาไว้ เหนี่ยวเอาไว้ ไม่ยอมให้เราหลุดออกมา

ในทางกลับกัน หากเราเรียนรู้ศิลปศาสตร์แห่งการเยียวยาโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ได้เชื่อมโยงหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน เช่น จิตวิทยาแนวลึก จิตวิทยาตัวตน ประสาทวิทยาศาสตร์ การฝึกสติและสมาธิในพุทธศาสนา เป็นต้น จนทำให้การเยียวยาเป็นยาสามัญประจำบ้านได้มากขึ้น ดังมีคนในสำนัก Internal Family System (ระบบครอบครัวภายใน) เขียนหนังสือชื่อ Self Therapy เพราะเชื่อว่าคนเราสามารถเยียวยาตนเองได้

จากการทำงานด้านการเยียวยาของผู้เขียน พบว่า เมื่อมีการดูแล คลี่คลายทรอม่าในผู้เรียน พวกเขาจะสามารถพัฒนาศักยภาพการฟื้นคืนจากอารมณ์ลบได้ง่ายกว่าเดิม เร็วกว่าเดิม โดยมี Positive outlook หรือมองโลกในแง่บวกได้มากขึ้น โฟกัสกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ปล่อยให้ไหลไปกับจิตล่องลอยตามยถากรรม ตลอดจนสามารถมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้มากขึ้นด้วย

มีผู้เขียนมาถามผมว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่จะช่วยสะท้อนให้ตัวเราหรือคนรอบข้างเห็นถึงจิตที่กำลังหลับใหล จิตที่ล่องลอย ไม่มีสมาธิ อยู่ในอารมณ์ลบ โดยยกตัวอย่างริชาร์ด เดวิดสัน เล่าถึงการทดลองของเพื่อนคนหนึ่ง เรื่องจิตที่ไหลไปตามยถากรรม โดยส่งข้อความทางโทรศัพท์ไปให้คนตอบว่า ตอนนี้พวกคุณทำอะไรอยู่ และสอง จิตใจคุณอยู่กับสิ่งที่คุณทำไหม ถ้าไม่ คำถามที่สาม คุณมีความสุขหรือความทุกข์ จากคำตอบ พวกเขาคำนวณได้ว่า เวลาร้อยละ 47 ของคนตอบแบบสอบถาม จิตใจไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า และจิตที่ไหลไปนี้เป็นทุกข์

ผมตอบไปว่า สิ่งที่เราจะรู้ตัวได้และสังเกตได้ว่าจิตของเรากำลังไหลไปตามยถากรรมคือ จิตใจที่เป็นทุกข์นั่นเอง จิตใจที่เห็นแต่เรื่องลบๆ ทั้งในคนอื่นและในตัวเราเอง

ในทางกลับกัน มีนักปีนเขาคนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Seven Years in Tibet เดินทางไปถึงนครโปตาลา ที่ประทับขององค์ทะไลลามะก่อนเสด็จ
ลี้ภัยมาอยู่อินเดีย และประทับใจองค์ทะไลลามะ จึงอยู่ที่ทิเบตต่อมาถึงเจ็ดปี ในการสนทนาครั้งหนึ่ง องค์ทะไลลามะถามนักปีนเขาว่า อะไรทำให้เขาชอบปีนเขาทั้งๆ ที่อันตราย เขาตอบว่าเวลาปีนเขา เขาต้องอยู่กับการปีน และไม่อาจแบ่งสมาธิไปยังเรื่องอื่นๆ ได้ คือพลาดไม่ได้เลย แต่พอได้นั่งพักลง เขาจะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้คมชัดขึ้น ท้องฟ้าจะสวยงามกว่าธรรมดา เสียงต่างๆ ที่ได้ยินจะใสแจ่มกว่าธรรมดา คล้ายๆ กับคนปีนเขาจะบอกว่า (ผมใส่คำเข้าไปเอง) เวลาเราทำอะไรโดยจิตไม่วอกแวกในช่วงเวลาหนึ่ง จิตเราจะนิ่งสงบ แจ่มใส และตัวคุณภาพจิตเองก็คือความสุข ความผาสุก นั่นเอง

เขายังกล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากการปีนเขาแล้ว การได้สนทนากับองค์ทะไลลามะก็ทำให้เขาได้ความรู้สึกเดียวกับช่วงปีนเขา และทำให้เขาอยู่ทิเบตถึงเจ็ดปีจนกระทั่งถูกจีนเข้ายึดครอง จึงจากมา

นี่แหละคือสิ่งที่ผมเรียกว่า Flow หรือ มณฑลแห่งพลัง ซึ่งผมเคยเขียนเป็นหนังสือชื่อเดียวกันออกมาแล้วเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาวะที่อยู่ตรงกันข้ามกับจิตล่องลอย หรือจิตที่ไหลไปตามยถากรรม ซึ่งคุณจะทุกข์ แต่ในมณฑลแห่งพลัง คุณจะมีความสุข และสมองยังสามารถประกอบการงานและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image